ที่นี่…ไร่เล แดนแห่งการถูกมองข้าม : บทวิจารณ์โดย ดวงฤทัย อากรแก้ว โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8

ที่นี่…ไร่เล แดนแห่งการถูกมองข้าม

            หากกล่าวถึงไร่เล ชุมชนคนปีนเขา ในความคิดของคุณนั้นภาพแรกที่คุณนึกถึงคือภาพใด สำหรับตัวผู้วิจารณ์ภาพแรกที่นึกถึงคือการปลูกต้นไม้บนไหล่เขาซึ่งอยู่ติดกับทะเลเพียงเท่านั้นเอง แต่ผู้วิจารณ์นั้นไม่สามารถนึกภาพได้ว่าเกี่ยวข้องกับการปีนเขาได้อย่างไร จึงเกิดคาถามขึ้นมาในใจ หากแต่เมื่อผู้วิจารณ์ได้อ่านสารคดีเรื่องนี้จบแล้วนั้นจึงได้เข้าใจและเห็นภาพของคำตอบนั้นผ่านการเขียนของผู้เขียนสารคดีเรื่องนี้นั้นเอง

            สารคดีเรื่อง ที่นี่…ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา ดำเนินเรื่องผ่านการเล่าประสบการณ์การจริงของผู้เขียนที่ได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสบรรยากาศที่ไร่เล ซึ่งอยู่จังหวัดกระบี่ ด้วยตนเอง จึงทำให้ผู้เขียนสามารถบรรยายสภาพแวดล้อมและลักษณะของไร่เลได้อย่างละเอียด ผู้อ่านสามารถเห็นภาพไร่เลผ่านถ้อยคำที่ผู้เขียนได้เรียบเรียงออกได้อย่างชัดเจนดังเช่นข้อความนี้

            “สัณฐานของไร่เลคล้ายรูปค้อนปอนด์ หัวค้อนทั้งสองข้างเป็นโขดเขาหินปูน มีหาดเล็กๆ ที่งดงามมาก อยู่ทางด้านนอกชื่อหาดพระนาง ส่วนด้านในมีหาดน้ำเมาทอดโค้งอยู่ทางตะวันออก และมีหาดไร่เลตะวันตกทอดยาวอยู่ในฟากตรงข้าม ต่อเนื่องไปถึงอ่าวต้นไทรที่ราบแคบ ๆ ระหว่างหาดทั้งสองก็คือส่วนของด้ามค้อนที่ทอดเข้ามาเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ แต่ถูกทับด้วยเทือกแหลมนางที่ทอดต่อขึ้นมาจากอ่าวนาง กลายเป็นปราการกันแดนไร่เลออกจากโลกภายนอก”

            “กล่าวในแง่ของทัศนียภาพ ไร่เลมีความงดงามไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอื่นใดในกระบี่ ไม่เว้นแม้กระทั่งเกาะพีพี ด้วยโค้งหาดทอดยาวขาวสะอาด มีที่ราบกว้างพอให้เรือนพัก บังกะโล กระจายตัวอยู่อย่างไม่แออัดจนเกินงาม และที่สำคัญ มีโขดหินปูนทอดสลับสลอนอยู่ทั่วไป”

            ซึ่งการมีโขดหินปูนทอดสลับกันอยู่ทั่วนี่เองที่ทำให้เกิดชุมชนคนปีนเขาขึ้นมา เพราะในมุมมองของนักปีนเขา ไร่เลนั้นเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การปีนเขาเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าสลดใจคือผู้ที่มาใช้บริการปีนเขาที่ไร่เล ส่วนใหญ่แล้วนั้นเป็นคนต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากข้อความนี้ของผู้เขียน

            “ที่ไร่เล กิจการร้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการปีนเขาทั้งหมดมีเจ้าของเป็นคนไทย แต่ผู้มาใช้บริการกลับตรงกันข้าม ทุกร้านให้ข้อมูลตรงกันว่าลูกค้าส่วนใหญ่ถึง 90-95 เปอร์เซ็นต์ เป็นฝรั่งต่างชาติ ตามหน้าผาต่างๆ จึงเห็นแต่มนุษย์ตุ๊กแกผิวขาวอมทองไต่ไปบนผาหินอย่างสำราญ ราวกับว่าบนยอดเขาเป็นโลกที่พวกเขาฝันหา”

            “เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกันที่เจ้าของถิ่นยังไม่สนใจจะหันมาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าจากทรัพยากรในบ้านของตัวเอง”

            จากข้อความข้างต้นยังแสดงให้เห็นถึงวิธีการเก็บข้อมูลของผู้เขียนก่อนจะนำมาเรียบเรียงเขียนเป็นบทความอีกด้วย

            ผู้วิจารณ์จึงตั้งคำถามต่อว่าเพราะเหตุใดเราจึงไม่เห็นประโยชน์และคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ในมือของตนเอง ซึ่งผู้เขียนนั้นได้ให้คำตอบผ่านข้อความดังนี้

            “สิ่งที่น่าเศร้าคือผู้มีอำนาจและมีบทบาทในการบริหารบ้านเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ไม่เคยสนใจไยดีที่จะสนับสนุนส่งเสริมการกีฬาในแขนงนี้เลย ปีนผาจึงยังเป็นเกมกีฬาเถื่อนที่หลุดลอยอยู่นอกทำเนียบการกีฬาของประเทศไทย”

            จากข้อความข้างต้น ผู้วิจารณ์มีความคิดเห็นว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของบ้านเมืองที่ผู้มีอำนาจและบทบาทในด้านของกีฬา ไม่แสวงหากีฬาใหม่ ๆ หรือสิ่งใหม่ ๆ ยังใช้รูปแบบเดิม ๆ ในการบริหาร จึงทำให้เกิดผลเสียที่คาดไม่ถึงตามมา ดังเช่นข้อความนี้ที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงผลเสียในด้านของเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้อย่างมหาศาล

            “ในเชิงการท่องเที่ยว การปีนเขาสามารถกลายเป็นลักษณ์ของกระบี่ได้ เหมือนการล่องแพที่เป็นหัวใจของเมืองกาญจนบุรี เหมือนตลาดน้ำที่เป็นหน้าตาของดำเนินสะดวก ราชบุรี หรือภูกระดึงที่เป็นหน้าบ้านลานรับแขกของเมืองเลย”

            จากข้อความข้างต้น ผู้เขียนมีการใช้คำเปรียนเทียบนั้นคือคำว่า เหมือน เป็น ทำให้ผู้วิจารณ์เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

            และโดยส่วนตัวนั้นผู้วิจารณ์ประทับใจในข้อความนี้เป็นอย่างยิ่ง “ฟังผมเล่าจะได้แต่ทฤษฎีเท่านั้น ถ้าอยากเข้าใจทั้งหมดต้องลองปีนเอง” เป็นการสะท้อนความจริงว่าหากเราจะตัดสินใจอะไรสักอย่างหนึ่งนั้น เราต้องสัมผัสสิ่งนั้นด้วยตัวของเราเอง อย่าตัดสินสิ่งนั้นเพียงแค่ตามอง

            ผู้เขียนมีการกล่าวถึงอุปกรณ์ที่ต้องสวมใส่ ซึ่งผู้วิจารณ์มองว่าผู้เขียนใช้ภาษาที่เข้าใจความหมายได้ยาก ผู้อ่านคนอื่นรวมถึงผู้วิจารณ์เองนั้นที่ไม่ได้มีความสนใจในกีฬาปีนเขา เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวทำให้ไม่เข้าใจและเสียอรรถรสในการอ่านหรือผู้เขียนจะมีเหตุผลที่เขียนแบบนั้นน่ะ

            “ศรุตนำอุปกรณ์ทุกชิ้นออกมาตรวจสภาพและความเรียบร้อยก่อนออกใช้งาน สาวดูเส้นเชือกเคิลแมนเทิล (kernmantle) ให้มั่นใจว่าปลอดเงื่อนปม เอาฮาร์เนส (harness) หรือห่วงนั่ง สวมรัดสะเอวและโคนขาทั้งสองข้าง พวงควิกดรอว์ (quick draw) คล้องสะเอว คาดถุงแป้งบรรจุผงแมกนีเซียมคาร์บอเนตทับข้างหลัง และสุดท้ายสอดเท้าเข้าข้างในรองเท้าปีนเขาปลายสอบ รวบปลายเท้าเรียวเล็กเหมือนกีบเลียงผา”

            ในตอนสรุปของสารคดีนั้นผู้เขียนทิ้งท้ายด้วยข้อความนี้

            “นานมากแล้วที่ผมไม่ต้องต่อสู้กับอะไรเลย ความบริบูรณ์ของชีวิตในเมืองพร้อมจะตอบสนองความต้องการให้เราได้ทุกอย่าง เพียงมีอำนาจซื้อ แต่สังคมบริโภคนิยมเลี้ยงเราให้เติบโตแต่เพียงร่างกาย ขณะที่หัวใจตีบเล็กลงทุกวัน”

            ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อความที่ผู้วิจารณ์นั้นประทับใจ เพราะมีส่วนที่ตรงกับผู้วิจารณ์ที่ต้องจากบ้านเกิดมาเรียนในกรุงเทพมหานครต้องใช้ชีวิตด้วยตนเอง เห็นภาพในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่ออย่างชัดเจน ข้อความดังกล่าวจึงทำให้ผู้วิจารณ์ได้ถามตัวเองว่าเรานั้นเติบโตเพียงร่างกาย ขณะที่หัวใจตีบเล็กลงทุกวัน แล้วหรือยัง

            หากถามผู้วิจารณ์ว่าเมื่ออ่านสารคดีเรื่อง ที่นี่…ไร่เล ชุมชนคนปีนเขา จบแล้วนั้น ผู้วิจารณ์นั้นมีความสนใจที่จะไปสัมผัสไร่เลด้วยสองมือสองเท้าของตัวเอง และจะท้าทายตัวเองด้วยการปีนเขาหรือไม่ ผู้วิจารณ์ตอบได้โดนทันทีว่าไปแน่นอน ผู้วิจารณ์ต้องการที่จะไปสัมผัสสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงจินตนาการผ่านตัวหนังสือเท่านั้น

 

บทวิจารณ์โดย ดวงฤทัย อากรแก้ว

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8
 

 

Writer

The Reader by Praphansarn