สายรุ้งกลางเมือง : เรื่องราวของการรอคอยที่ตอกยํ้าอยู่ในความทรงจำ

สายรุ้งกลางเมือง

          วรรณกรรมแนวสารคดีที่ได้รับการการันตีคุณภาพด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ๑ ประเภท Non-Fictionจากรางวัลชมนาดครั้งที่ ๔ ปีพ.ศ.๒๕๕๘ อันเป็นผลงานของกรกช แสนจิตรในนามปากกาที่ชื่อนีรา หนังสือเล่มนี้โดดเด่นตั้งแต่รูปลักษณ์ของปกที่ถูกออกแบบมาเสมือนบอกนัยเกี่ยวกับชื่อเรื่องและสอดคล้องกับเรื่องราวภายในเล่มซึ่งมีคุณค่าต่อความรู้สึกของคนที่รอคอยอยู่ข้างหลังได้เป็นอย่างดี

 

          ปกครามสีนํ้าเงินแกมฟ้าเสมือนท้องฟ้าช่วงที่ฝนหยุดตกใหม่ ๆ มีรอยจางเสมือนฝ้าเกิดขึ้นบนกระจกหลังจากสายฝนกระหนํ่าลงบนนั้นซึ่งกระจกในที่นี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเจริญ รวมถึงไลฟ์สไตล์ทันสมัยในยุคปัจจุบัน หากสังเกตสักนิดจะเห็นสายรุ้งทอดยาวคาดผ่านอักษรสีส้มตัวหนาคำว่าสายรุ้งกลางเมือง Rainbow in the city บนพื้นหลังสีดำ มุมปกขวามือด้านล่างมีรูปนาฬิกาค่อนข้างเก่าเสมือนนัยแห่งวัน เวลา ห้วงความทรงจำ ล่างสุดมี‘นีรา’ อักษรตัวหนาสีขาวบอกชื่อผู้แต่งและบนสุดบอกรางวัลการันตีคุณภาพดังที่กล่าวถึงแล้ว นับว่าจัดวางองค์ประกอบหน้าปกได้ดี ไม่ดูรกเกะกะหรือน้อยจนเกินไป สร้างความสนใจให้ผู้อ่านอยากทราบคำตอบว่าทำไมตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้ เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเป็นสายรุ้งกลางเมืองได้อย่างแยบยล

 

          เมื่อเปิดเข้ามายังสารบัญจึงทราบว่าหนังสือเล่มนี้แบ่งเนื้อหาเป็น ๔ Part แต่ละ Part จะแบ่งหัวข้อย่อยด้วยวลีสั้น ๆ ชวนติดตามว่าจะเล่าถึงอะไร ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือแต่ละ Part จะมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญพิมพ์ด้วยสีขาวบนภาพพื้นหลังออกโทนสีดำทำให้พอคาดเดาเรื่องราวได้บ้าง

 

          สารคดีเล่มนี้ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอุดมการณ์ที่สำคัญต่อการประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชนควบคู่กับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวผ่านตัวละครหลักชื่อ‘สายรุ้ง’ หญิงสาวยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งประกอบอาชีพบล็อกเกอร์อินฟลูเอนเซอร์ มีหน้าที่เขียนแนะนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามได้รับมอบหมาย “หน้าที่ของฉันคือการสร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ให้กับผู้คน ดังนั้นฉันและทีมงานต้องมีวิธีการสื่อสารที่แยบยลพอจะไม่ให้ใครจับได้ งานของเราคือ การทำให้ผู้บริโภคมีความสุขกับตัวตนอันเป็นที่น่าพึงพอใจของผู้อื่น” (หน้า ๑๖) จนกระทั่งเด็กสาวข้างห้องพักของสายรุ้งเสียชีวิต ผู้คนที่นั่นรํ่าลือกันว่าเป็นเพราะทำศัลยกรรมมาหลายครั้งแต่ไม่สวยดั่งใจคิด จึงไปแก้ไขอยู่บ่อยครั้งจนใบหน้าเปลี่ยนไปและถูกป้าดุเรื่องผลการเรียนตกตํ่า เด็กสาวเครียดมากจึงตัดสินใจจากโลกนี้ไป เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สายรุ้ง “รู้สึกผิดอย่างรุนแรง…” (หน้า ๘๗) ที่มีส่วนในกระบวนการหลอกลวงผู้เสพสื่อ เธอจึงเริ่มเข้าใจอุดมการณ์ของพ่อซึ่งเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์  เพื่อเปิดโปงความจริงช่วยเหลือผู้อื่นไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้ต้องเสี่ยงอันตรายทั้งที่ค่าตอบแทนก็น้อยนิดเพื่อทุ่มเทให้กับอุดมการณ์ “หน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์ก็คือหมาเฝ้าบ้าน มันต้องคอยเห่าทุกครั้งเมื่อเห็นสิ่งที่ ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในบ้านของตน ไม่ใช่คอยเลียและรับใช้โจร” (หน้า ๔๒) แม้ว่าตอนเด็กจะรู้สึกไม่ดีต่อพ่อเพราะช่องว่างของความรักเกิดขึ้นในความสัมพันธ์จนเปราะบาง

 

          สายรุ้งกลางเมืองเปิดเรื่องด้วยบทนำที่เล่าถึงความทรงจำของตัวละครหลัก ทำให้ผู้อ่านทราบว่าเธอ อยู่ในสถานภาพลูกสาวโดยมีพ่อคอยดูแลและในย่อหน้าสุดท้ายกล่าวถึงความรู้สึกนึกคิดต่อพ่ออย่างน่าติดตามว่าเธอจะทำอย่างไร… จากการอ่านเรื่องนี้ ดิฉันรู้สึกเหมือนกำลังนั่งฟังผู้หญิงวัย ๒๕ ปี “ใบหน้าขาวเกือบซีดถูกตกแต่งไว้อย่างมีศิลปะ เปลือกตาถูกกรีดด้วยอายไลน์เนอร์สีดำเข้มตวัดแนวหางตาขึ้นอย่างจงใจ ถูกห่มคลุมด้วยแพขนตาดำหนา แน่นอนมันไม่ใช่ขนตาธรรมชาติ คิ้วถูกกันเป็นแนวเฉียงเหมือนร็อกเกอร์สาวจากต่างแดน ปากสีนํ้าตาลเบอร์กันดีเข้มดูเคร่งเครียด ทรงผมหลากสีได้รับการดูแลอย่างฟูฟ่องเป็นทรงสวย” (หน้า ๒๑) เล่าชีวิตตนเองให้ฟัง ว่าเมื่อตอน ๘ ขวบ เธอต้องแยกกันอยู่กับแม่และน้องชาย พ่อพาเธอกลับมาอยู่บ้านเกิดของพ่อที่ต่างจังหวัด เธอจึงได้เรียนรู้ ซึมซับความเป็นธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชนบท ที่นี่เธอได้รู้จักแอ๋วและเด็กชายดำรวมถึงคุณนายดอกแดงที่คอยดูแลเธอและพ่อด้วยความหวังดีจนเธอรู้สึกรักเหมือนเป็นแม่เพิ่มมาอีกคน หลังจากคุณนายดอกแดงหรือแสงเดือนเสียชีวิตเนื่องจากถูกรถชนระหว่างนำอาหารกลางวันมาให้พ่อของเธอ สายรุ้งก็โทษว่าเป็นความผิดของพ่อคนเดียวที่ไม่เคยแสดงความกล้าหาญออกมาให้เห็น

          การปิดเรื่องผู้เขียนให้ “รุ่นพี่ในวงการ เขาชื่อลุงอ๊อด สัญชัยและลุงคนนี้นี่เอง ซึ่งทำให้พ่อรู้จักคำว่าอุดมการณ์คืออะไร” (หน้า ๑๑๒) และสมุดบันทึกของพ่อเป็นตัวช่วยในการเปิดเผยเรื่องราวให้คลี่คลาย จนสามารถเติมเต็มช่องว่างของความรักระหว่างสายรุ้งกับพ่อได้ เธอจึงรับรู้ว่าแท้จริงแล้วพ่อรักและห่วงใยเธอมากขนาดไหน ตัวอย่างบันทึกของพ่อ เช่น “๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๑ อาการตื้นตันมันเป็นอย่างนี้นี่เอง จ้องหน้าแล้วรู้เลยว่าไม่สามารถรักใครได้อีก” (หน้า ๑๑๐) , “๗ ตุลาคม ๓๖ เตรียมหาโรงเรียนให้ลูก (สำคัญ)” (หน้า๑๑๓) ตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับพ่อที่ทราบจากลุงอ๊อด “พ่อว่าพ่อมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนปลดระวางตัวเองนั่นคือการส่งฉันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งพ่อเคยพูดกับลุงอ๊อดว่างานเดียวที่ไม่อยากให้ลูกทำก็คือ การเป็นนักข่าว” (หน้า ๑๐๒) , “พ่อรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ เพราะพ่อบอกว่าห่วงลูก” (หน้า ๑๐๕)

 

          ดิฉันรู้สึกประทับใจการดำเนินเรื่องแบบให้ตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวละครรวมถึงความรู้สึกนึกคิดต่างๆแต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่เฉลยปมประเด็นใดมากนักแต่ค่อย ๆ มาคลี่คลายเมื่อใกล้จบทีเดียวซึ่งถือเป็นความท้าทายว่าผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวหรือคาดการณ์เหตุการณ์ได้มากน้อยเพียงใด

 

          อีกทั้งบทสนทนาที่แทรกเข้ามา โดยมีเครื่องหมายอัญประกาศคู่และเดี่ยวเพิ่มความสมจริงของเรื่อง ช่วยแยกส่วนจากบทบรรยายปกติ จึงสามารถจินตนาการตามจนเห็นภาพชัดเจน เช่น “มีลักษณะเป็นฝักงอ ๆ สีเขียวอมแดง ข้างในมีเนื้อสีขาว รสชาติมัน ๆ และหวานปะแล่ม” (หน้า ๔๑) ซึ่งบรรยายถึงมะขามเทศ นอกจากนี้ผู้เขียนยังใช้กลวิธีเล่าปัจจุบันสลับกับอดีตได้อย่างแนบเนียนด้วยการเชื่อมโยงเหตุการณ์,ความนึกคิดให้ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไม่ติดขัด ตัวละครเอกเล่าเรื่องได้สมจริงมากเหมือนกับมีชีวิตจริง มีอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย เช่น “ฉันรู้สึกไม่พอใจเล็กน้อย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้” (หน้า ๕๗) , “วินาทีนั้นฉันรู้สึกรักหล่อนขึ้นมาจับใจ” (หน้า ๖๖) อีกทั้งการแทนตัวเองว่า “ฉัน” และ “ผม” เหมือนเป็นการดึงอารมณ์ผู้อ่านให้ร่วมรู้สึกไปกับเรื่องราวด้วย บทสนทนาในเรื่องอ่านแล้วเข้าใจง่าย เป็นภาษาที่ใช้จริงในชีวิตประจำวัน อีกทั้งมีการบรรยายเล่าเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนมีความรู้รอบตัวดี เช่น “การได้ออกเดินทางและค้นพบโลกใบใหม่ด้วยตนเอง อาจเป็นทฤษฎีการค้นหาตัวตนของมนุษย์ที่ได้รับการสืบทอดแนวคิดมาชั่วลูกชั่วหลาน เหมือนอย่างที่โคลัมบัสเชื่อว่าโลกกลมและออกเดินทางจนค้นพบทวีปอเมริกา (หน้า ๑๔),๑๔),“ผมเดินเข้าออกสมัครงานอยู่หลายที่ ก็พบว่าโลกการทำงานมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ผมได้กลายเป็นเดอะ ลอสต์ เจเนอเรชั่นเหมือนที่เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ได้เคยเขียนถึงจริง ๆ (หน้า ๑๑๗) ส่วนโวหารภาพพจน์ มีการใช้เพื่อความไพเราะ สละสลวยตลอดเล่ม นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ที่ชวนให้ผู้อ่านขบคิดตามว่าหมายถึงอะไร เช่น “ยิ่งได้สิ่งที่ต้องการก็ยิ่งบ้าคลั่ง และดูเหมือนจะหาวิธีหยุดตัวเองได้ยากเหลือเกิน เสมือนกงล้อที่หมุนวนต้อนรับผู้ที่เข้ามาใหม่ให้หมุนตามกันอย่างไม่หยุดยั้ง” (หน้า ๑๖) ,“ถึงกระนั้นฉันยังคงใช้ชีวิตอยู่ในโถปั่นใบมหึมาที่เต็มไปด้วยมนุษย์ (หน้า ๑๖)” “ความเจ็บปวดเกิดขึ้นในทันที เมื่อเราไม่มีเปลือกห่อหุ้ม” (หน้า ๙๑) ตัวละครเหมือนกับปุถุชนทั่วไปที่ไม่ได้มีแต่ความทุกข์หรือโศกเศร้าเท่านั้น หากแต่ครบรส มีทั้งความสุข สนุก ตื่นเต้นกับสิ่งต่าง ๆ เช่น เมื่อครั้งเป็นเด็ก สายรุ้งก็มีจินตนาการในการตั้งชื่อ ตั้งนิยามให้สิ่งรอบตัวตามที่อยากทำ นับได้ว่าตัวละครของเรื่องนี้เป็น ภาพสะท้อนสังคมปัจจุบันอย่างชัดเจนซึ่งพบเห็นได้มากในมหานครเมืองใหญ่ เช่น “ฉันชื่อคิม ไม่สิ ฉันชอบให้ใคร ๆ เรียกฉันว่าคิมมากกว่า มันเป็นชื่อที่เพื่อนตั้งให้ในยุคเกาหลีฟีเวอร์ และฉันก็พึงพอใจที่จะเรียกตัวเองว่าคิม เมื่อฉันเป็นคิมโลกทั้งใบก็คล้ายว่าจะกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับตัวฉัน” (หน้า ๑๕) ,“วันที่ฉันมีความรัก ฉันไร้ซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง เราตกลงจะเรียกความสัมพันธ์นั้นว่า เพื่อน และพวกเราชอบที่จะใช้คำว่าความสัมพันธ์แบบที่ไม่ผูกมัดบนสถานะโซเชียลมีเดียของเรา” (หน้า ๘๑)

 

          อีกหนึ่งประเด็นที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องนี้ คือ ทุกคนบนโลกมีสิทธิ์แสดงอารมณ์,ความรู้สึกให้ผู้อื่นเห็น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม แต่ด้วยค่านิยมที่ถูกปลูกฝังกันมายาวนาน สังคมจึงคาดหวังว่าผู้ชายที่มีสถานภาพเป็นพ่อจะต้องเข้มแข็ง กล้าหาญ ต้องต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้เพื่อความสุขสบายของครอบครัว ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนในครอบครัวต่างหาก ควรจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้เกิดความสุข

          เมื่ออ่านจนจบเล่มจึงได้เข้าใจว่าวรรณกรรมแนวสารคดีเล่มนี้ชื่อเรื่องว่าสายรุ้งกลางเมืองเพราะ “เขาเพ่งมองฉันอย่างสังเกต แล้วถามฉันว่าใช่ลูกของชัยวัฒน์หรือเปล่า เคยเห็นตั้งแต่เด็ก และถามว่า ฉันชื่ออะไรนะ เขาจำไม่ได้ ฉันตอบไปว่า ฉันชื่อ สายรุ้ง ชื่อที่พ่อตั้งให้ เพื่อให้ฉันเป็นสิ่งสวยงามสิ่งแรกที่พ่อจะได้เห็น เมื่อฝนหยุดตก ฉันคือ สายรุ้ง ของพ่อตลอดไป” (หน้า ๑๒๖) , “ในวันที่กรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยฝุ่น และควันพิษฟุ้งไปในอากาศปะปนอยู่กับความหวัง และความฝันของหนุ่มสาวหลายต่อหลายรุ่น ฉันกลับต้องการอากาศอย่างนั้นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณ” (หน้า ๑๕) ซึ่งนัยของหน้าปกล้วนสะท้อนเรื่องราวในเล่มแล้ว

 

          ในที่สุดอุดมการณ์ในอาชีพของพ่อก็ถูกถ่ายทอดทางสายเลือดสู่ลูกสาวตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน “กลางวันทำข่าวกลางคืนอุ้มลูกมีความสุขดี เขียนข่าวไปด้วย อุ้มไปด้วยแบบนี้โตขึ้นต้องเขียนให้เก่งเหมือนพ่อเลยนะ” (หน้า ๑๑๑) ‘สายรุ้งกลางเมือง’สอดแทรกอุดมการณ์-ความรัก-ความเข้าใจ-การเติมเต็มในมิติของคน ที่ต้องเผชิญความจริงและเตือนใจให้สมาชิกในครอบครัวคุยกันด้วยความรักและความเข้าใจ จะได้ไม่เกิดปัญหารุนแรงทางความรู้สึกจนต้องมีใครถูกปล่อยให้รอคอยอยู่ข้างหลัง

 

    ดิฉันรู้สึกประทับใจในการเรียบเรียงจัดลำดับเนื้อเรื่องได้ดี เล่าบรรยายจนเห็นภาพ คงอรรถรสต่าง ๆ ไว้เกือบครบถ้วน เว้นแต่มีข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อยซึ่งอาจเกิดจากเทคนิคการผลิต เนื่องด้วยความเข้มของหมึก ไม่สมํ่าเสมอกัน บางหน้าหมึกจางกว่าปกติ เช่น หน้า ๖๔,๖๕,๗๒,๗๓,๗๖,๘๐,๘๕,๙๒ บางหน้าหมึกเปื้อนเป็นแถบจนทำให้ตัวหนังสือไม่ชัดแต่ยังพออ่านออก เช่น หน้า ๘๒,๙๔ อีกทั้งหน้า ๑๑๓ “ยายเล่าว่าพ่อกับแม่จะเอาฉันมาฝากเลี้ยงในตอนเช้า และดึก ๆ ก็จะมารับกลับ ส่วนใหญ่จะเป็นแม่มารับมากกว่าพ่อ เพราะงานของพ่อเอาเวลาแน่นอนไม่ได้ และฉันก็จะร้องไห้งอแงจนย่าแอบตีไปหลายที” ในที่นี้ดิฉันคิดว่าคนที่ตีน่าจะเป็นยายมากกว่าย่าเพราะสายรุ้งเพิ่งมาอยู่ใกล้ย่าช่วงที่ย้ายมาต่างจังหวัดกับพ่อแค่สองคน การพิมพ์ผิดอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกสับสน แต่โดยภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่หน้าปกตลอดจนเนื้อเรื่องถือว่าถ่ายทอดออกมาได้ดีมากทีเดียว ทั้งการเล่าเรื่องที่สมจริงและความละเมียดละไมทางอารมณ์จากกลศิลป์ของ‘สายรุ้งกลางเมือง’ ดิฉันจึงขอยํ้าว่า มีคุณภาพทั้ง ๑๒๘ หน้า สมคุณค่ากับรางวัลสร้างสรรค์วรรณกรรมชั้นเลิศอย่างเช่นรางวัลชมนาดเป็นอย่างยิ่ง

 

 

ไกวัลสิริ ไกรวัลย์

ผู้เขียนบทวิจารณ์

 

Writer

The Reader by Praphansarn