กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ : หนังสือภาพแต่ละเล่ม คือโลกใบเล็กเพื่อเด็กๆ

กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์

กว่าจะมาเป็นนิทาน ไม่ใช่ง่ายๆ นะ ภาพวาดชวนฝัน และเรื่องราวอันเต็มไปด้วยจินตนาการในแต่ละหน้ากระดาษของหนังสือภาพสำหรับ เด็ก อาจถูกเปิดอ่านและจบลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับช่วงระยะเวลาอันยาวนานในการสร้างสรรค์หนังสือภาพแต่ละเล่มสำหรับ เจ้าตัวน้อย ซึ่งศิลปินหลายคนต่างรู้ดีและยังคงยินดีสร้างโลกใบเล็กเพื่อเด็กๆ อย่างละเมียดละไม

 

“การอ่านหนังสือทำให้ความคิดของเราลื่นไหลอย่างต่อเนื่อง และสามารถขยายผลเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้” เมื่อการ ‘อ่าน’ ผลิบานเป็น นัก ‘วาด’ รศ.เกริก ยุ้นพันธ์

‘อาจารย์เกริก’ อดีตเด็กสายวิทยาศาสตร์ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นนักอ่านตัวยง และมักวางหนังสือหลากหลายประเภทให้เห็นอยู่รอบบ้าน ซึ่งทั้งหมดแปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์เลือกเส้นทางเดินสู่สาย ศิลปะในช่วงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอาจารย์เกริก หรือ รองศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ เป็นอาจารย์ประจำ ขวัญใจของนักศึกษาสาขาวิชาเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์

กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์

 

“อาจารย์ไม่ได้มีพื้นฐานวาดรูปมาก่อน แต่รู้ตัวว่าจิตใจโหยหาการทำงานเกี่ยวกับศิลปะ ก็ต้องฝึกฝนหนักมาก และได้ตามศักยภาพที่เราเป็นแบบทุกวันนี้ อาจารย์ไม่ได้ศึกษาการวาดกายวิภาค และอนาโตมีแบบจริงจัง ดังนั้นงานของอาจารย์จะมีคาแรคเตอร์เฉพาะที่เป็นลักษณะตัวการ์ตูน ไม่มีโครงสร้างกระดูก หรือที่เรียกว่า ‘Naïve Art’ คือศิลปะที่คล้ายภาพวาดของเด็ก ซึ่งภาพวาดของอาจารย์ไปสอดคล้องตามหลักจิตวิทยาการมองเห็นภาพของเด็ก และเด็กๆ สามารถวาดตามได้ง่าย เหมือนเครื่องส่งกับเครื่องรับตรงกัน

จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของอาจารย์เกริกในวงการนี้คือ การได้รางวัล NOMA (Noma Concours for Picture Book Illustrations) ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ระดับโลกด้านภาพประกอบสำหรับหนังสือภาพ ที่ประเทศญี่ปุ่น ติดอันดับ 1 ใน 13 ศิลปินของประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก ซึ่งขณะนั้นอาจารย์เกริกเป็นนักศึกษาไฟแรงชั้นปีที่ 3 ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ อาจารย์เกริกสร้างสรรค์ผลงานหนังสือภาพสำหรับเด็กเกือบสองร้อยเล่ม และมีพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกริก ยุ้นพันธ์ ตามความตั้งใจสร้างพื้นที่แห่งจินตนาการให้เด็กๆ

 

กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์

 

 

หนังสือภาพสีสันสดใสจำนวนหลักร้อยของอาจารย์เกริกได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘การอ่าน’ ซึ่งเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญาที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ข่าว นิตยสาร วิชาการ จิตวิทยามนุษย์ ฮาวทู (How To) หรือแม้แต่หนังสือทางด้านการแพทย์ รวมทั้งเสพสื่อหลายอย่าง เช่น ดนตรี หนัง บทสนทนาของคนรอบตัว หรือแม้กระทั่งโฆษณาสามสิบวินาที รวมทั้งติดตามความสร้างสรรค์ของคนอื่นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ Eric Carle นักสร้างนิทานภาพชาวอเมริกันคนโปรดของอาจารย์

“ปกติอาจารย์จะมีสมุด 2 เล่ม แบบไม่มีเส้น เล่มหนึ่งใช้สำหรับสเกตช์ภาพที่ประทับใจ ส่วนอีกเล่มหนึ่งเป็นที่เก็บความคิดจากนิตยสารหรือข่าวต่างๆ อาจารย์จะติดกระเป๋าไปทำงานตามที่ต่างๆ พร้อมกับสีไม้ สีน้ำ ปากกาดำ ดินสอ ยางลบ กระดาษ พู่กัน ที่ใส่น้ำสำหรับล้างพู่กัน กระดาษไซส์ต่างๆ สำหรับทำต้นฉบับ แต่ถ้านั่งทำงานบนโต๊ะ โต๊ะต้องเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ไม่เช่นนั้นสมองจะไม่โล่ง” ในฐานะคนทำหนังสือภาพสำหรับเด็กที่โลดแล่นอยู่ในวงการยาวนานกว่าสามสิบปี อาจารย์เกริกมองว่าการทำหนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจและคำนึงถึงหลายส่วน

 

กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์

 

“เราทำหนังสือให้เด็กๆ ก็ต้องนึกถึงเด็ก เนื้อเรื่องต้องเหมาะกับเด็ก สร้างสรรค์ รูปเล่มและภาพต้องดูสะอาด สวยงาม ขั้นตอนการผลิตหนังสือภาพสำหรับเด็กเหมือนการสร้างหนังการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์เรื่องหนึ่ง ที่ตอนจบจะมีเครดิตคนทำงานเบื้องหลังหลายร้อยคน เช่นเดียวกับหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ไม่ได้จบแค่การวาดรูป มันซับซ้อนกว่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเป็นคนสร้างนิทานภาพสำหรับเด็กและไม่ควรมอง ข้าม คือ ‘ความรักเด็ก’ ถ้าคุณเป็นคนไม่ชอบเด็ก ต้องปรับตัวปรับใจเลย ไม่อย่างนั้นก็ถือว่าคุณสอบตกเรื่องการเป็นคนทำหนังสือภาพสำหรับเด็กตั้งแต่ ก้าวแรก”

 

กว่าจะมาเป็นนิทานของอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์

 

ที่มา : http://zzzmagazine.wordpress.com/2014/11/16/กว่าจะมาเป็นนิทานของอา/

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ