วรรณา สวัสดิ์ศรี : เจ้าของนามปากกา ศรีดาวเรือง

วรรณา สวัสดิ์ศรี

วรรณา สวัสดิ์ศรี (ศรีดาวเรือง)


การศึกษาสูงสุด ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบางกระทุ่มศึกษาลัย

ประเภทงานเขียน เรื่องสั้น, นวนิยาย, ความเรียง

ผลงานเด่น มัทรี, ราษฎรดำเนิน, แก้วหยดเดียว

ผลงานรวมเล่ม รวมเรื่องสั้น : บรรพสตรี รวมหนึ่งร้อยเรื่องสั้นของดาวเรือง, ราษฎรดำเนิน, แก้วหยดเดียว, บัตรประชาชน, มัทรี, ภาพลวงตา, ชาวยักษ์, ชมรมวันศุกร์, นวนิยายขนาดสั้น : เนินมะเฟือง, เจ้ากาเหว่าเอย, หมอก, ซ่อนกลิ่น, รวมบทความ : ละครแห่งโลก, วิถีชาวบ้าน ฯลฯ

 

รางวัลที่ได้รับ รางวัลศรีบูรพาประจำปี 2557, รางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ, รางวัลเรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, รางวัลช่อการะเกด

 

ประวัติ วรรณา (ทรรปนานนท์) สวัสดิ์ศรี เป็นนักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ใช้นามปากกา “ศรีดาวเรือง” ผลงานชุด “มัทรี” ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ เธอเกิดที่พิษณุโลกในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ในปี 2498 เดินทางเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่งานเลี้ยงเด็ก จนไปเป็นคนรับใช้บ้านฝรั่ง เป็นกรรมการโรงงานแก้ว และโรงงานทอกระสอบ เป็นลูกจ้างเย็บเสื้อโหล เป็นลูกจ้างในร้านอาหาร ฯลฯ เธอไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักเขียน จนกระทั่งได้พบและใช้ชีวิตครอบครัวกับสุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและบรรณาธิการเมื่อปี 2516 จึงได้รับคำแนะนำให้อ่านและเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ปี 2518 เรื่องสั้นเรื่องแรก “แก้วหยดเดียว” ซึ่งสะท้อนชีวิตกรรมกรในโรงงานแก้ว ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” บทกวีชิ้นแรกชื่อ “กล้วย” ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร “ปุถุชน” บทความเรื่องแรกชื่อ “คุณเป็นลิเก” และบทวิจารณ์วรรณกรรมเรื่องแรก “คนขี่เสือ” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “อธิปัตย์” ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จากนั้นจึงตัดสินใจเป็นนักเขียนอาชีพ ผลงานหลายเรื่องได้รับรางวัลสำคัญ ๆ เช่น “คนดายหญ้า” (รางวัล ว. ณ ประมวลมารค เรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือฯ ประจำปี 2521) “มันมากับการเลือกตั้ง” (รางวัล “ช่อการะเกด” จากนิตยสาร “โลกหนังสือ” ฉบับเรื่องสั้น ปี 2521) “ความเงียบที่เริ่มต้น” (รางวัลเรื่องสั้นสร้างสรรค์ของ “กลุ่มวรรณกรรมพินิจ” ปี 2522) และ “งูเกี้ยว” (เรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือฯ ประจำปี 2529) นอกจากนี้เรื่องสั้นหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ บางเรื่องได้แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ภาษาโปล์ (โปแลนด์) ฝรั่งเศส เยอรมัน และมาเลย์ ในระยะต่อมา “ศรีดาวเรือง” ได้แต่นวนิยายขนาดสั้น ทำงานแปล (เช่น การผจญภัยของลุงป๋วย หนังสือปกเขียว ดอนกิโฮเต้ ฉบับ “อนุบาล” ฯลฯ) และเขียนบทความบทวิจารณ์เกี่ยวกับวรรณกรรม