กะกินกะพรุน : เมื่อแมงกะพรุนคืบคลานคลื่นคราม : ตั๊กแตนบุกนาเหรอ ทอดสิ แมงกะพรุนบุกทะเลเหรอ ต้มเลย ...อ้าว ไม่ไหว พวกมันมีเยอะเกินไป ควรทำอย่างไรหากทั้งท้องทะเลเต็มไปด้วยแมงกะพรุน

กะกินกะพรุน : เมื่อแมงกะพรุนคืบคลานคลื่นคราม

        ในเช้าอันสดใสช่วงฤดูร้อนปี 2556 นักสัตววิทยาและนักชีววิทยานามว่า Stefano Piraino ได้พบกับซากแมงกะพรุนตัวน้อยที่ถูกคลื่นทะเลสาดซัดเข้าเกยหาด เขาเลยนั่งยองลงแล้วลองฉีกชิ้นส่วนแมงกะพรุนผู้โชคร้ายเข้าปากเคี้ยว

        “อร่อยอย่าบอกใครเลย” ผิวสัมผัสเด้งสู้ฟันประกอบกับความกรุบกรอบจากแสงแดดและคลุกเคล้าด้วยเกลือธรรมชาติจากน้ำทะเล “นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่ผมได้กินแมงกะพรุน”

        ...และคาดว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

แมงกะพรุน

 

         ทั้งนี้แมงกะพรุนที่ Stefano พบนั้นแห้งตายมานานหลายวันแล้ว คนอื่นอย่าได้คิดอยากลองลิ้มชิมรสชาติสุดบรรเจิดนั้นดูบ้างเชียว เพราะแมงกะพรุนดิบมีแบคทีเรียก่อโรคอยู่มากมายมหาศาล มันจะทำให้คุณท้องร่วงท้องเสียเอาได้ง่าย ๆ  กระนั้นในบางกรณี แสงแดดร้อนแรงอาจส่งรังสี UV มาแผดเผาฆ่าเชื้อโรคร้ายจนเหือดแห้งหายไปหมดแล้วก็ได้

        แต่อย่าได้เข้าใจผิดไป Stefano ไม่ได้บอกว่าห้ามกินแมงกะพรุน กลับกันเสียอีก เขามุ่งมั่นสนับสนุนให้พ่อครัวหัวป่าก์ทั่วโลกนำสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทั้งหลายไปปรุงเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร เพราะขณะนี้ประชากรปลากำลังลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องจนมีแนวโน้มสูงว่าโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรอาหารในอนาคตอันใกล้

 

ชื่อจริงคือแมงกะพรุน นามสกุลคือปัญหาแห่งท้องทะเล

        งานวิจัยหลายชิ้นในสมัยใหม่มุ่งเน้นถึงประเด็นเดียวกัน แมงกะพรุนเพิ่มจำนวนขึ้นมากเกินไปเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ตัวตนอันน่าเกะกะของพวกมันส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศน์ทางทะเล ไม่เพียงแค่ลดความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังลดประสิทธิภาพด้านการประมงลงอีกด้วย

        หากไม่รีบหาหนทางแก้ไข ในอนาคตพวกเราทุกคนอาจต้องถือตาข่ายวิ่งไล่จับแมงกะพรุนเหมือนสพันจ์บ็อบกับแพทริคเพื่อนรัก หนึ่งในงานวิจัยจากปี 2552 เตือนไว้ว่าในไม่ช้าแมงกะพรุนจะกลายเป็นจ้าวสมุทรจอมเผด็จการผู้ยึดครองระบบนิเวศน์ของท้องทะเลเอาไว้ควบคุมเองแต่เพียงผู้เดียว

ฝูงแมงกะพรุน

        แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะร้ายแรงขนาดนั้นซะทีเดียว คำเตือนดังกล่าวยังคงเป็นข้อโต้แย้งกันจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากปราศจากหลักฐานประจักษ์ชัดว่าจำนวนรวมของประชากรแมงกะพรุนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจริง เพียงเห็นว่าเพิ่มขึ้นและลดลงตามวิถีปกติ ดังจะเห็นได้จากสถิติประจำปี 2555  ดังนั้นจึงควรสังเกตการณ์ความผันผวนของจำนวนรวมแมงกะพรุนต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง หรือหลังจากผ่านรอบ 20 ปีไปก่อน

        ทั้งนี้ทั้งนั้นสถานที่บางแห่งกลับมีแมงกะพรุนเยอะเป็นพิเศษ แน่นอนว่ามันทำร้ายและทำลายทุกสิ่งรอบข้าง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นและมนุษย์ที่อาศัยหรือท่องเที่ยวแถบทะเล ในเมื่อแมงกะพรุนอันตรายร้ายแรงถึงเพียงนี้ ถ้างั้นทำไมเราไม่กินมันให้หมด ๆ ไปสักทีล่ะ

        แมงกะพรุนขยายพันธุ์ตัวเองได้รวดเร็วจนน่าตกใจ พวกมันบางสายพันธุ์ถึงกับเกือบเป็นสิ่งมีชีวิตอมตะด้วยซ้ำ อย่างแมงกะพรุนสายพันธุ์ Turritopsis Nutricula เมื่อมันได้รับบาดเจ็บแล้วจะสามารถย้อนวัยร่างกายตัวเองให้กลับไปยังช่วงก่อนโตเต็มที่ได้ คล้ายคลึงกับผีเสื้อที่หดปีกกลับเข้าดักแด้ แล้วโผล่หน้าออกมาเป็นหนอนน้อย ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ แถมแมงกะพรุนสายพันธุ์นี้ยังสามารถ Copy & Paste ตัวเองได้ด้วย หมายความว่ามันสร้างร่างแฝดของตัวเองได้หากต้องการ ถึงหนึ่งในร่างแยกจะตายก่อน มันก็จะมีชีวิตต่อไปด้วยร่างใหม่ในทางทฤษฎี แมงกะพรุนทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ พวกมันคือข้อยกเว้นของวัฏจักรเวลาตามธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นคงไม่ดำรงชีวิตอยู่ได้นานถึง 500 ล้านปี ถ้าเปลี่ยนเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอาจฟังดูเพ้อเจ้อเพ้อพก

แมงกะพรุนอมตะ

 

       แมงกะพรุนต้องการออกซิเจนน้อยมากเหมือนไม่อยากหายใจ ต่อให้สัตว์น้ำทุกตัวสลายซากกลายเป็นทรายก้นทะเลไปกันหมดแล้ว พวกมันก็จะลอยเล่นน้ำกันต่อไปอย่างไม่รู้สึกรู้สา เพราะพวกมันไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลยจริง ๆ  กระทั่งตอนกัดกินตัวอ่อนของสัตว์ทะเลสายพันธุ์อื่นก็ยังไม่กะพริบตา ...เพราะตาพวกมันเล็กนิดเดียว เรียกได้ว่าเคลื่อนฝูงไปที่ไหนกลายเป็นบรรลัยที่นั่น หากคุณเห็นปลาการ์ตูนสีส้มว่ายตามหาลูกชายอยู่ ก็อย่าไปบอกเขาล่ะว่านีโม่โดนแมงกะพรุนกินไปแล้ว

       ยิ่งอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเท่าไร ความแปรผันปั่นป่วนของพฤติกรรมแมงกะพรุนก็จะคาดเดาได้ยากยิ่งขึ้นเท่านั้น ผู้อำนวยการของ Florida Institute of Oceanography (FIO) นาม Monty Graham กล่าวว่า “หลายสิบปีก่อนไม่มีใครสนใจพวกมันเลย แมงกะพรุนอ่อนไหวกับภาวะโลกรวนมาก ผมเชื่อว่าพวกมันจะเป็นปัญหาในระยะยาวอย่างแน่นอน”

       แมงกะพรุนไม่ได้อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร พวกมันเคยถูกนก เต่า และวาฬล่ากินมาก่อน แต่ในปัจจุบันนี้นักล่าเหล่านั้นถูกมนุษย์ฆ่าตายไปเป็นจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม แมงกะพรุนจึงฉวยโอกาสขโมยบัลลังก์ถิ่นทะเลมาครอง

       หากข้ามฟากข้ามทะเลไปยังแดนอาทิตย์อุทัย คุณอาจได้พบเห็นการสำแดงฤทธิ์เดชของแมงกะพรุนอยู่บ่อยครั้ง เหตุการณ์ที่เสียหายยิ่งใหญ่ที่สุดคือในปี 2550 เมื่อพวกมันบุกกวาดล้างอุตสาหกรรมฟาร์มแซลมอนจนราบเป็นหน้ากลอง พื้นที่กว่า 26 ตารางกิโลเมตรและลึกถึง 10.7 เมตรถูกทำลายจนสิ้น ปลาส้มสุดอร่อยนับแสนชีวิตถูกสังเวยแด่รยางค์ปีศาจไปอย่างน่าเสียดาย ประเทศญี่ปุ่นต้องสูญเสียมูลค่าทางการค้าไปมากมายมหาศาลทุกครั้งที่ฝูงนรกเยือนผ่าน

 

กิน ๆ เข้าไปสักทีเถอะ

        Food and Agriculture Organisation (FAO) ได้รวบรวมข้อมูลว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา การประมงในประเทศสหรัฐอเมริกาจับปลาได้กว่า 112 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรายังคงบริโภคโปรตีนจากทะเลอยู่มาก เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นักวิทยาศาสตร์หลายคน รวมถึง Piraino กล่าวว่า “ถึงเวลาเพิ่มเมนูอาหารใหม่แล้ว พร้อมกินแมงกะพรุนกันหรือยัง”

       ไม่ใช่แค่อร่อย แต่ยังสวยสะบัดหนวดสุดยอดไปเลย ไม่ว่าจะวางประดับเคียงข้างวัตถุดิบหลักประเภทใดก็ล้วนเลิศล้ำไม่ต่างกัน ยิ่งตกแต่งกับกุ้งหรือคาเวียร์ยิ่งประเสริฐศรี กินทีเหมือนมีแสงเรืองรองผ่องอำไพสว่างไสวอยู่ในปาก “กินง่ายใช่ไหมล่ะ” Corey Lee ผู้ก่อตั้ง Benu กล่าวไว้ “รสชาติของทะเลเกิดจากการประสมรวมกันระหว่างความขัดแย้งทางสุนทรียรส ความเค็มถึงขีดสุดกับความกรอบนุ่มนั้นช่างเป็นคู่หูที่ยอดเยี่ยม พอเคี้ยวแล้วผิวสัมผัสแทบไม่ต่างจากเอ็นวัวเลย”

อาหารจากแมงกะพรุน

 

     อย่างไรก็ตาม อร่อยคือเรื่องหนึ่ง มีเยอะคืออีกเรื่องหนึ่ง เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่าคือร่างกายของแมงกะพรุนประกอบด้วยน้ำกว่า 95%  ส่งผลให้กระบวนการปรุงอาหารยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าจะทำกินได้เอง ไม่เหมือนแมลงทอดที่แค่ตั้งไฟ ใส่กระทะ ราดน้ำมัน และเทวัตถุดิบก็เสร็จเรียบร้อย

       นอกจากนี้แมงกะพรุนยังไม่ได้มีโปรตีนมากเพียงพอจะใช้แทนที่เนื้อปลา คุณประโยชน์ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางคอลลาเจนเสียมากกว่า ทว่าในขณะเดียวกันก็สามารถใช้แมงกะพรุนแทนคอลลาเจนจากวัวหรือหมูในการแพทย์แผนปัจจุบันได้ บริษัท Jellagen กล่าวว่าแมงกะพรุนให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะคอลลาเจนของแมงกะพรุนเข้ากับเซลล์ของมนุษย์ได้ดีกว่า

 

ดื้อนักเดี๋ยวจับกินซะหรอก

        Graham กล่าวว่าการกินแมงกะพรุนอาจช่วยเพิ่มอัตราประชากรปลาประเภทอื่นได้ชั่วคราว แต่อย่างไรก็ไม่มีทางยั่งยืน เนื่องจากปัญหาใหญ่คือแมงกะพรุนขยายพันธุ์เร็วมาก เมื่อประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ทั้งภาวะโลกรวน มลภาวะ และการตกปลาเกินจำกัด สถานการณ์แมงกะพรุนในปัจจุบันก็เข้าขั้นวิกฤติ

       ทั้งนี้ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่ามนุษย์ทำลายสภาพแวดล้อมโลกอย่างไร แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าควรทำเช่นไรเพื่อแก้ไขระบบนิเวศน์ทางทะเลให้กลับมาดีดังเดิมได้อย่างยั่งยืน

        Lee ตอบเอาไว้แบบนี้ “ไม่รู้สิครับ ผมไม่ใช่นักชีววิทยาทางทะเล ผมแค่คิดว่าถ้าทุกคนบนโลกกินแมงกะพรุนให้ดุดันเหมือนกินกุ้งหอยปูปลา สักวันมันก็คงหมดไปเอง”

กินแมงกะพรุน

 

       แต่การกินแมงกะพรุนไม่ควรเป็นหนทางแก้ไขปัญหาเพียงหนึ่งเดียว เพราะความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาครัฐและเอกชนร่วมกันสอดส่องดูแลและจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

แหล่งข้อมูล

Could restaurants solve the world's jellyfish problem?: https://www.bbc.com/future/article/20230404-how-do-animals-survive-in-the-deep-ocean

Writer

The Reader by Praphansarn