มองอนาคต : นิตยสารวิทย์หัวนอกที่ยังครองตลาด

มองอนาคต


สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์" บรรณาธิการหนุ่มหล่อแห่งนิตยสารหัวนอก "ไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ด" (Science Illustrated)

 

"นิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ตอนนี้อยู่ในขาลงหมดครับทุกสาขา ไม่ใช่เฉพาะวิทยาศาสตร์ หวั่นใจนะ แต่ไม่กลัวเพราะฐานคนอ่านนิตยสารของผมยังมีมาก หน้าที่ตอนนี้คือตั้งใจทำหนังสือให้ออกมาดีๆ ให้สมกับเป็นนิตยสารวิทย์อันดับ 1 ของไทย" ถ้อยคำหนึ่งจาก "สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์" บรรณาธิการนิตยสาร ไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ด (Science Illustrated) ที่เปิดโอกาสให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์สัมภาษณ์พิเศษ

ในยุคที่คนส่วนใหญ่หันมาเสพสื่อจากอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์มากขึ้น ทำให้หลายคนมองว่าวงการหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์กำลังถึงทางตัน โดยเฉพาะนิตยสารวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าตลาดเหมือนหนังสือแฟชั่นไลฟ์สไตล์ แต่ "ไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ด" (Science Illustrated) นิตยสารวิทยาศาสตร์หัวนอกยังคงหยัดยืนท่ามกลางกระแสซบเซาของตลาดนิตยสาร ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงยกทีมไปสัมภาษณ์ "สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์" ผู้เป็นบรรณาธิการไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ด" เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ และมุมมองส่วนตัวของเขาต่อวิทยาศาสตร์ในฐานะนักรัฐศาสตร์ผู้ผันตัวมาคลุกคลีกับนิตยสารวิทย์ ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่จนเป็นเบอร์หนึ่งของหนังสือวิทย์ไทยในปัจจุบัน

ความรู้สึกแรกเมื่อได้รับหน้าที่ดูแลนิตยสารวิทยาศาสตร์ “ไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ด”
สุธรรม เล่าว่า การทำหนังสือไซแอนซ์อิลัสเตรเต็ดยากตั้งแต่การหาบรรณาธิการ เพราะเป็นหนังสือใหม่และในขณะนั้นก็ยังไม่มีสื่อทางด้านวิทยาศาสตร์มากนัก กว่าผู้ใหญ่ที่มาชักชวนจะมาเจอเขาจึงต้องเสาะแสวงหาผู้ที่เหมาะสมอยู่หลายคน ซึ่งหลังจากที่เขาได้รับการทาบทาม ก็ได้เริ่มทำการบ้านอย่างหนัก ด้วยการลองอ่านเนื้อหาของเล่มตีพิมพ์ในอเมริกา จนเห็นว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุก มีสาระประโยชน์ และค่อนข้างตรงกับสิ่งที่เขาชื่นชอบให้ความสนใจ จึงตกปากรับคำนั่งทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร

ด้วยประโยคแรกบอกกับเลยบอกตัวเองว่า "เออ ลองดูสักตั้งก็ได้" สุธรรมกล่าว "ผมเป็นสิงห์แดงครับ จบการศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้จบวารสารฯ แต่ชอบเขียนหนังสือ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นบรรณาธิการให้กับไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ด ผมทำงานให้กับนิตยสารผู้หญิง "ดิฉัน" มาประมาณ 7 ปี เพราะตอนเรียนค่อนข้างสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เพศสภาพ สิทธิของความเป็นผู้หญิง สิทธิของเพศต่างๆ เลยศึกษาเรื่องพวกนี้เชิงลึกมาตลอด แต่พอมาทำงานได้ลองจับหลายๆ อย่างทั้งศิลปะ, ธุรกิจ, การแพทย์และสิ่งแวดล้อมทำให้เริ่มสนใจวิทยาศาสตร์ขึ้นมาบ้าง และหันมาศึกษาค้นคว้ามากขึ้น แล้วพอดีตอนนั้นมีพี่ที่รู้จักมาทาบทามให้เป็นบรรณาธิการ ชีวิตผมเลยเปลี่ยนมาตั้งแต่ตอนนั้น" สุธรรมนักรัฐศาสตร์ผู้หลงรักแต่สังคมศาสตร์เผยประสบการณ์ก่อนมาทำนิตยสารวิทยาศาสตร์

"แล้วผมก็อยู่กับคำว่าลองดูสักตั้งมาตลอดเลยครับ เพราะตอนยังไม่ได้มาทำก็มองว่าสนุก แต่พอเข้ามานั่งเก้าอี้บรรณาธิการแล้วก็...โอ้โห ยากแฮะ (หัวเราะยาว) จนแรกๆ มีความคิดเข้ามาในหัวตลอดว่าตกลงคิดถูกไหมเนี่ยที่มาทำ"

ความยากในการทำนิตยสารวิทยาศาสตร์
สุธรรมกล่าวว่า การทำนิตยสารวิทย์มีความยากในตัวเองระดับหนึ่ง เพราะเนื้อหาบางอย่างที่ยากต่อการเข้าใจของคนทั่วไป เช่น ฟิสิกส์ บางเนื้อหาเป็นวิชาการที่เข้าถึงยากมากจนไม่รู้ว่าจะต้องเขียนอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าใจ ในช่วงแรกของการแปลหนังสือเขาจึงต้องอาศัยอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในการมาช่วยแปลและตรวจสอบความถูกต้องตามหลักวิชาการให้

นอกจากต้นฉบับของไซแอนซ์ฯ จะพิมพ์จากประเทศเดนมาร์กที่ใช้สำนวนภาษาอังกฤษที่ยากพอสมควรแล้ว วงการนักแปลของประเทศไทยกเมื่อ 5-6 ปีก่อนก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีนักแปลที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่นักแปลที่ดี ทำให้นิตยสาร 3-4 เล่มแรกกว่าจะตีพิมพ์ออกมาได้สำเร็จ บรรณาธิการอย่างเขาจึงต้องรับศึกหนักพอสมควร ส่วนความยากอีกอย่าง สุธรรม กล่าวว่า อยู่ที่การให้สมดุลระหว่างวิทย์และศิลป์ให้กลมกลืนกันเพื่อหาส่วนผสมที่ลงตัวของหนังสือให้ถูกใจคนอ่าน ให้มีความสมดุลกันระหว่างเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ทางภาษา โดยต้องคงความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์แต่ใช้วิธีการบรรยายที่ไม่ตรงสักทีเดียว เพราะจุดมุ่งหมายหลักของการทำนิตยสารคือการบอกเล่าเรื่องราววิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ลืมผู้อ่านทั่วไป และต้องเรียกผู้อ่านหน้าใหม่ให้เข้ามาสนใจหนังสือเพิ่มขึ้นด้วย

จุดแข็งของไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ด
สุธรรม กล่าวว่า ไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ด ไม่ใช่ตำราวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเป็นนิตยสารที่นำเสนอวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่าย ให้เป็นที่น่าสนใจ สนุก เร้าใจคนอ่านด้วยรูปแบบการนำเสนอด้วยภาพ และอินโฟกราฟิกเพื่อทำให้คนเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้ง่าย โดยเนื้อหาที่เลือกมานำเสนอเป็นเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ รวมไปถึงโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และบรรพชีวินวิทยา แต่กลิ่นอายสำคัญที่เป็นจุดแข็งของหนังสือเล่มนี้คือ การนำเสนอความเป็นไปได้ในอนาคต ที่พูดถึงโครงการต่างๆ ที่ในปัจจุบันยังไม่เกิดแต่ในวันข้างหน้าอาจจะมี เป็นการผสมผสานสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจริงได้ เช่น โครงการวิทยาศาสตร์ที่เป็นความฝันของนักบินอวกาศ หรือโครงการต่างๆ ที่เข้าใกล้ความจริง

เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่การผสมผสานสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถสร้างและต่อยอดจินตนาการ เป็นหนังสือที่มีความร่วมสมัยทำให้ไม่ว่าใครเพศใด วัยใดก็สามารถอ่านได้ ซึ่งคุณภาพของหนังสือก็ทำให้ขณะนี้มีตีพิมพ์ขายแล้วประเทศ 15-16 ประเทศทั่วโลก โดยมีเล่มแม่อยู่ที่เดนมาร์ค และไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียที่มีการแปลหนังสือเล่มนี้ และจุดแข็งอีกอย่างคือคุณภาพนิตยสารที่พิมพ์แบบ 4 สีด้วยกระดาษอย่างดีทั้งเล่ม

4 ปีที่ผ่านมามีอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันอะไรบ้าง?
สุธรรมเล่าว่า ในช่วงแรกปัญหาหลักคือ การทำนิตยสารให้เป็นที่รู้จัก เพราะการที่หนังสือวิทยาศาสตร์จะไปช่วงชิงพื้นที่บนแผงหนังสือได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเขามีทีมงานการตลาดที่ช่วยดูแลทั้งด้านการทำโฆษณา, การจัดโรดโชว์ตามโรงเรียนต่างๆ, ทำโปรโมชัน, การทำปกให้น่าสนใจด้วยการดึงเนื้อหาในเล่มที่ตรงกับประเด็นข่าวสารบ้านเมืองในขณะนั้นมาจูงใจผู้ซื้อ

ทว่าปัญหาในขณะนี้ที่กำลังเผชิญอยู่คือ การขาดทุนแม้หนังสือจะมียอดขายดี เพราะมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ประกอบกับคนให้ความสนใจกับสื่อออนไลน์มากขึ้น ตอนนี้ไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ดจึงเริ่มทำการประชาสัมพันธ์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ด้วยการ ทำกราฟิกให้ความรู้ กระตุ้นความสนใจ และพยายามหาพันธมิตรกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ไปในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ จนขณะนี้มีผู้อ่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การตอบรับของผู้อ่านเป็นอย่างไรบ้าง?
สุธรรม กล่าวว่า จำนวนสมาชิกและผู้อ่านไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ดในขณะนี้มีสูงมาก จนมียอดขายเป็นอันดับ 2-3 ของนิตยสารในเครือ บ.โพสต์ พลับบลิชชิง จำกัด โดยยอดสมาชิกและคนอ่านเพิ่มขึ้นตลอดตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน ถ้าเทียบกับนิตยสารไลฟ์สไตล์ผู้หญิงหรือแฟชั่นทั่วไป ไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ดถือว่าประสบความสำเร็จมาก โดยผู้อ่านหนังสือมีตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่กลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ใหญ่วัยทำงาน

"เป็นความน่าดีใจที่มีคนในสังคมให้ความสนใจอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์มากขนาดนี้ เพราะคนส่วนใหญ่หรือบริษัทที่จะมาเป็นสปอนเซอร์เขาจะไม่ค่อยเชื่อว่าหนังสือวิทยาศาสตร์ได้รับความสนใจ ทั้งที่ความจริงไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ดขายดีจนมีเนื้อที่แบ่งส่วนการตลาดในกลุ่มหนังสือวิทยาศาสตร์ไทยถึง 60% แล้วเราก็มีสมาชิกรายเดือนอยู่ในหลักหมื่นคน และในเชิงผู้อ่านก็สูงเป็นระดับแสนคน เป็นความเหลือเชื่อว่าจริงๆ มีคนสนใจวิทยาศาสตร์ สนใจหนังสือความรู้อยู่เยอะทั้งที่คนส่วนมากบอกว่าสังคมเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาหรือการอ่านหนังสือแต่จริงๆ แล้วคนไทยอ่านหนังสือเยอะนะครับ เป็นความน่าดีใจ ซึ่งผมยกเครดิตให้กับเนื้อหาและการนำเสนอของหนังสือ ไม่เช่นนั้นคนคงไม่อ่านเยอะขนาดนี้"

หลังรับหน้าที่ บก. มุมมองต่อวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไปอย่างไร ?
"เปลี่ยนครับ จริงๆ ก็รู้ว่าเรื่องวิทยาศาสตร์มันมีอะไรที่น่าสนใจมากมาย แต่เราก็ไม่คิดว่ามันจะมีอะไรเยอะแยะขนาดนี้ ผมไม่เคยรู้ว่าจะมีคนศึกษาเซลล์แปลกๆ สัตว์ได้ทะเลลึกแปลกๆ ไม่น่าเชื่อว่าแบคทีเรียมันจะมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนทั้งๆ ที่เรายังมองไม่เห็นมันด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมดมันเป็นการศึกษาที่ย้อนกลับมาสู่ชีวิตของเราทั้งในเชิงเทคโนโลยี นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เราสามารถใช้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมด ทำให้เรารู้ว่าทำไมเราถึงอยู่ตรงนี้เพราะทุกอย่างทางวิทยาศาสตร์เกิดจากการทดลอง การเก็บหลักฐาน การสะสมความรู้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ พอมาอ่านพวกนี้ทำให้เรารู้ว่ามันมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่การไปยึดกับอะไรที่เราไม่รู้หรือเป็นความเชื่ออย่างเดียวซึ่งมันทำให้เราย่ำอยู่กับที่ มันทำให้รู้ว่าจริงๆแล้วโลกแห่งวิทยาศาสตร์นี่มันกว้างมาก แล้วมันก็มีความสัมพันธ์กับชีวิตเราด้วย"

"ถึงจะรู้ว่าวิทยาศาสตร์เจ๋ง แต่ถ้าให้เลือกกลับไปเอนทรานซ์ใหม่ ผมก็จะไม่เลือกวิทยาศาสตร์อยู่ดี (หัวเราะ) เพราะผมไม่ถนัดคำนวณ แล้วก็รู้ตัวเองว่าชอบเรียนสายสังคมศาสตร์แต่คงจะสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่าตอนที่เรียนอีกมาก เพราะผมสนใจเรื่องสังคม สนใจเรื่องสิทธิผู้หญิงจนได้ขึ้นดีเบตในเรื่องพวกนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งสายหนึ่งของเฟมินิสต์ก็สนใจการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พอมาอ่านมากขึ้นก็เกิดอคติกับนักวิทยาศาสตร์ เพราะนักสังคมศาสตร์บางส่วนดึงเอาวิทยาศาสตร์มาบอกว่าความอ่อนแอของผู้หญิงเป็นกลไกธรรมชาติ สมองและร่างกายถูกสร้างขึ้นมาเป็นแบบนี้ ที่ยืนในสังคมของผู้หญิงจึงควรด้อยกว่าผู้ชาย แต่จริงๆแล้วพอเรามาศึกษาดูจริงๆ ทำให้รู้ว่านักวิทยาศาสตร์มีหลายแบบ และงานวิจัยก็มีหลายแง่ การสรุปด้วยงานวิจัยชิ้นเดียวจึงไม่ถูกต้อง เพราะอย่างล่าสุดงานวิจัยก็ออกมาแล้วว่าสมองของผู้ชายและผู้หญิงไม่ได้ต่างกัน ซึ่งเมื่อนำไปควบรวมกับแนวความคิดด้านสังคมศาสตร์ ทำให้ยิ่งเห็นว่าทั้ง 2 ศาสตร์ไม่เคยแยกออกจากกัน

"ถ้ากลับไปเรียนเราคงดึงวิทยาศาสตร์มาใช้ หรือศึกษาวิทยาศาสตร์มากขึ้นเพื่อดึงมาใช้ในข้อดีเบตต่างๆ เพราะเรื่องที่เราเรียกว่ามันเกิดจากธรรมชาติแทบจะไม่มีอยู่จริง เพราะการศึกษาเรื่องสิทธิของเพศต่างๆ ทั้งหญิง ชาย เพศที่สามมันเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรูปแบบของวิวัฒนาการที่จะทำให้เรามีชีวิตรอดได้ เพราะฉะนั้นการที่มนุษย์ยึดตามธรรมชาติที่เป็นหลักทางเศรษฐศาสตร์ ศาสนา หรือความเชื่อแบบดั้งเดิมมันไม่ใช่เรื่องจริง ในขณะที่วิทยาศาสตร์ชัดเจนกว่าเยอะ"

กลัวไหมที่ปกตินิตยสารวิทยาศาสตร์รอดยาก
"อย่างที่เขาบอกแหละครับว่าตอนนี้วงการนิตยสาร และสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่หนังสือไลฟ์สไตล์และแฟชั่นก็ลงเหมือนกันหมด เพราะคนหันมาสนใจสื่อเว็บไซต์ สื่อในสังคมออนไลน์ รวมถึงทีวีดิจิทัลมากขึ้นทำให้เม็ดเงินถูกดึงไป แต่ถ้าถามว่ากลัวไหม ผมไม่กลัวเพราะคนอ่านเรายังมีเยอะมาก ฐานสมาชิกก็สูงมาก เรามีแฟนที่เหนียวแน่น แต่หลักๆ เราก็อยู่ได้ด้วยโฆษณา"

"ต้องขอบคุณทางโพสต์ที่ยังไว้วางใจและสนับสนุนไซแอนซ์ อิลัสเตรเต็ดอย่างดี เพราะบางครั้งเราก็ยังขาดทุนแม้จำนวนการตีพิมพ์จะสูง แต่ต้นทุนเราก็สูงไม่แพ้กัน เพราะเราใช้กระดาษมันอย่างดี พิมพ์ 4 สีทุกหน้าด้วยความละเอียดสูงซึ่งทั้งหมดมันมีค่าใช้จ่าย สปอนเซอร์จึงค่อนข้างสำคัญกับเราแต่ก็อย่างที่บอกเขาไม่ค่อยเชื่อว่าหนังสือเราขายได้ ทั้งๆ ที่ขายดีมาก (หัวเราะ) แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราก็ยืนยันว่าจะสู้ต่อไปเพื่อทำหนังสือดีๆ ออกมาสู่คนไทยเพราะตอนนี้ในบรรดานิตยสารวิทยาศาสตร์ไทยประมาณ 5-6 เล่ม ไซแอนซ์ถือเป็นอันดับหนึ่ง" สุธรรมกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ขอบคุณที่มา : http://manager.co.th/Science

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ