นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ : นักเขียน นักดนตรีและครูสอนศิลปะ การแสดง

นิเวศน์ กันไทยราษฎร์

ประวัติย่อ
นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ เกิดที่บ้านริมคลองบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เมื่อปี 2488 บิดาเป็นชาวบางขุนเทียน มารดาเป็นชาวอำเภอท่าเรือ อยุธยา เรียนจบชั้นประถมศึกษาที่วัดมะเกลือ (วัดมงคลวราราม)ดาวคนอง และไปจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดราชโอรส(วัดจอมทอง) ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนๆ ในย่านบางขุนเทียน นิเวศน์ ชอบศิลปะ และวิชาเรียงความ แต่ก็เลือกที่จะไปต่อด้านศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง (ชื่อในยุคสมัยนั้น) ในคณะศิลปะประยุกต์ มีเพื่อนร่วมรุ่นชื่อ อ้อมน้อย จรรยงค์ ลูกสาว มนัส จรรยงค์ และมีอาจารย์ประจำชั้น ชื่อ อาจารย์ชาญณรงค์ ดิฐานนท์ เจ้าของนามปากกา “กาลโยค” และดิฐา เกตุวิภาด

ขณะเมื่อเรียนอยู่ที่เพาะช่างปี 2 ประมาณปี 2507 – 2508 นิเวศน์เริ่มหันมาสนใจเขียนกลอน และสนุกกับกิจกรรมการเป็นสาราณียกรมากกว่าการเขียนรูป นอกจากกลอนแล้วยังเขียนบทความเรื่องสั้น สารคดี นิเวศน์มักอธิบายถึงเหตุผลสำคัญในการเบนเข็มจากการ “เขียนรูป” มาเป็น “คนเขียนหนังสือ” ในทุกโอกาศที่ถูกถามว่า “เพราะผมอยากแสดงความคิดเห็นที่ผมมีต่อสังคม ออกไปสู่สังคมในวงกว้าง แทนที่จะนั่งบ่นนั่งคุยกับเพื่อนฝูงทีลกลุ่ม

นิเวศน์ จบเพาะช่างแล้วเป็นครูสอนวิชาศิลปะที่จังหวัดเชียงใหม่โดยช่วงนั้นใช้นามปากกา “กาสะลอง” ซึ่งเป็นชื่อตันไม้ชนิดหนึ่งเขียนบทความลงคอลัมน์ “วันวิพากษ์” ในหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ยุคนั้น (ขณะนี้คอลัมน์ดังกล่าวไม่มีแล้ว) ซึ่งควบคุมโดย “ไก่อ่อน” หรือคุณบรรเจิด ทวี นิเวศน์ใช้ชีวิตการเป็นครูอยู่อีกกว่า 10 ปี โดยย้ายกลับมาสอนที่กรุงเทพ เช่นโรงเรียนสมบุญวิทยา โรงเรียนวัดโสมนัส(ช่วง 14 ตุลา 2516 ) โรงเรียนวัดหนัง โดยตลอดเวลาดังกล่าวนั้น นิเวศน์เขียนทั้งกลอน บทความ เรื่องสั้น ควบคู่ไปกับการเป็นครู ส่วนกลางคืน เล่นดนตรี เป็นพิธีกร บางครั้งก็รัองเพลง ซึ่งเป็นงานที่ชอบและเคยทำมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมแล้ว จนคุณไพฑูรย์ สุนทรนักเขียนรุ่นพี่ถามว่า “จะเป็นนักเขียนหรือจะเป็นนักร้อง” จึงได้นึกคิดและหยุดการเล่นดนตรีและร้องเพลง หันมาเป็นครู เป็นนักเขียน และเป็นพิธีกร เรื่องมาจนปี 2522 จึงลาออกจากราชการครู “เป็นนักเขียนอาชีพ” นิเวศน์ชี้แจงเรื่องการลาออกที่ถูกหลายคนคัดค้านว่า

“มีคนอีกมากมายเขาอยากเป็นครู แต่ไม่มีโอกาสส่วนผมที่เป็นครูได้เขียนหนังสือก็ได้ รับงานพิธีกรก็ได้ แม้งานอื่นๆ ที่ทำจะไม่กระทบกับงานราชการโดยตรง แต่หลายทีการแสดงความคิดเห็นในงานเขียนมันก็อาจสวนทาง กับงานราชการทั้งระบบและพฤติกรรมของบางคน ผมลาออกไปให้มีที่ว่างไว้ให้สำหรับคนที่อยากเป็นครูดีกว่า ผมจะเป็นนักเขียน การเป็นนักเขียน ถ้าเรายังมีจิตวิญญาณของการเป็นครูอยู่เราก็ยังเป็นครูได้โดยผ่านงานเขียน”

บนถนนนักเขียนอาชีพ และงานหนังสือครั้งแรก ออกจากครูแล้ว เริ่มงานประจำนิตยสาร “ชีวิตต้องสู่” ถึงจะทำหนังสือ แต่ก็เขียนหนังสือมาโดยตลอดแม้ออกจากหนังสือ “ชีวิตต้องสู้” ไปทำหนังสืออื่นๆ อีกหลายเล่มก็ยังคงเขียนบทความ สารคดี เรื่องสั้นอยู่โดยใช้นามปากกา “กาสะลอง” กับอีกหลายนามปากกา ส่วนเรื่องสั้นจะใช้ชื่อจริงตลอดเวลา

นิเวศน์เป็นนักเขียนคนหนึ่งในกลุ่ม “ศิลปะและวรรณลักขณ์”ซึ่งก่อให้เกิดมาจากผองเพื่องนักเรียนศิลปากรจากเพาะช่างและประสานมิตร โดยมีวิรุณ ตั้งเจริญ อำนาจ เย็นสบาย ผดุง พรหมมูล วรรณรัตน์ อินทรอ่ำ เป็นหัวขบวนในขณะนั้น ซึ่งมาถึงขณะนี้ปี 2550 ทุกคนยังเขียนหนังสืออยู่ และเป็นผู้บริหารด้วย คือ ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ เป็นอธิการบดี ดร.ผดุง พรหมมูล เป็นผู้บริหารระดับสูง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต รศ.วรรณรัตน์ อินทร์อ่ำ ตั้งเจริญ เขียนหนังสือควบคู่กับการเขียนรูป

นอกจากนี้ใน “กลุ่มศิลปะและวรรณลักขณ์” ยังมีบรรณกร กลั่นขจร ไพโรจน์ บุญประกอบ พลกูล อังกินันท์ มานพ ถนอมศรี จากเพาะช่าง และกนกวาลี พจนปกรณ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งยังคงเขียนหนังสือ เช่นเดียวกับนิเวศน์ นิเวศน์เขียนเรื่องสั้น บทความ สารคดีและนวนิยายอย่าง “นักเขียนอาชีพ” สมความมุ่งหวังตั้งใจ และขยับไปเรียนเขียนบทโทรทัศน์กับคุณสุภาว์ เทวกุลฯ และคุณถาวร สุวรรณ

วันหนึ่งได้รับการติดต่อให้ไปแสดงละครรับบทเป็นผู้นำชาวบ้านในละครเรื่อง “บ้านไร่ริมธาร” นั้นเป็นที่มาของการไปแสดงละครโทรทัศน์ในฐานะนักแสดงสมัครเล่น ซึ่งรวมแล้วถึงปี 2550 นิเวศน์แสดงละครไปกว่า 40 เรื่อง แสดงภาพยนตร์ไปอีก 8 เรื่อง นิเวศน์เขียนเรื่องสั้นมาประมาณ 200 เรื่อง ที่รวมเล่มเล่มแรกคือ “คนสีเหลือง” ในปี 2519 ซึ่งเป็นงานวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมไม่เหมาะสมของผู้ที่เข้าไปบวชเป็นพระ

เล่มต่อๆมาคือ คนแปลกหน้า,เกิดมาเป็นชีวิต, เดินสวนตะวัน,หมายเหตุแห่งชีวิต, ใครเลยจะเข้าใจ, ส่งที่เหลืออยู่, รวมเรื่องสั้นดีเด่น,ถนนในเมือง, 12.00 น. แด่คนดี เรื่องสั้นบางเรื่องได้รับคัดเลือกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน อินโดนีเซีย นิเวศน์เขียนบทความแสดงความปรารถนาดีต่ดสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขในมากมายที่ได้รวมเล่มไปแล้วก็คือ บันทึกถึงลูกสาว , เติมน้ำหวานให้บ้านน่ารัก, โลกนี้มีหลายมุม, จดหมายถึงลูก , รักเสมอไม่เจอก็คิดถึง , บุคลิกภาพสร้างเสน่ห์ , อยากเป็นพิธีกรดัง....ฟังทางนี้

นิเวศน์สนใจการเมืองเคยลงสมัคร ส.ส. ที่กรุงเทพ เขตบางเขนhttp://praphansarn.com/new_praphansarn/site_author/add_thai ดอนเมือง โดยเป็นหัวหน้าทีมของผู้สมัคพรรคนำไทย และพ่ายแพ้ทีม คุณปวีณา หงษ์สกุล เขาสนใจการเมืองอยู่อีกระยะหนึ่ง เรียบจบศิลปศาสตร์สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของตัวผู้สมัคร ส.ส. ว่าจะต้องจบปริญญาตรี แต่ในที่สุด ก็ถอยมาเป็นผู้สนใจการเมืองวงนอกในฐานะ “นักเขียนและวิทยากรพัฒนาคุณภาพชีวิต” โดยแสดงความคิดเห็นผ่านงานเขียน คอลัมน์ที่เขียนประจำอยู่หลายแห่งจนทุกวันนี้

ในส่วนของความเป็นวิทยาการฝึกอบรมหลักสูตรหลายหัวข้อนั้นเข้าได้รับการชักชวนจาก คุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ทีเปิดสถาบันพัฒนาบุคลิภาพ เมื่อเริ่มต้นเป็ฯวิทยากร ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู จึงมความสนุก ขยายหัวข้อการบรรยายไปอีกหลายหัวข้อ หยิบประสบการณ์ที่เคยเป็นนักดนตรี เป็นพิธีกรมาเขียนคู่มือการเป็นพิธีกรและเปิดสอนหลักสูตร “พิธีกรมืออาชีพ” อย่างจริงจัง รวมทั้งเรื่องอื่นๆที่จะเป็นมูลค่าเพื่มให้ทุกชีวิตมีควมสุข

นิเวศน์ในวันนี้ จึงมีคนรู้จักในหลายบทบาทหน้าที่คือเป็นนักเขียน เป็นวิทยากรฝึกอบรม เป็นนักแสดง เป็นที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์ เป็นพิธีกร และเป็นนักแต่งเพลง
- เป็นนักเขียน มีผลงานเรื่องสั้นและนวนิยายและบทความพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมเล่มกว่า 40 เล่ม
- นักเขียน นักแสดง วิทยากรด้านการพูด
- ที่ปรึกษาด้านกิจกรรมสังคมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของ บ.เพชรเซลส์กรุ๊ป, สำนักพิมพ์ต้นอ้อ, เพชรร่วมพัฒนาที่ดิน และโชคชัยพลาซ่า

การศึกษา
- โรงเรียนวัดราชโอรส, จบด้านศิลปะจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง ,ปริญญาตรีสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันราชภัฎสวนดุสิต ,ผ่านการอบรมหลักสูตรมนุษยสัมพันธ์และการพูดในที่ชุมนุมชน และหลักสูตรวิทยากร จากศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพของ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์

ประวัติการทำงาน
- เริ่มทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะตามโรงเรียน ควบคู่กับการเป็นนักเขียนและนักดนตรี
- เลือกเป็นนักเขียนเต็มตัว ในปี 2522 โดยทำงานที่นิตยสารต่าง ๆ คู่กับการเขียนหนังสืออย่างเต็มตัว
- เขียนบทความ เรื่องสั้น นวนิยายสะท้อนสังคมส่งโรงพิมพ์ บทโทรทัศน์ และบทกวี รวมผลงานกว่า 500 ชิ้น
- หัวหน้ากองบรรณาธิการ และบรรณาธิการนิตยสารหลายเล่ม อาทิ หญิงยุคใหม่ พฤษภา เจนเนอเรชั่น ฯลฯ
- เขียนคอลัมน์ "ครอบครัวสุขสันต์" ในนิตยสารกุลสตรี "บันทึกถึงลูกสาว" ในนิตยสารลูกรัก
- เขียนงานประจำให้หนังสือสกุลไทย คุณหญิง และบันเทิงทีวี
- ปัจจุบันเขียนนวนิยาย บทโทรทัศน์ แต่งเพลงและมีคอลัมน์ในนิตยสารดิฉัน หญิงไทย สกุลไทย สยามบันเทิง, เป็นอาจารย์สอนพิเศษด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องพิธีกร ที่ศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพ
- เดือนตุลาคม 2545 ถูกฟ้องว่าเขียนเรื่อง "หางเครื่อง" โดยลอกเลียนนวนิยาย "ไฟพระจันทร์" ของ "สินี เต็มสงสัย" สู้คดีกัน และศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้ตัดสินให้นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ เป็นฝ่ายชนะคดี พิพากษายกฟ้องไปเมื่อมิถุนายน 2547 สำหรับงานเขียนดังกล่าวเขามีความประทับใจในชีวิตของนักร้อง นักเต้นที่ชื่อ "ดวงดาว ดวงดารา" จึงนำชีวิตของเธอไปเป็นแนวทางของตัวเอกในนวนิยายเรื่อง "นักร้องอย่างหล่อน" ก่อน จากนั้นจึงนำมาเขียนเป็นเรื่อง "ดาวประดับฟ้า" ในปี 2529 กระทั่งกันตนาสนใจนำไปทำเป็นละคร จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "หางเครื่อง"

เกียรติคุณ
- รางวัล รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากผลงานนวนิยายเรื่อง "ถนนนอกเมือง" และ "จดหมายถึงลูก" ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2524,2525
นิเวศน์ กันไทยราษฏร์ มีคู่ชีวิตเป็นนักเขียนด้วยเช่นกันคือ กนกวลี พจนปกรณ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยลัยเชียงใหม่ ซึ่งเขียนนวนิยายเป็น “อาชีพ” มีผลงานมากมาย ได้รับรางวัลก็มีหลายครั้งผลงานได้รับความสนใจและนำไปสร้างเป็นละคร เป็นครอบครัวนักเขียนที่ไม่เบียดเบียนใคร รักสงบ รักเพื่อนและรวมเพื่อน

 

นามปากกา
กาสะลอง , แพรว พจนีย์ , ลมแล้ง

งานเขียนครั้งแรก
รวมเล่มเล่มแรกคือ “คนสีเหลือง” ในปี 2519

ผลงานรวมเล่ม
- ลมหายใจสีขาว
- ไม้ไกลต้น
- เปลือกทอง
- ห้องสี่เหลี่ยม
- ขอรู้เพียงคนเดียว
- ผ่านไปเหมือนสายลม
- ผ่านมาในสายลมร้อน
- แดงดังดอกไม้
- หางเครื่อง
- ถนนนอกเมือง
- คนแปลกหน้า
- ดาวมังกร
- อยากเป็นพิธีกรดัง ฟังทางนี้
- 12 นาฬิกา
- คนบ้านนอกอย่างข้า
- นักร้องอย่างหล่อน
- ฆาตกรชีวิต
- ฉันเป็นดั่งเช่นละคร
- รถเข็นสีขาว
- ผู้หญิงคนนั้น
- บ้านสีเทา
- บ้านดวงดาว
- พญา
- เกล็ดดาว
- เขี้ยวลากดิน
- ลูกโป่งสวรรค์
- ถนนคนคว้าง(รักครึ่งราคา)
- เปลือกมงกุฏ
- ข้าฯแผ่นดิน
- ชุลิตา ผู้หญิงคนนั้น