ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ : เจ้าของนามปากกา พนมเทียน ผู้แต่ง เพชรพระอุมา

ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ

         พนมเทียน เป็นนามปากกาของ นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ที่บ้านตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ ถนนปากน้ำ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรของขุนวิเศษสุวรรณภูมิ และนางสะอาด สมรสกับนางสุมิตรา วิเศษสุวรรณภูมิ(มณีรัตนาสุมิตรา เดวี) มีบุตร 5 คน คือ 

    1. นายจักรรินทร์ วิเศษสุวรรณภูมิ 
    2. นายชินวร วิเศษสุวรรณภูมิ 
    3. นางละอองดาว ปิ่นแก้ว 
    4. น.ส. สกาวเดือน วิเศษสุวรรณภูมิ (เสียชีวิต) 
    5. นายวิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ 
 

         พนมเทียน เริ่มเรียนหนังสือเมื่อ อายุ 5 ขวบที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประสานอักษร และโรงเรียนวันรับสิน จบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2484 และย้ายโรงเรียนบ่อย ตอนมัธยมได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดสุทธิวนาราม จบชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2489 เข้าเรียนต่อในชั้นเตรียมอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนสวนกุกลาบวิทยาลัย จบการศึกษาปี พ.ศ. 2492 และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนพลตำรวจระยะหนึ่ง แต่ออกกลางคันและเคว้งอยู่ 2 ปี ระหว่างนี้พนมเทียนเริ่มเขียนนิยาย ต่อมาเข้าทำงานเป็นเลขานุการที่บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวร์รันซ์ โดยถูกส่งไปต่างจังหวัดหลายแห่ง ช่วงนี้ทำให้มีโอกาสท่องเที่ยว และรู้เห็นเล่ห์เหลี่ยม การเอารัดเอาเปรียบของบริษัทที่มีต่อผู้รับประกัน  พอปี 2494 ก็ออกจากงานและเดินทางไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ในคณะอักษรศาสตร์ จบการศึกษาปี 2498 ก็เดินทางกลับประเทศไทยและยึดเอางานนักเขียนหนังสือเป็นงานอาชีพ

         พนมเทียนเริ่มอ่านหนังสือมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และเมื่ออายุ 12 ขวบต้องหนีภียจากสงครามโลกครั้งที่สองไปพักอาศัย ณ บ้านต้นตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ ซึ่งสะสมหนังสือไว้มากมาย ทำให้ได้เริ่มอ่านหนังสือวรรณคดีของไทย รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ฯลฯ อ่านจนกระทั่งเกิดความอยากเขียนหนังสือของตนเองบ้าง ...เมื่ออายุได้ 16 ปีขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนวัดสุทธิวนาราม พนมเทียนเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก คือ เห่าดง โดยเขียนต้นฉบับบไว้ในสมุดจดวิชาประวัติศาสตร์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันเล่น ต่อมาอีกหนึ่งปีก็เริ่มเขียนนวนิยาย จุฬาตรีคูณ 

         พนมเทียนได้นำต้นฉบับนวนิยายเรื่อง จุฬาตรีคูณ ไปเสนอขายตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ แต่เนื่องจากเป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก สำนักพิมพ์จึงปฎิเสธ บรรณาธิการหนังสือบางฉบับได้แนะนำให้เขียนเรื่องสั้นไปให้พิจารณา แต่เมื่อพนมเทียนเขียนเรื่องสั้นไปให้พิจารณาก็ ถูกปฎิเสธอีกครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้เขาท้อแท้ กลับมุมานะเขียนเรื่องส่งไปยังสำนักพิมพ์อื่น ๆ อยู่สม่ำเสมอ จนวันหนึ่งพนมเทียนได้นำต้นฉบับนวนิยายเรื่อง จุฬาตรีคูณ ไปเสนอครูแก้ว อัจฉริยะกุล หรือ "แก้วฟ้า" ราชาละครวิทยุในขณะนั้น เมื่อครูแก้วได้อ่านแล้วชอบใจจึงทำเป็นละครวิทยุ ให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน จากคณะสุนทราภรณ์ช่วยแต่งเพลงประกอบเรื่อง ทำเป็นละครวิทยุ ทำให้จุฬาตรีคูณเป็นที่รู้จักของผู้ฟังจำนวนมาก และในปี 2492 ครูแก้วได้นำนวนิยายเรื่องจุฬาตรีคูณ มาทำเป็นละครเวที แสดงที่ศาลาเฉลิมไทย โดยคณะลูกไทย ทำให้ชื่อ แก้วฟ้า-พนมเทียนมีชื่อเสียงขึ้นมา (ละครเวทีจุฬาตรีคูณ ใช้ชื่อแก้วฟ้า-พนมเทียนเพราะ แก้วฟ้านำมาทำเป็นบทละคร ส่วนพนมเทียนเป็นผู้ประพันธ์) แต่คนทั่วไปก็ยังไม่รู้จักพนมเทียนมากนักจนกระทั่งปฐพีเพลิง ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เพลินจิตต์ ทำให้พนมเทียนเป็นที่รู้จัก ผลงานเรื่องแรกที่เขียนไว้คือเห่าดง จึงได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เพลินจิตต์รายวัน จากนั้นจากนั้นก็มีผลงานอื่น ๆ ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น เพลินจิตต์ เดลิเมล์ สยามสมัย นพเก้า สายฝน ศรีสยาม จักรวาล บางกอก สกุลไทย สตรีสาร ฯลฯ 

         นวนิยายของพนมเทียน ได้รับการกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เล็บครุฑ ศิวาราตรี และเพชรพระอุมา สำหรับคำวิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นการชมหรือการตำหนิก็ตาม พนมเทียนได้ถือว่าคำวิจารณ์ทั้งหมดคือครูที่ดีและเป็นเหมือนกระจกส่องให้เห็น จุดต่าง ๆ ในผลงานของตน และเป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่าเจ้าของบทประพันธ์เรื่องที่ถูกวิจารณ์นั้นได้รับความสำเร็จในการเขียนหนังสือ เมื่อใดก็ตาม ที่นวนิยายไม่ได้รับการกล่าวขวัญเลยนั้น ย่อมหมายถึงงานที่ไม่แพร่หลายและไม่มีใครรู้จัก แต่สำหรับคำวิจารณ์ ที่เข้าไม่ถึงแก่นแท้ของเนื้อหา ก็แสดงให้เห็นถึงระดับภูมิปัญญาของผู้วิจารณ์แต่ละคนเอง 

         ในด้านส่วนตัวพนมเทียนชอบอ่านหนังสือ ประเภทผจญภัยที่ให้สาระความรู้และความสนุกเพลิดเพลินไปในตัว และหนังสือปรัชญาที่ตรงกับอุดมคติของตัวเอง นอกจากนั้นก็ชอบอ่านหนังสือสารคดีที่เกี่ยวกับวิชาความรู้ต่าง ๆ นักเขียนที่ชอบมากที่สุดได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งพนมเทียนเคารพบูชาท่านมากจนถึงกับได้สร้างอนุสาวรีย์ ประทับไว้ที่บ้านพักอาศัยในปัจจุบัน) สุนทรภู่ ชิต บุรทัต ทรง สาลิตุล มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

         พนมเทียนรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก จึงอยากเขียนหนังสือเองบ้าง โดยเริ่มเขียนจริงจังตั้งแต่ตอนอยู่มัธยมฯ ให้เพื่อนๆอ่านเป็นที่ถูกใจ แต่พอเข้าวงการเขียนจริงๆ กลับไม่ได้รับความสนใจเลย ซึ่งถ้าไม่มีความมุ่งมั่นก็อาจท้อไปเลยก็ได้

 

        กระทั่งปี 2497 นวนิยายเรื่องแรกคือ “เห่าดง” ได้รับการตีพิมพ์จนชื่อเสียงโด่งดังและมีผลงานเรื่อยๆ มีนามปากกาหลากหลาย เช่น“พนมเทียน” สำหรับนวนิยายทุกประเภท “รพินทร์” เกี่ยวกับศาสตร์ลี้ลับของฮินดู “ก้อง สุรกานต์” ตอบปัญหาทั่วๆไป “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” เกี่ยวกับตำราอาวุธปืน 

        นวนิยายเรื่องโด่งดังของพนมเทียนคือเรื่อง เล็บครุฑ ศิวาราตรี เพชรพระอุมา ละอองดาว สกาวเดือน รัตติกาลยอดรัก และมัจจุราชสีรุ้ง ล่าสุดเขียนเรื่องปฐพีเพลิง ให้หนังสือ โลกนวนิยาย แต่ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้เลิกกิจการไปแล้ว 
 

      ที่มาของนามปากกา "พนมเทียน" คุณพนมเทียนเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนามปากกา "พนมเทียน" ว่า เป็นชื่อที่มีความหมายถึงเปลวเทียนยามแสงโชนสว่างได้ที่ จะเห็นเปลวเทียนเรียวขึ้นจากปลายแท่งแล้วค่อยแผ่กว้างออกก่อนจะสอบปลายแหลมให้เรียวสะบัดความสว่างขึ้นอีกครั้ง

      ชื่อนี้คุณพนมเทียนบอกว่าได้ยินมาจากศัพย์เทคนิคที่ใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ และมีความหมายดังกล่าว พอรู้จักคำนี้...เขาเกิดความคิดในใจ คิดไว้เลยว่า...ฉันจะเอาคำนี้ล่ะไปใช้เป็นนามปากกาคราฉันเขียนนิยาย...

       เรื่องแรกที่ใช้ชื่อ "พนมเทียน" คุณพนมเทียนได้เล่าให้ฟังในหนังสือสุนทราภรณ์รำลึกว่า

"จุฬาตรีคูณ แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นนวนิยาย เรื่องแรกของผม หากแต่เป็นเรื่องที่สอง ทว่าถ้าจะถือเอานามปากกาพนมเทียน และงานประพันธ์ที่ออกไปสู่สาธารณชน ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นเรื่องแรกอย่างแน่นอน และจุฬาตรีคูรนี่แหละคือต้นกำเนิด ความเป็นมาของนักประพันธ์อาชีพคนหนึ่ง ที่ท่านรู้จักในนาม พนมเทียน

ผมไม่คิดว่า ผมมีอัจฉริยะภาพอะไร ในการเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เมื่ออายุ 17 ปี ขณะเรียนอยู่ในสายอักษรศาสตร์ของสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ในใจว่าเท่าที่เขียนออกมาได้ในอายุเพียงแค่นั้น มีพลังวิเศษ ส่วนหนึ่งแฝงเร้นอยู่ในสมอง และชีวิตจิตใจผม และสิ่งอันสูงส่งนั้น จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังสถิตย์อยู่กลางดวงใจผมอยู่ตลอดเวลา ชี้นำแนวทาง และบางครั้งก็บังคับ (เมื่อผมรู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อการงาน) ให้ต้องมานั่งจิ้มพิมพ์ดีดแต่งเรื่องนวนิยาย หรือตำรับตำราที่ผมรู้ผมถนัด มาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

ข้อมูลส่วนตัว

การศึกษา : 

- ระดับปริญญาตรี สาขาวิชา ภาษาสันสกฤตและประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ จาก มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย 

งานอดิเรก : ชีวิตและงาน 

- พ.ศ. 2484 เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรกเรื่อง “เห่าดง” ลงในสมุดอ่านกันเล่น ระหว่างเพื่อน 

- ตอนเรียนเตรียมฯ ได้เขียนเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” 

- และ ก่อนไปเรียนที่อินเดียได้เขียนนวนิยายรักเรื่อง “มัสยา” 

- เมื่อกลับมา นวนิยายเรื่อง “เห่าดง” ได้ลงพิมพ์ในหนังสือ “เพลินจิตต์” รายวัน ใช้นามปากกา “พนมเทียน” 

- พ.ศ. 2504 ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองในฐานะผู้เขียนบทประพันธ์เรื่อง “เด็กเสเพล” 

- พ.ศ. 2507-2533 ได้เขียนนวนิยายผจญภัยที่ใช้เวลาเขียนนานถึง 26 ปี เมื่อนำมา มาพิมพ์ยาวถึง 48 เล่ม 

- พ.ศ. 2540 ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ 
 

 

 

นามปากกาใดบ้างพนมเทียน ใช้เขียนนิยาย

รพินทร์ ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์ลี้ลับของฮินดู โดยอาศัยความรู้ทางอักษรศาสตร์บัณฑิตจากบอมเบย์ยูนิเวอร์ซิตี แปลเอกสารคัมภีร์โบราณภาษาอินเดีย อย่างตำนานกามเทพ กามสูตร ฯลฯ

ก้อง สุรกานต์ ใช้ตอบปัญหาคาใจเรื่องเพศบ้าง ศิลปะการต่อสู้บ้าง และเรื่องทั่วๆไป

ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เป็นชื่อจริง นามสกุลจริง ใช้เขียนตำราอาวุธปืน ตอบปัญหาสารพันเรื่องเกี่ยวกับปืน


ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2540

คำประกาศเกียรติคุณ 
     นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นามปากกา “พนมเทียน” เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ที่จังหวัดปัตตานี เป็นนักเขียนผู้สร้างผลงานทางวรรณศิลป์ที่ทรงคุณค่าไว้อย่างมากมายและต่อเนื่องมาเกือบ 5 ทศวรรษ ผลงานของเขาปรากฏแพร่หลายเป็นที่นิยมของผู้อ่านตลอดมา โดยเฉพาะนวนิยาย ซึ่งมีจำนวนถึง 38 เรื่องหลายเรื่อง เช่น จุฬาตรีคูณ เล็บครุฑ เพชรพระอุมา และศิวาราตรี มีความโดดเด่นเฉพาะตัว อย่างที่จะหานักเขียนอื่นในแนวเดียวกันมาเทียบเคียงได้ยาก

      “พนมเทียน” เป็นนักฝัน เขาถึงสามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงานโดยมีความรอบรู้ และประสบการณ์อันหลากหลายเป็นพื้นฐาน งานเขียนของเขาจึงมีหลายประเภทหลายแนว คือ มีทั้งประเภทจินตนิยาย อาชญนิยาย นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แนวผจญภัย แนวพาฝัน ตลอดจนสาระนิยาย คุณลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของเขา คือ การใช้ภาษาด้วยลีลาอันงดงามและให้ภาพที่คมชัด งานของเขาจึงส่งผลสืบเนื่องไปถึงการสร้างงานศิลปแขนงอื่น เช่น ละครวิทยุ ละครเวที ตลอดจนเพลงประกอบละครเวที โดยเฉพาะเรื่อง จุฬาตรีคูณ นั้น เป็นที่นิยมกันมาตลอด 5 ทศวรรษ

     นอกจากเรื่อง จุฬาตรีคูณ จินตนิยาย เรื่องศิวาราตรี ของ “พนมเทียน” ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ “สกลวรรณ” นำ ศิวาราตรี มาเขียนเป็นร้อยกรองยาวกว่า 30,000 คำกลอน โดยอาศัยความงามแห่งภาษาร้อยแก้วของ “พนมเทียน” เป็นพื้นฐาน งานเขียนของ “พนมเทียน” มิได้เพียงแต่พาผู้อ่านเข้าไปสู่โลกแห่งจินตนาการที่มีแต่ความบันเทิงใจ หากอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นได้ว่าผู้เขียนยึดหลักการมนุษยธรรมอย่างมั่นคง เขาเห็นว่าโลกและชีวิตดำรงอยู่ด้วยมนุษยธรรม สันติภาพและภราดาภาพ อันเป็นอุดมการณ์ของมนุษย์ชาติ ผลงานของเขาจึงให้ทั้งความสำเริงอารมณ์และคุณค่าแห่งสาระที่แฝงอยู่เยื้องลึก “พนมเทียน” ได้สร้างสรรค์ผลงานทางวรรณศิลป์ที่งดงามและมีคุณค่า ประทับใจผู้อ่าน ต่างรุ่น ต่างวัย และต่างสถานภาพ มาเป็นเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ

      นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2540

      นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เสียชีวิตวันที่ 21 เมษายน 2563 เมื่อเวลา 09.15 น. ณ โรงพยาบาลรามคำแหง เนื่องจากโรคชรา สิริรวมอายุ 89 ปี
 

ที่มา Reading, Writing,and Bakery by Kru Ann