ชนชั้นมนุษยธรรม : บทวิจารณ์โดย พิฐชญาณ์ นันทจรัสวิจิตร

ชนชั้นมนุษยธรรม

     ‘กาลเวลา’ เปรียบดั่งสายธารนำพาให้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย วัฒนธรรม และกรอบคิด แต่ในขณะเดียวกัน ‘สงครามโลก’ ก็เปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำที่ช่วยพัดพากระแสแห่งการเปลี่ยนผ่านช่วงเวลาให้รุนแรงและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
 

      ถ้าเปรียบกับหนังสือเล่มนี้ ‘มหาลัย’เหมืองแร่ ตอน ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม ของ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ก็มิต่างอันใดไปกับส่วนหนึ่งของเรือโนอาห์ ที่ต้องลอยตัวและเอาตัวรอดอยู่เหนือน่านน้ำมหาสมุทรในวันที่พายุมรสุมโหมกระหน่ำเข้ามาทั่วทุกสารทิศอย่างไร้ทิศทาง เพราะเรื่องราวที่ผู้เขียนได้รังสรรค์ขึ้นนั้น คือ ประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่า ยามเมื่อถูกรีไทร์ออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีสอง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถูกผู้เป็นบิดาส่งไปทำงานที่เหมืองแร่ ณ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ในช่วงยุคสมัย ‘สงครามโลกครั้งที่สอง’ เพิ่งเสร็จสิ้นลงเพียงไม่นาน
 

      ในแง่ของการสร้างสรรค์เรื่องราวและผลงานนั้น แม้ว่าภายในหนังสือตอน ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม จะมิได้บอกเล่าอิทธิพลและค่านิยมของชาติตะวันตกที่มีต่อไทยอย่างชัดแจ้ง แต่ถึงกระนั้น ทัศนคติและการบอกเล่า รวมไปถึงบทสนทนาของตัวละครภายในเรื่องก็เปรียบเสมือนดั่งกระจกใสที่สะท้อนความจริงและวิถีชีวิตของผู้คนแถวเหมืองแร่ออกมาได้อย่างไม่มีปิดบัง ตามจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ แม้ว่าประเทศไทยจะมิได้เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกเฉกเช่นประเทศอื่น ๆ ในแถบภูมิภาคเดียวกัน เพราะ โดยทั่วไปแล้ว คำว่า ‘อาณานิคม’ ในพจนานุกรรมที่ถูกบัญญัติไว้นั้น ได้ใช้คำนี้กล่าวถึง ประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอื่นเพียงเท่านั้น
 

      แต่กระนั้นมิรู้ว่าเป็นเพราะเหตุอันใด ภาพที่สะท้อนออกมากลับสะท้อนออกมาเป็นภาพความจริงที่ยากจะปฏิเสธได้ว่า ภาพที่เห็นก็หาได้ต่างอันใดกับประเทศที่อยู่ภายใต้อาณานิคมไม่ และมิใช่แค่กับอารยธรรมตะวันตกเท่านั้น แต่กับคนชนชาติเดียวกันเองบางที ก็ถูกปฏิบัติราวกับว่าเขาเป็นคนในอาณานิคมอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเราไม่ต่างกัน เฉกเช่นบทบรรยายและบทสนทนาภายในเรื่อง
 

      “วันอาทิตย์ในเหมืองแร่ไม่ใช่วันอาทิตย์ของข้าราชการ พนักงาน ห้างร้านในเมือง มันไม่ใช่วันหยุด แต่มันเป็นวันเปลี่ยนกะ คนที่เคยอยู่กะกลางคืนดึกอดนอนมา ๗ วัน ก็จะได้กระโดดมากะเช้าส่วนคน ที่อยู่กะเชาก็ไปผลัดเปลี่ยน ฝ่ายคนที่อยู่กะบ่ายจนถึงห้าทุ่ม…คนงานกลางแจ้งกองถางป่า ซอมถนน ขนแร่ ล้างแร่ ก็ยังต้องคลี่สายป่านแห่งชีวิตของเราเรื่อยไปไม่มีการหยุด” จากประโยคข้างต้น คนงานในเหมืองแร่จังหวัดพังงาก็มิได้ต่างอันใดไปกับงานกรรมกรที่อาบเหงื่อต่างน้ำ ราวกับเครื่องจักรที่ทำงานหมุนวนไปตามรอบของสายป่าน ทุก ๆ ๗ วัน อย่างไม่มีหยุดพักเพียงเท่านั้น
 

      “กล่าวถึงตัวข้าพเจ้าเป็นคนงานสะเทินนํ้าสะเทินบก มันครึ่งๆ กลางๆ อยู่ชอบกล เป็นช่างแผนที่อยู่ในบัญชีออฟฟิศ” และจากประโยคข้างต้น แสดงให้เห็นว่ากลับกันผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่อย่างเช่น ตัวของผู้เขียนเองและชายหญิงชาวกรุงภายในเรื่องมักจะได้รับการปฏิบัติไปในทางที่ดีกว่าในหน้าที่การงาน
 

     “ผมไม่ได้หวังสมัครงานในออฟฟิศ ผมเคยทํางานในเหมืองเหนือมาแล้ว แล้วก็รู้ว่างานกรรมกรนั้นนายงานจะรับเข้าทําได้ทันทียิ่งกรรมกรกําลังขาดนายงานเสียอีกอยากได้คนแทน ผมดีใจที่วันนี้ฝนตก เวลาฝนตกนายงานต้องการคนเพิ่มเสมอ” ประโยคสนทนาได้สะท้อนค่านิยมของคนในสังคมได้อย่างชัดแจ้งว่า ในสายตาของคนทั่วไปแล้ว ส่วนใหญ่ชาวกรุงมักจะถูกมองว่าเหมาะกับงานในออฟฟิศมากกว่างานกรรมกรหรือคนงานภายในเหมืองแร่มากนัก เปรียบเสมือนดั่งแนวคิดหรือทัศนคติสำเร็จรูปของคนทั่วไปที่ได้ตีกรอบและให้ค่านิยมบางสิ่งบางอย่างไปโดยที่บางทีพวกเขาเหล่านั้นก็ไม่รู้ตัว
 

      ‘เมื่อนายงานพาชาวกรุงเข้าออฟฟิศเพื่อลงทะเบียนกรรมกรและรับติเก็ตประจําตัวสําหรับให้นายงานกรอกชั่วโมงทํางานก็เกิดเรื่องเอะอะขึ้นมา เพราะว่าชายผู้นี้เป็นคนชนหัวหน้าในการ สไตรก์ที่เหมืองเหนือ และถูกปลดมาหลายเดือนแล้ว เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเหมืองใหญ่ที่ชาวต่างประเทศควบคุมกิจการนั้น เขามีการพบปะสมาคมกันอย่างกลมเกลียว’ ในแง่ของความเป็นจริง ชายหนุ่มชาวกรุงเทพที่มาหางานทำเป็นกรรมกรภายในเหมืองก็มิได้ต่างอันใดกับผู้ก่อการร้ายที่ถูกขึ้นบัญชีดำ เพราะเขาเป็นผู้นำการประท้วงและการต่อต้านภายในเหมือง
 

     แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ได้สอดแทรกมนุษยธรรมเข้าไปในเรื่อง ซึ่งเป็นจุดที่ผู้เขียนนั้นได้แสดงจุดยืนของตนเองเอาไว้ในชื่อเรื่องได้เป็นอย่างดีจากประโยคที่ว่า “เยส ฉันกลัวแต่ฉันไม่ได้ทําอะไรนอกข้อบังคับเลยชายผู้นี้เป็นชายที่มีเมียตามกฎหมาย และเมียกําลังมีลูกที่เขาจะต้องหาเลี้ยง เขาเป็นคนละคนกับชายโสดนักสไตรก์ คนเก่า” เพราะการกระทำของนายฝรั่งนั้นได้แสดงให้เห็นได้อย่างกระจ่างชัดถึงความมีมนุษยธรรมที่มีให้กับเพื่อนมนุษย์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากมากกว่าการสนใจในกรอบและกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่มนุษย์ด้วยกันนั้นได้บัญญัติเอาไว้
 

     สำหรับข้าพเจ้าแล้ว หนังสือเรื่อง มหาลัย’เหมืองแร่ ถือเป็นความขัดแย้งที่สวยงาม เพราะทุกที่ล้วนมีปัญหา เฉกเช่นในเหมืองแร่จังหวัดพังงาล้วนไม่แตกต่าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ให้ค่ากับปัจจัยภายนอกอย่างเช่น รูปลักษณ์ภายนอก ถิ่นกำเนิด ชาติตระกูลและการให้ค่ากับวัฒนธรรมตะวันตกล้วนไม่มีผิดและไม่มีถูก ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนมีสองด้าน มีดำ ย่อมมีขาว แต่จะถูกและจะผิดอย่างไร ทุกอย่างไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนเพราะมันอยู่ที่ว่าคนในสังคมบัญญัติคำว่าถูกและคำว่าผิดไว้อย่างไรเท่านั้น
 

     แต่กลับกันผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของตนเอง และถ่ายทอดเรื่องราวในแง่ของมนุษยธรรมผ่านเหตุการณ์และตัวละครต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจผ่านตัวละครนายฝรั่งที่ไม่ตีกรอบความเป็นมนุษย์ด้วยกันด้วยกรอบหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ แต่ใช้มนุษยธรรมในจิตใจเป็นการตัดสินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยแท้จริง
 

    ดังเช่นคำว่า‘ชนชั้นมนุษยธรรม’ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงในช่วงต้น ไม่ว่าจะเกิดมาในชนชั้นใด ฐานะ และชาติพันธุ์ใด หากว่า ขอแค่มนุษย์มีใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งแล้ว ในความคิดเห็นของข้าพเจ้าแล้ว เรือโนอาห์ก็มิต่างอันใดกับหนังสือเล่มนี้ มหาลัย’เหมืองแร่ หนังสือที่เปรียบได้ดั่งเรือโนอาห์ ที่จะช่วยนำพาให้ผู้อ่านรวมไปถึงตัวละครภายในเรื่อง ได้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ได้ช่วยเหลือกันยามลมมรสุมพัดผ่าน และได้เห็นคุณค่าและความหมายของคำว่ามนุษยธรรมโดยแท้จริง

 

ชนชั้นมนุษยธรรม
บทวิจารณ์โดย พิฐชญาณ์ นันทจรัสวิจิตร

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6
 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ