ข้อคิดดีๆจาก กฤษณา อโศกสิน : คุณค่าเหนือกาลเวลา

ข้อคิดดีๆจาก กฤษณา อโศกสิน

      "จริงๆ แล้วดิฉันเป็นคนใจร้อนนะคะ แต่เวลาเขียนหนังสือจะใจเย็นมาก ใจเย็นที่สุด เพราะต้องคุมตัวละคร เหมือนคุมโรงละครโรงใหญ่ ถ้าตัวละครกระเด็นไปจากเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้จะเสียมาก"กฤษณากล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล
 

      ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่า ตัวละครของเธอจะมีลักษณะสมจริงของความเป็นมนุษย์ มีทั้งดี-ร้ายอยู่ในตัว ทั้งที่ในช่วงเริ่มเขียน นวนิยายยุคนั้นมักสร้างตัวละครให้มีมิติเพียงด้านเดียว คือดีสุดขั้วกับชั่วสุดขีด ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าอาจเป็นเพราะอิทธิพลที่ได้รับจากนักเขียนรุ่นพี่ อ.อุดากร
 

      "คนเรามีสองภาคในตัวอยู่แล้ว ไม่มีดีสุดไม่มีเลวสุดหรอก ต่อให้แสนดีก็ย่อมต้องมีอารมณ์เกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งเหมือนกัน เหมือนบางครั้งเราเจอบางสิ่งที่คิดว่าเอ๊ะ ไม่ใช่นี่ ก็จะเกิดการต่อต้านขึ้น เป็นการขัดแย้งทางความคิดหรือขัดแย้งอะไรก็ตามเถอะ"
 

      ทุกสิ่งที่ถ่ายทอดจึงเกิดขึ้นจากประสบการณ์ ความคิด และทัศนคติที่สั่งสมมา กฤษณาอธิบายว่า คล้ายกับถ้าเกิดความบันดาลใจจากอะไรสักนิดก็จะหลั่งไหลออกมาเป็นเรื่องราวในนวนิยาย

      อาจเพราะทุกองค์ประกอบในโลกเสมือนจริงนั้น นี้คือสัจธรรมแห่งโลกจริง จึงไม่ทำให้คำว่าเชย ล้าสมัย ตกยุค กล้ากรายเข้าใกล้ผลงานของเธอ นวนิยายหลายเรื่องถูกแปลเป็นบทโทรทัศน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ให้หยิบอ่านได้จากรุ่นสู่รุ่น และหนึ่งในสิ่งที่ยังคมเสมอ ก็คือคำพูดของตัวละครที่ทั้งตรงและแทงใจคนอ่าน จน ณ เพชร สำนักพิมพ์ขอคัดเลือกมาไว้ในหนังสือชื่อเก๋อย่าง "วรรคเพชร"
 

      "เวลาเดินเรื่องจะมีบทสนทนาด้วย มีความรู้สึกนึกคิด อารมณ์รัก-โลภ-โกรธ-หลงอย่างเต็มเปี่ยมในทุกตัวละครที่มาปะทะกัน ก็ก่อให้เกิดความคิดตามมา" แต่ทุกความคิด ทุกคำพูด ไม่เคยทำให้คนอ่านรู้สึกว่านี่คือการเทศนาสั่งสอน ซึ่งคนเขียนบอกว่าเป็นเพราะคำพูดเหล่านี้มาอย่างถูกต้อง ถูกต้องในกาลเวลา เหตุการณ์ และบุคคล

     
      "ไม่ใช่การประดิดประดอยวางคำไว้ตรงนั้นตรงนี้ ถ้าไม่มีก็คือไม่มี ทั้งบทอาจไม่มีเลยก็ได้ ต้องเป็นเองตามท้องเรื่อง ตามสัญชาตญาณของมนุษย์ เป็นขั้นเป็นตอนไป ไม่ใช่ไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า บีบให้เป็น บีบให้พูด เชื่อไหมคะ ตอนที่เขียนเราไม่เคยรู้ตัวเลยว่าจะพูดว่าอย่างไร จะไปตามเหตุและผลของตัวละคร เรามีหน้าที่ปั้นและกลึง"

       กฤษณายังบอกอีกว่า หลายครั้งตัวละครยังสอนให้เธอคิดและแก้ปัญหาด้วยซ้ำ และถ้าเธอดึงดันจะให้ไปตามใจ ปากกาก็จะฝืด เมื่อทวนอ่านก็จะรู้สึกถึงความจืด เป็นเสมือนการวิจารณ์ตัวเองไปด้วยในตัว นอกจากวรรคเพชรแล้ว ขณะนี้เธอยังเพิ่มรวมเล่มนวนิยายขนาดสั้นแนวธรรมะเรื่อง "เสียงแห่งมัชฌิมยาม" ที่ใช้นามปากกาว่า "สไบเมือง" หลังจากได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้อ่านในนิตยสารสกุลไทย ซึ่งงามพรรณ เวชชาชีวะ เพิ่งจะแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ "The Call of Midnight hour"

 

        "นอกจากแนวชีวิต สังคม และประวัติศาสตร์ที่เคยคุ้นแล้ว ยังสนใจแนวโหราศาสตร์และธรรมะ โดยตั้งนามปากกาใหม่คือสไบเมือง ซึ่งอาจยังไม่ค่อยคุ้นหู ซึ่งเรื่องนี้ก็จะว่ากันด้วยศีลห้า ซึ่งแม้จะเป็นพื้นฐานแต่คนละเลยเยอะมาก โดยเฉพาะข้อสาม เพราะความรักความใคร่ไม่เข้าใครออกใคร แต่เป็นนิยายธรรมะแท้ๆ เลย"

 

      กฤษณายังเอ่ยด้วยรอยยิ้มอีกว่า ปรารถนาสูงสุดของเธอในวันนี้คือการเขียนนวนิยาย 2-3 ชิ้นก่อนสิ้นลม ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก เพราะหวังจะเขียนเรื่องของการเมืองไทย เล่าผ่านชีวิตคน 6ครอบครัว ที่มีอาชีพแตกต่างกันไป แค่หาข้อมูลก็เหนื่อยแล้ว อีกเรื่องคือศาสนา ที่ตั้งใจจะเขียนเป็นนวนิยายแนวศาสนาเปรียบเทียบ ผ่านเรื่องราวตั้งแต่ยุคที่พระพุทธเจ้ายังคงดำรงพระชนม์ชีพอยู่
 

      ไฟในการทำงานยังคงโชติช่วงเสมอ- ว่ากันว่าการก้าวมายังจุดที่เธอยืน ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยังมีบางสิ่งที่ยากกว่า นั่นคือการรักษาให้ยังคงอยู่ "อธิบายไม่ได้เหมือนกันว่าทำอย่างไร" เธอส่ายศีรษะ ก่อนจะบอก... "ทราบอย่างเดียวว่ามีศรัทธาที่จะทำงานนี้และมีจุดยืนที่มั่นคง มีอุดมคติที่ชัดเจนว่าจะทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้"
 

      ที่สำคัญอีกอย่างคือ เวลาเขียนหนังสืออย่านึกถึงเรื่องขาย "เพราะถ้าคิดแล้วจะเสื่อม" ก่อนขยายความว่า "เราเป็นนักเขียน งานของเราคืออาชีพก็จริง แต่เราต้องเอางานตามหน้า เอาเงินตามหลัง เงินได้แน่อยู่แล้ว ได้เท่าไหร่ไม่ต้องกังวล ถ้าคิดเอาเงินนำหน้างานจะเสื่อม อย่าทำเด็ดขาด"
 

       เจ้าตัวให้เหตุผลว่า การกระทำเช่นนั้นถือเป็นการดูถูกคนอ่าน "ถ้าเราทำของออกมาดี ใครก็อยากซื้อ อย่าดูถูกคนอ่านเป็นอันขาด เขาแยกออกอะไรดีไม่ดี" "ถ้าเราทำในสิ่งที่ดี ก็ย่อมได้สิ่งดีกลับมาเช่นกัน"

 

ที่มา : http://www.dek-d.com/board/view/1431559/

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ