ชีวิตและงานเขียน ชมัยภร บางคมบาง(แสงกระจ่าง) : ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557

ชีวิตและงานเขียน ชมัยภร บางคมบาง(แสงกระจ่าง)

.       ชมัยภร (แสงกระจ่าง) บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 เจ้าของนามปากกา ชมัยภร แสงกระจ่าง, ไพลิน รุ้งรัตน์, บัวแพน นันทพิสัย, ชมจันทร์ และบุณฑริกา ผลงานวรรณกรรมของชมัยภรมีหลายประเภททั้งบันเทิงคดีและสารคดี ได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ วรรณกรรมเยาวชนและบทวิจารณ์  คุยนอกรอบจึงอยากพาไปพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นและผลงานของคุณชมัยภรกันค่ะ

 

เขียนงานมาประมาณกี่ปีแล้วคะ

      ถ้านับจากที่เริ่มต้นเล็ก ๆ น้อย ๆ เลยก็ เอ่อ เกือบ 50 ปีละ ถ้านับเป็นเล่มตอนนี้ประมาณ 92 เล่ม

 

เริ่มจากเขียนงานประเภทไหนก่อนคะ

     ตอนที่เริ่มแรก จะเป็นงานประเภทหัดเขียนเลยเนี่ยนะ ชิ้นแรกเขียนกลอน เขียนกลอนได้ เป็นครั้งแรกที่ตื่นเต้นกับตัวเองว่า เขียนกลอน 1 บท แล้วรับสัมผัสเป็น นั่นล่ะเป็นความตื่นเต้นสุดๆ แล้วตอนหลังถึงขนาดอาจหาญส่งกลอนไปประกวดกับนิตยสารชัยพฤกษ์ ก็ได้รางวัลที่ 2 จำได้ เรื่องวันสงกรานต์ แล้วหลังจากนั้นก็สนใจเรื่องกลอน แต่ว่าขณะเดียวกันก็เขียนเรื่องสั้น

       อะไรที่เราอยากเล่ามาตลอด คือเขียน เวลาที่เราอยู่มหาวิทยาลัย อยู่ชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ ก็เขียนเรื่องสั้น คือมันเริ่มต้นด้วยมันอยากแต่งเรื่อง มันมีจินตนาการ แล้วก็เขียนได้ทั้งสองแบบ เขียนได้ทั้งที่เป็นเรื่องสั้น และทั้งที่เป็นกลอน

 

แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ ก่อนหน้านั้นคือการชอบอ่านหนังสือมาก่อนใช่ไหมคะ

       ใช่ ชอบอ่านหนังสือมาก คือ เพราะไม่มีความบันเทิงอื่นใดเลยนอกจากว่า คนประมาณ พ.ศ. นั้น สักประมาณ 2500 เศษ นิด ๆ อายุสัก 10 ขวบ 11 12 10 ขวบมันเป็นช่วงที่ไม่มีทีวี ไม่มีทีวีก็ต้องอ่านหนังสือใช่ไหมคะ แล้วหนังสือแม่มีหนังสือนวนิยายในบ้านเราก็อ่านนวนิยาย พ่อมีหนังสือสารคดีกับกวีนิพนธ์ในบ้าน เราก็อ่านหนังสือสารคดีกับกวีนิพนธ์ ก็คือสนใจหนังสือที่มีในบ้านทั้งหมด แล้วก็เวลาไปโรงเรียนก็ไปสนใจหนังสือในห้องสมุด มันก็ต่อเนื่องไปอย่างเนี้ย แล้วก็พออยู่บรรยากาศของบ้านคือเวลาที่เรา ตอนเย็น ๆ อย่างเนี้ย พ่อเป็นคนชอบกลอน เราก็เลยได้ฟัง มันก็เลยซึมซับเข้าไป ว่าอ๋อมันเป็นแบบนี้นะ งานกวีนิพนธ์หน้าตามันเป็นแบบนี้ เสียงมันเป็นแบบนี้ เราก็ชิน พอเราเข้าโรงเรียน ครูก็รู้แล้วว่ายายคนนี้มันเป็นแบบนี้ ชอบอ่านหนังสือ

      คุณครูก็จะแนะนำ เริ่มแนะนำหนังสือที่ยากขึ้น เริ่มมาชวน ชมัยพร อ่านผู้ดีหรือยัง เอาผู้ดีมาให้อ่าน อ่านขุนคลัง ของ Marie Corelli หรือยัง ก็เอาไปให้อ่าน อะไรอย่างเนี้ย เราก็จะอ่านหนังสือตามที่คุณครูแนะนำด้วยอ่านจนกระทั่งเรารู้สึกว่า เราอยากจะมีชีวิตเหมือนตัวละครในนิยาย เพราะว่ามันมีนิยายเรื่องนึงของ ศุภร บุนนาค ที่นางเอกเรียนอักษรศาสตร์ แล้วก็มียาย รูปบอบบาง เรียนอักษรศาสตร์ ผิวขาวเหลือง เรานับดูแล้วมี 3 ข้อ มียายก็มี ผิวขาวเหลือง ผอมก็ผอม เหลืออยู่ข้อเดียวคือไปเรียนอักษรศาสตร์ ก็เลยบอกพ่อว่า จะไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ จะไปเรียนอักษรฯ ทุกคนรู้สึกตกใจมาก ไม่เคยได้ยินว่าคิดอะไรแปลกๆแบบนี้ แต่ก็ทำตามนั้น ก็คือสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ แล้วก็มาเข้าอักษรศาสตร์ มันก็เลยเหมือนกับว่าเรามีพื้นในเรื่องการเขียนพอสมควร คือไม่ได้เป็นคนเก่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องภาษาโน้นภาษานี้ ไม่ใช่ แต่เป็นคนที่ชอบในเรื่องของการแต่ง เพราะฉะนั้นมุ่งมาเพื่อที่จะ เราอยากอ่านเรื่องนู้น เราอยากอ่านเรื่องนี้ตลอด

 

เรียกได้ว่าเป็นคนที่มีจุดเป้าหมายในชีวิตมุ่งมั่นมาก ก็คืออยากเรียนอักษรศาสตร์ต่อยอดสิ่งที่เราชอบใช่ไหมคะ

     ตอนนั้นอยากเรียนอักษรศาสตร์ อยากเป็นนางเอก แต่ตอนที่ต่อจากนางเอก เราไม่ได้คิดเลยว่า ต่อไปเราจะไปเป็นครู ต่อไปเราจะไปเป็นนักเขียน ไม่ได้คิดเลย แต่ชีวิตมันผลักมาเอง มันผลักกระบวนชีวิต คือความเป็นนักอ่านมากเนี่ยทำให้ช่วงหลัง 6 ตุลาฯ 2519  เราก็ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ มาทำกลุ่มวรรณกรรมพินิจ แล้วก็วิจารณ์หนังสือ ตรงนั้นเป็นจุดกำเนิดของ ไพลิน รุ้งรัตน์ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ คราวนี้พอเป็นนักวิจารณ์ มันก็มีคอลัมน์ มันก็ทำงาน มันก็เท่ากับว่ามีการอ่านสม่ำเสมอ พออ่านมากๆเข้าเนี่ย ทำสยามรัฐ ทำคอลัมน์ในสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ อยู่ 17 ปี ใน 17 ปีมันก็มีเหมือนกับเรารู้ละว่า นวนิยายเรื่องนี้ เรื่องสั้นมันเป็นยังไง แทบไม่ต้องไปเรียนรู้ใหม่ แต่ว่าชีวิตมันเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เราก็มา

      พอ อ.คึกฤทธิ์ถึงแก่อนิจกรรม เราก็ออกจากสยามรัฐ ออกจากสยามรัฐ แล้วก็ไปช่วยพี่สุภัทร ที่ “สกุลไทย” ก็ไปทำคอลัมน์ ไปสัมภาษณ์นักเขียน มันก็ใกล้ชิดนักเขียนไปอีกชั้นนึง คุณสุภัทรก็เปิดคอลัมน์ให้เขียนนิยายมั้ย เขียนคอลัมน์มั้ย อะไรอย่างเนี้ย เราก็เขียน มันก็เท่ากับฝึกเราไปเรื่อย ๆ งี้ พอเราเขียนนิยายประจำลงในนิตยสารรายสัปดาห์ มันทำให้เราได้ฝึกไปเลย คือเขียนนิยาย พอคุณสุภัทร ผ่านบก (บรรณาธิการ) ได้ บก ผ่านเนี่ย พอเราจบเรื่องนึง คุณสุภัทรก็ถาม เรื่องใหม่เรื่องอะไร เราก็ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นการเขียนนิยายได้เยอะ การเขียนหนังสือได้เยอะเกิดจากการผลักดันของบรรณาธิการสกุลไทยด้วยนะคะ

 

ช่วงไหนที่คิดว่าพรั่งพรูที่สุดคะ เกี่ยวกับการเขียนของเรา

      ถ้าถามว่าทำงานตอนไหนที่รู้สึกพรั่งพรู มันทำอยู่ตลอด ทำตลอด ปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้เขียนหนังสือเยอะ แต่ว่ามันเหมือนกับได้ อบรม สอนน้อง มีคลับเฮ้าส์สอนการเขียน มีอะไร คือตลอดเวลาเท่ากับว่าชีวิตไม่ได้ว่างเว้นอะไร นอกจากทำในเรื่องเดียวกันหมดนะ ต้องบอกว่าทำในเรื่องเดียวกันหมด คือการเขียน  การอ่าน การวิจารณ์

 

มาถึงเรื่องการเขียนนามปากกา มีหลายนามปากกาใช่ไหมคะ มีนามปากกาอะไรบ้าง แล้วแยกเป็นอะไรบ้าง

     จริงๆ ตอนนี้มันเหลือแค่ ชมัยพร แสงกระจ่าง กับไพลิน รุ้งรัตน์ แต่ว่าสมัยก่อนเนี่ยเนื่องจากว่าเวลาที่เราทำนิตยสารสกุลไทยมันต้องมีหลายนามปากกา เพราะบางทีมันเป็นคอลัมน์ที่ซ้ำกันขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลาเขียนเรื่องเด็กเนี่ย ก็จะชื่อว่า บุญทริกา เขียนวรรณกรรมเยาวชน เขียนนิยาย ชื่อ ชมัยพร แสงกระจ่าง แต่พอมารวมเล่ม ชื่อ ชมัยพร แสงกระจ่าง หมด เพื่อไม่ให้คนอ่านรู้สึกงง แล้วก็เมื่อก่อนเขียนกลอนก็จะใช้ชื่อ ชมจันทร์  ไพลิน รุ้งรัตน์ ก็เอาไว้เขียนงานวิจารณ์

 

ที่นี้นอกจากเรื่องการอ่านการเขียนการวิจารณ์แล้ว ยังมีผลงานอีกไม่น้อยเลยที่ต่อยอดไปสู่ผลงานละครโทรทัศน์ด้วย มีเรื่องอะไรบ้างคะ

    จริงๆ พอไปทำละครโทรทัศน์มีไม่มากนะ มีประมาณ 8-9 เรื่อง คือ มีจดหมายถึงดวงดาว มีวุ่นวายสบายดี ริบบิ้นเขียวกับกล่องกระดาษแดง บ้านไร่เรือนตะวันอะไรพวกนี้ คือเป็นช่วงที่อยู่ในสกุลไทยใหม่ ๆ แล้วก็มันอาจเป็นนวนิยายที่ไปสอดคล้องกับความต้องการของตลาด หน้าต่างสีชมพู ประตูสีฟ้า อะไรแบบเนี้ย มันไปสอดคล้องกับตัวละคร ดาราที่เข้ากับเรือง อะไรอย่างนี้ กระท่อมแสงเงิน เค้าก็เลยทำ เป็นช่วงเดียว ช่วงสั้นๆ

      เรื่องที่ได้รับรางวัลมากที่สุด ก็จะเป็นรังนกบนปลายไม้ และเรื่องที่ทำหลากหลายก็จะเป็นเรื่อง บันทึกเกี่ยวกับลูกผู้ชาย ทำทั้งหนังทั้งละคร

 

ส่วนมากจะเป็นแนวครอบครัวเป็นหลักใช่มั้ยคะ แล้วมีเกี่ยวกับวัยรุ่นด้วยไหมคะ

    แนวครอบครัว อันนี้ที่ไปทำละครแนวครอบครัวหมดเลย เรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่นก็มีบ้าง

 

อันนี้วัยรุ่นเรามองตัวเราหรือมองรุ่นลูกด้วยคะ

     ตอนที่เขียนมองรุ่นลูกอย่างเดียวเลย เพราะว่าตอนที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับลูกผู้ชาย ลูกอยู่ชั้น ม.5 ตอนที่เค้าอยู่ชั้น ม.5 เราเห็นปัญหา ไม่ใช่ปัญหาเค้าหรอก ปัญหาเพื่อน ๆ ในห้อง เค้าเล่าให้ฟัง เราก็รู้สึกว่าโอ้เด็กวัยรุ่นนี้น่าสงสารเนอะ มีปัญหาอะไรหลากหลายมาก เราก็เลยเขียน พอเขียนก็เลย ตอนนั้นเราก็เขียนวรรณกรรมเยาวชนอยู่ในสกุลไทยอยู่แล้วใช่มั้ย มันก็ต่อเนื่องกันไปเลย มันก็จะมีเรื่องวัยรุ่น เรื่องที่เป็นลักษณะวรรณกรรมเยาวชนมาหลายเรื่อง อย่างคุณปู่แว่นตาแตก คุณปู่แว่นตาโต อาม่าบนคอนโด

 

แสดงว่านักเขียนมีหน้าที่นึง คือสะท้อนสังคม เป็นสิ่งใกล้ตัวก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นๆ

      มันเป็นธรรมดาเนอะ ถ้าเรียกว่ามันเป็นหน้าที่ก็ได้ แต่ว่ามันเป็นมนุษย์ เวลาเราเห็นปัญหาอะไรก็อยากเขียนถึงอันนั้น อย่างเรื่องขวัญสงฆ์เนี่ย ก็สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตามปกติ ก็คือเรื่องเด็กวัด เด็กที่มาอยู่วัด โดยที่เป็นเด็กกำพร้า โดยที่ไม่มีพ่อแม่ ก็คือเป็นปัญหาสังคมเหมือนกัน เป็นปัญหาครอบครัวเหมือนกันและก็มีสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเอาไปแปลเป็นภาษาจีนนะคะ คุณปู่แว่นตาโตก็เป็นปัญหาครอบครัวเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องศิลปะอะไรทำนองเนี้ยค่ะ

 

ถ้าสมมุติว่า เล่มที่พี่คิดว่าคนนานาชาติหรือมันสามารถสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกได้ พี่เลือกสักเล่มนึง พี่คิดว่าเรื่องไหนจะเหมาะคะ

      คือถ้าเป็นนานาชาติ ตอนที่สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเลือก เค้าก็เลือกเล่มนี้อยู่แล้ว เค้าเลือกอยู่แล้ว (คุณปู่แว่นตาโต) เพราะเค้าคิดว่า สังคมที่เป็นสังคมคนเอเชีย มีเรื่องคนแก่ มีเรื่องคนแก่อยู่แล้วมันมีเรื่องสอนอะไรอย่างเนี้ย เค้าก็เลือกคุณปู่แว่นตาโต ซึ่งคิดว่าถ้าเราดูเป็นภาพสากล มันก็เป็นใช่มะ แล้วก็แปลเป็นภาษาจีนได้ ก็แปลเป็นภาษาอื่น ได้

 

การเขียนเรื่องของพี่อี๊ดเนี่ย เรามีพลอทเรื่องตั้งแต่เริ่มบรรทัดแรกเลยไหมคะ หรือเราจดๆ มันไว้ก่อน หรือไปหาเอาข้างหน้าคะ

     มีค่ะมี สิ่งที่หาเอาข้างหน้าคือรายละเอียด แต่ว่าโครงเรื่องทั้งหมดคือเราวางไว้ตั้งแต่แรกจนจบ วางไว้คร่าว ๆ นะคะ อย่าวางแน่น อย่าวางละเอียด ไม่ต้องวางละเอียดถึงขนาดเดินจากประตูไปถึงตรงนั้น ไม่ต้อง แต่ว่าวางคร่าว ๆ เพื่อให้สามารถเขียนได้ เพราะว่าถ้าเราวางแน่นเกินไปมันจะบีบคั้น บีบคั้นทั้งเรา บีบคั้นทั้งตัวละคร

 

ถ้าให้มองตัวเองว่า concept ในการเขียนเรื่องสั้น หรือนวนิยายเป็นยังไงบ้าง เรามีอยู่ในใจไหมว่าเพื่ออะไรสักอย่าง

     คือ เพื่อ จริง ๆ เพื่อแรกของเราก็คือว่า เราอยากเขียนใช่มะ เราอยากเขียนเพราะเรื่องนั้นมันมากระทบใจ มันมาแรง มันมาแรงแล้วเราอยากเล่าให้คนอื่นฟัง ให้เค้ารู้ว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นนะ สิ่งนี้แล้วจริง ๆ ในความเป็นมนุษย์ ในความเป็นมนุษย์เรากระทบใจเรื่องอะไร แล้วเราเสนอเรื่องนั้น ตอนนี้เรากระทบใจเรื่องคนเป็น   อัลไซเมอร์มาก จริง ๆ ก็เคยเขียนเรื่องคนเป็นอัลไซเมอร์ไว้เล่มนึง แต่ว่า ตอนนี้ก็ยังอยากเขียนมาก เพราะว่าคนไปอัลไซเมอร์เยอะขึ้นมาก เยอะขึ้นมากจนคิดว่านี่คือปัญหาสังคมในอนาคต เพราะฉะนั้นเราจึงอยากเขียนเรื่องที่คนอื่นรู้สึกว่า เรื่องที่เรารู้สึกว่ามันกำลังเป็นปัญหาและเราต้องการให้เค้าเรียนรู้ด้วย

 

จริงๆแล้วไม่ได้มีแค่พาร์ทการเขียนอย่างเดียวอย่างที่บอกไว้ ก็คือนักเขียนหลายคนในประเทศนี้ อยากโดนไพลิน รุ้งรัตน์ วิจารณ์สักครั้งนึง ในบทบาทนักวิจารณ์ พี่คิดว่า พี่วางไม้เรียวอยู่ตรงไหน

     จริงๆ แล้วไม่ใช่คนโหดร้าย คือแม้ว่าตอนนั้นคุณสุชาติเค้าตั้งชื่อให้ว่าจุมพิตมรณะ เค้าตั้งเยาะเย้ยนะ เค้าไม่ได้ตั้งเพื่อแสดงว่าเราโหดร้ายนะ เค้าบอกว่าถ้าไพลิน รุ้งรัตน์ ไปจุมพิตใคร จุมพิตหมายความว่ายกย่องนะ ไปจุมพิตใคร คนนั้นน่ะตาย ตายไม่ใช่ว่าผิดนะ ข้อมูลถูกต้องหมด แต่คนนั้นจะตายเพราะว่ามันไม่เกิด เนื่องจากว่าชมแล้วมันเขียนต่อไม่ได้ เวลาเราอ่านหนังสือ เราอ่านด้วยความเป็นนักเขียนด้วย เราอยากเป็นน่ะ

     เพราะฉะนั้นเราก็มองด้วยความเป็นนักเขียนด้วย และเรารู้สึกว่าเราเห็นใจด้วยเราเข้าใจด้วย

 

เราพูดไปสองพาร์ท อีกพาร์ทนึงคือการเป็นกวี จำสถานการณ์ที่เขียนได้หมด?

     คือเวลาที่เราเป็นกวีเนี่ย มันเกิดขึ้นจากความกระทบใจแรงๆ เรื่องมันอาจจะเล็กก็ได้ เรื่องมันอาจจะใหญ่ก็ได้ แต่เรารู้ว่ามันกระทบแรง แล้วเราต้องการจะสะท้อนมันออกมา ไม่ต้องยาว สั้น ๆ เอาแค่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกไปพอ ทีนี้ทำแบบนั้น ทำบ่อย ๆ เมื่อก่อนอย่างตอนที่โควิดถือเป็นสถานการณ์คับขัน อันนี้ก็คือเล่มของสถานการณ์คับขัน ก็ผ่าน กาลเวลา คือเราตกใจ ใคร ๆ ก็ตกใจ ก็เขียนมันวันละบทเลย คือวันละ 6 บท ของกลอน สี่คูณหก 24 บรรทัด ทุกวันเลย วันนี้เกิดอะไรขึ้นมา ข่าวสารอะไรเราก็เขียนไป ทั้งหมด 80 กว่าวัน แล้วมารวมเล่ม ก็เข้าใจว่าโควิดมันหมดแล้ว (หัวเราะ) เข้าใจว่าหมดแล้วแล้วก็หยุด แล้วก็ไม่ได้เขียน ปรากฎว่าโควิดมันไม่หมด มันก็มาอีกใช่มั้ยตลอดเวลา หลังจากที่เราเขียนหกบทไปแล้วเราก็เขียนวันละบท

     วันละบทคราวนี้ไม่เกี่ยวกับโควิดแล้ว เกี่ยวกับอะไรก็ได้ เอารูปมาเขียน เจอรูปอะไรที่มันสะดุดใจ เราก็เขียนไปเรื่อย ๆ พอเขียนรูปไปครบ 365 วัน มันยังไม่ครบ มันยังไม่หมดแรงก็ต่อเป็นโครง ตอนนี้โครงก็มาร้อยกว่าวันแล้ว คือมันเป็นการเขียนระบายอารมณ์ สะท้อนอารมณ์บางอย่างที่อยู่ข้างใน ในขณะเดียวกัน มันเป็นการฝึกมือ เพื่อที่จะใช้คำด้วย ใช้คำหรือใช้รูปแบบกวีนิพนธ์ไทย ให้มันคล่องแคล่วว่องไว

 

ในที่สุดแล้วเนี่ย รางวัลศิลปินแห่งชาติมีคนมอบให้ กระทรวงวัฒนธรรมมอบให้ด้วย พี่คิดว่าความภูมิใจในการรู้เรื่องการอ่านการเขียนจนคนอื่นยกย่อง ทุกคนยกย่องมันที่สุดของชีวิตหรือยังคะ?

     คือมันที่สุดหรือไม่ที่สุดไม่รู้ แต่เมื่อรู้ว่าได้รับการประกาศยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติเนี่ย เราต้องมีหน้าที่มากขึ้น เรามีความรู้สึกว่า เมื่อมีคนเห็น เราก็ควรทำประโยชน์ให้กับคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ ใครมาถามเรื่องเขียน ใครมาขอความรู้ ใครให้อบรม เปิดคลับเฮ้าส์ฟรี มีหมดทุกอย่าง ทำให้ ยินดี ใครเค้าจะให้เงินน้อย ให้เงินมาก ไม่ให้เลยทำได้หมด เพราะว่ารู้สึกมันเป็นหน้าที่ มันเป็นหน้าที่ของเราแล้ว ที่จะต้องทำตัว คือเราคิดว่าเราทำประโยชน์อยู่แล้ว แต่ว่าเราควรทำให้มากขึ้น

 

50 กว่าปีที่ผ่านมา กับผลงานเกือบร้อยเล่มในทุกวันนี้ พี่คิดว่ายังมีอะไรที่อยากจะทำอีกไหม หรือสิ่งที่พี่ทำทุกวันนี้ อยากจะบอกน้อง ๆ นักเขียนด้วยกันอย่างไรบ้าง

      ที่ยังอยากจะทำมีอีกเยอะ อันนี้มันเป็นลักษณะนิสัยส่วนตัว ถ้าเราหรือใครก็ตามที่เป็นคนสนใจด้านการเขียน แล้วรู้สึกตัวเองยังมีไฟอยู่ให้ลงมือเขียนไปเลย ให้เขียนไปเลย อย่ารู้สึกว่าแก่แล้วไม่เขียนหรอก เดี๋ยวคนโน้นว่า ไม่ต้องสนใจว่าออกไปแล้วใครจะว่าอะไร  เราอยากทำ เราปล่อยออกไปแล้ว แล้วถ้ามันดีบ้างไม่ดีบ้างก็ไม่ต้องเสียใจมันเป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นะคะ งานบางชิ้นที่เราว่ามันไม่ดีเลย มันก็อาจจะมีความหมายบางอย่างกับคนบางคนก็ได้ แต่ว่าขอให้งานเหล่านั้นอย่าเป็นพิษนะคะ อย่าเป็นพิษ อย่าปล่อยสิ่งที่เป็นพิษออกไป อย่าไปยุให้คนแตกกันหนักกว่าเดิมหรือว่าอย่าไปทำอะไรที่มีปัญหาสาหัสสากรรจ์ ทำให้สบายๆ แต่ว่าช่วยให้คนอื่นมีความสุขขึ้น ชั่วขณะนึงก็ยังดีนะคะ แล้วสำหรับน้อง ๆ ทั้งหลายที่สนใจด้านการเขียน ลงมือเขียนเลยค่ะ อย่าได้ลังเลสงสัยในอะไรทั้งสิ้น การเขียนมาก การฝึกปฏิบัติมาก ช่วยได้

 

ตอนนี้โลกมันเหมือนกับมันไม่มีอะไรมากั้นแล้ว งานเขียนเราอาจจะไปอยู่ประเทศนั้น ประเทศนี้ เป็นการไหลบ่าหรือเป็นการรับทางวัฒนธรรม พี่คิดว่ามันจะเป็นผลดีหรือแลกเปลี่ยนยังไงบ้าง

     จริง ๆ มันดีมาก แต่ประเทศเราไม่ดีที่ว่ามันไม่มีใครแปล มันไม่มีใครแปลออกไป คือนักเขียนไทยทำงานกันตลอดเวลา แต่ว่าเราไม่สามารถสื่อสารกับคนชาติอื่น ในภาษาที่เค้าจะเช้าใจได้ คือไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษนะ แปลเป็นภาษาอื่นก็ได้ แต่ทำอย่างไรว่าอ๋องานนี้เค้าอยากให้แปล มันไม่มีไง เพราะฉะนั้นอยากเรียกร้องให้มีหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่นี้ ทำหน้าที่เอาผลงานของนักเขียนออกไปสู่ประเทศอื่นๆ แล้วแต่คุณจะวางไว้ว่าจะไปไหน เหมือนอย่างที่เอาคุณปู่แว่นตาโตไปแปลเป็นภาษาจีนอย่างเนี้ย

       มันเป็นงานของสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มันไม่ได้หมายความว่าปีนึง ห้าปี คุณทำเล่มนึงไม่ใช่ มันก็ต้องทำตลอดเวลา และมันก็ต้องมีกรมของมันโดยเฉพาะ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ