ฉันกล้าชราด้วยจำนน : บทวิจารณ์โดย เลิศศักดิ์ ไชยแสง

ฉันกล้าชราด้วยจำนน

       ทันทีที่เดินทางมาถึงห้วงหนึ่งของชีวิตกลับพบว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือความสุกงอมของร่างกาย มันต่างไปจากก่อนเก่าที่เคยเบ่งบาน สดใส หลากสีสนราวกับดอกไม้แรกแย้มหลงสายฝนในแดดอ่อน ต่างจากยามนี้ เหี่ยวแห้ง งอมเปื่อย อ่อนแรง และหมองหม่น ยอมจำนนต่อความจริงที่ธรรมชาติกำหนดไว้ในบทกวี ชรากาล ที่น่ารัก ของ ชมัยภร บางคมบาง ได้พูดถึงการตกเป็นทาสของธรรมชาติที่ฝากไว้ในวัยวันชรา ฝากไว้บนใบหน้าและผิวพรรณ และรวมทั้งการยอมรับชีวิตที่ผิดแปลกไปจากเดิม ซึ่งทั้งหมดนั้นนับเป็นการยอมรับตนเองให้อยู่ในสภาพความเป็นจริง อันตกอยู่ในภาวะของคนกระแสรอง (mini narrative) ซึ่งให้ค่าตนเองตามคำนิยามของระบบสงคมเมืองเมื่อมองวัยชราเป็นผู้อ่อนแอ

ฉันยอมจำนนทุกความจริง

          เมื่อความจริงและความเป็นธรรมชาติไม่อาจหลีกหนีกันได้พ้น สิ่งที่บทกวีชิ้นนี้ได้กล่าวถึงคนชราผ่านแง่มุมของคนเมือง นั่นคือการยอมรับความจริงจากการยอมรับด้านต่าง ๆ ว่าตนเองยอมเป็น “คนหนึ่งซึ่งเดินช้า” “คนอ่อนล้าซึ่งหลังค่อม” “คนผมขาวเป็นเงาย้อม” “คนที่พร้อมจะเอนล้ม” “คนอ่อนแอเหมือนแพ้พ่าย”    “คนโง่งมบางเวลา” “คนวุ่นวายในบางครั้ง” คนล้าหลังขลาดๆกล้าๆ” และ “คนป่วยไข้ต้องใช้ยา” ซึ่งการยอมรับโดยจำนนต่อสิ่งเหล่านี้ ได้สะท้อนภาพของวัยชราด้วยภาพรวมของกลุ่มคนกระแสหลัก  (grand  narrative)  โดยให้ภาพของคนวัยชราตกอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยมให้มีความอ่อนแอต้องการผู้ดูแลอยู่เสมอ แม้จะเป็นความจริงว่าด้วยเรื่องของคนชราส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ทั้งหมดว่ายังมีคนชราที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อยู่เช่นเดียวกัน      นอกจากนี้คนชราภายในบทกวียังถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จากการถูกล้อเลียน เหยียดหยาม ความเป็นมนุษย์โดยการยอมจำนนว่า  “...เป็นป้ายอมเป็นยายให้ล้อเลียน”  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่สะท้อนพฤติกรรมการกดขี่ รวมถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นในสังคมและไม่เพียงแต่แค่จะถูกลดทอนความเป็นมนุษย์  สิ่งที่ผู้ถูกกระทำอย่างคนชรานั้นยอมจำนนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ก็เนื่องมาจากระบบของสังคมที่ถูกบิดเบือนความจริง ไม่ว่าจะเป็นการเรียก ป้า หรือ ยาย อันแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดสนิทสนมรวมถึงความเป็นกันเอง แต่ประจักษ์แจ้งว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรถูกเรียกกับคนที่ไม่รู้จักหรือกับใครทุกคน เพียงเพราะคนหนึ่งคนอายมากกว่าตนหรือมีหน้าตาที่ดำเนินไปตามวัย

ฉันกล้าดั่งไฟในเปลวเทียน

       แน่นอนว่าเราไม่สามารถหลีกหนีจากวัยชราในอนาคตที่กำลังมาเยือน หรือกำลังพบเจออยู่ได้ในขณะนี้ แต่สิ่งสำคัญที่ยังสามารถดำรงอยู่ไม่ไปไหนนั่นคือการยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งสภาพร่างกาย ทัศนะคติ และการเปิดกว้างในหัวใจ 

ในบทกวีนี้ได้กล่าวว่า

                                                         “ฉันยอมเธอทุกอย่างกระจ่างชัด

                                                          ฉันยอมไม่แย้งขัดไม่แปรเปลี่ยน

                                                          ยอมเป็นไฟไหวล้มในเปลวเทียน

                                                          ที่จวนเจียนจะดับได้ในมือเธอ”

        ซึ่งได้เน้นย้ำผู้อ่านภายหลัง ว่าคนชราสมัยใหม่ยอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้นได้กับตนเอง นั่นคือ ความสุกงอมของชีวิต และยอมจำนนโดยไม่ขัดขืนต่อความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการตกเป็นทาสของธรรมชาติ หรือตามความคิดของคนกระแสหลัก แต่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้วยตนเอง นั่นคือการให้คนชราเป็นไฟในเปลวเทียน ที่แม้จะเป็นเพียงแสงริบหรี่อันเล็กจ้อยแต่สะท้อนความร้อนแรง และรุ่มรวยในการนำพลังมาต่อสู้ความยากลำบากต่าง ๆ ที่จะตามมาในวันวัยชรา แม้การเป็นไฟในเปลวเทียนจะมีโอกาสที่ดับไวกว่าไฟไหน ๆ เพียงแต่ไฟในเปลวเทียนนี้ ยังสามารถจุดขึ้นซ้ำๆ ใหม่ได้และนับว่าเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีจุดสิ้นสูญ หลายต่อหลายครั้งการเป็นคนชรายังคงถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ   และสิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในสังคมถึงปัจจุบัน ขณะที่คุณกำลังอ่าน แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดวัยชราในยุคสมัยที่ผลันเปลี่ยนไปยังคงมี “คนง่ายง่ายไม่กดข่ม” และมี “คนเงียบนิ่งกำหนดลม” คอยเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางด้านต่าง ๆ ในสังคม พร้อมนำประสบการณ์ “ที่ประมวลประมาณจากนานมา” ช่วยเหลือกับสิ่งที่เกิดขึนในปัจจุบันกาล ทั้งนี้แม้คนชราจะยังถูกมองด้วยกรอบทางสังคมเมือง รวมถึงกรอบที่แต่ละคนถูกกำหนดไว้ด้วยวาทกรรมต่าง  ๆ  ผ่านการกดขี่  ลดทอนตนเองให้กลายเป็นคนอ่อนแอ  ว่าสิ่งเหล่านี้ได้เกิดคำถามต่อความรู้สึกในหัวใจหากถึงคราวชราว่า จะยอมจำนนหรือกล้าคลั่งดั่งไฟในเปลวเทียน

 

ฉันกล้าชราด้วยจำนน
บทวิจารณ์โดย เลิศศักดิ์ ไชยแสง
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ