คุยนอกรอบ ปณวัตร วงศ์มาศ เจ้าของเพจ อ่านแหลก : พื้นที่เล็ก ๆ ของคนรักหนังสือ

คุยนอกรอบ ปณวัตร วงศ์มาศ เจ้าของเพจ อ่านแหลก

 

ปณวัตร วงศ์มาศ เจ้าของเพจ "อ่านแหลก" — พื้นที่เล็ก ๆ ของคนรักหนังสือ

ปัจจุบัน ปณวัตรรับราชการเป็นเจ้าพนักงานคดี สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ แต่ตัวเขาปฏิบัติงานอยู่ที่ศาลฎีกา โดยหน้าที่หลักคือร่างคำพิพากษาในคดีผู้บริโภค เขาทำงานที่นี่มาได้ประมาณปีครึ่ง ก่อนหน้านั้นเคยเป็นนิติกรให้กับหลายหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน (งานเวนคืนที่ดิน) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น

ปณวัตรชื่นชอบการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังเด็ก เริ่มต้นจากการ์ตูน "ขายหัวเราะ" และ "โคนัน" ก่อนจะต่อยอดไปยังการ์ตูนมังงะญี่ปุ่น และในที่สุดก็ก้าวสู่โลกของนิยายสืบสวน เช่น "คินดะอิจิ" และผลงานของ "อกาธา คริสตี้"

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเริ่มอ่านวรรณกรรมจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อเรียนชั้น ม.3 ขณะนั้นครูสั่งให้อ่านวรรณกรรมซีไรต์ และเขาเลือก คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ ด้วยเหตุผลเพียงว่ามีภาพยนตร์ อยากดูหนังแทนการอ่าน แต่เมื่อเริ่มต้นอ่านจริง ๆ เขากลับวางไม่ลง รู้สึกอินกับเนื้อหาอย่างคาดไม่ถึง และกลายเป็นคนที่อ่านวรรณกรรมด้วยใจจริงตั้งแต่นั้นมา

ภายหลัง เมื่อขึ้นชั้น ม.ปลาย การอ่านของเขาลดลงเพราะต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเมื่อเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ก็ยิ่งห่างไกลจากวรรณกรรมไปอีกเพราะต้องทุ่มเวลาให้กับการเรียนกฎหมายเต็มที่

หลังจากเริ่มทำงานและเตรียมตัวสอบอัยการ-ผู้พิพากษา ช่วงนั้นเองที่เขาได้ฟังพอดแคสต์ Readery ซึ่งจุดประกายให้กลับมาหยิบหนังสือวรรณกรรมขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับค้นพบโลกใบใหม่ของการอ่าน

แม้ความฝันในวัยเด็กของเขาคือการเรียนดนตรี แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย จึงเบนมาเรียนคอมพิวเตอร์แทน ทว่าคณิตศาสตร์ในวิชานี้หนักเกินไป เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียนนิติศาสตร์ตามคำแนะนำของเพื่อน ประกอบกับแรงจูงใจเล็ก ๆ จากคุณตาที่ให้เงินเพิ่มเดือนละพันบาทเป็นกำลังใจ ด้วยเหตุนี้ เส้นทางชีวิตในสายกฎหมายจึงเริ่มต้นขึ้น

 

เพจอ่านแหลก

 

แม้จะทำงานด้านกฎหมายมาตลอด แต่ความรักในวรรณกรรมไม่เคยหายไป เมื่อพอดแคสต์ Readery พูดถึงวรรณกรรมญี่ปุ่น เช่น มุราคามิ และ โอซามุ ดาไซ เขาก็เริ่มอ่านตาม โดยเล่มแรกที่หยิบขึ้นมาอ่านคือ Norwegian Wood ของ มุราคามิ และรู้สึกทึ่งกับรสชาติการอ่านที่แตกต่างจากนิยายสืบสวนที่เคยอ่านมาอย่างสิ้นเชิง

การอ่านของเขาจึงไม่หยุดแค่การฟังพอดแคสต์ แต่ยังขยายไปตามศิลปินที่ชื่นชอบ เช่น "จีซู" แห่งวง BLACKPINK เขาตามอ่านหนังสือที่จีซูเคยอ่าน เช่น Demian ของ เฮอร์มานน์ เฮสเซ และ Kafka on the Shore

"ถ้าให้พูดถึงงานของมุราคามิที่ชอบที่สุด ผมคงต้องบอกว่า Kafka on the Shore ครับ สนุกมากจริง ๆ จนผมอ่านไปสี่รอบได้"

เขาเล่าให้ฟังว่าเสน่ห์ของ Kafka on the Shore อยู่ที่โครงเรื่องที่เล่าสองพาร์ทสลับกัน — พาร์ทหนึ่งคือ 'ลุงนากาตะ' ชายชราแปลก ๆ ที่สื่อสารกับแมวได้ กับอีกพาร์ทหนึ่งคือ 'เด็กชายวัย 15 ปี' ที่หนีออกจากบ้าน เปิดเรื่องด้วยฉากเด็กชายคุยกับอีกาตัวหนึ่ง — อีกาที่ไม่รู้แน่ว่าเป็นตัวอะไรแน่ แต่บอกกับเด็กว่า

"ถ้าคุณผ่านพายุทรายไปได้ คุณจะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป"

"มุราคามิเล่าเรื่องสลับไปสลับมา ระหว่างโลกของลุงกับโลกของเด็กชาย จนสุดท้ายสองเส้นเรื่องก็ดูเหมือนจะเชื่อมกัน — ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเชื่อมกันจริงไหม เพราะมุราคามิเขียนไว้เลยว่าทิ้งปริศนาไว้เต็มไปหมด ให้คนอ่านหากุญแจของตัวเอง ซึ่งกุญแจของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน" ปณวัตรว่าพลางยิ้ม

หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาสนุกกับการอ่านมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่อ่านอย่างเดียว แต่ยังได้คุยกับแฟนเรื่องสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่

"เราจะคุยกันว่า ทำไมถึงเขียนแบบนี้? อันนี้สื่อถึงอะไร? — มันเลยสนุกมากครับ"

การอ่านในช่วงนี้จึงเป็นการต่อยอดและขยายออกไปเรื่อย ๆ เช่น เมื่อตามมุราคามิ ก็ไปเจอ The Great Gatsby และ The Catcher in the Rye ซึ่งมุราคามิเองเคยได้รับอิทธิพลจากสองเรื่องนี้เช่นกัน

ปณวัตรมองว่า มุราคามิเป็นนักเขียนที่สามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ ตั้งแต่วรรณกรรมเชิงจินตนาการไปจนถึงบันทึกส่วนตัว เช่น เรื่องการวิ่งในหนังสือ What I Talk About When I Talk About Running ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหลากหลายและเสน่ห์ของงานเขียน

จะว่าไปแล้ว พอดแคสต์ Readery และ "จีซู" ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ปณวัตรกลับมาอ่านหนังสืออย่างจริงจังอีกครั้ง และสร้างเพจ "อ่านแหลก" เพื่อแบ่งปันความรักในการอ่านกับผู้อื่น

 

 

"เพราะหนังสือคือโลกอีกใบ" – จึงก่อเกิดเพจ 'อ่านแหลก'

เส้นทางของเพจ อ่านแหลก เองก็เริ่มต้นจากช่วงเวลาหนึ่งที่เขาต้องพักฟื้นหลังผ่าตัดเอนไขว้หน้าขาดจากการเตะฟุตบอล ต้องนอนอยู่บ้านเกือบสองเดือน ไม่มีงาน ไม่มีภาระ ทำได้แค่อ่านหนังสือ

"อ่านเยอะมากครับช่วงนั้น แล้วก็รู้สึกว่าอยากคุยกับใครสักคนเรื่องหนังสือที่เราอ่าน" เขาเล่าอย่างเรียบง่าย "แต่เพื่อนรอบตัวไม่ได้อินเรื่องหนังสือเลย หาใครคุยไม่ได้ ก็เลยคิดว่าเปิดเพจดีกว่า อย่างน้อยก็เหมือนได้คุยกับตัวเอง"

ตอนนั้นเพจเกี่ยวกับหนังสือในไทยยังมีไม่เยอะ ถ้าโพสต์ในเฟซตัวเองก็มักเจอแต่คอมเมนต์แนว ๆ ว่า "โพสต์อะไร?" — ยิ่งทำให้เขาตัดสินใจเปิดเพจแบบเงียบ ๆ ไม่ได้บอกใคร

"ผมไม่ได้หวังจะมีคนตามเยอะอะไรเลยนะครับ แค่รู้สึกว่าผมอยากพูด อยากสื่อสารสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือออกมาเท่านั้นเอง" เขาว่า "ถ้ามีคนผ่านมาเห็น มาอ่าน มาอินด้วย ก็คงจะดี เพราะมันดีกว่าเราเขียนอยู่คนเดียวโดยไม่มีใครเห็นแน่ ๆ"

โพสต์แรก ๆ ของเพจ เขาจำไม่ได้แน่ชัดว่าคือเล่มไหน แต่คาดว่าน่าจะเป็นหนังสือแนวฮาวทูชื่อ Make Your Bed — งานเขียนของอดีตหน่วยซีลที่เล่าเรื่องการเริ่มต้นเปลี่ยนโลกด้วยการทำสิ่งเล็ก ๆ ให้สำเร็จ อย่างเช่น "การเก็บที่นอน" ในแต่ละวัน

"ผมรู้สึกว่าแนวคิดนี้มันดี ก็เลยอยากแชร์ออกไป"  

แน่นอนว่าช่วงแรก ๆ ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครกดไลก์ กดแชร์ แต่ปณวัตรไม่เคยย่อท้อ
"บางโพสต์ที่เราคิดว่าคนต้องชอบแน่ ๆ กลับไม่มีใครสนใจ บางโพสต์ที่คิดว่าเฉย ๆ กลับมีคนแชร์เพียบ

บางทีมันก็เกี่ยวกับอัลกอริทึมด้วยมั้ง" เขาหัวเราะเบา ๆ

เขาเล่าว่าเคยลองโพสต์ซ้ำในอีกสองสัปดาห์ถัดมา โพสต์เดิม ๆ นั่นแหละ แต่ปรากฏว่ามีคนแชร์เยอะขึ้นผิดหูผิดตา


"มันสุ่มมากครับ เราแทบไม่รู้เลยว่ามันจะไปโดนช่วงไหน ถูกเวลาไหน"

แม้ว่ายอดไลก์ ยอดแชร์จะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัด แต่สำหรับปณวัตร สิ่งสำคัญที่สุดยังคงเหมือนวันแรกที่เริ่มต้น

"ผมไม่ได้คิดถึงยอดคนติดตามเท่าไรเลยนะครับ แค่ผมอ่านหนังสือ แล้วอยากเขียนออกมาว่าผมได้อะไรจากหนังสือเล่มนั้น ๆ — แค่นั้นจริง ๆ"

6 ปีผ่านไป อ่านแหลก ก็ยังคงเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ซื่อสัตย์กับหัวใจของตัวเองไม่เปลี่ยน

 

เพจอ่านแหลก

 

เส้นทางของ "อ่านแหลก" : จากคนรักหนังสือคนหนึ่ง สู่การส่งต่อความสุขเล็ก ๆ

"อ่านแหลก" เป็นชื่อที่ผมตั้งขึ้นมาจากใจจริง เพราะมันสะท้อนตัวตนของผมที่สุด ผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเรื่อยเปื่อยไปตามอารมณ์ แนวโน้นบ้าง แนวนี้บ้าง เลยอยากได้ชื่อที่สั้น กระชับ และสะใจหน่อย สุดท้ายก็มาลงตัวที่ "อ่านแหลก" นี่แหละ

ตอนเริ่มทำเพจ ผมไม่เคยคิดหรอกว่าจะมีคนตามเยอะ ตอนนั้นแค่คิดว่าคนอ่านวรรณกรรมคงมีไม่มาก แต่พอวันหนึ่ง ยอดติดตามขึ้นมาแตะแสนกว่าคน ผมก็รู้สึกตกใจและดีใจพร้อมกัน มันทำให้ผมเชื่อเลยว่าคนอ่านหนังสือยังมีอยู่มากจริง ๆ

หลังจาก "อ่านแหลก" เริ่มมีคนติดตาม ผมก็ทำอีกเพจหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า "Readism" เพจนี้จะเน้นแนวฮาวทู พัฒนาตัวเอง หนังสือที่ผมอ่านได้แต่ชอบน้อยกว่าวรรณกรรมหน่อย ๆ แต่ก็ทำเพราะรู้ว่ามันสร้างรายได้ดีกว่า

รายได้ของผมเริ่มจากการทำ Affiliate กับ Shopee คือถ้าใครซื้อหนังสือผ่านลิงก์ของเรา เราก็ได้เปอร์เซ็นต์ และเพราะหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง การเงินต่าง ๆ คนสนใจเยอะ ถึงบางคนจะไม่ได้รักการอ่านจริงจังก็ตาม แต่เขาต้องการหาหนังสือไปใช้ปรับตัวเอง มันเลยกลายเป็นโอกาสทางรายได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับการทำสองเพจนี้ ผมตั้งใจให้ "อ่านแหลก" เป็นพื้นที่ของหนังสือที่ผมรักจริง ๆ ส่วน "Readism" เป็นเรื่องของงาน เรื่องธุรกิจไป แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ไม่ได้บอกว่าเล่มไหนดีหรือไม่ดีนะ โดยเฉพาะใน Readism ผมแค่เล่าให้ฟังว่าได้ข้อคิดอะไรจากหนังสือเล่มนั้น ถ้าใครสนใจก็ตามไปอ่านต่อได้

แต่กับ "อ่านแหลก" นี่อีกแบบเลย เพราะงานวรรณกรรมมันเป็นเรื่องของความรู้สึก ผมจะเขียนด้วยอินเนอร์ล้วน ๆ ชอบก็ว่าชอบ ไม่ชอบก็พูดตรง ๆ ซึ่งมันสะท้อนตัวตนผมมากที่สุด

เล่มที่คนกดไลก์ กดแชร์เยอะที่สุดในเพจ "อ่านแหลก" คือ "ผ่านพบไม่ผูกพัน" และอีกเล่มคือ "หิ่งห้อย" ของ ระพินทรนาถ ฐากูร สำนักพิมพ์ผีเสื้อ สังเกตได้เลยว่า หนังสือที่ "คำสวย" คนจะชอบแชร์เยอะมาก

พูดถึงวิธีการทำงาน ผมใช้เซนส์ล้วน ๆ (หัวเราะ) อาจจะเพราะอ่านหนังสือมาเยอะ เลยเก็บอะไรไว้ในหัวโดยไม่รู้ตัว พอทำจริง ๆ มันก็หยิบมาใช้ได้เอง เฟซบุ๊กก็ดีตรงที่ไม่ต้องลงทุนอะไร อยากโพสต์อะไรก็โพสต์ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ผมเองก็ยังเรียนรู้อยู่ทุกวัน

 

 

เวลาทำโพสต์ ผมจะขีดเส้นใต้ประโยคที่โดนใจ แล้วแปะโพสต์อิทไว้ พอมีเวลา เช่น ตอนนั่งรถไฟฟ้า หรือตอนรอเตะบอล ผมก็หยิบขึ้นมาเขียนลวก ๆ ไว้ก่อน จากนั้นค่อยมาแต่งจริงที่บ้าน นั่งเรียบเรียงอีกทีก่อนที่เขียนโพสต์ออกไป

ช่วงหลัง ๆ มานี้ หนังสือที่สำนักพิมพ์ส่งมาเยอะมากจนกองดองเพียบ (หัวเราะ) ผมต้องบอกสำนักพิมพ์ตรง ๆ ว่าอาจใช้เวลานานกว่าจะได้อ่าน บางเล่มอาจเป็นปีเลย แต่สำนักพิมพ์ก็เข้าใจ บอกว่ารอได้

สำหรับหนังสือที่ผมไม่อิน ผมจะไม่แนะนำ เพราะรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ต่อหนังสือ ต่อคนเขียน และต่อคนอ่าน หนังสือแต่ละเล่มมีจังหวะของมัน บางทีเราไม่อินวันนี้ อีกสิบปีข้างหน้าเราอาจอินก็ได้ เลยเลือกแนะนำเฉพาะเล่มที่เราชอบจริง ๆ

ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านการอ่านอะไรหรอกครับ ผมเป็นแค่คนอ่านคนหนึ่งที่อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ที่รักหนังสือเหมือนกันเท่านั้นเอง มันเหมือนเวลาเราอ่านหนังสือดี ๆ แล้วอยากตะโกนบอกเพื่อนว่า "เล่มนี้ดีนะ มึงอ่านยัง?"

 

เวลามีคนอ่านตามแล้วชอบ เราก็ดีใจ แต่ถ้าเขาไม่ชอบก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกัน นั่นแหละคือสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับผม

สองเล่มที่เป็นกระแสในเพจมาก ๆ คือ "ผ่านพบไม่ผูกพัน" กับ "บุตรธิดาดวงดาว" พอลงโพสต์ คนเข้ามาถามหาซื้อเยอะมาก ผมเลยแปะลิงก์สำนักพิมพ์ให้ พอได้เห็นคนตามหาหนังสือดี ๆ ตามที่เราแนะนำ มันทำให้รู้สึกว่าความสุขเล็ก ๆ นี้มันขยายออกไปได้จริง ๆ

พูดถึงอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผมสารภาพเลยว่าตอนแรกก็รู้จักแค่ในฐานะผู้นำ 14 ตุลาฯ แล้วก็เหมารวมว่าคงเขียนแต่เรื่องการเมือง แต่พอเพื่อนแนะนำให้อ่าน ก็ถึงกับเปลี่ยนความคิดไปเลย

งานของอาจารย์เสกสรรค์สำหรับผม คือการถ่ายทอดแก่นพุทธศาสนาออกมาในภาษาที่สวยงาม อ่านแล้วได้ทั้งความรู้สึกและความเข้าใจชีวิต เหมือนทำให้เราทุกข์น้อยลง ปล่อยวางได้มากขึ้น เวลาผมอ่าน ผมรู้สึกเหมือนกำลังพูดคุยกับตัวเองในอีกมิติหนึ่ง

 

 

ทุกวันนี้ "ผ่านพบไม่ผูกพัน" กับ "บุตรธิดาดวงดาว" อยู่บนหัวเตียงผมเลย ก่อนนอนจะหยิบมาเปิดอ่านสองสามหน้า วนไปเรื่อย ๆ จนจำไม่ได้ว่ากี่รอบแล้ว เหมือนเป็นเพื่อนคู่ใจยามค่ำคืน

สุดท้าย ผมอยากบอกว่าเส้นทางของ "อ่านแหลก" มาจากความสุขเล็ก ๆ ของคนอ่านหนังสือคนหนึ่งเท่านั้นเอง ความสุขจากการอ่านได้ขยายออกไป เป็นการส่งต่อหนังสือดี ๆ ให้กับคนอื่น ๆ อย่างเงียบ ๆ

เพราะผมเชื่อว่าหนังสือดี ๆ สักเล่ม แม้มันจะถูกวางทิ้งไว้บนชั้นหนังสือ แต่สักวันหนึ่ง...คนอ่านก็จะหยิบมันขึ้นมา แล้วเมื่อถึงวันนั้น หนังสือจะทำหน้าที่ของมันเอง — ช่วยเยียวยา ช่วยเปิดโลก และช่วยให้เรารักชีวิตตัวเองมากขึ้น

 

เพจอ่านแหลก

Writer

Trikid Intarakantee