ถ้อยคำและพันธนาการใน “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” : บทวิจารณ์โดย ณิชาภัทร จันทสิงห์ โครง อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8

ถ้อยคำและพันธนาการใน “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า”

            เรื่องสั้นเรื่อง “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวครอบครัวหนึ่งที่กำลังแหลกสลายเพราะปัญหาที่เกิดจากคนภายในครอบครัวและวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ ‘สมิทธิ์’ ลูกชายคนเดียวในบรรดาพี่น้องสี่คน ผู้เติบโตมาท่ามกลางพี่สาวและน้องสาว เขาสืบทอดลักษณะบางอย่างมาจากพ่อ หนึ่งในนั้นคือความคุ้นชินกับการใช้ความรุนแรง

            ข้าพเจ้ามองเห็นว่าในเรื่อง “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 3 ประการ และประเด็นที่ชวนให้เกิดความสงสัยอีก 1 ประการ โดยประเด็นที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
 

            1. สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันขมขื่นของสังคมไทย

            ภายในเรื่องได้กล่าวถึงสองช่วงเวลาที่สร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสให้กับคนในสังคมไทย คือ ยุคโควิด-19 และเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยที่ยุคโควิดนั้นเป็นเหตุการณ์ในปัจจุบันที่ตัวละครกำลังเผชิญ สมิทธิ์เรียกโรคระบาดนี้ว่า ‘โรคห่าตำปอด’ ตามวิสัยของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำลายปอด

            “เงินก็ไม่มี ตั้งแต่มาดูแลพ่อ ผมก็ตกงานพอดี เพราะวิกฤตโรคห่าตำปอด ไม่มีเงินเดือนเงินดาวอะไร”

            “ในที่สุด พ่อก็ล้มป่วยลงจริง ๆ แต่ไม่ใช่เพราะไอ้โรคเวรโรคกรรมของพ่อ แต่เพราะไอ้ห่าตำปอดนั่นต่างหาก มันมาจากไหนผมไม่รู้ อาจจะมาจากชุดรปภ. อำจจะมาจากรปภ. อาจจะมาจากผม อาจจะมาจากอำกาศ อาจจะมาจากน้ำ อาจจะมาจากนักข่าวในทีวี หรือแม้กระทั่งมาจากอนุทินหรือประยุทธ มันรวดเร็วเหมือนนกอินทรี บินพรวดพราดเข้ามาในบ้านผมแบบไม่ให้ตั้งตัว”

            ตัวบทข้างต้นแสดงให้เห็นถึงชีวิตที่ยากลำบากของคนในยุคโควิด ต้องประสบทั้งปัญหาการตกงาน ปัญหาทางการเงิน และปัญหาจากความเจ็บป่วย ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงจากที่โรคโควิดนี้ติดต่อกันได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยและญาติเองก็ไม่รู้ว่าติดโรคมาจากใคร ทางไหนกันแน่

            ส่วนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำให้กับ ‘พ่อ’ โดยผู้อ่านและสมิทธิ์จะทราบถึงเรื่องราวนี้ผ่านคำบอกเล่าของ ‘แม่’ ไปพร้อม ๆ กัน

            “พ่อเหมือนกับเด็กตัวเล็ก ๆ ขดตัวอยู่ในซอกตู้ กลัว รปภ. ตัวสั่นงันงก”

            “พ่อแกคงเข้าใจว่า รปภ. เป็นทหาร”

            “ตอนหกตุลาพ่อแกหนีหัวซุกหัวซุน”

            แม้จะไม่ได้พูดถึงตรง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่ความหวาดกลัวของ ‘พ่อ’ ที่ผูกติดอยู่กับความกลัวจากในอดีต ก็ทำให้ผู้อ่านทราบได้ถึงความเลวร้ายของเหตุการณ์ดังกล่าว

            ในช่วงเวลานี้ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่ายุคโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่ามันจะกลายเป็นแผลเป็นแห่งประวัติศาสตร์ที่จะนำความเจ็บปวดกลับมาทุกครั้งที่หวนนึกถึง ไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
 

            2. พันธะแห่งความเป็นลูกชาย

            ในเรื่อง “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” แฝงไว้ด้วยความคาดหวังที่สังคมมีต่อคนที่เป็นผู้ชาย บทบาทหน้าที่ของผู้ชาย คาดหวังว่าจะเป็นคนที่สามารถเป็น ‘เสาหลักของครอบครัว’ แสดงความกังวลออกมาตั้งแต่ต้นเรื่อง

            “ผมควรจะดีใจหรือเสียใจดี หรืออีกนัยหนึ่งผมควรจะเป็นลูกกตัญญูหรือลูกอกตัญญูเดียวดี หรือว่ควรจะเป็นผัวแห่งชติ พ่อแห่งชติ แม่งเอ๊ย ผมเป็นไม่ได้เลยสักอย่งเดียว”

            “อศัยพี่สวที่เป็นนักเขียนส่งเงินให้บ้ง หนังสือใหม่เธอก็ไม่มี ผมก็ไม่รู้ว่เธอเอาเงินมกไหน อจจะเป็นเงินเก็บของแม่ พี่สวคนรองก็เจียดเงินมให้บ้ง แต่นับจกวันที่ผมโทรไปด่นี่แล้ว พี่คงไม่ส่งเงินมอีกแล้ว ส่วนน้องสวคนเล็กเพิ่งได้งนทำ คงอีกนนกว่จะมีรยได้ให้พ่อ กรแต่งกับฝรั่งไม่ได้แปลว่จะเบียดยังเงินจกมันมได้”

            สมิทธิ์ไม่สามารถทำตามบทบาทที่สังคมคาดหวังจะให้ผู้ชายเป็นได้ ทั้งความกตัญญูในฐานะลูกชาย และความเป็นผู้ชายที่เข้มแข็งและสามารถเป็นเสาหลักค้ำจุนให้ครอบครัวมีชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นและสุขสบายได้ จากคนที่เป็น ‘พ่อ’ เขาเป็นแบบไหนไม่ได้เลยสักอย่าง และสมิทธิ์ยังไม่ใช่แค่เป็นที่พึ่งพิงให้กับคนในครอบครัวไม่ได้ แต่เขายังต้องพึ่งพาพี่สาวทั้งสองด้วย ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายของเขาคงจะป่นปี้เป็นแน่ โดยสมิทธิ์ได้แสดงความเกลียดชังที่เขามีต่อตัวเองที่ไม่สามารถเติมเต็มบทบาทของลูกชายได้เอาไว้ในหลายช่วงตอนเช่น

            “ผมนี่มันเป็นลูกประเภทไหนกันวะทำร้ยได้แม้กระทั่งพ่อของตัวเอง”

            “ผมมันไอ้คนล้มเหลว ไอ้นรกแตก”

            นอกจากสมิทธิ์แล้ว อีกตัวละครหนึ่งที่ไม่สามารถตอบสนองต่อบทบาทของผู้ชายได้ก็คือ ‘พ่อ’ ที่เคยเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวมาตลอด แต่ท้ายที่สุดก็แก่ชรา ซ้ำร้ายยังป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทำให้จากที่เคยเป็นคนที่ดูแลครอบครัวก็กลับกลายเป็นคนที่ไม่สามารถเติมเต็มบทบาทของการเป็นเสาหลักที่เรียกว่า ‘พ่อ’ ได้ พอทั้งสองคนไม่สามารถทำหน้าที่ของผู้ชายในครอบครัวได้ สมาชิกครอบครัวก็พากันแยกย้ายไปคนละทาง พี่สาวคนโตแยกไปมีครอบครัวที่เชียงใหม่ พี่สาวคนรองทีแรกแยกไปอยู่คนเดียว ภายหลังแม่ที่ไม่สามารถทนการทำร้ายร่างกายจากพ่อ ผู้สูญเสียภาวะการเป็นผู้นำครอบครัว ก็ย้ายมาอยู่กับเธอ น้องสาวคนเล็กก็แยกไปแต่งงานที่สหรัฐอเมริกา
 

            3. การสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์

            เรื่อง “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งข้าพเจ้าสังเกตเห็นได้สองประการได้แก่

            หนึ่ง คือ การใช้อำนาจกดขี่คนที่อ่อนแอกว่า ลักษณะดังกล่าวเห็นได้จากหลังจากที่สมิทธิ์ล่วงรู้ว่าพ่อของเขากลัว รปภ. ซึ่งตอนนั้นเขาก็ยังไม่ทราบสาเหตุ และแทนที่จะค้นหาสาเหตุ เขากลับใช้ประโยชน์จากความกลัวนั้นเพื่อควบคุมพ่อโดยการแต่งตัวเป็น รปภ. ให้พ่อกลัว แถมเขาในตอนนั้นก็ยังไม่รู้สึกผิด กลับยิ่งได้ใจในความทรงอำนาจอันหอมหวาน

            “อะฮ้า ผมปราบพ่ออยู่หมัดเลยละ แกกลัวผมราวกับหนูกลัวแมว ตั้งแต่ผมดูแลพ่อมา ก็ตอนนี้แหละครับที่ผมมีความสุขราวกับเดินอยู่บนยอดเขา”

            สอง คือ ความเป็นสัตว์สังคม จากในเรื่องจะเห็นได้ว่าคนเราต่างก็ต้องการกันและกัน จึงยึดโยงตัวเองเข้ากับผู้อื่น แม้กระทั่งน้องสาวคนเล็กที่ตัดขาดจากครอบครัวก็ไม่ได้ตัวคนเดียว เธอมีสามีอยู่อเมริกา และเชื่อได้ว่าเธอต้องมีสังคมที่นั่น เพราะเธอมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแล้ว ความเป็น ‘ครอบครัว’ เองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ยึดโยงมนุษย์เข้าด้วยกัน

            “ถ้าผมตายไปเลยบนเตียงนี้ก็ดีเหมือนกันนะ เพราะชีวิตผมก็ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่แล้วนี่ แม่ก็อยู่กับพี่สาวคนโต พี่สาวคนรองก็ไม่เกี่ยวไรกับผม ผมตายไปเขาก็อาจจะยินดี คนปากหมาแบบผมสมควรตาย ส่วนแฟนผม ป่านนี้คงมีแฟนใหม่ไปไม่รู้กี่คนแล้วมั้ง เพราะเราไม่ได้ติดต่อกันเลยแม้แต่ไลน์หรือเบอร์โทร.มัน ผมก็ลบทิ้งหมดแล้ว ทั้งที่ไม่ได้โกรธกัน แต่ผมอายมัน”

            หลังจากที่พ่อเสียชีวิต จะเห็นได้ว่าความอ้างว้างโดดเดี่ยวจากการรู้สึกว่าตัวเองไม่เหลือใครของสมิทธิ์ทำลายจิตใจของเขาจนไม่เหลือแม้แต่ความอยากมีชีวิต ความรู้สึกที่ทุกชีวิตรับรู้ได้จากภายในโดยที่ไม่ต้องไม่ให้ใครมาบอกหรือสอนสั่ง

            ทั้ง ‘การใช้อำนาจกดขี่คนที่อ่อนแอกว่า’ และ ‘ความเป็นสัตว์สังคม’ คือธรรมชาติของมนุษย์สองประการที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นในเรื่อง “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าภายในเรื่องคงมีลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ประการอื่น ๆ สอดแทรกอยู่ให้ผู้อ่านได้ลองค้นหาอีกไม่น้อย

            นอกจากนี้ “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” ยังมีประเด็นที่ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยอยากขบคิด 1 ประการ ซึ่งก็คือ

            1. สิ่งที่ครอบครัวของสมิทธิ์นิยามว่าเป็นความรักนั้น ใช่ความรักจริงหรือ?

            ข้าพเจ้ามองว่าสิ่งที่ครอบครัวของสมิทธิ์นิยามว่าเป็นความรักนั้นเป็นพันธะที่เกิดจากคำว่ากตัญญู มากกว่าที่จะเป็นความรัก โดยข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้ที่รู้จักความรักจะไม่ต้องการจะทำลาย ทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้ที่ตนรัก เหมือนอย่างที่สมิทธิ์ใช้ความกลัวในการบงการพ่อ (ทำร้ายจิตใจ) หากความรู้สึกแปรเปลี่ยนไปก็ต้องหาคำนิยามอื่นมาแทนที่เช่น ความเจ็บแค้น ความเกลียดชัง ความริษยาและอื่น ๆ

            ทว่านิยามเรื่องความรักของข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ความจริงแท้ ย่อมต้องมีผู้ที่คิดเห็นต่างกันอย่างแน่นอน หรือยิ่งไปกว่านั้น ข้าพเจ้าอาจจะบกพร่องในเรื่องของการตีความตัวบท หากผู้ที่กำลังอ่านบทวิจารณ์นี้จะมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อย่างน้อย ๆ งานวิจารณของข้าพเจ้าก็ทำให้ผู้อ่านสนใจที่จะขบคิด

            เรื่องสั้นเรื่อง “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของการเป็นกระจกสะท้อนประวัติศาสตร์อันขมขื่นของสังคมไทย แสดงให้เห็นถึงพันธะของความเป็นลูกชาย การสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งยังมีจุดที่ทำให้เกิดความน่าสงสัยในคำนิยามของคำว่า “รัก” ทั้งนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่ายังคงมีสิ่งที่ข้าพเจ้ามองไม่เห็นอยู่อีกมากในตัวบทนี้ โดยข้าพเจ้าก็หวังว่างานวิจารณ์ชิ้นนี้จะเป็นเหมือนไม้ผลัดแห่งความคิดที่ส่งต่อความสงสัย เชื้อชวนให้ผู้อ่านทุกท่านมาช่วยกันขบคิดถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องสั้นเรื่อง “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า”

 

บทวิจารณ์โดย ณิชาภัทร จันทสิงห์

โครง อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8

 

Writer

The Reader by Praphansarn