ขรรค์ชัย บุนปาน : นักเขียนและเจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน

ขรรค์ชัย บุนปาน

ขรรค์ชัย บุนปาน

การศึกษาสูงสุด ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประเภทงานเขียน บทกวี, เรื่องสั้น, นวนิยาย, บทความหนังสือพิมพ์

ผลงานรวมเล่ม ชานหมากนอกกระโถน, เศรษฐศาสตร์ข้างถนน, หนี, นานาสังวาส, ใบลานหลังธรรมาสน์, ประดับไว้ในโลกา, ฟ้าแล่บแปล๊บเดียว, กลีบเกษรหอมหวานแต่วานนี้ ฯลฯ

รางวัลที่ได้รับ รางวัลเกียรติคุณพิเศษ 100 ปี ศรีบูรพา สาขานักหนังสือพิมพ์ เนื่องในการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ปี 2548

ประวัติ ขรรค์ชัย บุนปานเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนในละแวกบางขุนเทียน และไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 7 - 8 ที่โรงเรียนนวลนรดิศ โดยได้รู้จักกับสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งต่อมาเป็นเพื่อนรักกัน ได้ร่วมคิดร่วมเขียนมาด้วยกันจนได้รับฉายาร่วมกันว่า “สองกุมารสยาม” แต่เขาสอบตก ม.7 จึงย้ายมาเรียนต่อที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา หลังอุปสมบทที่วัดราชโอรสาราม ก็สอบเรียนต่อได้ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เช่นเดียวกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ระหว่างเรียนเริ่มมีผลงานร่วมกันเขียนและรวมเล่มพิมพ์เผยแพร่ ทั้งบทกวีและเรื่องสั้น เล่มแรกคือ นิราศ (2507) และเล่มต่อ ๆ มา ได้แก่ กลอนลูกทุ่ง (2508) เห่ลูกทุ่ง (2509) ครึ่งรักครึ่งใคร่ (2511) กูเป็นนิสิตนักศึกษา (2511) และ หันหลังชนกัน (2513) ระหว่างเรียนทั้งคู่ได้รับทำนิตยสารช่อฟ้ารายเดือนของมูลนิธิอภิธรรมวัดมหาธาตุ ที่ต่อมาได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของ “กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย” หนึ่งในกลุ่มปัญญาชนนักคิดนักเขียนในช่วงยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 จากนั้น เขาได้ทำงานเป็นครูที่โรงเรียนมาแตร์เดอีระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาทำงานที่ห้างเซ็นทรัล หลังจากนั้นจึงเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ เข้าไปทำงานอยู่ก่อนแล้ว 3 ปีถัดมา ทั้งคู่ได้ระดมทุนจัดตั้งโรงพิมพ์พิฆเนศขึ้น เขามาทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้ดูแลกิจการโรงพิมพ์นี้ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาและเพื่อนร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ ตามด้วยประชาชาติรายวัน จนกระทั่งต้องหยุดไปเพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อสถานการณ์ทางสังคมเริ่มคลี่คลาย จึงได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนขึ้น โดยมีทั้งมติชนรายวันและมติชนสุดสัปดาห์ ปัจจุบันขรรค์ชัย บุนปาน ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเครือมติชน