เจ้าหงิญ : “เจ้าหงิญ” เป็นหนังสือวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเขียนโดย “บินหลา สันกาลาคีรี”

เจ้าหงิญ

 

                “เจ้าหงิญ” เป็นหนังสือวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเขียนโดย “บินหลา สันกาลาคีรี” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2548

 

               หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยเรื่องสั้น 8 เรื่อง ที่แยกออกเป็นเรื่องๆ แต่ด้วยกลวิธีต่างๆ เทคนิคและการเรียบเรียงเนื้อหาของผู้เขียน ทำให้เรื่องสั้นเหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน กลายเป็นเรื่องสั้นในเรื่องยาว ที่เมื่ออ่านแล้วจะทำให้เรารู้สึกว่า ทั้ง 8 เรื่องนี้ เป็นเรื่องเดียวกัน

 

                นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ใช้เทคนิค “การเล่นคำ” มาใช้ในการตั้งชื่อหนังสือนั่นก็คือ “เจ้าหงิญ” คำว่า “เจ้าหงิญ” นั้นก็หมายถึง “เจ้าหญิง” นั่นแหละ ซึ่งการเปลี่ยนเป็นคำว่า “เจ้าหงิญ” นั้นเป็นการให้ความรู้สึกว่าเจ้าหญิงที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ต้องไม่ใช่เจ้าหญิงธรรมดาเป็นแน่ ซึ่งถ้าหากเราอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ จะพบว่ามี “เจ้าหญิง” เป็นตัวละครในเรื่องสั้นทุกเรื่อง

 

               โดยในส่วนของเนื้อเรื่องผู้เขียนได้นำเอาโลกในจินตนาการมาผสมผสานกับโลกแห่งความเป็นจริงและนำเสนอออกมาในรูปแบบของนิทานซึ่งได้มีการสอดแทรกข้อคิดต่างๆลงไปในหนังสืออีกทั้งยังมีการสะท้อนปัญหาต่างๆภายในสังคมปัจจุบันออกมาอีกด้วยในเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องจะมีเนื้อหา วิธีดำเนินเรื่อง และให้ข้อคิดหรือประเด็นสะท้อนสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งในความคิดเห็นของผู้วิจารณ์นั้นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกหรือสื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ มีดังนี้

 

เรื่องที่ 1 ชายเดียวดายแห่งภูเขาภาคเหนือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในแถบภูเขาทางภาคเหนือ ที่ต้องเดินทางกลับไปยังภาคใต้เพื่อพบกับหลานสาวหรือเจ้าหญิงตัวน้อยๆของเขา ระยะทางในการเดินทางนั้นค่อนข้างไกลพอสมควร ซึ่งในระหว่างการเดินทางนั้นเขาได้พบกับสิ่งต่างๆมากมาย โดยเฉพาะ “ฝักต้อยติ่ง” ที่ทำให้เขาใช้เวลาในการเดินทางนานยิ่งขึ้น และเขาก็ได้พบกับเจ้าหญิงในที่สุด ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เขียนได้สื่อถึงอารมณ์เศร้าและเหงาของชายเดียวดายได้เป็นอย่างดี และข้อคิดที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นก็คือ การจะไปให้ถึงเป้าหมายของเรานั้น แม้ว่ามันจะยากเย็นเพียงใด เราก็ไม่ควรจะย่อท้อและทำมันให้สำเร็จในที่สุด นอกจากนี้ก่อนที่เราจะถึงเป้าหมายหรือในระหว่างทางนั้น ก็มีค่าเช่นกัน เราควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์หรือความรู้ในตอนนั้นให้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาตัวเราให้ดียิ่งขึ้น และผู้เขียนยังได้ให้ข้อคิดที่สำคัญอีกข้อหนึ่งนั่นคือ ในตอนที่ฝักต้อยติ่งได้พูดว่า “โถ…ของขวัญ คนที่ได้รับคงดีใจตายล่ะ ของขวัญที่เกิดจากการทรมานชีวิตคนอื่นอย่างนี้” (หน้า 21) เป็นข้อคิดให้เรารู้ว่า เราไม่ควรที่จะบังคับหรือใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในเป้าหมาย

 

เรื่องที่ 2 แดฟโฟดิลแห่งดินแดนไกล เป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่ได้รับฝากต้นไม้ต้นหนึ่งจากเจ้าหญิง โดยที่เจ้าหญิงบอกกับเขาว่ามันคือต้น “แดฟโฟดิล” และสัญญากับเด็กชายว่าจะกลับมาหาเขาและต้นไม้ต้นนั้นอย่างแน่นอน  เด็กชายจึงเฝ้าดูแลต้นไม้ต้นนี้เป็นอย่างดี เพื่อรอวันที่เจ้าหญิงจะกลับมา ต่อมาได้มีเหตุการณ์ต่างๆมากมายเกิดขึ้นกับเด็กชายและต้น “แดฟโฟเดล” ของเขา แต่สุดท้ายเจ้าหญิงก็ไม่กลับมา ทิ้งให้เด็กชายซึ่งตอนนี้เติบโตเป็นชายฉกรรจ์และได้ออกเดินทางออกไปยังที่ไหน ก็ไม่มีใครทราบ กับ “ต้น-แดฟโฟดิล” ของเขาที่ตอนนี้กลายเป็นทุ่งดอกไม้สีเหลืองอร่ามไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ที่บรรดาผู้ใหญ่มักจะดูถูก หัวเราะเยาะความฝันและความหวังของเด็กๆ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบต่อจิตใจของเด็กๆเป็นอย่างมาก ดังเช่นในตอนที่บรรดาผู้ใหญ่ได้หัวเราะและดูถูกต้นแดฟโฟดิลของเด็กชาย ว่าเป็นเพียงแค่วัชพืช นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการทำความดี ที่แม้ในตอนแรกจะไม่มีใครเห็นค่า แต่สักวันความดีเหล่านั้นต้องปรากฏออกมาอย่างแน่นอน เปรียบกับ เด็กชายที่ปลูกต้นแดฟโฟดิล (วัชพืช) ซึ่งในตอนแรกต่างก็โดนดูถูกจากเหล่าผู้ใหญ่ ที่บอกว่ามันเป็นเพียงแค่ต้นหญ้าธรรมดา แต่ต่อมาต้นหญ้าเหล่านั้นกลับเจริญเติบโต กลายเป็นทุ่งดอกไม้สีเหลืองอร่าม สุดท้ายเรื่องนี้ยังได้สอนเราว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป จะทำให้เราเติบโตขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

 

เรื่องที่ 3 เจ้าหญิงแสนเศร้าแห่งดาวดวงที่สี่ เป็นเรื่องของเจ้าชายที่ต้องการไปช่วยเจ้าหญิงที่ดาวดวงที่สี่ ซึ่งการเดินทางของเจ้าชายนั้นต้องพบกับความยากลำบาก อุปสรรคต่างๆ และผู้คนที่เห็นแก่ตัวมากมาย แต่สุดท้ายเจ้าชายก็สามารถฟันฝ่าสิ่งเหล่านั้น จนได้พบกับเจ้าหญิงในที่สุด เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่าไม่ควรย่อท้อต่อความยากลำบาก แม้จะต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายเพียงใด ก็ต้องทำเป้าหมายของเราให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นทัศนคติของผู้คนในปัจจุบัน ที่พร้อมจะเหยียบย่ำ หัวเราะเยาะผู้อื่นที่ทำผิดพลาด แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ตนได้เคยกระทำเช่นกัน เพียงเพราะมันทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกว่าตนไม่ได้ผิดพลาดหรือโง่เพียงคนเดียว เช่นในตอนที่เจ้าชายเดินทางมาถึงดาวดวงที่สี่ แต่ก็ไม่พบกับเจ้าหญิง และถูกหัวเราะเยาะจากเหล่าชายที่มายังดาวดวงนี้ ซึ่งก็ไม่พบกับเจ้าหญิงเช่นเดียวกับเจ้าชาย นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของเหล่าผู้คนอีกด้วย

 

เรื่องที่ 4 เก้าอี้ดนตรี เป็นเรื่องราวของเก้าอี้ไม้ตัวหนึ่ง ที่สวยงามที่สุดในเมืองและเป็นผู้รักในเสียงดนตรี ต่อมาเก้าอี้ตัวนี้ได้ถูกซื้อไปอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในฐานะ “เก้าอี้ดนตรี” มันดีใจมากที่ได้เป็นหนึ่งในวงเก้าอี้ดนตรี แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่มันหวัง เก้าอี้ไม้ไม่พอใจในฐานะของการเป็น “เก้าอี้-ดนตรี” ในที่แห่งนี้ จึงพยายามขัดขวางการเล่นเก้าอี้ดนตรี ไม่นานมันจึงถูกขับไล่ออกมา ต่อมาได้มีเด็กน้อยคนหนึ่งได้เก็บมันไปไว้ที่บ้าน และเสียงเพลงของเด็กหญิงคนนี้ก็ทำให้มันได้พบกับความสุข และได้เป็น “เก้าอี้ดนตรี” อย่างแท้จริง ในเรื่องนี้ได้ให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง ชีวิตไม่ได้เป็นดังที่หวังเสมอไปและเปรียบเทียบ “ดนตรี” กับ “สภาพสังคม” ต่างๆ นั่นคือ ดนตรีในวงเก้าอี้ดนตรีนั้น ก็เปรียบเสมือนสภาพสังคมที่วุ่นวาย มีแต่การเอาเปรียบแก่งแย่งชิงดีกัน ส่วนดนตรี(เสียงเพลง) ที่ออกมากจากริมฝีปากของเด็กหญิงนั้นก็เปรียบเสมือนสภาพสังคมที่สงบ เรียบง่าย ไร้ซึ่งความเห็นแก่ตัว ซึ่งเก้าอี้ไม้ตัวนี้ก็เปรียบเสมือนคนคนหนึ่งๆที่ต้องเข้าไปอยู่ในสังคมแห่งความวุ่นวายที่ตนเองไม่ชอบ และด้วยเหตุผลต่างๆนานา ทำให้ต้องออกมาจากสังคมนั้น แต่เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานเราจะต้องได้พบกับสังคมหรือวิถีชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเราอย่างแน่นอน ดังเช่นเก้าอี้ไม้ที่ได้พบกับเด็กหญิง ซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าหญิงตัวน้อยๆของมันนั่นเอง

 

เรื่องที่ 5 สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ เป็นเรื่องของเจ้าหญิงตัวน้อยพระองค์หนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับพระราชาและพระราชินีที่แยกกันอยู่คนละครึ่งวัน ต่อมาเจ้าหญิงต้องการได้ “รุ้ง” มาเป็นของตนเอง ด้วยความเอาแต่ใจ ทั้งองค์ราชาและองค์ราชินีได้ใช้วิธีการต่างๆที่จะทำให้ได้รุ้งมา สร้างความลำบากให้กับทั้งสองพระองค์เป็นอย่างมาก แต่ท้ายที่สุดเจ้าหญิงก็ไม่ต้องการรุ้งมาเป็นของตนเองอีกต่อไป และเจ้าหญิงยังได้ขอร้องให้ทั้งสองพระองค์กลับมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งทั้งคู่ได้พูดเหมือนกันว่าคงต้องให้รุ้งมีแปดสีก่อน ทั้งคู่จึงจะกลับมาอยู่ด้วยกัน ทว่ามีเหตุการณ์ที่ทำให้รุ้งมีแปดสีขึ้นมาจริงๆ แต่สุดท้ายแล้วเจ้าหญิงก็ยังคงต้องว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างพระราชวังทั้งสองดังเดิม เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวในสังคมปัจจุบัน การแยกกันอยู่ระหว่างพ่อและแม่ และการตามใจลูก ทำให้เด็กเสียคน ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง พ่อและแม่ไม่ควรที่จะตามใจลูกมากเกินไป ให้เฉพาะสิ่งที่สามารถให้ได้จริงๆ และกาลเวลาจะเป็นสิ่งที่พัฒนาลูกให้เติบโตยิ่งขึ้นไปเอง ดังเช่นเจ้าหญิงที่ต้องการรุ้งกินน้ำมาเป็นของตน ทำให้พ่อและแม่ของพระองค์ต่างต้องพยายามทุกวิถีทาง เพื่อหารุ้งมาให้ลูกน้อยให้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเจ้าหญิงที่เติบโตขึ้นรับรู้ว่าการที่จะได้รุ้งมานั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และไม่ต้องการรุ้งอีกต่อไป

 

เรื่องที่ 6 นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องของลูกปลาน้อยที่ต้องการเดินทางออกจากอาณาจักรของเขา เพื่อไปพบกับสิ่งต่างๆ รวมถึงเจ้าหญิงในฝัน ซึ่งลูกปลาน้อยฝันไว้ว่ามันจะต้องเป็นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายลูกปลาน้อยกลับไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีและกลัวที่จะต้องออกเดินทาง จนในที่สุดเวลาผ่านไปหลายปีลูกปลาน้อยก็ยังไม่ได้ออกเดินทางเสียที เรื่องนี้ผู้เขียนต้องการจะบอกเราว่าการที่เราจะไล่ล่าความฝัน เราไม่ควรที่จะลังเล จงเตรียมความพร้อมให้ดีและทำมันให้เต็มที่ที่สุด ซึ่งถ้าหากเราไม่เริ่มทำ มัวแต่นั่งคิด ความฝันของเราก็ไม่มีทางที่จะเป็นจริงไปได้หรอก ดังเช่นการเดินทางอันยิ่งใหญ่ (ในฝัน) ของเจ้าปลาน้อยตัวนี้

 

เรื่องที่ 7 ‘ลูกหาม’ กับสามสหาย เป็นเรื่องราวของเด็กทั้งสามที่เรียกตัวเองว่า “ลูกหาม” กับสหายอีกสามคน ซึ่งทั้งหมดมีฐานะยากจน ต่างเข้ามาในราชธานีที่ร่ำรวย เพื่อมาหางานทำ คำดูถูกและเสียงหัวเราะ-เยาะจากชาวเมืองรวมไปถึงพระราชาต่างหลั่งไหลมาที่พวกเขา พระราชาจึงได้ให้พวกเขาไปช่วยเจ้าหญิงที่ถูกพญางูเจ็ดหัวจับตัวไป โดยไม่ได้คาดหวังว่าจะมีชีวิตกลับมา เพียงแค่ส่งไปเพื่อถ่วงเวลาเท่านั้น แต่สุดท้ายพวกเขากลับสามารถจัดการกับพญางูยักษ์และช่วยเหลือเจ้าหญิงออกมาได้ คราวนี้ชาวเมืองและพระราชาที่เคยดูถูกกลับต้อนรับพวกเขาอย่างฮีโร่ และได้ให้ของรางวัลกับพวกเขามากมาย แต่พวก “ลูกหาม” กลับปฏิเสธ และได้เดินจากไป เรื่องนี้ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นถึงปัญหาการแบ่งชนชั้นภายในสังคม ดังเช่นประโยคนี้ “…จำนวนคนจนมีมากกว่าคนรวยหลายเท่าด้วยซ้ำ แต่ก็นั่นแหละ ไม่ค่อยมีใครได้เห็นพวกเขาหรอก ว่ากันว่าเป็นเพราะนางฟ้าองค์หนึ่งเคยสาปพวกคนรวยไว้ ไม่ให้เห็นพวกคนจนอยู่ในสายตา” (หน้า 93-94) และในตอนที่ ลูกหามทั้งสามได้ออกมายืนตรงกลางจัตุรัส พวกชาวเมืองที่ตัดสินพวกเขาจากภายนอก จึงได้ตะโกนด่าทอ พูดจาดูถูก เพียงแค่เพราะว่าพวกเขานั้น “จน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางสังคมของประเทศแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี และเรื่องนี้ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาต่างๆที่ไม่จำเป็นต้องเก่งหรือมีความสามารถมากมาย เพียงแค่ขอให้เราถนัดและคิดวิธีแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ถูกวิธี ก็จะสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ ดังเช่นเหล่าลูกหามกับสามสหายที่สามารถปราบพญางูยักษ์ลงได้

 

เรื่องที่ 8 ‘โลก’ ของเจ้าหญิงนกบินหลายกับเจ้าชายนกบินหา เป็นเรื่องราวของของแม่นกและพ่อนก ที่เฝ้าเลี้ยงดู ทะนุถนอมลูกน้อยในไข่เป็นอย่างดี รวมถึงได้เล่านิทานต่างๆให้ลูกน้อยฟัง ซึ่งก็คือเรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่องในหนังสือเล่มนี้นี่เอง ทั้งคู่ต่างคาดหวังให้ลูกน้อยเติบโตขึ้นและมีชีวิตที่ดี ในระหว่างเลี้ยงดูลูกน้อยในไข่นั้น ก็ได้มีปัญหาต่างๆเข้ามา เช่น การทะเลาะเบาะแว้งกันของทั้งคู่ แต่ก็สามารถผ่านมันมาได้ จนในที่สุดลูกน้อยก็ออกจากไข่และฟักเป็นตัว ซึ่งในตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่านกทั้ง 3 ตัวนั้น ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ใด เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงเทคนิคอันยอดเยี่ยมของผู้เขียนที่สามารถผูกเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ และยังสอนให้รู้ว่า พ่อแม่นั้นรักลูกมากขนาดไหน เห็นได้จากการเฝ้าทะนุถนอมลูกนกของแม่และพ่อนกตั้งแต่ยังอยู่ในไข่ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการใช้ชีวิตคู่ ที่ต้องมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมารักกันเหมือนเดิม ด้วยสายใยที่ผูกทั้งสองคนเอาไว้ สายใยนั้นก็คือ “ลูก” นั่นเอง

 

           “เจ้าหงิญ” เป็นหนังสือวรรณกรรมที่ให้ข้อคิดต่างๆแก่ผู้อ่านอย่างมากมาย รวมถึงสะท้อนประเด็นต่างๆในสังคม เหมาะสมกับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย เป็นหนังสือที่ดีเยี่ยมอีกเล่มหนึ่งที่ผู้วิจารณ์อยากให้ทุกคนได้เข้ามาอ่านกัน รับรองว่าคุณจะได้รับอะไรหลายๆอย่างจากหนังสือเล่มนี้อย่างแน่นอน

 

บทวิจารณ์โดย นายนฤพีร ศรีคำ

 

Writer

The Reader by Praphansarn