นามปากกา :

รางวัลที่ได้รับ :

เกียรติยศ

  • พ.ศ. 2545 - เข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • พ.ศ. 2546 - เข้ารับรางวัลนราธิป ครั้งที่ 3

ประวัติส่วนตัว :

    หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ นักเขียนชาวไทย เจ้าของผลงานคอลัมน์ และหนังสือชุด "ชีวิตในวัง" และ "ชีวิตนอกวัง" ผู้ได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2546

     หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ณ วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ เดิมชื่อ ทับทิม ภายหลังได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า เนื่อง เป็นบุตรีคนที่ 3 ของหม่อมราชวงศ์อั้น นิลรัตน์ และนางเผือก นิลรัตน์ ณ อยุธยา สืบราชสกุลมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ลงมาทางพระอัยกาหม่อมเจ้าชายชุ่ม นิลรัตน์

 หม่อมหลวงเนื่อง มีพี่น้องร่วมมารดาคือ

  • หม่อมหลวงหญิง ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังไม่มีชื่อ
  • หม่อมหลวงหญิง ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังไม่มีชื่อ
  • หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์
  • หม่อมหลวงกระแสร์ นิลรัตน์ (ชาย)
  • หม่อมหลวงสมพงษ์ นิลรัตน์ (หญิง)
  • หม่อมหลวงวารินทร์ นิลรัตน์ (ชาย)
  • หม่อมหลวงวารี นิลรัตน์ (หญิง)
  • หม่อมหลวงสมจิตต์ จันทนพิศาล (หญิง)
  • หม่อมหลวงดำรงค์ นิลรัตน์ (ชาย)

 

     ในวัยเยาว์ บิดาได้นำหม่อมหลวงเนื่องถวายหม่อมเจ้าหญิงสะบาย นิลรัตน์ ซึ่งเป็นท่านย่าและทรงเป็นหัวหน้าห้องเครื่อง (ครัว) ของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงเลี้ยงดูภายในพระราชวังสวนสุนันทา โดยหม่อมเจ้าหญิงสะบาย ทรงมอบภาระการเลี้ยงดูหม่อมหลวงเนื่องต่างพระเนตรแก่หม่อมเจ้าหญิงแย้มเยื้อน สิงหรา ได้รับการเลี้ยงดูพร้อมกับหม่อมราชวงศ์หญิงศรีคำ ทองแถม ธิดาในหม่อมเจ้าคำงอก ทองแถมและหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์สินธุ์ สิงหรา ในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในวังนี้ ได้รับการสอนในวิชาการครัวตลอดจนการฝีมือต่างๆ จนมีอายุพอสมควรแล้ว หม่อมเจ้าหญิงสะบาย จึงนำขึ้นถวายเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ได้รับประทานเหรียญทองลงยา อักษรพระนามย่อ “น น” เป็นเกียรติยศ

      หม่อมหลวงเนื่อง ศึกษาในขั้นแรกกับหม่อมราชวงศ์หญิงบุญเอื้อ ลดาวัลย์ และหม่อมพยอม ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ภายหลังเมื่ออายุได้ 8 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี ทรงสถาปนาโรงเรียนนิภาคารขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่ข้าหลวงในพระราชวังสวนสุนันทา จึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนแห่งนี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 หม่อมหลวงเนื่องออกจากพระราชวังสวนสุนันทามาอยู่กับบิดามารดาระยะหนึ่ง ต่อมาจึงย้ายไปอาศัยกับหม่อมเจ้าหญิงแย้มเยื้อนที่วังลดาวัลย์ ในระหว่างนี้ได้สมัครเข้าทำงานเป็นครูประชาบาล สอนที่โรงเรียนเทเวศร์ศึกษาเป็นแห่งแรก จากนั้นได้ประกอบอาชีพครูโดยตลอดและสอนที่โรงเรียนวัดสมณานัมบริหาร (วัดญวน สะพานขาว) เป็นแห่งสุดท้าย รวมเป็นระยะเวลา 22 ปี
 

ด้านชีวิตครอบครัว

     ได้สมรสกับ นายวิชัย ไวชนะ อดีตครูใหญ่โรงเรียนเทศบาลพญาไท เมื่อปี พ.ศ. 2488 มีบุตร 2 คน คือ

  • นายเนรมิต ไวชนะ (ถึงแก่กรรม)
  • นายอิทธิชัย ไวชนะ (ถึงแก่กรรม)

    ต่อมา เมื่อนายวิชัย ไวชนะ ถึงแก่กรรมแล้ว จึงได้ใช้ชีวิตคู่กับ พันเอกถาวร สถาวรินทุ มีบุตรชายร่วมกันอีก 1 คน นอกจากบุตรทั้ง 3 แล้ว ท่านยังได้รับอุปการะบุตรีบุญธรรมอีกคนหนึ่ง คือ นางสาวนิจ เหลี่ยมอุไร

     หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ กราบถวายบังคมลาถึงแก่กรรม ด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553 เวลา 4.45 น. ที่สถาบันบำราศนราดูร อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สิริอายุได้ 96 ปี

      ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานหีบทองลายองุ่น พวงมาลาวางหน้าหีบศพ และพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับศพไว้ในพระราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน พระราชทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ และพระราชทานพระราชานุเคราะห์ ในการพระราชทานเพลิงศพ พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน และประทาน พวงมาลาวางหน้าหีบศพ อนึ่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ประทานน้ำอาบศพด้วย