นามปากกา :

รางวัลที่ได้รับ :

ประวัติส่วนตัว :

      วันหนึ่งของ ปี พ.ศ.2506 ณ.สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ชายหนุ่มอายุสามสิบสี่ เข้าพบ นายเวช กระตุกฤกษ์-เจ้าของสำนักพิมพ์ และ นายชลิต พรหมดำรง-บรรณาธิการ เพื่อเสนอ ‘งานแปลกำลังภายใน’ สำนวนแปลกใหม่ให้พิจารณา แม้ว่า นายเวช จะไม่เห็นด้วยกับสำนวนแปลกใหม่ และต้องการให้ยึดสำนวนการแปลอย่าง จำลอง พินาคะ ผู้แปล ‘มังกรหยก’ ภาคหนึ่ง ที่คนติดงอมแงมขณะนั้น เป็นแบบอย่าง แต่ชายหนุ่มผู้นั้น นาม ชิน บำรุงพันธ์ กลับยืนยันสำนวนแปลกใหม่ของตนเอง ด้วยความมั่นใจและเด็ดเดี่ยวว่า ‘ถ้าดีก็เหนือกว่า ถ้าไม่ดีก็เป็นการล้มเหลวไปเลย’ กระทั่ง นายชลิต คงมองเห็นแววสำนวนแปลกใหม่ของ นายชิน ยินยอม ‘หยั่งความนิยมของนักอ่าน’ ด้วยการตอบตกลงจัดพิมพ์ กระบี่ล้างแค้น เป็นเล่มปกอ่อน ปรากฎว่าจำหน่ายขายดี โดยเล่ม 2 ต้องพิมพ์ 2 ครั้ง คือ พิมพ์รอบเช้า 6,000 เล่ม บ่ายอีก 2,000 เล่ม

      นับตั้งแต่นั้น นามปากกา ‘ว.ณ เมืองลุง’ ก็จุติในบรรณพิภพ สืบสานภารกิจ ‘ถ่ายทอด’ นิยายกำลังภายในอันโลดโผนพิสดาร สู่นักอ่านชาวไทยเรื่องแล้วเรื่องเล่า กระทั่งได้รับความนิยมยกย่องในฐานะ ‘นักแปลชั้นนำ’ อย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งเป็นที่มาของวลียอดฮิต สำนวนกินใจมากมาย เช่น ในโลกไม่มีงานเลี้ยงที่มิแยกย้ายเลิกรา ไม่เห็นโลงศพมิหลั่งน้ำตา กระบี่อยู่ที่ใจ ศึกสายเลือด ฮาฮา ฉายาของจอมยุทธต่างๆ และ ฯลฯ กระทั่งนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา นักธุรกิจ ต่างหยิบยืมมาใช้เป็นที่สนุกถูกใจ เพราะให้ทั้งความหมายและความรู้สึกสะใจดี มีทั้งในลีลาล้อเลียน เปรียบเปรย แฝงอารมณ์ขัน และประชดประชัน สำนวนแปลกใหม่ซึ่ง ว.ณ เมืองลุง นำสำนวนเก่า สำนวนวรรณคดี มาผสมผสานกับสำนวนของตน กลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นนี้ มีลักษณะพิเศษคือ สั้น กระชับ ใช้คำน้อยแต่ให้ความหมายกว้างลึกซึ้ง โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้กับงานเขียนของ โก้วเล้ง ก็สามารถถ่ายทอดลีลาอารมณ์ สำนวนโวหาร และบรรยากาศของต้นฉบับเดิมได้อย่างน่าประทับใจพราวพรรณวรรณศิลป์

     ว. ณ เมืองลุง เป็นนามปากกาของ ชิน บำรุงพงศ์ ว. เป็นชื่อของ วิไล สาวคนรักที่พบกันเมื่อครั้งท่านไปเป็นเสมียนอยู่ที่พัทลุง จึงเกิดเป็นนาม ว. ณ เมืองลุง เมื่อครั้งลงมือแปล กระบี่ล้างแค้น อันเป็นงานแปลเรื่องแรกและเพียงเรื่องเดียวก็โด่งดังจนเป็นที่รู้จักของคอนิยายกำลังภายใน ชิน บำรุงพงศ์ เกิดเมื่อ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2472 ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนจีน จังหวัดพิษณุโลก มีโอกาสได้เรียนทั้งภาษาไทย และ ภาษาจีน ภายหลังประมาณ พ.ศ. 2494 สอบได้ประกาศนียบัตรครู (ป.) เมื่อกระทรวงศึกษาธิการเปิดสอบวิชาครู

      เคยเข้าไปทำงานที่ร้านค้าแถวห้าแยกพลับพลาไชย กรุงเทพฯ แต่ทำอยู่ได้ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น จึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนา เมื่อสอบได้ประกาศนียบัตรครู (ป.) ได้ไปสอนหนังสือที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 1 ปี แล้วย้ายไปสอนที่โรงเรียนอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี อีก 1 ปี จากนั้นไปสอนที่โรงเรียนศึกษาวัฒนา สามย่าน กรุงเทพ ฯ จนประมาณ พ.ศ. 2504 ลาออกมาทำงานเสมียนโรงไม้ที่จังหวัด พัทลุง และ เริ่มแปลนวนิยายจีนกำลังภายใน และแล้ว หลังจาก กระบี่ล้างแค้น ผลงานแปลเรื่องแรก ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านอย่างอบอุ่น เมื่อ พ.ศ. 2506 นายชิน ก็ลาออกจากงานเสมียนโรงไม้ มาจับงานแปลอย่างจริงจังจนยึดเป็นอาชีพเรื่อยมา

      นิยายแปลเรื่องแรกของชินคือเรื่อง กระบี่ล้างแค้น ใช้นามปากกาว่า ว. ณ เมืองลุง ขายดีจนเล่มที่สองต้องพิมพ์สองครั้งในวันเดียวกัน นับได้ว่า ว. ณ เมืองลุง ประสบความสำเร็จอย่างสูงตั้งแต่ต้น จึงได้แปลนิยายจีนกำลังภายในเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว ระยะแรกมอบให้ สำนักพิมพ์เพลินจิตต์พิมพ์และจำหน่ายทั้งหมด กระทั่งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์หยุดกิจการ จึงมอบหมายให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นดำเนินการพิมพ์เรื่อยมา นอกจากนี้ชิน บำรุงพงศ์ ยังมีผลงานในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์ ไทยรัฐ และเดลินิวส์ในบางช่วงด้วย

       ผลงานแปลของ ว.ณ เมืองลุง มีนับร้อยกว่าเรื่อง แต่เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้เขาสูงสุด คือ ฤทธิ์มีดสั้น และ เซียวฮื่อยี้ อันเป็นผลงานของ โก้วเล้ง ว.ณ เมืองลุง ยอมรับว่า ชอบผลงานของ โก้วเล้ง โดยเฉพาะ ฤทธิ์มีดสั้น และ จอมดาบหิมะแดง เพราะทุกเรื่องของ โก้วเล้ง แฝงไว้ด้วยคติธรรม ปรัญญาชีวิต มีความลุ่มลึกกว่า ‘กำลังภายใน’ ทั่วๆไปที่เน้นการฆ่าล้างแค้นเป็นแกนเรื่องอย่างเดียว ผลงานการแปลจากต้นฉบับของ โก้วเล้ง เรื่องอื่นๆ ยังมีอาทิ ดาบจอมภพ เหยี่ยวเดินเก้า ชุดชอลิ่วเฮียง(ประกอบด้วย จอมโจรจอมใจ ใต้เงามัจจุราช ราศีดอกท้อ และชอลิ่วเฮียง) นักสู้ผู้พิชิต ศึกเสือหยกขาว พิฆาตทรชน นกแก้วสยองขวัญ พยัคฆ์ร้ายบู๊ลิ้ม ศึกสายเลือด ผู้ยิ่งใหญ่ และไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ เป็นต้น

      เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ว. ณ เมืองลุงแปลหนังสือด้วยวิธีพูดบันทึกลงเทป ภคินีผู้เป็นบุตรสาวเล่าว่า มีเพียงเล่มแรกคือกระบี่ล้างแค้นเท่านั้น ที่แปลเหมือนคนอื่นๆ คือเขียนและพิมพ์ แต่ท่านทำแล้วปวดแขนเป็นอย่างมาก จึงได้รับการแนะนำให้แปลใส่เทพ ด้วยว่าท่านสามารถกางหนังสือจีนแล้วแปลได้ทันที แต่ไล่ไปช้าๆ นะคะ คุณพ่อท่านจะอ่านจากต้นฉบับแล้วพูดใส่เทปช้าๆ เพื่อให้คนพิมพ์เขาถอดคำพูดออกมาได้ง่ายๆ และไม่อนุญาตให้แก้ไขสิ่งที่ท่านพูด ฟังเทปได้ยินอย่างไรก็ให้พิมพ์ออกมาอย่างนั้น เมื่อส่งกลับมาให้ท่านตรวจทาน ท่านจะแก้ไขด้วยตนเอง

        หลายคนคงคิดว่าคุณพ่อทำงานสบาย แต่บ่อยครั้งที่เราเห็นท่านนิ้วโป่งพองและแตก เพราะต้องคอยกดเทปไว้ มันไม่เหมือนเทปสมัยนี้ แล้วกว่าจะแปลจบแต่ละเรื่อง นิ้วท่านระบมไปหมด ภคินีกล่าว กระบี่ล้างแค้น แปลเมื่อ พ.ศ. 2506 จนมาถึงประมาณ ปี พ.ศ. 2531 ว. ณ เมืองลุง จึงยุติการแปลนิยายจีนกำลังภายใน เพราะเห็นว่า อายุมากแล้ว ท่านใช้ชีวิตส่วนตัวอยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น ไม่ชอบออกงาน ไม่ชอบเป็นข่าว และนั่นนำมาซึ่งการจากไปอย่างเงียบสงบในวัย 77 ปี ว.ณ เมืองลุง ลาล่วงจากบรรณพิภพไปอย่างเงียบๆ เมื่อคืนวันที่ 26 กรกฎาคม 2547 ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่ผลงานของท่านยังคงอยู่สืบไป ตราบนานเท่านาน