สาเหตุที่เด็กไทยไม่รักการอ่านหนังสือ : ก่อนที่จะสอนให้เขาอ่านหนังสือ ควรสอนให้เขารักการอ่านเสียก่อน

สาเหตุที่เด็กไทยไม่รักการอ่านหนังสือ

'ก่อนที่จะสอนให้เขาอ่านหนังสือ ควรสอนให้เขารักการอ่านเสียก่อน เพราะคนเราถ้ามีใจก็อยากจะทำก็จะพยายามหัดจนกว่าจะเป็น เปรียบได้กับ เด็กอยากขี่จักรยาน เขาก็จะพยายามหัดจนกว่าจะขี่ได้ ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่สัญญาณอันตราย นั่นก็คือ การมีเด็กอ่านหนังสือออกจำนวนมากแต่ไม่อยากอ่าน'

ประโยคข้างต้นเป็นของ ดร.นฤมล เนียมหอม ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้วรรณกรรมในการปลูกฝังการอ่านในเด็ก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการปลูกฝังลูกให้รักการอ่านนั้น สำหรับพ่อแม่บางท่านอาจไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่หยิบหนังสือนิทานดี ๆ สักเล่มมานั่งอ่านด้วยกัน ไม่นานลูก ๆ ก็เกิดความคุ้นเคยและเรียกร้องต้องการอ่านหนังสือได้แล้ว แต่เราก็เชื่อว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่อีกมากที่รู้สึกว่าการปลูกฝังนิสัยนี้ให้ กับลูก ๆ เป็นเรื่องยากเย็นยิ่งนัก และไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดลูก ๆ ของตนเองจึงไม่รักการอ่านเหมือนเด็กคนอื่น ๆ

วันนี้เราจึงมีคำแนะนำดี ๆ จาก ดร.นฤมล ในฐานะวิทยากรในโครงการ Book Start Bangkok Read For Life ที่จะมาเผยถึงปัจจัยสำคัญ 8 ประการที่พ่อแม่หลายคนละเลย หรือมองข้ามไปในการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญ อย่างมาก และทั้ง 8 ปัจจัยนั้นจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ

1. ไม่เตรียมตัว
การสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกนั้น พ่อแม่ควรมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งการเลือกหนังสือ การอ่านหนังสือก่อน เพื่อจะได้ทราบอารมณ์ของเรื่องก่อนจะเล่าให้ลูกฟัง 'ผู้อ่านควรอ่านหนังสือนิทานเรื่องนั้น ๆ ก่อนเพื่อให้รู้อารมณ์ของเรื่อง และเตรียมแบ่งวรรคคำให้ดี เมื่อมาอ่านให้เด็กฟัง จะทำให้เกิดอรรถรสในการเล่าเรื่องมากขึ้น' ดร.นฤมลเผย

2. ไม่ต่อเนื่อง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านได้ พ่อแม่ รวมถึงครูซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของเด็กต้องอ่านหนังสือร่วมกับเด็กทุกวัน! 'การทำอย่างต่อเนื่องจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากทำเหมือนคนที่เขารัก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้เขาจะเริ่มทำท่าเหมือนหนูก็อ่านได้ จุดนี้ก็เป็นจังหวะที่พ่อแม่จะชี้ชวนให้ลูกดูว่าเราอ่านจากตรงไหน พอทำไปเรื่อย ๆ เขาจะสนใจเอง ไม่นานเกินเดือน เด็กจะเริ่มหยิบหนังสือมากขึ้น จะเริ่มมีคำถามมากขึ้น แต่ถ้าทำ ๆ หยุด ๆ มันก็สะท้อนความไม่สม่ำเสมอของผู้ใหญ่ เด็กก็จะไม่สม่ำเสมอไปด้วย'

'สำหรับพ่อแม่ที่บอกว่าไม่มีเวลานะคะ เวลาเป็นเรื่องที่เราจัดสรรได้ ลดเวลาดูละครลง 15 นาที ลดเวลาคุยกับเพื่อนลง 15 นาที ลดการเล่นเฟซบุ๊กลง 15 นาที มาสนับสนุนตรงจุดนี้ดีกว่า เพราะถ้าหากไม่ได้อ่านทุกวัน มันก็ไม่ติดนิสัยของการอ่านทุกวัน นิสัยรักการอ่านก็จะเกิดได้ยาก แต่ถ้าวันไหนเหนื่อยมากเลย ลองเปลี่ยนเป็นให้ลูกอ่านให้ฟังบ้างก็ได้ ลูกจะภูมิใจ แม่ก็จะหายเหนื่อยได้ด้วยค่ะ'

3. ไม่มีความสุข
การอ่านหนังสือกับเด็ก สิ่งสำคัญคือการสร้างบรรยากาศแห่งความสุข และถ้าเป็นไปได้ควรอ่านเวลาเดิม เพราะเด็กเล็กจะมีความสุข หากเขาสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เช่น ก่อนนอนจะได้ดื่มนม และได้ฟังนิทาน เป็นต้น

'การบังคับให้เด็กมานั่งฟังนิทาน เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าอ่านหนังสือให้เด็กฟังแล้วจะไม่มีประโยชน์เลย หากเด็กไม่ได้มาด้วยใจที่พร้อม นอกจากนั้น เวลาเราอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ให้ชี้ตัวอักษร (ถ้าเรื่องราวไม่เยอะมาก) ชี้จากบรรทัดบนลงล่าง ซ้ายไปขวา เด็กจะได้เรียนรู้ทิศทางของตัวอักษรด้วย และรู้ว่าผู้ใหญ่เขาอ่านจากตัวหนังสือ ไม่ใช่อ่านจากภาพค่ะ'

4. ไม่อ่านตามบทประพันธ์
การไม่อ่านตามบทประพันธ์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็น พ่อแม่เวลาอ่านนิทานให้ลูกฟัง มักจะใช้วิธีเล่าเรื่อง ไม่ใช้การอ่าน แต่จากมุมมองของ ดร.นฤมลเผยว่า จริง ๆ แล้วควรอ่านตรงตามข้อความที่นักประพันธ์ได้เขียนไว้ เพราะว่าข้อความเหล่านั้น นักประพันธ์เขาคัดสรรแล้ว และควรมีการเว้นจังหวะ ทำเสียงตื่นเต้น เสียงอ่อนแรงบ้าง เพื่อสร้างความน่าสนใจ

5. ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้หนังสือ
เพราะการอ่านไม่ได้มีแค่การสะกด หรือแค่หยิบมาเปิดดู ความรู้เกี่ยวกับการใช้หนังสือก็ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังด้วย เช่น การหยิบจับหนังสือ วิธีการถือหนังสือ ส่วนประกอบของหนังสือ การเปิดหนังสือ เรื่องเหล่านี้หากสอนร่วมด้วยจะทำให้เด็กใช้หนังสือได้ถูกต้อง

'พ่อแม่บางคนไม่ทราบ ก็จะพับหนังสือบ้าง เอาหนังสือไปแทนพัด ฯลฯ เด็กก็จะเลียนแบบพ่อแม่ แต่ถ้าเราสอดแทรกความรู้พวกนี้ลงไป เก็บหนังสือต้องทำแบบนี้ พี่หนังสือไม่ชอบให้จับแรง ๆ จะทำให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับหนังสือมากขึ้นค่ะ'

6. ไม่ตอบคำถาม
ระหว่างที่เราอ่านหนังสือกับเด็ก บ่อยครั้งที่พบว่าเด็กมีคำถาม ในจุดนี้มีพ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร บางท่านไปดุเด็กที่ขัดจังหวะการอ่านนิทาน แต่แท้จริงแล้ว การถามคำถามนั้น เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าเด็กกำลังสนใจอยู่หรือไม่ ถ้าเด็กถามคำถามเกี่ยวกับนิทานที่อ่าน แปลว่าเขาสนใจในเรื่องราว และควรตอบ แต่ถ้าเขาไม่ได้ถามเกี่ยวกับนิทาน ก็เป็นไปได้ว่า เขาไม่สนใจแล้ว หากเป็นเช่นนี้ พ่อแม่จะหยุดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อไป

7. ไม่สร้างสรรค์
การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็ก ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็น ลองทำสมุดบันทึกการอ่าน จดว่าวันนี้อ่านอะไรไปบ้าง ให้เด็กสะสมคะแนน พอครบก็มีรางวัลพิเศษให้ เช่น หอมใหญ่ ๆ 1 ฟอด หรือให้เด็กเลือกซื้อนิทานด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นของรางวัลที่มีราคาแพงก็สามารถทำให้เด็กสนุกกับการอ่านได้ เช่นกัน

8. (เลือกหนังสือ) ไม่เข้ากับวัย หรือความสนใจของเด็ก
เด็กวัยอนุบาล หรือวัยที่เริ่มต้นการอ่าน เด็ก ๆ จะชอบหนังสือภาพ - นิทานภาพ หรือก็คือหนังสือที่สัดส่วนของภาพมากกว่าตัวหนังสือ และภาพกับตัวหนังสือมีความสัมพันธ์กัน การเลือกควรเลือกให้หลากหลาย มีทั้งแบบเล่าเรื่องด้วยภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ นิทานแบบมีข้อความเดียวซ้ำ ๆ กัน เพื่อให้เด็กจำได้เร็ว และรู้สึกว่าเขาอ่านได้ หนังสือภาพประเภทเทพนิยายที่ปลูกฝังเรื่องคุณธรรมความดี หรือหนังสือนิทานประเภทคาดการณ์เหตุการณ์ได้ล่วงหน้า (Predictable book) ซึ่งหนังสือประเภทนี้จะมีคำซ้ำ ประโยคซ้ำ โครงเรื่องซ้ำ ๆ เด็ก จะชอบเพราะว่าเขารู้สึกประสบความสำเร็จว่าตัวเองอ่านได้ คาดเดาเรื่องล่วงหน้าได้นั่นเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมที่บั่นทอนนิสัยรักการอ่านทั้ง 8 ปัจจัยนี้ หลายครอบครัวสะสมเกือบครบ 8 ข้อ ซึ่งนอกจากจะทำให้การอ่านหนังสือไม่ใช่กิจกรรมสุดโปรดของเด็กไทยแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ ขาดความมุ่งมั่นพยายามที่จะอ่านไปอย่างน่าเสียดาย ในจุดนี้ ดร.นฤมลได้ยกตัวอย่างการสอนอ่านของประเทศนิวซีแลนด์เอาไว้อย่างน่าสนใจ

'ที่นิวซีแลนด์มีการสอนอ่านแบบไม่ยัดเยียด และสอนให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็กแต่ละคน ส่วนการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง จะมีทุกระดับชั้น และมีอย่างต่อเนื่อง เด็ก ๆ ที่นั่นถูกแวดล้อมด้วยหนังสือที่ดี และหลากหลาย ถ้าเราย้อนกลับมามองเมืองไทย จะพบว่าตรงกันข้ามเลยทีเดียว ไปที่ไหนก็เจอแบบเรียนหน้าตาเหมือนกันหมด แสดงให้เห็นว่าเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้อ่าน หนังสือที่หลากหลาย ซึ่งน่าเสียดายมากค่ะ'

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ