นิลวรรณ ปิ่นทอง : นักเขียนชาวไทย อดีตบรรณาธิการนิตยสาร สตรีสาร

นิลวรรณ ปิ่นทอง
             คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2458 เป็นนักเขียนชาวไทย อดีตบรรณาธิการนิตยสาร สตรีสาร อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์ ได้รับรางวัลแมกไซไซ เมื่อปี พ.ศ. 2504 สาขาบริการประชาชน และเป็นอดีตเลขานุการทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
 

             นิลวรรณ ปิ่นทอง เกิดมาในครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อย มารดาเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ผู้เลี้ยงดูให้การศึกษาคือบิดาคือ นายเวช ปิ่นทองและมารดาคือ นางกรุณา ปิ่นทอง

             นิลวรรณจบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนเบญจมราชาลัย และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ได้วุฒิป.ป. จากนั้นเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ (เป็นรุ่นที่ 4 ปี 2477) จบแล้วเป็นครู 1 ปี แล้วย้ายมารับราชการในกรมโฆษณาการอยู่ 9 ปี จึงลาออกมาทำงานด้านบรรณาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2491 เป็นบรรณาธิการนิตยสาร สตรีสาร และปี 2492 รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการอีก 2 เล่มคือ ดรุณสาร สำหรับเยาวชน และ สัปดาห์สาร สำหรับเรื่องข่าวสาร นิตยสาร สตรีสาร ได้รับรางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนิตยสารส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2530 จนดำเนินการถึงปี 2539 จึงได้ปิดตัวลงไป

            นอกจากนั้นนิลวรรณ ยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์ เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการประชาชน จากมูลนิธิแมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2505 และได้รับปริญญา อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) เมื่อปี 2517 ยังได้รับการโปรดเกล้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เปลี่ยนคำหน้านามเป็น "คุณ" (อันเป็นคำนำนามระดับชั้นเดียวกับสุภาพสตรีระดับ “คุณหญิง” แต่ใช้สำหรับสตรีที่มิได้สมรส) ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรมคุณนิลวรรณ ยังทำงานให้สมาคมสตรีอุดมศึกษา โดยก่อตั้งกลุ่มนักอ่านคัดเลือกหนังสือเพื่อพัฒนาตนขึ้น

           


รางวัลที่ได้รับ
  • รางวัลศรีบูรพา เป็นคนที่ 3 (2534)
  • รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการประชาชน จากมูลนิธิแมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2505
 

              ท่านเป็นอดีตนิสิตหญิงแห่งคณะอักษรศาสตร์ รุ่นที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิสิต 3 คนได้รับรางวัลของสมาคมฝรั่งเศส ในฐานะที่เก่งเป็นเลิศในภาษาฝรั่งเศส "หนึ่งในสามคนนั้นชื่อนิลวรรณ ปิ่นทอง

             ชื่อเสียงการเป็นบรรณาธิการของอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง นั้นก็เพราะท่านเป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรี “สตรีสาร” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากของไทยมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี จนนิตยสารฉบับนี้ได้ปิดตัวเองไป เมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นการปิดตัวเองท่ามกลางความเสียดายของผู้อ่านจำนวนมาก

             มีคนเล่าว่าอาจารย์นิลวรรณเคยบอกว่า “ดิฉันไม่เคยคิดว่าจะหาเงินจากการทำหนังสือ ดิฉันมาทำงานหนังสือ เพราะอยากให้คนอ่านได้อ่านหนังสือดี ๆ เพื่อจะได้เกิดอนุสติบางอย่าง เพื่อให้คนอ่านได้รับรู้แง่มุมความคิดต่าง ๆ ของคนในสังคม” ผู้คนกล่าวถึงนิตยสารสตรีสารกันมากก็เพราะเป็นหนังสือที่อาจารย์นิลวรรณเป็นบรรณาธิการอยู่ 48 ปี แทบจะตลอดอายุของนิตยสาร แต่ที่จริงแล้วอาจารย์นิลวรรณยังเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารอื่นสำหรับคนทุกคนในครอบครัวด้วย เพราะนอกจากสตรีสารแล้วท่านยังเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารดรุณสาร ซึ่งถือว่าเป็นนิตยสารสำหรับเด็กที่ดีมากเล่มหนึ่งของไทย โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มสโมสรปรียา พื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็กไทยเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ควบคู่ไปกับการออกนิตยสาร 'ดรุณสาร' เปิดโอกาสให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นและจินตนาการ เช่น ให้หัดเขียนกลอน เขียนเรื่องเล่า โดยมีครูมาสอนให้ มีคอลัมน์ต่อเติมเสริมภาพให้เด็กมีจินตนาการเขียนต่อเติมภาพจากตัวร่างบางส่วน ทั้งนี้มีค่าตอบแทนเป็นค่าขนมให้

             นิตยสารอีกฉบับหนึ่งที่อาจารย์เป็นบรรณาธิการคือ สัปดาห์สาร ที่มีบางท่านบอกว่าเป็น “บุรุษสาร” แต่ทว่าที่จริงคือนิตยสารที่อ่านกันได้ทั้งครอบครัว เพราะเป็นนิตยสารข่าวสารรายสัปดาห์ มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้าน เน้นมากทางด้านการเมือง คล้าย ๆ กับนิตยสารไทม์ส แต่ก็ไม่ได้วิจารณ์อย่างรุนแรง

            นิตยสารดรุณสารและสัปดาห์สารนั้นมีอายุอยู่ไม่ยาวนาน แต่บทบาทของอาจารย์นิลวรรณที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารทั้งสามฉบับมานั้น ได้ “สอน” คนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือตลอดจนผู้คนให้ช่วยกันงานด้านภาษาและหนังสือเป็นอย่างดี จนมีคนเคารพนับถือ นิยมเรียกท่านว่า “อาจารย์” กัน แทบจะทั้งเมือง ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นครูสอนหนังสืออยู่เพียง 2 ปีโดยประมาณเท่านั้น ท่านจึงเป็นผู้เปิดพื้นที่สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ให้ได้เกิดในบรรณพิภพ

            งานด้านภาษาและหนังสือนั้นท่านได้ทำมานาน เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการก่อตั้งสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวิชาการหนังสือพิมพ์ ก่อนที่จะมีสมาคมนักข่าวฯและสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ เคยเป็นทั้งเลขาธิการและนายกสมาคม แต่ที่มาเป็นนายกสมาคมช้า คือเพิ่งยอมเป็นเมื่อ พ.ศ. 2525 ก็เป็นเพราะท่านปฏิเสธตำแหน่งนายกสมาคมมาตลอดเวลา และผลักดันให้ผู้อาวุโสท่านอื่น จนมาถึงคนรุ่นน้องรุ่นศิษย์ได้เป็นก่อน เพราะต้องการให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้เข้ามาร่วมงานสมาคม ท่านยังเป็นนักนิเทศศาสตร์เกียรติยศ ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรติจากสมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย

            อาจารย์นิลวรรณนั้นมิใช่เป็นเพียงบรรณาธิการที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น ท่านมิใช่เป็นเพียงดาวเด่นเฉพาะในโลกภาษาและหนังสือ ท่านยังเป็นสตรีไทยที่มีบทบาทสำคัญ ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ และงานอาสาเพื่อสาธารณชนอีกหลายด้าน และเป็นผู้บอกและสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงาน เพื่อพัฒนาตนเอง แทนที่จะเอาแต่เรียกร้องสิทธิ จนเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ขณะที่ท่านเพิ่งมีอายุเพียง 44 ปี ท่านได้รับรางวัลแมกไซไซ ในสาขาบริการสาธารณะ จึงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

           อาจมีบางท่านไม่ทราบว่าอาจารย์ทำงานอะไร เรื่องการชักชวนคนหนุ่มคนสาวเป็นอาสาสมัครออกไปทำงานในชนบทนั้นอาจารย์นิลวรรณทำมานานมากแล้ว ในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่ได้มาเพราะความรู้ความสามารถในการทำงานทางด้านสตรี ด้านสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนงานด้านการศึกษาและเยาวชน งานที่ท่านไปทำนั้นได้ช่วยงานของภริยานายกรัฐมนตรี ดังนั้นชีวิตและงานของอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้ที่วันนี้ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นผู้นำสตรีไทยที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง.

          นิลวรรณถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 สิริอายุ 101 ปี