สาวใช้สีแสด : สาวใช้สีแสด : นักสู้ตัวน้อย

สาวใช้สีแสด

คนเราทุกคนเกิดมาล้วนมีพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกัน ต่างคนต่างดิ้นรนเพื่อพาตัวเองก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายเหล่านั้นไปยังฝั่งฝันอันสวยงามที่ตัวเองได้วาดไว้ แต่กว่าที่คนหนึ่งคนจะก้าวผ่านแต่ละวันเหล่านั้นไปได้ เบื้องหลังของความสำเร็จมีหยาดน้ำตามากมายให้จดจำ มีความขมขื่นกล้ำกลืนที่ต้องทนฝ่าฝัน ยิ่งมีพื้นฐานชีวิตที่ต่ำกว่าคนอื่นยิ่งต้องดิ้นรนมากกว่าหลายเท่า

สาวใช้สีแสด เป็นผลงานการเขียนของ ศรีสรรค์ พรหมหา ผลงานที่มีเนื้อหาโดดเด่นติดอันดับ1ใน5ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายโครงการรางวัลชมนาดครั้งที่4 ผลงานประเภทสารคดีชีวิตที่มีการเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครที่มีชื่อว่า “สีแสด” เด็กหญิงตัวน้อยผู้ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับผู้คนและสภาพสังคมที่แตกต่างกันออกไป ทุกครั้งที่ท้อจะมี “แม่สีดา” ผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ทำให้สีแสดมีกำลังแรงกายแรงใจลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งเพียงเพราะอยากพาแม่หนีไปจากผู้ชายคนนั้น…

สาวใช้สีแสดเป็นสารคดีชีวิตที่สะท้อนภาพของคนในสังคมออกมาได้อย่างเด่นชัด ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สังคมก็คือสังคมย่อมมีผู้คนมากมายหลายประเภทปะปนกันอยู่ สีแสดเองก็เป็นเพียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องจำใจออกมาเผชิญโลกกว้างเพียงเพราะไม่อยากอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับผู้ชายคนนั้นคนที่คอยพูดจาเหน็บแนมแสดตลอดเวลา แต่ด้วยวัยเพียงสิสองปี มีความรู้แค่ชั้น ป.4 งานที่พอจะทำได้คงมีเพียงแค่อาชีพสาวใช้ อาชีพใช้ “แรงกาย” ที่ต้องใช้ “แรงใจ” ในการขับเคลื่อน

ผู้เขียนมีการถ่ายทอดความรู้สึกออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด มีการใช้ภาษาและการเปรียบเปรยได้อย่างสวยงามและน่าทึ่ง อย่างเช่นวรรคหนึ่งในเนื้อเรื่องที่กล่าวไว้ว่า เออหนอเพื่อนมนุษย์ เอาอะไรทำหัวใจจึงดำนัก ใช้แรงงานคนอื่นเขาแต่อยากจ่ายเงินน้อยๆหรือเผลอๆหากทำไม่ครบเดือนก็พาลไม่จ่ายเอาดื้อๆ ซึ่งในชีวิตของแสด ได้พบเจอมาแล้วทั้งสิ้น…หรือใจไม่สร้างด้วยเลือดเนื้อ สัตว์ใหญ่รังแกสัตว์น้อย คนที่มีพลังมากกว่าก็คอยแต่จะเอารัดเอาเปรียบ ในทางเริ่มต้นของชีวิตแสดล้วนพบเจอแต่ละบทบาทของคนที่มีชีวิตเพื่อตัวเอง หากแสดเป็นต้นไม้ นอกจากเกิดในดินที่แห้งกระด้างแล้ว น้ำต้องรอฝน ปุ๋ยดีๆก็ไม่มี หากแต่พบล้วนมลพิษ แต่ต้องอยู่ เพราะสายพันธุ์กรรมพันธุ์เป็นเลือดนักสู้กระมัง เลือดคนอีสานที่เขาว่าอึดนัก ลูกข้าวเหนียวผู้อดทนและคนที่เป็นคนจนแต่กำเนิดลำต้นต้องแข็งแรง เหมือนต้นคูน ที่อาจไม่ต้องใช้น้ำมากนัก ขอแค่มีที่ยืน สภาพอากาศอย่างไรก็โตได้ ออกดอกงามสะพรั่งได้แม้ในหน้าแล้ง…(บท7 น.28) จากที่อ้างอิงมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้เขียนมีเอกลักษณ์ในด้านการใช้ภาษาอย่างโดดเด่น แต่เมื่ออ่านไปก็เกิดความรู้สึกติดขัดตรงคำว่า หากแต่พบล้วนมลพิษ หากปรับอีกนิดหน่อยอาจจะทำให้การอ่านลื่นไหลมากกว่านี้ อีกทั้งคำบางคำผู้เขียนควรให้ความหมายแนบท้ายเพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านอย่างเช่นวรรคหนึ่งที่ว่า รายการเพลงตามยุคก็คือเพลงของวงสุนทราภรณ์ ที่วันนี้บรรเลงเพลงหวานซึ้งอย่างเพลง ฟ้าแดง ก็ทำเอาใจเพริด เหงาเหรอ ? (บท11 น.39) คำว่าใจเพริด มีความหมายว่า กระเจิดกระเจิง เตลิดไป หากอ่านโดยดูบริบทโดยรวมก็เข้าใจได้ง่าย แต่หากผู้อ่านเป็นเด็กหลายๆคนคงไม่รู้ความหมายของคำว่าใจเพริด หากมีการเพิ่มไว้เป็นเชิงอรรถรสเหมือนดังที่ผู้เขียนได้เขียนบอกไว้ใน (บท20 น.68) คงจะดีไม่น้อย

สีแสดถึงแม้จะอายุยังน้อยแต่มีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญอย่างมากในการเอาตัวรอดจากผู้คนที่คอยดูหมิ่นและคอยกดขี่ข่มเหงต่างๆนานา เห็นได้จากคำพูดของแสดที่ว่า “ค่าแรงหนูสองร้อยแปดสิบบาท หยาดเหงื่อแรงงงานหนู ทำผิดหนูก็รับผิดชอบลาออก จะให้ทำงานฟรีอีกสองเดือนหนูไม่ทำ หนูไม่ใช่ทาส ถ้าไม่จ่าย หนูจะไปบอกตำรวจ หนูอายุสิบหกเป็นเด็ก คุณป้าเป็นคนรวย อย่ามาโกงหนู”สายตาไม่หลบ น้ำตาไม่มี แต่แววตามี มันคือแววช้ำ และเอาเรื่องตามประสาของธรรมดามนุษย์ที่ต้องเอาตัวรอด และใช่หมาจนตรอกด้วย (บท39 น.132)

แต่ละวันที่แสดต้องก้าวเดินจะมีอุปสรรคต่างๆนานารออยู่เสมอ ผู้เขียนได้ส่งกำลังใจปลอบโยนคนสู้ชีวิตและผู้คนที่ท้อแท้สิ้นหวังผ่านคำพูดของแสดที่ว่า “เสี่ยงอีกกี่ครั้งจะเป็นไร เรายังมีแรงกาย แม้ยามค่ำคืนจะเหนื่อยล้าเพียงใด พอรุ่งเช้ากำลังกายก็จะมีขึ้นมาอีกตราบที่ยังกินข้าวได้และไม่เจ็บป่วย ส่วนกำลังใจนั้นต้องคอยปลุกปลอบและสร้างเอง เพราะหากขาดหรือไม่มีเสียแล้ว ไหนเลยจะมีสิ่งนำพากายให้ลุกเดินและสู้เพื่ออนาคตที่สุดจะริบหรี่อยู่แล้วนั้นได้” (บท41 น.138-139)

นอกจากทักษะด้านการใช้ภาษาที่โดดเด่นแล้วหนังสือเล่มนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตที่ไม่ได้มีตอนจบที่สวยหรูอย่างในนิยาย ไม่มีพระเอกขี่มาขาวมาช่วยตอนที่เราตกอยู่ในอันตราย ไม่ได้ครองรักกับเจ้าชายในฝัน เพราะโลกของชีวิตจริงไม่ได้สวยหรูทุกคนจึงต้องดิ้นรนและสู้ทนฝ่าฟันเพื่อพาชีวิตข้ามผ่านแต่ละวันไปให้ได้ ดั่งเช่นชีวิตของแสดในตอนนี้ที่ผู้เขียนบรรยายไว้ว่า “มันรังแกหนู มันหยามหนู หนูต้องสู้มัน”แสดร้องไห้ไม่อายใคร และทรุดนั่งลงตรงนั้น สะอื้นตัวโยน หลายสายตาเปลี่ยนความหวั่นกลัวเป็นสงสารสาวน้อยที่หมดแรงจะไปต่อ เธอร้องจนตัวงอ …แล้วพลันมือใหญ่ๆของใครคนหนึ่งก็ยื่นมาตรงหน้า คุณวีระพลนั่นเอง เขาคือเจ้าของมืออุ่นๆที่ช่วยพยุงแสดขึ้นจากกองทุกข์และสะอื้นถี่นั้น หน้าตายังอารีเหมือนเดิม แต่งกายหล่อเนี้ยบตามฐานะและชั้นที่เขาอยู่ รปภ.ของโรงหนังมาเก็บมีด ผู้คนเริ่มล่าถอย แสดมองหน้าเขา ผู้ติดอยู่ในจิตวิญญาณ และหัวใจดวงน้อยๆของเธอ สำนึกเว้าวอนของคนที่ขาดและรอเติม หวังจะมีมือใครสักคนมาดึงขึ้นยามล้ม ประคองยามเดียวดายในโลก และซบอกอุ่น หรือมอบผ้าเช็ดหน้าสักผืนให้ซับน้ำตาเหมือนในหนังในละครเป็นจริงขึ้นแล้วหรือ แสดมองคุณวีระพล ชายผู้เป็นเจ้าของจดหมายหวานฉบับที่แสดสอดมันไว้ในหน้าของไดอารี่ ลูบคลำและอ่านวนไปวนมาทุกวันราวกับเป็นวิตามินชีวิต ต่อเติมให้มีกำลัง ให้สู้และวาดลมห่มอากาศว่าอยากให้เป็นเขาคนเดียว ที่แสดจะได้ร่วมชีวิต แต่ทุกครั้งก็ต้องสะบัดหน้า ไล่ฝันหวานออก เพราะสำนึกว่าตัวเองก็แค่สาวใช้… นั่นคงเป็นตอนจบที่แสดหรือคนที่อ่านเรื่องราวของแสดมาถึงตรงนี้อยากให้เป็น ส่วนความเป็นจริงคือ…แสดในชุดกระโปรงสีดำและเสื้อสีขาวที่ทางร้านจัดให้นั่งพับเพียบอย่างหมดสิ้นเรี่ยวแรง มีดถูกวางไว้อยู่ใกล้ๆมือ สะอื้นนี้ยังไม่คลายราวเขื่อนทะลัก ความคับแค้นทั้งหมดที่เก็บกดมาแต่ยามไหนๆไม่รู้ บวกกับความทุกข์ ว้าเหว่ และการต่อสู้ เจ็บช้ำกับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกที่น่าชัง…มันหลอมรวมกันประดังเข้ามาในคราวเดียวจนเธอไม่อาจหยุดร้องได้ แล้วแสดก็ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง ยกหลังมือปาดน้ำตาเหมือนเคยๆเดินกลับร้านลาออก เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าใบเดิม กระชับย่าม…แล้วออกเดิน (บท47 น.163-164)

การดำเนินเรื่องเป็นไปเหมือนการเล่าเรื่องราวในอดีตให้ผู้อ่านได้ฟัง ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตมีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายหมุนเวียนกันเข้ามา ชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งต้องต่อสู้ดิ้นรนกับอุปสรรคนานัปการ ถูกกดขี่ข่มขี่เหงจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง แต่สีแสดก็เป็นนักสู้ตัวน้อย ที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคเหล่านั้น จนสามารถข้ามผ่านวันเวลาเหล่านั้นมาได้

“สาวใช้สีแสด” เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ทรงคุณค่า อัดเน้นไปด้วยคุณภาพเหมาะกับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังท้อแท้หรือสิ้นหวังในชีวิตหากคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้ สีแสดจะพาคุณไปพบเจอกับเรื่องราวชีวิตของเธอ นักสู้ตัวน้อยที่จะบอกให้คุณรู้ว่าโลกใบนี้ยังมีคนอีกมากมายที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง คุณไม่ได้สู้เพียงลำพัง…

 

นิศารัตน์ โสระเนตร์ (วุ้น)

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ