บรรณารักษ์ชวนรู้: ศุกร์ที่ ๑๓ : ลองพลิกปฏิทินดูแล้วพบว่าปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ มีวันศุกร์ที่ ๑๓ อยู่ถึงสามหนเลยทีเดียว เลยขอนำเรื่องราวของวันศุกร์ที่ ๑๓ มาเล่าสู่ถึงกัน

บรรณารักษ์ชวนรู้: ศุกร์ที่ ๑๓

วันพรุ่งนี้จะเป็นวันศุกร์ที่ ๑๓ … อันที่จริงก็ไม่สลักสำคัญอะไรสำหรับชาวไทยเราหรอกครับ แต่ด้วยอิทธิพลของสื่อต่างๆ มากมาย ทำให้หลายคนพลอยเคลิ้มไปกับคติความเชื่อของชาวตะวันตก ว่าวันศุกร์ที่ ๑๓ ถือเป็นวันไม่มงคล ทั้งที่ถ้าลองซักดูแล้วหลายคนก็ไม่รู้ที่มาที่ไปด้วยซ้ำ ลองพลิกปฏิทินดูแล้วพบว่าปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ มีวันศุกร์ที่ ๑๓ อยู่ถึงสามหนเลยทีเดียว เลยขอนำเรื่องราวของวันศุกร์ที่ ๑๓ มาเล่าสู่ถึงกัน

ถ้าลองค้นคว้าดูจะพบว่ามีข้อมูลมากมายทีเดียวกับ แต่ในที่นี้ขออนุญาตหยิบเอางานของ อาจารย์ ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ แห่ง สวทช. มาเรียบเรียงให้ย่อยกันง่ายๆ

 

บรรณารักษ์ชวนรู้

 

แล้วทำไมต้องเป็นวันศุกร์ที่ ๑๓ ? เอาที่วันศุกร์ก่อนนะครับ ตามที่เราได้ยินมาบ่อยๆ คือชาวคริสต์เชื่อกันว่า วันศุกร์เป็นวันที่พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน หากย้อนกลับไปในตำนานของชาวคริสต์ก็เชื่อกันอีกว่า วันที่อดัมกับอีฟกินผลไม้ต้องห้ามเป็นวันศุกร์ น้ำท่วมโลกก็วันศุกร์ วันที่มนุษย์ถูกพระเจ้าสาปเพราะสร้างหอบาเบลก็วันศุกร์ วิหารโซโลมอนถูกทำลานก็วันศุกร์ วันศุกร์เลยกลายเป็นวันซวยเสียอย่างนั้น

วันศุกร์ หรือ Friday มีความเกี่ยวพันกับสตรีเพศ นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า Friday คือ วันบูชาเทพี แล้ววัฒนธรรมของกรีกและโรมันที่ขจายไปทั่วยุโรปก็ยกย่อง วีนัส เป็นเทพแห่งความงาม ความรัก ซึ่งก็เป็นสตรี หนำซ้ำ Venus ก็ยังหมายถึงดาวศุกร์ หนึ่งในดาวเคราะห์แห่งระบบสุริยจักรวาล

ในสังคมที่บุรุษเพศเป็นใหญ่ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้มานมนานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว การจะปล่อยให้เทพีมามีบทบาทเหนือเทพก็คงจะกระไรอยู่ จึงเชื่อกันว่าการ “กล่าวหา” ว่าวันศุกร์เป็นวันไม่มงคล นัยว่าจะได้ลดความนิยมของเทพีลงไปบ้าง และในสมัยโรมันเรืองอำนาจ เขาก็กำหนดให้วันศุกร์เป็นวันแขวนคอนักโทษ สรุปว่าวันศุกร์ของชาวคริสต์จึงเป็นวันไม่มงคลไปเสียอย่างนั้น จะทำงานทำการอะไรก็มักจะเลี่ยงวันซวยนี้ไป

 

บรรณารักษ์ชวนรู้

ภาพ The Last Supper โดย Carl Bloch
(ภาพจาก wikipedia)

 

ขณะที่เลข ๑๓ ก็คือเลขซวยควบคู่กับวันศุกร์ จากความเชื่อที่เราคุ้นเคยว่า เลข ๑๓ หมายถึงอัตรสาวกคนที่ ๑๓ คือ ยูดาส อิสคาริโอต (Judas Iscariot) ที่ทรยศพระเยซูด้วยการชี้ตัวให้กับทหารโรมันจนพระองค์ถูกจับไปทรมาน แต่นอกจากตำนานนี้ก็ยังมีอีกหลายความเชื่อเกี่ยวกับเลข ๑๓ อย่างชาวไวกิ้งจะถือว่าเลข ๑๓ หมายถึง โลกิ (Loki) เทพฝ่ายมารที่มักก่อเรื่องวุ่นวายเสมอ โดยครั้งหนึ่งทวยเทพของไวกิ้งชึมนุมกับ ๑๒ องค์ โดยโลกิไม่ได้รับเชิญ โลกิจึงออกอาละวาดและยังก่อให้เกิดชนวนสงครามครั้งใหญ่อีกด้วย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ดูแปลก ๆ ก็คือคนส่วนใหญ่เห็นว่าเลข ๑๒ เป็นเลขดี เพราะอิงกับธรรมชาติอย่าง ๑ ปี มี ๑๒ เดือน รอบวันและรอบคืนก็ ๑๒ ชั่วโมง รอบนักษัตรมี ๑๒ ปี เทพเจ้าบนเขาโอลิมปัสมี ๑๒ องค์ ฯลฯ แต่พอถึงเลข ๑๓ ก็มองว่าเป็นเลขส่วนเกิน ก็น่าแปลกว่าแล้ว ๑๔ ๑๕ ๑๖ … ทำไมไม่พลอยโดนหางเลขไปด้วยก็ไม่ทราบ

มาในโลกยุคใหม่ ความเชื่อเรื่องวันศุกร์ที่ ๑๓ ก็ถูกตอกย้ำด้วยสื่อต่างๆ ที่มีอิทธิพลอย่างมาก เช่น สื่อภาพยนตร์ Friday the 13th คือตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมาก หรือกระทั่งนิยายขายดีในยุคหลังอย่าง Da Vinci Code ของ Dan Brown ก็ยังเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องวันศุกร์ที่ ๑๓ ซึ่งผู้ชมมากมายต่างเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง ทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจสอบค้นคว้าเสียด้วยซ้ำ

ดร. นำชัย ยังยกเอางานวิจัยมาอ้างถึงด้วยว่าความเชื่อเกี่ยวกับวันศุกร์ที่ ๑๓ นั้นก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้างกับชีวิต ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนทำวิจัยเรื่องนี้จริงๆ และยิ่งไม่น่าเชื่อว่ามันมีอิทธิพลกับวิถีชีวิตมนุษย์จริงๆ เสียด้วย อย่างเช่นบทความ Is Friday the 13th bad for your health? ตีพิมพ์ลงในวารสาร British Medical Journal เมื่อปี ๑๙๙๓ ซึ่งพยายามหาคำตอบว่าวันศุกร์ที่ ๑๓ มีผลต่อสุขภาพของเราหรือไม่

ก็หวังว่าทุกท่านคงไม่งมงายไปกับความเชื่อเหล่านี้นะครับ ความโชคร้ายหรือโชคดีนั้นคงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าเป็นวันอะไร แต่ขึ้นอยู่กับตัวของเรามากกว่า ท่านที่สนใจบทความชุดนี้สามารถหาอ่านแบบเต็มๆ ได้จากนิตยยสาร “สารคดี” ดร. นำชัย นำเสนอไว้สามตอน ตีพิมพ์ต่อเนื่องในฉบับที่ ๓๕๔ (เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗) ฉบับที่ ๓๕๕ (เดือนกันยายน ๒๕๕๗) และฉบับที่ ๓๕๖ (เดือนตุลาคม ๒๕๕๗) ในคอลัมน์ วิทย์ (ทด) ลองของ

 

(ทั้งสามฉบับนี้มีให้บริการที่ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข แผนกวารสาร)
บทความ Is Friday the 13th bad for your health? ใน British Medical Journal

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ