ปุลากง : ปุลากง...สงครามกับความรัก

ปุลากง

หากจะให้กล่าวถึงนิยายรักโรแมนติก ในห้องสมุดหรือในร้านขายหนังสือคงมีมากกว่าล้านเล่ม แต่ถ้าจะให้กล่าวถึงนิยายรักที่สนุก จำนวนหนังสือมากกว่าล้านก็คงจะลดลง หากลองเปลี่ยนคำถามใหม่เป็นนิยายรักโรแมนติกที่ที่ชีวิตนี้คุณต้องหาอ่านให้ได้สักครั้งในชีวิต จำนวนหนังสือจะลดลงเหมือนเส้นกราฟของหุ้นที่ดิ่งลง “ดอกฟ้ากับหมาวัด”เป็นพล็อตเรื่องที่ถูกนิยมมากที่สุดในบรรดานักเขียนและนักอ่าน เพียงแค่สถานที่ ตัวละคร และประเด็นหลักเท่านั้นที่ต่างกันออกไป แต่ทว่า“ปุลากง”หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพียงแค่ชื่อหนังสือของนวนิยายเล่มนี้คุณต้องฉงนเป็นแน่ มันช่างเปี่ยมไปด้วยความพิศวง และพนันได้เลยว่าน้อยครั้งนักที่คุณจะได้ลิ้มรสชาติของความรักท่ามกลางสงคราม

ปุลากงที่อยู่ในมือผมนั้นตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2536 เขียนโดยคุณโสภาค สุวรรณ นักเขียนมากฝีมือ หน้าปกของหนังสือนวนิยายเล่มนี้มีชื่อเรื่องเป็นตัวหนังสือสีเหลืองขนาดใหญ่ และมีฉากหลังเป็นแนวตลิ่งและสายน้ำ บรรยากาศของมันบอกได้ว่าอยู่ในช่วงพระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า ปุลากงเคยได้รางวัลชมเชยประเภทนวนิยายมาแล้ว จากการประกวดหนังสือในงานครบรอบ 100 ปีของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แต่เพียงแค่คุณได้เห็นชื่อเรื่องของนวนิยายเล่มนี้ ไม่ต้องไปหารางวัลใดมาการันตีเพื่อที่จะได้มีข้ออ้างในการอ่านหนังสือเล่มนี้จะดีกว่า ปุลากงเป็นชื่อที่พิศวงและชวนสงสัยยิ่งนัก คุณจะไม่ได้รู้คำนิยามหรือความหมายของมันจากพจนานุกรมเป็นแน่ ปุลากงเป็นต้นกำเนิดทั้งหมดของนวนิยายเล่มนี้

ในบทแรกนั้นกล่าวถึงพระเอกของเรื่องที่อยู่ในฐานะลูกเมียน้อยของเศรษฐีที่อาศัยอยู่ร่วมรั้วเดียวกันกับบรรดาเมียหลวงและลูกๆ ชีวิตของพระเอกนั้นเขามักจะเปรียบเทียบตนเองกับบรรดาลูกเมียหลวงคนอื่นๆอยู่เสมอ ในสายตาของชาวบ้านเขาดูมีพร้อม มีศักดิ์ด้วยนามสกุลของพ่อ แต่ความจริงนั้นเขาอยากถอดนามสกุลของเขาทิ้งเสียเหลือเกิน เมื่อเขาโตขึ้นเขาจะออกจากบ้านหลังนั้น แล้วจะต้องได้ดีกว่าใครๆ เห็นได้ว่าพระเอกของเรื่องนี้นั้นมีความมุ่งมั่นและอดทน รอคอยวันใดวันหนึ่งอยู่เสมอ เรืองการคบหาชู้นั้นในอดีตกฎหมายคงทำลายคนสูงศักดิ์ไม่ได้ แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมที่จะทำเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน กฎหมายยังคงเอาผิดไม่ได้ แต่สังคมจะเป็นคนสอยให้เอง นางเอกของเรื่องเป็นเพียงเด็กสาวข้างบ้านเท่านั้น ในช่วงแรกๆผู้เขียนไม่กล่าวอะไรถึงหล่อนมากนัก พลางทำให้นึกว่าหล่อนเป็นเพียงแค่ตัวประกอบ แต่หญิงสาวพิการที่เป็นลูกเมียหลวงและสนิทกับพระเอกมากทีสุดนั้นดูเหมือนนางเอกเสียมากกว่า

ปุลากงเป็นตำบลในจังหวัดปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย สถานที่ซึ่งตำรวจหนุ่มและพัฒนากรสาวปลูกต้นรักร่วมกันท่ามกลางสงคราม ทั้งสองเป็นคนที่ยึดคติเดียวกันที่กล่าวว่า “หน้าที่ของตำรวจคือรักษาชาติบ้านเมือง ไม่ใช่นอนกินเงินข้าราชการ” ตำรวจหนุ่มได้กล่าวไว้ พัฒนากรสาวได้กล่าวว่า “นักพัฒนาการเป็นผู้ที่พัฒนาท้องถิ่นให้เจริญ หากมัวแต่ทำงานในห้องแอร์ แล้วชาติจะเจริญได้อย่างไร” ในส่วนนี้ผู้เขียนทำไว้ดีมาก กล่าวถึงสังคมทีเห็นได้ชัดในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่าทุกวันนี้โลกของเราเต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว เกียรติยศชื่อเสียงมีไว้เพื่อเป็นฉากกั้นหน้า

ผู้เขียนบรรยายให้เห็นถึงความเป็นชนบทโดยแท้จริง ทุกครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึงวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมในปุลากงจะสามารถทำให้เราเห็นภาพและรู้สึกตื่นเต้นไปกับจินตนาการของตนเอง อย่างเช่นในฉากหนึ่งเขียนว่าเวลาปวดท้องแล้วต้องวิ่งเข้าป่า เหตุไฉนใน พ.ศ.2520 ตำบลทั้งตำบลช่างล้าสมัยและไม่มีส้วมใช้อย่างนี้ พัฒนากรสาวก็ต้องเสกส้วมให้พวกเขาได้เห็นกันสักหน่อยว่ามันมีความจำเป็นมากแค่ไหน ในช่วงแรกที่พัฒนากรสาวเข้าไปอยู่ร่วมกับชาวบ้านนั้นค่อนข้างลำบาก แต่ผู้เขียนได้แทรกความอบอุ่นจากครอบครัวผู้นำหมู่บ้าน ที่มีตัวละครเด็กซึ่งเป็นลูกของผู้นำหมู่บ้านเป็นตัวเชื่อม พัฒนากรสาวเริ่มงานด้วยการสอนภาษาไทยให้ชาวบานสำนึกรักบ้านเกิดเมืองนอน เพราะชาวปุลากงส่วนใหญ่มักคิดว่าพวกเขาเป็นคนนอกประเทศรูปขวาน ในส่วนนี้ผู้เขียนต้องการให้ชาวปุลากง เปรียบเสมือนชาวสยามทั้งแผ่นดิน ปัจจุบันนี้เคารพรักบ้านเกิดค่อนข้างเลือนลางและจางหายไปจากประเทศ ชาวใต้จำนวนมากเมื่อเวลา 8 นาฬิกา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน เมื่อเพลงชาติไทยเริ่มบรรเลง พวกเขาจะหยุดนิ่งและร้องเพลงชาติอย่างสุดเสียงโดยอัตโนมัติ พัฒนากรสาวหล่อนค่อยๆสอดแทรกเข้าไปในจิตใจของแต่ละคน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กระซิบบอกหัวใจของพวกเขา

เรื่องมาเร้าใจให้ตื่นเต้นระทึกปนหวานหวามใจ เมื่อตำบลปุลางถูกจัดฉากให้เป็นทางผ่านของชุมโจร ซึ่งที่ตำรวจหนุ่มได้มาประจำการที่ตัวอำเภอ ทั้งคู่ตกหลุมรักกันแต่พยายามบอกตัวเองเสมอว่ามันไม่ใช่ความจริง ความรักท่ามกลางบรรยากาศกองโจร ปล้น ฆ่า ข่มขืน...ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แต่งแสดงให้เห็นว่าสังคมที่กลุ่มคนเข้ากันไม่ได้พวกเขาพยายามเรียกร้องปลุกให้ชาวบ้านคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนไทย ในสมัยก่อนนั้นอาจเป็นเพียงกลุ่มโจร แต่ปัจจุบันพวกนั้นมีเป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้น มีทั้งระเบิด ปืน ปล้นสะดมอาวุธจากทางการต่างๆ... เหตุการณ์ชวนให้ติดตามว่าเหตุใดพวกเขาถึงมารุกรานบ้านเกิดของเรา ทั้งๆที่มันเป็นแผ่นดินของคนไทย

ผู้แต่งบรรยายเหตุการณ์ดำเนินเรื่องด้วยภาษาร้อยแก้วที่สวยงาม แต่พิเศษคือมีการแทรกการเดินเรื่องด้วยการเขียนจดหมาย เช่น วีรุทย์ เพื่อนสนิทของหนูตุ่น(นางเอก) ได้ใช้จดหมายส่งข่าวถึงกันนอกจากจะเป็นการกระชับเรื่องแล้ว ยังเป็นการสะท้อนค่านิยมสมัยก่อนที่มีการสื่อสารโต้ตอบกันด้วยการเขียนจดหมาย ผู้แต่งยังได้สอดแทรกค่านิยม ข้าราชการไทยบางส่วนที่หลงอำนาจ เช่น ...หล่อนเคยเห็นอาการหวาดหวั่นกลัวเกรงที่ชาวบ้านมีต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งสำคัญผิดคิดว่าตนเป็นบุคคลชั้นพิเศษเหนือกว่ามวลชนเหล่านั้น...

ผู้แต่งใช้ภาษาบรรยายได้อย่างเห็นภาพตลอดเรื่อง มีการใช้สำนวนสอดแทรกเป็นระยะ เช่น ตอนหนูตุ่นยังเด็กได้พูดถึงเข้ม(พระเอก) ว่า “...หน้างอยังกับม้าหมากรุก ที่บ้านไม่มีใคร ผมมารับคุณพี่...” ผมเห็นบุคลิกของเข้มได้ชัดเจน ส่วนประโยคหลังแทบจะเห็นสีหน้าล้อเลียนของหนูตุ่นจนต้องยิ้มตาม ผู้แต่งได้ใช้โวหารอุปมาได้อย่างเห็นภาพ เช่น หลังจากเหตุการณ์ที่เข้มได้ถูกคุณฉะอ้อนไล่กลับ... เขาเม้มปากแน่นดวงตาทั้งคู่เหมือนมีเพลิงสุมเอาไว้... แทบทำตาราวกับเสือโคร่งจะตะครุบเหยื่อ... และตอนที่มูเนาะทราบข่าวการเสียชีวิตของวีรุทย์... มูเนาะแข็งทื่อเหมือนกับหลักศิลา... หรือแม้กระทั่งบทที่อาจทำให้หญิงสาวรู้สึกเขินอายไปด้วย... หล่อนรู้สึกเองว่าเบาหวิวเหมือนปุยนุ่นที่ลอยละล่องอยู่ในอากาศ...

ผมได้อ่านหนังสือหลายเล่ม บางเล่มอ่านครึ่งเล่มก็วาง บางเล่มอ่านได้เพียงบทเดียวก็ปล่อย ส่วนบางเล่มก็ปล่อยให้ที่คั่นหนังสือทำหน้าที่ของมันไปตลอดกาล แต่สำหรับปุลากงมันพิเศษกว่าเล่มอื่นๆ มันสะกดและโปรยเสน่ห์ใส่ผมดั่งกับผู้เสื้อปล่อยฟีโรโมน เพียงแค่ชื่อเรื่องเท่านั้นที่ทำให้ผมต้องหยิบมันขึ้นมาอ่าน มันแอบหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องสมุดมุมเก่าๆที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน ในแต่ละบทถูกเรียบเรียงมาอย่างดี ชวนให้คุณติดตามว่าบทต่อไปจะเป็นอย่างไร พร้อมกับเรียนรู้วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่แตกต่าง ซึ่งนับได้ว่าน่าพิศวงชวนประหลาดใจยิ่งนัก ปุลากงจึงเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับการอ่านฆ่าเวลาอย่างยิ่ง

 

นายเอกวิชญ์ ท่อนแก้ว

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ