ชรากาล ที่น่ารัก...แง่มุม ที่น่ารักของวัยชรา : บทวิจารณ์โดย ซินดี้ แม้นวงศ์เดือน

ชรากาล ที่น่ารัก...แง่มุม ที่น่ารักของวัยชรา

“ชรากาล ที่น่ารัก…แง่มุม ที่น่ารักของวัยชรา ”

            “วัยชรา” อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนต่างพยายามหลีกหนี และมองว่าความชรานั้นมาพร้อมกับความน่าเศร้า ทุกข์ทมอันเนื่องด้วยต้องเผชิญกับสังขารที่เริ่มเสื่อมถอย แต่หากลองมองอีกมุมหนึ่งแล้วนั้น ความชรานี้เองอาจมีความงามที่ซ่อนอยู่ กวีนิพนธ์เรื่อง “ชรากาล ที่น่ารัก” ผลงานของชมัยภร บางคมบาง นำเสนอแง่มุมที่งดงามของวัยชราได้อย่างลึกซึ้ง ตราตรึงด้วยศิลปะการใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่คมคาย มอบแง่มุมให้แก่ผู้อ่านได้อย่าง…น่ารัก

 

            ชื่อเรื่อง “ชรากาล ที่น่ารัก” เป็นการตั้งชื่อเรื่องโดยใช้คำที่เข้าใจง่าย สื่อถึงแก่นหลักของเรื่อง  คำกุญแจหลักในบทกวีนิพนธ์คือคำว่า “ชรากาล” ซึ่งอ่านแล้วเข้าใจได้โดยทันทีว่าสื่อถึงวัยชรา หรืออาจสื่อถึงความชรารวมด้วย เมื่อมาประกอบกับคำว่า “ที่น่ารัก” อันสื่อถึงแง่มุมที่ดี จึงทำให้ชื่อเรื่องมีความน่าสนใจมากขึ้นเร้าให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย อยากอ่านต่อว่าเหตุใดชรากาลจึงน่ารัก วัยชรานั้นมีมุมที่ดีอย่างไร นอกจากนี้ชื่อเรื่องยังมีการเว้นวรรคคำที่น่าสนใจ กล่าวคือ เว้นวรรคคำว่า “ชรากาล” กับคำว่า “ที่น่ารัก” เพื่อเป็นการเน้นย้ำความและทิ้งจังหวะอย่างมีชั้นเชิง

 

          แนวคิดและเนื้อเรื่องของกวีนิพนธ์เรื่อง “ชรากาล ที่น่ารัก” ผู้แต่งนำเสนอแนวคิดแง่มุมที่ดีของวัยชรา โดยเรียงร้อยเนื้อหาอันประกอบไปด้วยส่วนคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป กล่าวคือประการแรกคำนำ ขึ้นต้นบทแรกด้วยการใช้คำสื่อจินตภาพ และให้ผู้อ่านสงสัยว่า “เธอ” ในตอนต้นของบทแรกกล่าวถึงสิ่งใด ทั้งนี้กวีกล่าวโดยนัยให้ผู้อ่านคาดเดาได้ว่า “เธอ” อาจสื่อถึงริ้วรอยอันแทนถึงความชรา จากนั้นจึงกล่าวเกริ่นนำอย่างต่อเนื่องในบทที่สองว่าความชรามีแง่มุมที่ดี  ประการที่สองส่วนเนื้อเรื่อง จึงอธิบายถึงแง่ดี และมุมที่น่ารัก ของวัยชราว่า ความชราเป็นเครื่องยืนยันว่าคนผู้นั้นเป็น “ผู้ยอมรับในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น” อาทิ ยอมรับในสภาพร่างกายของตนเองที่ชราเสื่อมลงตามกาลเวลา ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม หรือกระทั้งยอมรับความตายเป็นต้น ดัง

“ยอมเป็นไฟไหวลมในเปลวเทียน         ที่จวนเจียนจะดับได้ในมุมเธอ”

 

            นอกจากนี้ส่วนของเนื้อเรื่องยังสื่ออีกว่าวัยชรานี้เองมาพร้อมกับประสบการณ์ชีวิตที่เลอค่า ทำให้รู้จักโลก รู้จักชีวิตทั้งทุกข์สุข แยกแยะชั่วดี คาดการณ์และแนะนำได้อย่างสมควร ประการสุดท้ายส่วนสรุป กวีสรุปโดยเน้นย้ำสาระสำคัญของเรื่องว่า “นี่คือกาลชราผู้น่ารัก” ที่ยังยืนเด่นแม้กาลเวลาจะผันเปลี่ยน และในท้ายที่สุดกวีจึงกล่าวย้ำ ไขข้อสงสัยในตอนต้นว่า “เธอ” ในเรื่องนี้คือ “ชรากาล” หรือวัยชรานั่นเอง

 

          ด้านลักษณะการประพันธ์ของกวีนิพนธ์เรื่อง “ชรากาล ที่น่ารัก” กวีใช้กลอนสุภาพในการแต่ง จำนวนทั้งสิ้น ๑๐ บท ซึ่งกลอนสุภาพนั้นมีลักษณะเป็นกลอนที่ค่อนข้างเรียบง่าย ฉันทลักษณ์ไม่ซับซ้อน กวีแบ่งสัดส่วนคำนำ เนื้อเรื่อง สรุปได้อย่างเหมาะสม ชัดเจน ทำให้เข้าใจง่าย มีวรรคเสริมเพิ่มในบทสุดท้ายเกินมาจากฉันท์ลักษณ์ปกติ เพื่อเป็นการย้ำความได้อย่างน่าสนใจ  นอกจากนี้ยังมีวรรณศิลป์ที่โดดเด่นในหลายจุด ดังนี้ การซ้ำคำ ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ดังนี้

 

            “เธอค่อยค่อยลีลามาทีละเส้น         เธอค่อยค่อยหลีกเร้นมาทีละสาย”

และ     “ยอมเป็นคนอ่อนแอเหมือนแพ้พ่าย      ยอมเป็นคนง่ายง่ายไม่กดข่ม”

 

          ทั้งนี้กวีขึ้นต้นซ้ำประโยคว่า “ยอมเป็นคน” ในทุกวรรคตลอดทั้งสามบท รวมถึงขึ้นต้นซ้ำคำว่า “จน”คำว่า “นี่” และคำว่า “เธอ” ถือว่าเป็นการเน้นย้ำที่ดี ไพเราะและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  การเล่นสัมผัสเสียงพยัญชนะ ดัง สัมผัสเสียง ยอ “จนแยกแยะความยับเยินได้หยดย้อย” และ สัมผัสเสียง สอ มอ และเสียง หอ “เธอสถิตสู่สถานมหันต์มหา” เป็นต้น

 

           จุดเด่นต่อมาของกวีนิพนธ์เรื่อง “ชรากาล ที่น่ารัก” คือการใช้สรรพนาม “ฉัน” และ “เธอ” โดยคำว่าฉันแทนตัวละครอันเป็นผู้เล่าซึ่งเป็นคนชรา และใช้คำว่า “เธอ” แทนถึงวัยชราหรือความชรา เสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังโดดเด่นเรื่องการใช้ภาพพจน์ที่คมคาย ดังเช่นการเปรียบเทียบชีวิตของคนชราดัง

 

“ยอมเป็นไฟไหวลมในเปลวเทียน  ที่จวนเจียนจะดับได้ในมุมเธอ”

 

กวีนิพนธ์เรื่อง “ชรากาล ที่น่ารัก” จัดเป็นกวีนิพนธ์ที่ให้ความรู้สึกอบอวลหวนนึกถึงคนที่บ้าน นึกถึงคุณพ่อแม่ที่เริ่มแก่เฒ่า นึกถึงคุณตายายที่เฝ้าคอยหลาน เมื่ออ่านแล้วรู้สึกอบอุ่นใจเหมือนได้ฟังเรื่องราวจากพวกท่านเหล่านั้น อีกทั้งยังมอบแง่คิดให้ผู้อ่านได้ตกตะกอนกับตนเองว่าท้ายที่สุดวัยชราอาจไม่ใช่สิ่งน่ากลัวดังที่เคยคิด วัยชรานั้นก็มีแง่มุมงดงามและน่ารัก…สมดังชื่อเรื่อง  “ชรากาล ที่น่ารัก”

 


บทวิจารณ์โดย
นางสาวซินดี้ แม้นวงศ์เดือน
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ