ทางข้ามภูเขา : วิจารณ์วรรณกรรมเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม”

ทางข้ามภูเขา

ท่ามกลางความสับสน ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่แตกแขนงความเชื่อความศรัทธาอย่างหลากหลายเกิดเป็นข้อพิพาทโต้แย้งกันทั้งสงฆ์และฆราวาส ถึงขั้นท้าทายกลายเป็นวิวาทะด้วยความขุ่นข้องมิใช่ปุจฉาวิปัสสนาเพื่อความกระจ่างแจ้งในทางธรรม ต่างฝ่ายต่างปักธงว่าฝ่ายตนเองเป็นฝ่ายถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนและหลักพระธรรมวินัย ความยึดติดเหล่านี้เป็นสาเหตุของความแตกร้าว ทะเลาะวิวาท แบ่งแยก ทำลายความสงบภายในจิตใจ ผิดจากธรรมะระดับโลกุตระซึ่งให้ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น

ในโอกาสนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งที่หนังสือเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีอายุเกือบ ๗๐ ปี จะต้องถูกหยิบขึ้นมาอ่าน เพื่อหาคำตอบของแก่นในพระพุทธศาสนา ตามแนวคิดของนักศาสนศาสตร์เช่น “พุทธทาส”

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ ได้ประกาศคำสอนของพระพุทธศสานาอันเป็นธรรมะในระดับโลกุตระ ด้วยความแปลกใหม่ทั้งวิธีการและสื่อการนำเสนอ อาทิ การยืนปาฐกถาอันเป็นที่มาของปาฐกถาธรรม เรื่อง ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมวรรณกรรมอนันตกาลประกาศสัจธรรมได้ในทุกกาลเวลา และด้วยทัศนะที่เปิดกว้างในการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ คำอธิบายของท่านจึงหลากหลายไปในแง่มุมอันน่าสนใจ

หลายครั้งหลายหนที่วงการศาสนาต้องสั่นสะเทือนด้วยความลุ่มหลงจนหาทางออกแทบไม่พบ ปราชญ์ทางศาสนาจึงต้องหาข้อแสดงธรรมที่เข้าใจง่ายมาแสดงให้ประจักษ์เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น

ผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุมักถูกนำมาอ้างถึงให้ชาวพุทธได้พินิจพิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะปาฐกถาธรรมและงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุได้กะเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มสัจจะในพระพุทธศาสนาออก เปลือกที่เป็นประดุจภูเขาที่กั้นขวางความจริง ให้พุทธศาสนิกชนได้พบแก่นธรรมอันพิสุทธิ์ ด้วยคำอธิบายที่สื่อภาษาง่าย ๆ ยกตัวอย่างประกอบด้วยเหตุและผล เป็นขั้นเป็นตอน ทำให้หนทางที่ผู้อ่านได้เดินข้ามภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมได้ไม่ยากเย็น

ผู้อ่านสามารถเข้าใจรับรู้เกิดดวงปัญญาในขั้นของปริยัติ ส่วนขั้นตอนการนำไปปฏิบัติฝึกฝนก็ต้องขึ้นอยู่กับจริตของบุคคลนั้นๆ ต่อไป

ข้อความใน “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” คือการถ่ายทอดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของท่านพุทธทาสภิกขุที่ก้าวพ้นจากภูเขามหึมา ท่านได้ถอดบทเรียนทางวิญญาณนี้ไว้อย่างน่าติดตาม ด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาหรืออาจเรียกได้ว่า ไม่มีทั้งสงฆ์และฆราวาสใดจะแสดงธรรมได้ “แรง”น เช่น พุทธทาส

“ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่านขวางหน้าอยู่”

“พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตัวเรา ตามทัศนะของเรา ล้วนแต่เป็นกำแพงบังพระนิพพานเสียเอง ดังนี้ ?”

“ถึงแม้ในวงพุทธศาสนาของเราก็ยังขยายตัวแพร่พันธุ์ออกเป็นพุทธศาสนาใหม่ ๆ จนอะไรนิดก็ พุทฺธานุภาเวน อะไรหน่อยก็ ธมฺมานุภาวน สงฺฆานุภาเวนจะให้สำเร็จตามประสงค์ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้มันไม่เคยมีในสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

หลาย ๆ ประโยคที่ทำให้ผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่น ต่อต้านหนังสือหรือบทปาฐกถานี้ ด้วยข้อกล่าวที่รุนแรง ถึงกับว่า

“พุทธทาสฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์”

แรงต่อต้นเหล่านั้นกลายมาเป็นแรงเสริมให้ผู้ใฝ่รู้เข้ามาอ่านหนังสือเล่มนี้และเกิดการวิพากย์กันขึ้นในเหล่านักวิชาการ นักการศาสนา

ดังนั้น สัจจะย่อมเป็นสัจจะ “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” จึงได้รับการยอมรับว่า เป็นหนังสือดีเล่มหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหลุดพ้นจากบ่วงการยึดมั่นถือมั่น เดินเข้าสู่วิถีแห่งพุทธด้วยการทำจิตให้ว่าง ไม่รกเรื้อไม่รุงรัง

ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าเราพบวิธีที่ว่าทำอย่างไรความยึดถือตัวตนจะหมดไปได้แล้ว นั่นก็คือวิธีลัดสั้นที่สุด”

ท่านพุทธทาสเสนอวิธีละวางเพื่อข้ามภูเขาแห่งความยึดมั่นไว้เป็นขั้นตอนตามลำดับดังนี้

“การยึดถือในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้จะมีในขั้นต้น ก็ไม่ควรยึดถือชนิดเป็นตัวตน ควรยึดถือเอาในฐานะเป็นเครื่องมือ หรือเครื่องนำทาง”

สรุปเป็นข้อห้ามไว้ ๓ อย่า

“อย่ายึดในพระพุทธ ในทำนองที่จะก่อวิวาทกันเรื่องพระพุทธ

อย่ายึดถือในพระธรรม อันเป็นของสมมติขึ้นแทนชื่อของความบริสุทธิ์หลุดพ้น ปล่อยวาง ขึ้นเป็นตัวตนเป็นรูปแบบต่าง ๆ จนแตกร้าวเพราะพระธรรม

อย่าขัดกันในหลักเรื่อง “พระสงฆ์” ซึ่งเป็นเพียงชื่อของผู้ที่จะหลุดพ้น จนเกิดแบ่งแยกแตกร้าวกันอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ เพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือตึงเครียดอยู่ด้วยกัน”

ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวมาแล้วกว่า ๖๐ ปีได้กลับกลายมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพราะภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมยังขวางหนทางแห่งสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ

ซึ่งหนทางข้ามพ้นภูเขาแห่งความยึดมั่นนั้น พุทธทาสภิกขุได้เสนอแนวทางปฏิบัติไว้ ๒ จง

“จง..เพ่งกำลังความคิดทั้งหมด ตรงไปยังความหลุดพ้นของจิตที่กำลังถูกทรมานอยู่ด้วยการห่อหุ้ม ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องว่าจะไม่มีตัวเรา

คือนึกว่ายอมขาดทุน ยอมเสียสละ ไม่ต้องมีตัวเราสำหรับที่จะเอานั่นเอานี่ ได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยตัดใจเสียว่า ตัวตนเท่าที่มีอยู่จริง ๆ ในเวลานี้ ก็ทนไม่ไหวแล้ว เพียงเท่านี้ก็เหลือที่จะแบกทนทานได้แล้ว

จง..ค้นจนกว่าจะพบความจริงว่า ก็เห็นมีแต่จะจิตนั่นเอง กำลังถูกอะไรห่อหุ้ม ทำให้เกิดทุกข์ทรมาน ถ้าเอาสิ่งที่ครอบงำจิตออกไปเสียได้ มันจะเป็นอิสระเอง ภาวะของคามทุกข์ ก็ไม่มีที่จิตอีกต่อไป ไม่ต้องมีตัวเราอะไรที่ไหนเลย”

“ความพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาด ก็มีได้โดยสมบูรณ์”

ขั้นตอน ๓ อย่า ๒ จง ตามมรรควิธีข้ามภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมที่พุทธทาสภิกขุค้นพบเมื่อพระพุทธศาสนาถูกแปรเปลี่ยนไปตามความเชื่อความศรัทธาจนบดบังปัญญาไปจนเกือบหมดสิ้น

พุทธทาสภิกขุมิได้ปฏิเสธ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามที่หลายคนกล่าว ท่านได้กล่าวว่า

“การถอนเอาความยึดถือ หรือภูเขามหึมาออกไปจากจิตอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้พบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”

เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเพียงองค์ประกอบ แต่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนามีแก่นเดียว คือ ละความยึดถือ

ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่พุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ว่า คำสอนในพระพุทธศาสนาที่สอนให้ยึดมั่นถือมั่น สอนให้เชื่อในอำนาจพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นั้นเป็นคำสอนที่มิใช่คำสอนของพระศาสดา ในสมัยพุทธกาลมีคำสอนให้ชำระจิตให้หมดจดอย่างเดียว

ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม แสดงถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือการชำระจิตเพื่อการหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ได้อย่างตรงประเด็น ความกล้าหาญทางธรรมของพุทธทาสภิกขุ ได้กะเทาะเปลือกที่ชาวพุทธยึดมั่นถือมั่นไว้หนักหนาประหนึ่งแบกภูเขามหึมา ซึ่งยิ่งนับวันผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธไม่ว่าสงฆ์หรือฆราวาสก็ยิ่งนำความเชื่อความยึดมั่นถือมั่นนั้นพอกพูนให้ภูเขาอันเป็นเครื่องกีดขวางให้ใหญ่โตหนักหนาขึ้นไปอีก

ภาระที่ต้องแบกภูเขาแห่งความยึดมั่น มีแต่จะทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน ยากที่จะชำระจิตให้หมดจดได้

น่าเสียดายหากมีเพียงชื่อว่า เป็นชาวพุทธ แต่ไม่รู้จักแก่นของศาสนาที่แท้จริงที่ตนนับถืออยู่

มายาทางโลกหลอกลวงชาวพุทธให้หลงทางไกลจากพระนิพพานไปไกลทีเดียว แต่ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวถึงหนทางแห่งพระนิพพาน ที่น่าสนใจ และไม่น่าเหน็ดเหนื่อยที่จะค้นหาคือ รู้จักความว่างจากตัวตน

ตัวตนที่เรายึดถือ พุทธทาสภิกขุใช้ภูเขาเป็นสัญลักษณ์ จิตของเราที่ต้องแบกภูเขานั้นหนักอึ้งเป็นภาระทุกข์ทรมานให้เวียนว่ายในภพไม่จบสิ้น

ทำลายภูเขา ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เพื่อได้พบกับวิถีแห่งพุทธธรรมอันว่าง สงบ เป็น นิรันดร์

 

 

นางสาวลลิตา ม่วงลายทอง

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ