สิทธิของอาคันตุกะ : บทวิจารณ์โดย นางสาวสุกัญญา ขันติกุล

สิทธิของอาคันตุกะ

          อาคันตุกะ เป็นสารคดีที่ผู้เขียนผสมผสานข้อเท็จจริงของธรรมชาติกับข้อควรปฏิบัติของอาคันตุกะ (แขกผู้มาเยือน) มุ่งเสนอให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสัตว์ พันธุ์ไม้ สิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตนของมนุษย์ ในฐานะอาคันตุกะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างเหมาะสม โดยเนื้อเรื่องเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ ของผู้เขียนในช่วงฤดูหนาวที่มีโอกาสได้ไปสัญจรที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในฐานะอาคันตุกะ และได้สัมผัส กับความงดงามของธรรมชาติ วิถีชีวิต ลักษณะการดำรงชีวิตความเป็นจริงของสัตว์บางชนิดที่ทุกคนมองข้าม เช่น แมงมุม กวาง ลิง เป็นต้น จนทำให้ผู้เขียนได้เห็นความจริงบางอย่าง จึงนำมาเสนอเพื่อให้ข้อคิดควบคู่กับความรู้ และความเพลิดเพลินผ่านการเขียนด้วยภาษาที่สละสลวย

        พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมาย อาคันตุกะ ไว้ว่า แขกผู้มาเยือน ผู้เขียนนำคำนี้มาตั้งเป็นชื่อเรื่องได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อเรื่องเรียกได้ว่าเป็นกลวิธีที่น่าสนใจ คือ ทำให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้ว่า สารคดีเรื่องนี้จะเกี่ยวกับการไปเยือนสถานที่ไหน เพราะอะไรจึงให้ความสําคัญกับคำ ๆ นี้ ซึ่งชื่อเรื่องมีความหมายโดยตรง ชัดเจน ผู้อ่านเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึง แขกผู้มาเยือน แต่จะไปเยือนที่ไหนนั้น ถ้าผู้อ่านต้องการทราบคำตอบก็ต้องอ่านสารคดีต่อไปในส่วนของตัวเรื่องนั่นเอง จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลวิธีที่ทำให้ ผู้อ่านเกิดความสนใจและอ่านสารคดีจนจบ

           “โปรดระลึกว่า  อุทยานแห่งชาติเป็นสถานรักษาพันธุ์ไม้และสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ที่นี่  ส่วนท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่ง” เป็นการเปิดเรื่องที่คุยกับผู้อ่านโดยตรง ให้ความรู้แก่ผู้อ่านและชวนให้ผู้อ่านคิดตามในฐานะที่เป็นอาคันตุกะ คือ เมื่อผู้อ่านอยู่ในฐานะที่เป็นอาคันตุกะไปเยือน อุทยานแห่งชาติต้องเข้าใจแล้วว่าเรามาในฐานะนักท่องเที่ยว สิ่งที่เราควรปฏิบัติ เพื่อการอยู่ร่วมกัน ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ จะต้องปฏิบัติตนเช่นไร ผู้เขียนต้องการจะสื่อให้เห็น ถึงการเคารพสิทธิของผู้อื่นทั้งมนุษย์ด้วยกันสัตว์ที่อยู่ในสถานที่นั้นและเคารพระเบียบข้อบังคับของอุทยาน โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพียงเท่านี้ก็จะรู้แล้วว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้นมีดีแค่ไหน

          สิทธิกับความเป็นจริง  ทุกคนมีสิทธิที่จะไปเที่ยว  มีสิทธิที่จะแสวงหาความสุข แต่อย่าลืมว่าการแสวงหาซึ่งความสุขนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ส่งผล กระทบต่อผู้อื่นและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยกตัวอย่างข้อความ

          “ค่าปรับตามกฎหมายเพียง 1,000 บาท มันช่างน้อยนิดเหลือเกินสำหรับชีวิตสัตว์ป่าที่สูญเสียไปแม้เพียงตัวเดียว หากคนขับรถทุกคนมีสำนึกว่าตนเป็นเพียงอาคันตุกะ มิใช่เจ้าของบ้าน เจ้าของถนน เหตุการณ์อันน่าสลดใจเช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ”

          จากตัวอย่างข้อความ ผู้เขียนต้องการให้ข้อคิดและให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ โดยเล่าเหตุการณ์ที่ตนได้ยินจากเจ้าหน้าที่อุทยานว่ามีกวางถูกรถชน ว่าด้วยค่าปรับ ตามกฎหมายเพียง  1,000  บาทนั้นไม่สามารถทดแทนชีวิตสัตว์ป่าที่สูญเสียไปได้  จะดีกว่าไหมถ้าทุกคนให้ความสำคัญและพึงตระหนักอยู่เสมอว่า เรามีสิทธิในการขับรถได้ แต่เราไม่มีสิทธิในการขับรถชนผู้อื่นหรือสิ่งมีชีวิตอื่นได้ เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกนี้ล้วนมีความรักและหวงแหนชีวิตของตน มนุษย์เราก็เช่นเดียวกัน

          เรื่องจริงที่ทุกคนมองข้าม ผู้เขียนยังคงรูปแบบหรือแก่นของเรื่องที่ให้ทุกคนรู้จัก การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ทุกคนลองมองมุมกลับหากเราเป็นเจ้าบ้านเราอยากจะต้อนรับแขกแบบไหน ดังนั้นเราในฐานะแขกก็จงเป็นแขกที่เจ้าบ้านอยากต้อนรับจะดีกว่าหรือไม่ ยกตัวอย่างข้อความ

          “แต่ไม่มีเจ้าบ้านคนไหน ที่อยากออกมาพบกับอาคันตุกะที่เอะอะโวยวายจนไม่แน่ใจว่ามาดีหรือมาร้าย”

           จากข้อความ ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ต่างต้องการผู้ที่มาเยือนที่ดี และเป็นมิตร ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นผู้มาเยือนหรืออาคันตุกะ เรามีสิทธิที่จะไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ได้ แต่เราก็ควรเคารพสิทธิ กฎระเบียบข้อบังคับของสถานที่นั้น ๆ ด้วย เช่นเดียวกันกับการที่มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ เรามีสิทธิให้อาหารสัตว์ได้ เหมือนที่ผู้เขียนยกตัวอย่างการให้อาหารลิงด้วยความเมตตา แต่กลับเป็นการ “ทำคุณบูชาโทษ” เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะทุกคนต่างใช้สิทธิในการให้อาหารลิง ส่งผลให้พฤติกรรมของลิงเปลี่ยนไปจากเดิม คือเดิมลิงหาอาหารกินเองตามธรรมชาติแต่ปัจจุบันลิงคาดหวังและมารออาหารจากนักท่องเที่ยงด้วยความเคยชิน ทำให้ลิงมีโอกาสที่จะโดนรถชนค่อนข้างสูง อีกหนึ่งประเด็นที่ทุกคนมองข้าม เรื่องพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเราในฐานะอาคันตุกะนั่นเอง คือ การที่ทิ้งขยะหรือถุงพลาสติกหลังจากให้อาหารสัตว์แล้ว ถือเป็นการฆ่าสรรพสัตว์ทางอ้อมอีกด้วย เหมือนกับที่ผู้เขียน  ยกตัวอย่างเสริมเกร็ดความรู้เรื่อง จุ๋มจิ๋มกระทิงป่า เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และตระหนัก ต่อการกระทำของตนเองมากขึ้น

           ตัวอักษรสะท้อนภาพ สารคดี เรื่อง อาคันตุกะ ถือเป็นสารคดีที่ใช้ภาษาผ่านตัวอักษรได้เป็นอย่างดี ทำใหผู้อ่านเกิดภาพคล้อยตามได้อย่างชัดเจน คือ การเดินทางไปเยือนยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ของผู้เขียน ที่บอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่เห็นผ่านตัวอักษร ใช้ภาษาที่สละสลวย ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพและให้ความรู้สึกเหมือน ได้ลงไปสัมผัสสถานที่จริง ทั้งภาพบรรยากาศของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่โอบล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ สัตว์ป่า นานาชนิด

ยกตัวอย่างข้อความ

           “แมงมุมป่าตัวน้อยที่พักพิงอยู่ริม (อดีต) สนามกอล์ฟเขาใหญ่ เป็นเจ้าบ้านรายแรกที่ให้การต้อนรับข้าพเจ้า เธออวดโชว์ผลงานสานใยไว้ดักเหยื่อ ที่ยามเมื่อมีน้ำค้างเกาะแล้วกระทบแสงแดดอุ่นยามเช้า ได้กลายเป็นงานศิลปะที่หาดูไม่ได้ในงานแสดงตามห้างสรรพสินค้า หรือในแกลเลอรี่หรูใจกลางเมือง”

           จากข้อความ ให้ความรู้สึกร่วมกับผู้เขียนเป็นอย่างมาก ผู้เขียนใช้กลวิธีการพรรณนาโวหารให้ผู้อ่าน คล้อยตามได้เป็นอย่างดี และเป็นเรื่องจริงที่ไม่สามารถแย้งได้ ถ้าผู้อ่านต้องการได้ชมหรือเห็นภาพ ของแมงมุงป่าตัวน้อยอวดโชว์ผลงานการสานใยต้องไปสัมผัสโดยการออกไปท่องเที่ยวอย่างแน่นอน ผู้เขียน ยังใช้วิธีการดึงดูกความสนใจบองผู้อ่านอีกด้วย  จากที่ผู้เขียนบอกว่า  ได้กลายเป็นงานศิลปะที่หาดูไม่ได้ตามห้างสรรพสินค้าหรือในแกลเลอรี่ใจกลางเมืองที่เราอยู่ จึงทำให้ผู้อ่านต้องออกเดินทางเพื่อมาสัมผัมกับภาพบรรยากาศเหล่านี้นั่นเอง

           สิทธิอาคันตุกะ  สารคดี  เรื่องอาคันตุกะ  ถือเป็นสารคดีแบบอย่างในการให้ข้อคิดแก่นักท่องเที่ยวทั้งหลายที่ชอบการออกเดินทางไปสัมผัสกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แห่งนี้ หรือสถานที่อื่น ๆ ให้พวกเราชาวอาคันตุกะคอยเตือนตนเองอยู่เสมอว่า ควรปฏิบัติตนเช่นไร เมื่อเรามีสิทธิ คนอื่นก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่เราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ ด้วยกันหรือเพื่อนร่วมโลกสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เช่น สรรพสัตว์   ต้นป่า ป่าไม้ เป็นต้น ก็เห็นควรว่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และสามารถนำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ประจำวันได้ทั้งในฐานะที่เป็นอาคันตุกะหรือเจ้าบ้าน ดังที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างข้อเขียนของ ดร.แมคคลัวร์ ว่าด้วยสำนึกแห่งความเป็น “อาคันตุกะ” และท่องจำให้ขึ้นใจว่า …ท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตน อย่างอาคันตุกะผู้หนึ่งเท่านั้น ถือเป็นการทิ้งท้ายก่อนจบ เพื่อให้ผู้อ่านได้คิดตามและทบทวนตนเองอยู่เสมอว่า ปฏิบัติตนเช่นนั้นหรือยัง

 

บทความวิจารณ์สารคดีเรื่อง อาคันตุกะ ของธีระภาพ โลหิตกุล สิทธิของอาคันตุกะ
บทวิจารณ์โดย นางสาวสุกัญญา ขันติกุล
 
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ