เทคนิคเล่าเรื่องให้เห็นภาพ : ประสบการณ์ของคนทั่วไปมักเชื่อมโยงกับภาพที่ตามองเห็น

เทคนิคเล่าเรื่องให้เห็นภาพ

ประสบการณ์ของคนทั่วไปมักเชื่อมโยงกับภาพที่ตามองเห็น ความรู้สึกบางอย่างสามารถถ่ายทอดผ่านทางสายตาได้โดยตรง เหมือนงานศิลปะภาพวาดที่รับชมผ่านประสาทสัมผัสทางสายตาก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวร้อยแปดพันประการได้ เช่นเดียวกับการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร เราสามารถสร้างภาพขึ้นในใจของผู้อ่าน การใช้ทักษะสร้างภาพให้ผู้อ่านเห็นตามเป็นเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งที่นักเขียนต้องมี

เทคนิคเล่าเรื่องให้เห็นภาพ

 

แต่เทคนิคการสร้างภาพขึ้นในใจผู้อ่าน ไม่ได้หมายถึงการบอกเล่าแสงสีเพียงอย่างเดียว ควรรู้ว่าสมองของคนเราเก็บข้อมูลด้วยกลุ่มเซลล์ประสาท แต่ละกลุ่มมีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย ดังนั้นการเก็บข้อมูลของคนเราจึงมีลักษณะเชื่อมโยงกันอิงต่อกันเป็นระบบความสัมพันธ์ เช่นเมื่อเราพบคำว่าน้ำ เราอาจจะนึกถึงการอาบน้ำ เมื่อนึกไปถึงการอาบน้ำก็จะนึกถึงฝักบัว ห้องน้ำ ท่อน้ำ เชื่อมโยงต่อกันเป็นทอด สมองของเราสร้างแผนที่ของเครือข่ายคีย์เวิร์ดที่มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยประมาณนี้

สรุปได้ว่าสมองของเราสร้างความทรงจำได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆเป็นเครือข่าย เมื่อระลึกสิ่งหนึ่งก็จะโยงไปหาสิ่งใกล้เคียงทำให้เราจำสิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้น เคยมีวิศวกรคนหนึ่งทำการเก็บข้อมูลของลูกชายของตัวเองว่าทำไมจึงพูดคำว่า “น้ำ” เป็นคำแรก เขาได้ติดตั้งเครื่องบันทึกเสียงไว้รอบบ้านและทำการซิมูเลตข้อมูลเป็นกราฟ ทำให้พบว่าน้ำเป็นคำที่กล่าวใกล้กับตู้เย็นบ่อยที่สุด สมองลูกชายของเขารู้จักคำว่าน้ำผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับตู้เย็นโดยตรงนั่นเอง

การรู้ถึงวิธีเก็บข้อมูลของสมองคือหัวใจหลักของเทคนิคการเล่าเรื่องให้เห็นภาพ บางครั้งการเล่าเรื่องด้วยคีย์เวิร์ดตรงๆ อาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ให้ผู้อ่านคิดตาม ดังนั้นเทคนิคข้อที่หนึ่งของเทคนิคสร้างภาพให้ผู้อ่านเห็นชัดคือ ทำให้ผู้อ่านคิดตาม ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่าสมชายใส่เสื้อสีเขียว การบอกข้อมูลเพียงเท่านี้อาจจะดีในแง่ความกระชับของประโยค แต่ถ้าเราต้องการเน้นสีเขียวให้ผู้อ่านเห็นภาพตาม มันจะกลายเป็นตัวอย่างที่ยอดแย่ เพราะลำพังคำว่าสีเขียวนั้นไม่สามารถสะกิดใจให้ผู้อ่านคิดตามได้ เพราะมันก็ “แค่” สีเขียว เป็นคีย์เวิร์ดทั่วไป อ่านผ่านตาแล้วก็ผ่านไป ไม่ช่วยสร้างความจดจำแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะใช้เทคนิคความสัมพันธ์เข้ามาช่วย เช่น ใส่เสื้อสีเขียวเหมือนใบหญ้า นี่เป็นการบอกเป็นนัยว่า นี่คือคีย์เวิร์ดสำคัญ เราได้ป้อนข้อมูลให้สมองผู้อ่านระลึกไปถึงต้นหญ้าโดยอัตโนมัติ ไม่ทำให้คำว่าสีเขียวเป็นเพียงแค่ข้อมูลผ่านตา เพราะสมองได้ถูกกระตุ้นให้ทำงานนั่นเอง

เทคนิคข้อที่สอง เน้นทีละอย่าง เพราะว่าเมื่อสมองเจอคีย์เวิร์ดสำคัญหนึ่งอย่าง มันจะอ้างอิงไปถึงสิ่งข้างเคียงที่เราเคยสร้างความสัมพันธ์ไว้ ขึ้นอยู่กับจำนวนที่สมองสร้างแผนที่ไว้ เช่นคำว่าน้ำ สามารถอ้างอิงได้กับ แก้วน้ำ ห้องน้ำ แปรงฟัน ตู้เย็น ขวดน้ำ ท่อน้ำ อ่างน้ำ แม่น้ำ คลอง ฯลฯ คนที่ฉลาดจะสร้างเครือข่ายจากคีย์เวิร์ดหนึ่งคำได้มากกว่าคนทั่วไป และถ้าเราเจอคีย์เวิร์ดที่สำคัญสองอย่าง สมองก็จะทำงานมากขึ้นเป็นสองเท่า และทบทวีขึ้นตามจำนวนคีย์เวิร์ดสำคัญ ดังนั้นปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อเจอคีย์เวิร์ดสำคัญมากเกินไปก็คือความสับสนนั่นเอง เราควรทำให้สมองของผู้อ่านสร้างความจดจำอย่างเป็นระบบ ถ้าเราป้อนคีย์เวิร์ดที่ไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันมากเกินไป จะทำให้สมองของผู้อ่านเกิดอาการรวนแทน ยกตัวอย่างเช่น “สมชายใส่เสื้อสีเขียวเหมือนต้นหญ้า กางเกงสีแดงเหมือนผ้าคลุมซุปเปอร์แมน ถุงเท้าสีดำราวกับใส่ไปงานศพ ใส่แว่นอันใหญ่เท่าตึก มีเนคไทลายดัมเมเชี่ยน” ลองเดาไหมว่าสมองจะจำอันไหนก่อน หรือมองผ่านไปเลยจะง่ายกว่า

เทคนิคข้อที่สาม สร้างภาพเกินจริง เป็นเทคนิคที่ช่วยเสริมเทคนิคข้อแรกให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยพิจารณาถึงความสำคัญของคีย์เวิร์ด ถ้าคีย์เวิร์ดนั้นสำคัญมากๆ และอยากเน้นให้โดดเด่นเป็นพิเศษ การสร้างภาพเกินจริงก็เป็นเทคนิคพื้นฐานที่ใช้ได้ดี อย่างเช่น สมชายใส่เสื้อสีเขียว เราสามารถสร้างภาพเกินจริงได้ว่า สมชายใส่เสื้อสีเขียวจนนึกว่า Hulk มายืนต่อหน้า ทำให้ประโยคมีความน่าสนใจตามสมัยนิยมมากขึ้นทีเดียว แต่เทคนิคข้อนี้มีเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงสิ่งที่นำมาขยาย นั่นคืออารมณ์ของเรื่อง การสร้างภาพเกินจริงไม่ควรทำให้อารมณ์ของเรื่องเสียไป เช่น ฉันรู้สึกเศร้า ถ้าเราขยายว่าฉันรู้สึกเศร้าจนอยากเอาหัวชนเต้าหู้ตาย ผู้อ่านจะรู้สึกได้ทันทีว่านี่คือเรื่องตลก ไม่ใช่เรื่องเศร้าอย่างที่เราตั้งใจแต่แรก การสร้างภาพเกินจริงควรคำนึงถึงอารมณ์เป็นอันดับแรก

เทคนิคข้อสุดท้าย ข้อมูลสัมพันธ์ พึงรู้ไว้ว่า ตัวหนังสือก็คือตัวหนังสือ เราไม่สามารถทำให้ตัวหนังสือกลายเป็นภาพได้อย่างสื่อประเภทรูปถ่ายหรือภาพยนตร์ ถึงแม้มันจะเป็นข้อด้อยของการเขียนหนังสือ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรกลบมันให้มิดด้วยการพยายามสร้างภาพจนเกินความจำเป็น แต่ควรหยิบเอาข้อดีของการเขียนหนังสือขึ้นมาสร้างให้เป็นภาพแทน ภาพที่ว่าก็คือข้อมูลความสัมพันธ์นั่นเอง

ตัวหนังสือมีข้อดีอย่างที่สื่ออย่างอื่นไม่มี นั่นคือกระตุ้นการทำงานของสมองโดยตรง ตัวหนังสือทำให้สมองต้องทำงานวิเคราะห์และตีความ ยิ่งเราใส่ข้อมูลที่ทำให้สมองทำงาน(อย่างเป็นระบบ) ผู้อ่านก็ยิ่งมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวของเรามากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สมชายใส่เสื้อสีเขียว สมชายเป็นนักอนุรักษ์ เขารักการปลูกต้นไม้ เขาชอบไปเที่ยวป่าเพื่อเสพบรรยากาศสดชื่น สีเขียวของต้นไม้ทำให้สมชายรู้สึกสบายใจ ด้วยเหตุนี้สมชายจึงไม่เคยสวมเสื้อสีอื่นนอกจากสีเขียว บางครั้งถ้าเขายืนนิ่งพอ เราอาจจะตาฝาดจนมองเป็นต้นไม้ไปเลยก็ได้

จากตัวอย่าง เราจะเห็นได้ว่าสีเขียวไม่ได้เป็นเพียงแค่สีเสื้อ แต่สามารถใช้เป็นข้อมูลที่บอกถึงปูมหลังตัวละครผ่านการเชื่อมโยงระหว่างสีเสื้อกับคาแร็คเตอร์ ทำให้สีเขียวมีความสตรองมากขึ้น(และจะสตรองมากขึ้นถ้าใช้เทคนิคสร้างภาพเกินจริงเข้ามาช่วย) และนี่คือข้อดีของตัวหนังสือ นั่นเราสามารถสอดแทรกคีย์เวิร์ดที่เราต้องการเข้ามาในประโยคได้ดังใจ และจะดียิ่งขึ้นถ้าคีย์เวิร์ดนั้นสอดรับกันและกัน สร้างความจดจำให้กับสมองของผู้อ่านง่ายยิ่งขึ้น

การใช้เทคนิคเล่าเรื่องให้เห็นภาพ สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่านหนังสือมากๆ และนอกจากนี้ต้องเข้าถึงกระแสสมัยนิยมอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างคีย์เวิร์ดใหม่ๆให้ผู้อ่านเกิดความสนใจและมีความเข้าใจไปพร้อมกัน หวังว่าเทคนิคการสร้างภาพด้วยตัวอักษรนี้จะมีประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่าน สวัสดี

 

บทความ :โชติระวี โสภณสิริ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ