ที่นี่…ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา : เสียงร้องของไร่เล ที่คนไทยไม่ได้ยิน : บทวิจารณ์โดย ณัชชา ไชยทุม โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 8

ที่นี่…ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา : เสียงร้องของไร่เล ที่คนไทยไม่ได้ยิน

            ณ ผาหินตระหง่านฟ้า สองฝ่ายเผชิญหน้าพูดคุยกันถึงกีฬาปีนผา สิ่งนอกเหนือวิถีชีวิตของชาวประมง ได้หยั่งรากลงบนแหลมแผ่นดินที่มีสภาพเหมือนเกาะอยู่ในอ่าวกระบี่ช่วงบน ในเขตพื้นที่ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยเริ่มการพูดคุยตั้งแต่ความเป็นมาว่ากีฬาปีนผาเข้ามามีอิทธิพลต่อไร่เลได้อย่างไร ไปจนถึงตอนที่กีฬาปีนผาได้สร้างความประทับใจให้ใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะชาวต่างชาติ

            ข้อมูลถูกเก็บโดยผู้เขียนจากมิตรร่วมมาตุภูมิในพื้นที่นั้น ออกมาเป็นเรื่อง ที่นี่…ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา สารคดีประเภทหนึ่ง ในการเล่าเรื่องของที่นี่…ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา ถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ส่วนตัวผู้วิจารณ์คิดว่าโครงเรื่องอาจค่อนข้างเข้าถึงยาก แต่สุดท้ายแล้วยังสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้

            แต่เดิมไร่เลเป็นชายทะเลรกร้างห่างไกลที่ไม่มีใครสนใจมีครอบครัวชาวประมงอาศัยอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน พื้นที่บางส่วนเป็นที่เพาะปลูกพืชไร่ไม้สวนของคนแถวนั้น จึงเรียกชื่อกันตามสำเนียงคนปักษ์ใต้ว่า “ไร่เล” (หมายถึง ไร่ที่อยู่ริมทะเล) จนถึงยุคส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530 ฝั่งทะเลกระบี่ที่ยังงดงามบริสุทธิ์และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ถูกบุกเบิกเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ตามแผน ไร่เลเป็นส่วนหนึ่งที่ติดขบวนมาด้วย (หน้า 3)

            เป็นข้อดีที่ในช่วงแรก ๆ ผู้เขียนอธิบายถึงลักษณะ ข้อมูลพื้นฐานอย่างเช่นที่มาของชื่อไร่เลได้อย่างเหมาะสม พอที่จะพาผู้วิจารณ์เข้าถึงเรื่องราวในตอนต่อไปได้ ทั้งยังบรรยายไร่เลให้ผู้วิจารณ์จินตนาการจนเกิดภาพได้เอง เมื่อเกิดภาพในจินตนาการแล้วผู้วิจารณ์จึงคล้อยตามเหมือนได้เข้าไปในสถานที่จริง เช่น

            ในฐานะองค์ประกอบของทิวทัศน์ชายทะเล มันคือฉากหลังครีมเข้มที่ช่วยขับหาดทรายขาวให้ยิ่งดูเด่น (หน้า 3)

            อาจมีบางช่วงตอนที่แทรกชื่อสถานที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนอกพื้นที่หรือในพื้นที่ไร่เลเองก็ตาม เป็นการย้ำรายละเอียดภายในสถานที่นั้น ต่อจากข้อมูลของไร่เลในส่วนที่ 1-3 แล้ว ในส่วนที่ 4 ยังมีช่องว่างให้มองเห็นลึกเข้าไปถึงสภาพสังคมไทยในตอนนั้นที่มีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและมองเห็นสถานที่ทำกิจกรรมปีนผาในสถานที่อย่างไร่เลแห่งนี้

            กิจการร้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการปีนเขาทั้งหมดมีเจ้าของเป็นคนไทย แต่ผู้มาใช้บริการกลับตรงกันข้าม ทุกร้านให้ข้อมูลตรงกันว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ถึง 90-95 % เป็นฝรั่งต่างชาติ (หน้า 5)

            โดยที่คนไทยยังไม่เปิดกว้างและยังมีข้อมูลความรู้ของกีฬาชนิดนี้ไม่มากพอ จะมีก็แต่คนในพื้นที่เท่านั้นที่คุ้นชินกับภาพชาวต่างชาติมาปีนผาและยังพอรู้เรื่องกีฬาการปีนผาอยู่บ้างจากการเห็นชาวต่างชาติ นอกจากนั้นแล้วผู้วิจารณ์ยังมองเห็นได้ในหลายจุดอีกว่าสื่อในช่วงเวลานั้นยังไม่เข้าถึงอย่างกว้างขวางมากพอ อาจทำให้กีฬาปีนผาไม่นิยมสำหรับคนไทย อีกทั้งหน่วยงานราชการที่เฉยเมยไม่ให้การส่งเสริมกับสถานที่ที่ดูจะเป็นประโยชน์ได้อย่างไร่เล และยังมองเห็นถึงการแสดงออกด้านลบของหน่วยงานราชการกับกีฬาปีนผานี้ด้วย โดยที่ผู้เขียนจะไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตาม ดังที่ว่า

            เจ้าของถิ่นเองแม้อาจเคยเห็นภาพคนอื่นเขาผ่านตาอยู่บ้าง แต่ก็อยู่จะอยู่นอกเหนือความใส่ใจไยดีด้านองค์กรส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนสนใจเข้ามาดูแลอย่างจริงจังทั้งนี้อาจเนื่องจากว่า เมื่อมองอย่างผิวเผิน กีฬาปีนเขาดูอันตราย เหมือนการละเล่นอันไร้สาระของคนบ้าบิ่น เป็นเกมกีฬาของผู้ก้าวร้าว ดุดัน จึงอยู่นอกสายตาของราชการที่จะใส่ใจส่งเสริม (หน้า 4)

            สิ่งที่น่าเศร้าคือผู้มีอำนาจและมีบทบาทในการบริหารบ้านเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ไม่เคยสนใจไยดีที่จะสนับสนุนส่งเสริมการกีฬาในแขนงนี้เลย ปีนผาจึงยังเป็นเกมกีฬาเถื่อนที่หลุดลอยอยู่นอกทำเนียบการกีฬาของประเทศไทย (หน้า 5)

            ในส่วนนี้ผู้เขียนอาจชักจูงผู้วิจารณ์ให้มีความคิดเห็นด้านลบต่อหน่วยงานที่กล่าวถึงได้และทำให้ผู้วิจารณ์มองว่าคนพื้นที่ไร่เลต้องการการช่วยเหลือจากหน่วยราชการเป็นอย่างมาก แม้ว่าผู้เขียนมีสิทธิพูดถึงหน่วยงานราชการหรือผู้มีอำนาจและบทบาทได้อย่างพอเหมาะพอดี แต่หากมากไปกว่านี้อาจส่งผลกระทบและภาพที่มองมาหาตัวผู้เขียนอาจดูไม่ดีก็เป็นได้ หรืออาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนเป็นคนในพื้นที่ไร่เลหรือเป็นชาวจังหวัดกระบี่จึงอยากพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวนี้ให้มีชื่อเสียง เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ และมีบทบาทในภาคส่วนการท่องเที่ยวมากขึ้น หรือว่านักเขียนจะมีเหตุผลแบบนั้น

            ในเชิงการท่องเที่ยว การปีนเขาสามารถกลายเป็นเอกลักษณ์ของกระบี่ได้ เหมือนการล่องแพที่เป็นหัวใจของเมืองกาญจน์ เหมือนตลาดน้ำที่เป็นหน้าตาของดำเนินสะดวก ราชบุรี หรือภูกระดึงที่เป็นหน้าบ้านลานรับแขกของเมืองเลย (หน้า 5)

            โดยเฉพาะในส่วนนี้ที่เห็นการเปรียบเทียบได้ชัด โดยอ้างถึงสถานที่อื่นๆ ทำให้ผู้วิจารณ์มองว่าเหมือนเป็นการน้อยใจของผู้เขียนว่าทำไมไร่เลไม่เป็นอย่างเขา (สถานที่ที่กล่าวถึงในตัวอย่าง)

            เป็นข้อดีที่ผู้เขียนให้แหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่เก็บมาจากการสัมภาษณ์และให้คำขอบคุณต่อแหล่งข้อมูลด้วย (ในส่วนท้าย) ทั้งในตัวเรื่องและหลังส่วนปิดเรื่องโดยบอกว่าใครเป็นผู้พูดสิ่งนี้ เขาคนนั้นทำหน้าที่อะไร ที่ไหน เช่น ปากคำของ มอ หรือ นรินทร์ งามวศ์ ไกด์ปีนเขาแห่งร้านคิงไคลมเบอร์ส (หน้า 4) เป็นต้น แต่นอกจากผู้เขียนจะบรรยายสถานที่ให้ผู้วิจารณ์เกิดภาพในจินตนาการได้แล้ว ยังสามารถอธิบายลักษณะแหล่งข้อมูลที่เป็นตัวบุคคลให้เกิดภาพได้อีก ถึงแม้จะเป็นประโยคสั้น ๆ ก็ตาม เช่น ไกด์ปีนเขาผิวเข้มร่างสูง (หน้า 4), มนุษย์ตุ๊กแกผิวขาวผมทอง (หน้า 5) เป็นต้น

            ตัวเรื่องที่ผ่านมาเป็นการเล่าเรื่องจากผู้เขียน ซึ่งในที่นี้เป็นบุรุษที่ 3 ผู้อ่านเป็นบุรุษที่ 2 ในตอนท้ายของส่วนที่ 4 ได้มีข้อมูลเพิ่มเป็นเสียงสนทนาของ “ศรุต” กับ ผู้เขียนเอง เพราะมีเครื่องหมายอัญประกาศ ซึ่งเป็นการเฉลยให้ผู้อ่านและผู้วิจารณ์ทราบว่าสองฝ่ายเผชิญหน้าพูดคุยกันในตอนเปิดเรื่อง นั่นคือศรุตและตัวผู้เขียน ซึ่งเป็นการเปิดส่วนที่ 5 ไปพร้อมกับการจบส่วนที่ 4 ด้วย ในส่วนนี้เป็นส่วนสุดท้ายและยาวที่สุด เป็นเรื่องราวของศรุตและผู้เขียนอย่างแท้จริง และดูเหมือนว่าจะเป็นจุดจบของเรื่องนี้ด้วย ในส่วนนี้ผู้เขียนพูดถึงกระบวนการเตรียมตัวก่อนที่จะปีนผาและวิธีการปีนผา โดยผู้เขียนเล่าถึง ศรุตและฝรุ่งหนุ่ม ซึ่งทำให้ผู้วิจารณ์ได้ความตื่นเต้น ลุ้นไปกับสถานการณ์กิจกรรมปีนผาของศรุตและฝรั่งหนุ่มและยังได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่ทำให้ผู้วิจารณ์ทราบด้วยว่าการปีนผานั้นจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่อยู่ด้านบนพูดว่าdown” และต้องมีเพื่อนในการทำกิจกรรมนี้ ทั้งยังได้ศัพท์เฉพาะทางการปีนผาเพิ่มด้วย เช่น climbing , on belay , บีเลเยอร์ , ควิกดรอว์ , เชือกเคิลแมนเทิล เป็นต้น

            ผู้วิจารณ์ยังได้อีกหนึ่งข้อคิดจากตอนที่ผู้เขียนกล่าวถึงฝรั่งที่ปีนผากับศรุตว่า ผู้มีประสบการณ์ย่อมไม่ปรารถนาคำพร่ำสอนจากใคร (หน้า 7), และแล้วความแปลกใหม่ของเส้นทางทำให้เขาใช้เวลาไปมากกว่าศรุต(หน้า 8) นั่นทำให้ผู้วิจารณ์เกิดความที่ว่า รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ต่อให้เก่งหรือมีประสบการณ์มากแค่ไหน แต่เราควรรับฟังที่สามารถประดับความรู้ต่อตนไม่ว่าจะในภายภาคหน้า หรือตอนนี้ก็ตาม

            และสุดท้ายนี้ผู้วิจารณ์ยังได้เห็นปัญหาของคนไทยที่ไม่ชอบลองอะไรใหม่ ๆ เลยไม่ค่อยได้เรียนรู้ และไม่พร้อมที่จะเปิดใจยอมรับในตัวตนของตัวเอง จึงทำให้ไม่เกิดการก้าวผ่านความกลัว นั่นคือสิ่งที่ทำให้ กีฬาปีนผาในประเทศไทยไม่เป็นที่นิยม จากในส่วน ข้อเสนอของเขาไม่เคยอยู่ในความนึกคิดของผม และลึก ๆ ในใจผม ไม่อยากเห็นความอ่อนด้อยของตัวเอง (หน้า 6) แต่เพราะผู้เขียนถูกเพื่อนขอให้ลองเพื่อให้ได้ประสบการณ์ในการเขียนเรื่องไร่เลนี้อย่างถูกต้อง นั่นทำให้ผู้วิจารณ์มองว่าผู้เขียนเป็นคนอ่อนไหวง่ายและเป็นคนที่ทำเพื่องานอย่างเต็มที่ จึงทำให้ผู้วิจารณ์คิดเห็นว่าวลีที่นิยมอย่าง ไม่ลองไม่รู้ เป็นข้อคิดของเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เพราะ หลังจากที่ผู้เขียนกล่าวว่า กลับจากผาไดมอนด์วันนั้น เพิ่งรู้สึกว่าหัวใจของผมใหญ่ขึ้นมาบ้าง.

 

ที่นี่…ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา: เสียงร้องของไร่เล ที่คนไทยไม่ได้ยิน
บทวิจารณ์โดย ณัชชา ไชยทุม
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 8