50 ปีประพันธ์สาส์น ตอน “ขวัญจิต” : จุดนัดพบมิตรน้ำหมึก

50 ปีประพันธ์สาส์น ตอน “ขวัญจิต”

(ปกหนังสือขวัญจิต ฉบับที่ 455 วันอาทิตย์ ที่ 10 มกราคม 2508)

 

ในช่วงกลางทศวรรษ ๒๕๑๐ มีนิตยสารที่ลงนวนิยายเรื่องสั้นของนักเขียนที่มีชื่อเสียงจำนวนมากวางแผนจำหน่าย เช่น ปิยะมิตร สยามสมัย ไทสัปดาห์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ แสนสุข ชาวกรุง สตรีสาร สกุลไทย บางกอก ฯลฯ ซึ่งนิตยสารเหล่านี้มีพื้นที่ให้นักเขียนหน้าใหม่ได้มีโอกาสส่งผลงาน นิยาย และเรื่องสั้นมาให้พิจารณา และลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ เพื่อให้คนติดตามอ่าน รวมทั้งเป็นการแจ้งเกิดของนักเขียนที่มีฝีมือได้อีกหลายคน

ประพันธ์สาส์น ซึ่งไดตั้งเป็นสำนักพิมพ์เต็มตัว และตีพิมพ์หนังสือเล่มออกมาแล้วระยะหนึ่งก็ตัดสินใจออกนิตยสาร เพื่อเป็นเวทีของนวนิยายและเรื่องสั้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งเริ่มขึ้นในปีพ.ศ.๒๕๐๘ เมื่อสุพลและเพื่อนอีก ๒ คน คือ สวัสดิ์ ประดิษฐ์เวช และ พจนารถ เกสจินดา ได้ร่วมหุ้นกันออกนิตยสารรายปักษ์ชื่อว่า ขวัญจิต และชักชวน ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ มาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ มีสำนักงานอยู่บนชั้น ๓ ของสำนักพิมพ์เอเชีย (เจ้าของคือ คุณบุ่น แซ่หว่อง) ซอยข้างโรงภาพยนตร์พาราเมาท์ ใกล้สี่แยกประตูน้ำ แม้นิตยสารรายสัปดาห์ ขวัญจิต จะมีชีวิตอยู่บนแผงหนังสือได้ไม่นานนัก แต่ก็เป็นช่วงที่นักเขียนรุ่นใหม่อย่าง ณรงค์ จันทร์เรือง ได้เข้ามาคลุกคลีกับประพันธ์สาส์น ซึ่งได้กลายเป็นทางเชื่อมโยงให้กลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่คนอื่นๆ เข้ามาร่วมงานกับสำนักพิมพ์ในเวลาต่อมา

ณรงค์ จันทร์เรือง เริ่มชีวิตนักประพันธ์ในช่วงแรกด้วยการเขียนกลอนไปลงตามนิตยสารต่าง ๆ เช่น ศรีสัปดาห์ สกุลไทย หรืองานเขียนประเภทนิทาน ไปลงในดรุณสาร (เครือสตรีสาร) สำหรับเรื่องสั้นนั้น ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือแสนสุข เรื่อง “วิวาห์ในอากาศ” เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๔ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ทำงานที่แสนสุข ณรงค์ก็เริ่มมีผลงานลงในหนังสือของค่ายเพลินจิตต์ ตามคำชักชวนของประศาสน์ ผลาธัญญะ ซึ่งเป็นผู้วาดรูปปกให้สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ (ต่อมาผูกขาดวาดรูปปกนิยายของ ว. ณ มืองลุง ให้ประพันธ์สาส์น) ในช่วงนั้นสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ออกหนังสือรายวันอยู่ ๓ ฉบับ คือ “บันเทิง” “เริงรมย์” และ “หรรษา” แสนสุขดำเนินงานมาจนถึงปี ๒๕๐๗ ก็ยุติลง กองบรรณาธิการก็แยกย้ายกันไปรวมถึงณรงค์ จันทร์เรือง แต่เขาก็ยังคงส่งเรื่องสั้นไปลงตามนิตยสารต่างๆ โดยเฉพาะสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งเป็นสนามที่นักเขียนทั้งหลาย โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่ใช้เป็นที่พิสูจน์ฝีมือ ภายหลังจาก “โรงนา” เรื่องสั้นเรื่องแรกของณรงค์ได้ตีพิมพ์ในสยามรัฐ เขาก็เริ่มส่งเรื่องสั้นไปที่ “ขวัญจิต” ตามคำแนะนำของสิงหเทพ (ธนู ปิยะรัตน์) จึงเป็นก้าวแรกที่ทำให้เขามารู้จักกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

ณรงค์ไม่เพียงแต่เข้าไปส่งผลงานเรื่องสั้นเท่านั้น แต่ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ บรรณาธิการของขวัญจิต ยังได้ชักชวนเขาให้ทำหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการอีกด้วย ในช่วงนั้นจึงมีเพียงประเสริฐและณรงค์ทำหน้าที่หลักๆ อยู่ในกองบรรณาธิการขวัญจิตเท่านั้น ซึ่งก็เป็นลักษณะโดยทั่วไปของสำนักพิมพ์ในเวลานั้น ที่มักจะว่าจ้างพนักงานประจำเพียงไม่กี่คน โดยประเสริฐเป็นบรรณาธิการผู้คัดเลือกที่จะนำมาลง พร้อมทั้งทำดัมมี่เพื่อจัดวางหน้า ซึ่งในการจัดหน้าของขวัญจิตนั้นจะเหมือนกันเกือบทุกเล่ม ดังนั้นดัมมี่ที่ทำก็จะเหมือนกันหมดทุกเล่ม เรียกว่า “ดัมมี่ตาย” เพราะนักเขียนส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนประจำ ที่ลงเรื่องสั้นต่อเนื่องกันเป็นตอนๆ ความยาวของแต่ละตอนก็จะเท่าๆ กัน จึงไม่ต้องจัดหน้ากันใหม่ นักเขียนที่มีผลงานลงในขวัญจิตขณะนั้นก็มี เรื่องแปลของ ประมูล อุณหธูป นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ “ให้ตัว” คือกำหนดว่าชื่อเรื่องจะใช้ตัวอักษรแบบใด เช่น โป้ง ๔๒ ฝศ. ดำ ฝศ. เอน ก็ร่วมกันดูแลทั้งประเสริฐและณรงค์ หลังจากนั้นช่างเรียง ซึ่งทำงานอยู่บนชั้นเดียวกันในห้องด้านหลังที่นั่งของณรงค์ก็จะเอาต้นฉบับที่ “ให้ตัว” ไว้เรียบร้อยแล้ว ไปเรียงพิมพ์ แล้วนำมาให้ณรงค์ตรวจบรู๊ฟ หากมีตัวผิดมากก็จะใส่คำว่า “แก้-ขอดู” เมื่อไปแก้มาแล้วยังผิดมากอยู่ก็จะใช้คำว่า “พิมพ์-ดูหน้าแท่น” งานที่เรียงพิมพ์เรียบร้อยแล้วจะเข้าสู่โรงพิมพ์ คือ โรงพิมพ์เอเชียที่อยู่ชั้น ๑ ของอาคารเดียวกันนั่นเอง

การตรวจบรู๊ฟของขวัญจิต จะตรวจเฉพาะบางเรื่องที่นักเขียนพิถีพิถันเป็นพิเศษเท่านั้น เช่น เรื่องสั้นของประมูล อุณหธูป เรื่องสั้นบางส่วนช่างเรียงจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องเอง เช่นเดียวกับการทำหนังสือเล่ม อย่างชุดศาลาโกหกของ ป.อินทรปาลิต หรือนิยายกำลังภายในของ ว. ณ เมืองลุง การพิสูจน์อักษรจะเป็นหน้าที่ของทางโรงพิมพ์ สำหรับหัวหน้าช่างเรียงที่มากด้วยประสบการณ์ บางครั้งก็จะให้ตัววางรูป หาคำโปรยเรื่อง แล้วแถมด้วยชื่อว่า “บรรณาธิการฝ่ายศิลป์” ให้เสร็จเรียบร้อย ในช่วงที่อยู่ขวัญจิตก็ทำให้ณรงค์เองได้รู้จักกับนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วหลายคน เช่น วิชิต เพ็ญมณี รวี พรเลิศ รวมทั้งนักเขียนรุ่นใหม่อย่าง ประเสริฐ จันดำ สุรชัย จันทิมาธร และที่ขวัญจิตก็ยังเป็นจุดกำเนิดนามปากกา “ใบหนาด” ของณรงค์ จันทร์เรือง หนึ่งในคอลัมน์ประจำของขวัญจิต คือ “ขวัญหาย” เป็นเรื่องสั้นสยองขวัญจบในตอนของ ชัย วิชิต หรือ วิชิต เพ็ญมณี ซึ่งต่อมาหยุดเขียนไปเพราะไม่ค่อยมีเวลา จึงร้อนถึงบรรณาธิการต้องหาต้นฉบับมาแทน จึงหันมาให้ณรงค์เขียนเรื่องผีลงคอลัมน์ขวัญหายแทน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดี และเป็นที่มาของนามปากกาใบหนาด ซึ่งประเสริฐ พิจารณ์โสภณ เป็นผู้ตั้งให้

ขวัญจิตมีชีวิตโลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือได้ไม่นาน ยอดขายต่อฉบับก็ลดจำนวนลง จนในที่สุดก็ต้องเลิกไป แต่ก็ยังเป็นช่วงที่พ็อกเก็ตบุ๊กของทางประพันธ์สาส์นกำลังไปได้ดี ในขณะนั้นหนังสือที่กำลังเป็นที่นิยมคือ ชุดของ มนัส จรรยงค์ เช่น มือเสือ ทะเวน สลัดเครา เทพธิดามืด รวมทั้งชุด ศาลาโกหก ศาลาปีศาจ ศาลาระทม ของ ป. อินทรปาลิต โดยเฉพาะชุดศาลาโกหกนั้นขายดีที่สุด จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นปีที่ป.อินทรปาลิตเสียชีวิต ศาลาโกหกออกมาทั้งหมดราว ๕๐ เล่ม

หลังจากที่นิตยสาร ขวัญจิต ได้ปิดตัวลงแล้ว ณรงค์ยังคงคลุกคลีอยู่กับประพันธ์สาส์นและรู้จักมักคุ้นกันดีกับนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ๆ อีกด้วย ณรงค์อยู่ในฐานะนักเขียน และยังคอยติดต่อต้นฉบับกับนักเขียนคนอื่นๆ ที่ณรงค์พอจะรู้จักคุ้นเคยให้กับประพันธ์สาส์น เช่น ในช่วงที่นิยายผีกำลังเป็นที่นิยม ก็ติดต่อกับเหม เวชกร เพื่อนำงานประเภทผีของเหมมาตีพิมพ์ (แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากขณะนั้นสำนักพิมพ์บรรณาคารผูกขาดพิมพ์งานของเหมแต่เพียงแห่งเดียว) รวมทั้งยังเป็นบรรณาธิการรวบรวมงานเขียนของนักเขียนหลายคน พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ เช่น เรื่อง เปิดกรุผี รวมผลงานเรื่องผีๆ ของนักเขียนค่ายสยามรัฐ เป็นหนังสือปกแข็งขนาดมาตรฐาน เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ทับนาง ของอุษณา เพลิงธรรม เจ้าของมุ้ง ของนพพร บุญฤทธิ์ ผู้มากับสายฝน โดย “หลวงเมือง” วิญญาณดึกดำบรรพ์ที่สุโขทัย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ด้วยความที่เป็นนักเขียนอิสระไม่ได้สังกัดสำนักพิมพ์หรือนิตยสารใดโดยเฉพาะ ภายหลังจากขวัญจิตเลิกไป ณรงค์ยังคงแวะเวียนไปที่สยามรัฐเพื่อส่งต้นฉบับเรื่องสั้น จึงได้รู้จักมักคุ้นกับนักเขียนรุ่นใหญ่ๆ มากขึ้น นับตั้งแต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประยูร จรรยาวงษ์ แสวง ตุงคบรรหาร นเรศ นโรปกรณ์ ฯลฯ ตลอดจนนักเขียนรุ่นใหม่อย่าง สุวรรณี สุคนธา สุจิตต์ วงษ์เทศน์ ก็ได้พบปะกันที่สยามรัฐ ซึ่งสยามรัฐถือเป็นเวทีสำคัญของนักเขียนโดยเฉพาะผลงานประเภทเรื่องสั้น ให้นักเขียนรุ่นใหม่หลายคนได้พิสูจน์ฝีมือ ซึ่งต่อมาผลงานเหล่านี้ก็มักนำไปรวมเล่มกันที่สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นนั่นเอง

แม้นิตยสาร “ขวัญจิต” จะไม่ได้เรียกว่าประสบความสำเร็จมากมายอะไร แต่ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นอีกเวทีหนึ่งให้นักเขียนหน้าใหม่ได้มาฝึกฝนฝีมือ แลมีโอกาสในการรวมเล่มต่อไป ถึงแม้จะคงอยู่ไม่นานนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคของการทำนิตยสารเล่มนี้ ก็คือมิตรสัมพันธ์อันดีที่เกิดขึ้นกับนักเขียนทั้งเก่าและใหม่ ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการชักนำให้ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และนักเขียนอีกหลายๆ คน ได้มาร่วมงานกับสำนักพิมพ์ประพันธสาส์นในโอกาสต่อไป

 

ภาพประกอบโฆษณา เซเว่น-อัพ และบุหรี่กรุงทอง จากหนังสือ ขวัญจิต
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2508
 
 

 

 

เรียบเรียงโดย...ลักขณา
ขอบคุณข้อมูลจาก สยามพิมพการ
รูปภาพจาก http://www.cokethai.com/forum

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ