ธารน้ำฟ้า...ธารน้ำตาในธารทรงจำ : บทวิจารณ์โดย ต่อพงศ์ เชื้ออุ่น

ธารน้ำฟ้า...ธารน้ำตาในธารทรงจำ

ธารน้ำฟ้า...ธารน้ำตาในธารทรงจำ
 

   ณ ห้วงแห่งความเดียวดายในห้องนอนอันมัวซัว วันนั้นเป็นวันที่ข้าพเจ้าเหนื่อยอ่อนจากการเข้าร่วมอบรมค่ายเตรียมสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ขณะจดจ้องจอโทรทัศน์เพียงผู้เดียว กลับมีภาพ


    ผู้ประกาศข่าวสวมใส่ชุดสีดำปรากฏขึ้นตรงหน้า หลังจากนั้น ข้าพเจ้าพลันได้รับรู้ด้วยหม่นเศร้าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคตแล้ว... กระทั่งวันนี้ ได้อ่านบทกวี “รำลึกวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ กราบถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” โดยอาจารย์ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ จึงเป็นเสมือนสิ่งทรงค่าที่ช่วยยืนยันความทรงจำของตนว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นยังคงฝังแน่นในดวงใจเป็นอาจิณ


     เมื่อพิจารณาขบวนถ้อยคำอันจำกัดภายใต้ฉันทลักษณ์ของกลอนสุภาพที่ผู้เขียนเลือกใช้นั้น ไม่ได้เป็นการจำกัดกรอบความรู้สึกของผู้อ่านแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม กลับสามารถสะเทือนอารมณ์ได้อย่างไพศาล  

“นานกี่ปีกี่เดือนและกี่วัน

ก็ยังฝันยังไหวอยู่ไม่หาย

ยังจำวันพระสุเมรุเอนทลาย

ยังจำสายน้ำตาที่บ่านอง”
 

    บทกวีเริ่มต้นด้วยการยืนยันว่า แม้กาลเวลาได้ล่วงเลยไป แต่พสกนิกรชาวไทยยังคง “ฝัน” และ“ไหว” ในความทรงจำตลอดมา โดยเฉพาะคำว่า “พระสุเมรุ” ตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพผู้สถิตบนเขาพระสุเมรุ หาก “พระสุเมรุเอนทลาย” ย่อมสร้างแรงกระเทือนมหาศาลในจักรวาล อาจมองได้ว่า “พระสุเมรุ” อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่เอนทลายลง เปรียบเสมือนคนไทยทั้งมวลได้สูญเสียศูนย์รวมจิตใจของชาติสิ้น ทำให้ “สายน้ำตา” ของราษฎรไหลบ่านอง

 

     ผู้เขียนเลือกใช้คำที่ช่วยสร้างบรรยากาศในบทกวี ขณะกล่าวย้อนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้แก่ “ดำทั้งเมือง” “ฟ้าทุกฟ้ามีสีหมอง” “เสียงเพลงร่ำทุกคำร้อง” และ “ผองผู้คนที่หม่นตรม” ซึ่งจะเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสิ่งที่อยู่ร่วมเหตุการณ์จากคำว่า “ทั้งเมือง” “ฟ้าทุกฟ้า” “ทุกคำร้อง” หรือ “ผองผู้คน” ที่ต่างแสดงออกถึงอารมณ์โศกเศร้า  กอปรกับใช้คำว่า “ยังจำ…” ตอนต้นวรรค หรือ “ยัง” ในหลายวรรคของบทกวี ยิ่งเป็นการตอกย้ำ และยืนยันถึงความอาลัย และความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์อย่างสูงสุด

 

     หลังจากกล่าวย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๕๙ บทกวีได้รำพึงด้วยเศร้าหมองว่า หากพระองค์ยังคงอยู่ และทรงรับรู้ทุกข์ของราษฎร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเมือง ย่อมทรงเป็นทุกข์ในพระทัย จากนั้น ผู้เขียนได้เสนอให้คนไทยปฏิบัติตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์
 

     ส่วนสุดท้ายของบทกวีกล่าวถึงการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  


“ถวายบังคมพระองค์พระทรงฤทธิ์

พระสถิต ณ สถานพิมานเวหา

ระฆังทุกข์แว่วหวานกังวานนภา

ฟ้าทั้งฟ้าก็ร่ำเห็นจนเป็นน้ำ”
 

     จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้เขียนเปรียบความทุกข์เป็นเสียงของ “ระฆัง” ที่ดัง “แว่วหวาน” ไปทั่วท้องฟ้า ซึ่งความเป็นจริง ความทุกข์ย่อมไม่เป็นที่น่าอภิรมย์ใจ จึงถือเป็นความขัดแย้งในบทกวีที่ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างกลมกลืน อนึ่ง “ระฆังทุกข์” อันเป็นสัญญาณ เพื่อกราบบังคมทูลพระองค์ ณ ทิพยสถาน อาจเชื่อมโยงไปถึง “ระฆัง” หรือ “กระดิ่ง” ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย ในระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกที่ประชาชนผู้เป็นลูกสามารถตีเพื่อบอกกล่าว ร้องทุกข์ถึงผู้เป็นพ่อของผองชนได้ ในที่นี้ ระฆังแห่งความทุกข์ได้สะเทือนก้องถึงพระองค์ผู้สถิตบนสถานพิมานเวหา “ฟ้าทั้งฟ้า” จึงส่งสัญญาณร่ำไห้จนเป็นน้ำว่า พระองค์ได้ทรงรับรู้ถึงทุกข์ของประชาชนแล้ว
 

“รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

วันเก่าเก่ายังอบอุ่นยังอิ่มฉ่ำ

มีพระรูปมีคลิปอยู่ดูซ้ำซ้ำ

เพื่อตอกย้ำว่าจงรักและภักดี

มีพระรูปมีคลิปอยู่ดูซ้ำซ้ำ

เพื่อตอกย้ำว่าจงรักและภักดี”

 

      จากตัวบทข้างต้น “วันเก่าเก่ายังอบอุ่นยังอิ่มฉ่ำ” ย่อมสื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ต่อปวงประชา ซึ่ง “พระรูป” และ “คลิป” เป็นเสมือนภาพในความทรงจำของราษฎรที่เฝ้า “ดูซ้ำซ้ำ” โดยผู้เขียนได้เขียนสองวรรคสุดท้ายของบทกวีซ้ำอีกหนึ่งครั้ง ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความจงรักภักดีที่คนไทย มีต่อพระองค์ได้อย่างแท้จริง

 

      ความลื่นไหลแห่งอารมณ์ในบทกวีที่งามทั้งคำและความนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้รำลึกถึงธารน้ำฟ้า คือ  พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และภาพแห่งธารน้ำตาของพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดี อีกทั้งในยามที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหานานาประการ คำสอนของพระองค์ ย่อม “เป็นหลักให้ยืนมั่น” เพื่อช่วยคนไทยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความกังวานของ “ระฆังทุกข์” และด้วยความจงรักภักดีนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ธารทรงจำของปวงชนชาวไทยจะ “ยังฝัน” “ยังไหว”ตราบนิรันดร์

 

ธารน้ำฟ้า...ธารน้ำตาในธารทรงจำ
บทวิจารณ์โดย ต่อพงศ์ เชื้ออุ่น
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ