อ่านหนังสือร่วมกันกับลูกน้อย การสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน : อ่านหนังสือร่วมกันกับลูกน้อย การสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน เริ่มต้นจากที่บ้านเป็นอันดับแรก!!

อ่านหนังสือร่วมกันกับลูกน้อย การสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน

อ่านหนังสือร่วมกันกับลูกน้อย การสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน เริ่มต้นจากที่บ้านเป็นอันดับแรก!! การอ่านถือเป็นพื้นฐานของการพูด และการเขียน มีคนตั้งหลายคนเคยประสบความสำเร็จในชีวิตได้ด้วยการอ่าน ยิ่งอ่านมากยิ่งได้เปิดโลกทรรศน์มาก และยิ่งอ่านมาก เราจะยิ่งมีคลังคำศัพท์มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามเด็กที่ได้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก เขาจะเป็นคนรักการอ่านในตอนโตด้วย

1. ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี
ถ้าต้องการให้ลูกมีพฤติกรรมอย่างไร พ่อแม่ต้องทำแบบนั้นให้ลูกเห็นเพื่อเป็นต้นแบบที่ดี นั่นหมายความว่าถ้าต้องการให้ลูกรักการอ่าน พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบของนักอ่านที่ดีด้วย เช่น มีหนังสือติดตัวอยู่ตลอดเวลา ว่างเมื่อไหร่อ่านเมื่อนั้น ว่างตรงไหนอ่านตรงนั้น หรืออ่านที่ไหนก็ได้ อ่านเมื่อไหร่ก็ได้

2. ต้องมีมุมหนังสือภายในบ้าน
คุณพ่อคุณแม่ต้องนำหนังสือที่อยู่ภายในบ้าน นำมาจัดวางไว้ด้วยกัน จัดเป็นมุมสบาย เป็นที่เป็นทาง ซึ่งเด็กก็จะรู้เลยว่า ถ้าเขาอยากอ่านหนังสือ ก็จะต้องมาอ่านที่มุมนี้ หรือถ้าลูกยังเล็ก เขาก็จะคลาน หรือเดินเข้ามาเปิดหนังสือเล่น หรือได้เห็นภาพสวยๆ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องสร้างกติการ่วมกันด้วย เช่น อ่านแล้วต้องเก็บที่เดิม หรืออ่านอย่างทะนุถนอม

3. ต้องเลือกสรรหนังสือสมวัย
คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ถือตัวเองเป็นใหญ่ เช่น เลือกหนังสือตามใจพ่อแม่ เพราะวัยของลูกไม่ใช่วัยของพ่อแม่ หนังสือที่พ่อแม่ชอบลูกอาจจะไม่ชอบก็ได้ ฉะนั้นหนังสือที่ดีสำหรับลูกต้องมีเนื้อหาที่สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา น่าคิด น่าติดตาม เป็นภาษาที่ง่ายๆ ซ้ำๆ ย้ำๆ และทวนบ่อยๆ ภาพประกอบสวยงาม ขณะเดียวกันต้องกระตุ้นความคิด และเสริมสมองให้กับลูกด้วย

4. ต้องใส่ใจชวนกันไปอ่าน
คุณพ่อคุณแม่ต้องชี้ชวน หรือเชิญชวนให้ลูกมาอ่านหนังสือด้วยกัน การชักชวนที่ดีที่สุดคือ การที่พ่อแม่อ่านออกเสียงดังๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือชักชวนลูกให้มาเปิดหนังสือร่วมกันชี้ชวนพูดคุยชวนคุยถึงภาพในหนังสือ

5. ต้องชื่นชมกันและกันเสมอ
เวลาลูกหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน พ่อแม่ต้องชมลูก เพราะบางคนจะปากแข็ง คิดว่าถ้าชมมากลูกจะเหลิง เช่น ชื่นใจจังเลย วันนี้ลูกแม่อ่านหนังสือ (แต่ไม่ใช่ชมแบบเหน็บๆ หรือแกล้งชม ต้องชมแบบจริงใจ)

6. ต้องนำเสนออย่างมีความสุข
ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่หยิบหนังสือมาอ่าน ขอให้เป็นเวลาแห่งความสุข ไม่ใช่หยิบมาแล้วอารมณ์เสีย แต่ต้องแสดงท่าทางที่เป็นสุข เพื่อที่ลูกน้อยจะได้มีความสุขใจในการหนังสือไปด้วย

7. ต้องหากิจกรรมสนุกๆ มาประกอบ
การอ่านหนังสืออย่างเดียวอาจไม่ถูกใจลูก ดังนั้นก่อนการอ่าน ระหว่างการอ่าน หรือหลังการอ่าน ถ้าพ่อแม่เตรียม และทำกิจกรรม หรือเล่นกับลูก ก็จะสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านได้ง่ายขึ้น เช่น ทายปัญหาอะไรเอ่ย หรืออื่นๆ ที่สำคัญอย่าลืมตุ๊กตา ของเล่น หรือเกมต่างๆ ที่ควรนำมาอ่านไปเล่นไป อ่านไปร้องไป หรืออ่านไปเต้นไป นั่นจะทำให้ลูกไม่เบื่อ และสนุกกับการอ่านหนังสือร่วมกับพ่อแม่

8. ต้องชอบต่อยอดทางความคิด
เวลาคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือ หรือนิทานให้ลูกฟังต้องตั้งคำถาม และเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดอยู่เสมอ เช่น “ไก่มีกี่ตา นับสิลูก แล้วหนูมีกี่ตาลูก เอ้ามีตาเท่ากับไก่เลย” เป็นต้น นี่จึงถือเป็นการต่อยอดทางความคิดขณะเล่านิทาน เจอช่องไฟตรงไหนที่เหมาะสมให้รีบต่อยอดทันที แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเบื่อได้

9. ต้องไม่คิดถึงวัย
เวลาอยู่กับลูกพ่อแม่ต้องสลัดวัยที่เป็นอยู่ทิ้ง แล้วสวมบทบาทให้ใกล้เคียงกับลูก หรือทำตัวร่วมสมัย ร่วมวัยกับลูก เล่นเป็นเล่น ร้องเป็นร้อง คลานเป็นคลาน วิ่งเป็นวิ่ง โดดเป็นโดด เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้อง และเป็นเพื่อนเล่นที่ดีของลูกได้

10. ต้องใช้เวลาพอดี
การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ต้องใช้เวลาที่ไม่นานมากจนเกินไปจนทำให้ลูกเบื่อ หรือสั้นเกินไปจนทำให้ลุกหงุดหงิด ต้องสังเกตท่าทีของลูกว่า ยังต้องการฟังอยู่หรือเปล่า ถ้ายังต้องการฟังก็ควรอ่านไปเรื่อยๆ แต่ถ้าลูกเริ่มสนใจสิ่งอื่น ก็ควรจะยุติการอ่าน ไม่ควรฝืนลูกให้นั่งฟังต่อไป

11. ต้องมีระเบียบชีวิต
การอ่านหนังสือต้องทำทุกวัน หรือทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือร่วมกันหลังจากรับประทานอาหาร ปิดโทรทัศน์ตอน 1 ทุ่ม แล้วอ่านหนังสือร่วมกัน หรืออ่านหนังสือก่อนนอนทุกวัน ดังนั้นถ้าทำเป็นประจำ ลูกจะเกิดความเคยชิน และปฏิบัติจนติดเป็นนิสัย “มีวินัย ใส่ใจการอ่าน ไม่นานเห็นผลแน่”

 

ข้อมูลจาก : Life & Family

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ