ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ตอนที่1 : ‘ร้านหนังสือในสวนดอกไม้’ ของ คู่รักนักอ่าน ตอนที่1

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ตอนที่1

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

ความคึกคักของร้านหนังสืออิสระเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นร้านหนังสือเล็กๆ ของประชาสังคมคนอ่านหนังสือที่กำลังขยายตัวในชุมชนท้องถิ่น สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นปี 2556 ได้สร้างปรากฏการณ์ความตื่นตัวของร้านหนังสือเหล่านี้

‘ร้านหนังสือในสวนดอกไม้’ หรือ ‘ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย’ ในจังหวัดอุบลราชธานี ก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในร้านหนังสือที่สามารถดึงดูดนักอ่านผ่านกิจกรรมของร้านในช่วงนั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นที่รู้จักของนักอ่านและคอหนังสือมากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น มาสัมผัสกับจิตวิญญาณของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ที่ไม่ได้อเกิดขึ้นได้จากคนๆ เดียว แต่เป็นคนคู่ที่มีฝันเดียวกัน นั่นคือ วิทยากร+ศินีนาฏ โสวัตร

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียเกิดขึ้นมา เพราะเป็นฝันของศินีนาฏ แต่ด้วยหน้าที่การงานที่รับราชการเป็นพยาบาลจึงไม่อาจสร้างมันขึ้นมาได้ ส่วนทางวิทยากรนั้น เรียนมาทางพืชสวน (ไม้ดอกไม้ประดับและจัดสวน) และฝันแค่จะเป็นคนเขียนหนังสือที่อยู่เงียบๆ เท่านั้น แต่ที่มาเป็นคนดูแลและสร้างสรรค์กิจกรรมร้านก็เพราะต้องการทำความฝันของหญิงสาวคนรักให้ปรากฏเป็นจริง นอกจากพื้นฐานความรักแล้ว ทั้งสองยังมีสิ่งที่เชื่อมกันอย่างมั่นคงคือ หนังสือ กาแฟ และยังนิยมเข้าร้านทั้งสองประเภทนี้ด้วย รวมทั้งต้นไม้ ดอกไม้ และการเดินทาง

+ ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียในรูปโฉมใหม่ ซึ่งย้ายทำเลใหม่ อยากให้เล่าความเป็นมา และเหตุผลทำไมจึงย้ายจากที่เก่า

วิทยากร : ที่ร้านเดิมไม่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ เพราะเขาเทคอนกรีตจากตัวร้านไปสุดร่องน้ำ ซึ่งเป็นที่ของทางหลวง เราเลยทำซุ้มปลูกดอกพวงแสดปลูกตรงขอบร่องน้ำนั่นแหละ และทำระเบียงและสะพานเชื่อมจากซุ้มไปถนนใหญ่ ประมาณปีที่สอง พวงแสดก็คลุมซุ้มและบานในฤดูหนาวและก็เลื้อยไปตามราวระเบียง ช่องว่างระหว่างใบและเครือของดอกไม้ก็ให้แสงส่องผ่านได้กลายเป็นร่มรำไร เรามองว่ามันเป็นจุดสะดุดตาจุดเดียวของตึกแถวโซนนี้และผู้คนก็หันมองและมาถ่ายรูป เราเองเวลาอยู่ในร้านมองออกไปนอกร้านแทนที่จะเห็นแต่ถนนโล่งๆ และรถราที่วิ่งเร็วก็เห็นความงามของต้นไม้นี้ก็รื่นรมย์ไม่แห้งแล้ง

มาปีที่สามพื้นที่ตรงนั้น เขาแบ่งมรดกกันชัดเจน คนที่ได้กรรมสิทธิ์ตรงนี้เป็นคนดีอย่างน้อยเขาก็แสดงตัวว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม เพราะเวลาพูดคุยกันก็มักอ้างถึงหลักธรรมข้อนั้นข้อนี้และโยงกับที่ตัวเองปฏิบัติ และเป็นคนมีศิลปะ เห็นได้จากแรกๆ เอากระเป๋าผ้าเพ้นท์ลายดอกไม้มาฝากเราขายด้วย และบอกว่าก่อนนี้ก็ทำส่งโรงแรมระดับท๊อปที่ภาคใต้ด้วย ยังไม่พ้นปีที่สามเขาก็ว่ามันรกขวางทางเดิน กลัวคนขับรถมาแล้วทิ้งก้นบุหรี่เข้ามาแล้วไฟไหม้ กลัวงู เขาก็สั่งให้รื้อซุ้ม โอเค รื้อก็รื้อ เจ็บปวดเหมือนกันนะครับ และขี้เกียจตอบคำถามของผู้คนที่มาร้านว่า “ดอกไม้หายไปไหน?” เราตัดต้นพวงแสดด้วยเพิ่งสังเกตเห็นว่า ต้นมันน่ะใหญ่เท่าข้อเท้าเราเลยจากที่แรกปลูกต้นไม่เท่านิ้วก้อย แต่พวงแสดไม่ยักตายแฮะ พอฝนมาเท่านั้นแตกพุ่มเลื้อยเครือไปตามราวระเบียงเต็มเลย พอหนาวมาก็ออกดอกระย้า

มาปีที่สามพื้นที่ตรงนั้น เขาแบ่งมรดกกันชัดเจน คนที่ได้กรรมสิทธิ์ตรงนี้เป็นคนดีอย่างน้อยเขาก็แสดงตัวว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม เพราะเวลาพูดคุยกันก็มักอ้างถึงหลักธรรมข้อนั้นข้อนี้และโยงกับที่ตัวเองปฏิบัติ และเป็นคนมีศิลปะ เห็นได้จากแรกๆ เอากระเป๋าผ้าเพ้นท์ลายดอกไม้มาฝากเราขายด้วย และบอกว่าก่อนนี้ก็ทำส่งโรงแรมระดับท๊อปที่ภาคใต้ด้วย ยังไม่พ้นปีที่สามเขาก็ว่ามันรกขวางทางเดิน กลัวคนขับรถมาแล้วทิ้งก้นบุหรี่เข้ามาแล้วไฟไหม้ กลัวงู เขาก็สั่งให้รื้อซุ้ม โอเค รื้อก็รื้อ เจ็บปวดเหมือนกันนะครับ และขี้เกียจตอบคำถามของผู้คนที่มาร้านว่า “ดอกไม้หายไปไหน?” เราตัดต้นพวงแสดด้วยเพิ่งสังเกตเห็นว่า ต้นมันน่ะใหญ่เท่าข้อเท้าเราเลยจากที่แรกปลูกต้นไม่เท่านิ้วก้อย แต่พวงแสดไม่ยักตายแฮะ พอฝนมาเท่านั้นแตกพุ่มเลื้อยเครือไปตามราวระเบียงเต็มเลย พอหนาวมาก็ออกดอกระย้า

พอเข้าปีที่สี่มาอีกแล้ว เจ้าของคนเดิมนี่แหละก็มาบอกว่า มันมองไม่เห็นถนน รถวิ่งไปมาไม่เห็นกัน และก็อยากให้ทำหลังคาตรงพื้นคอนกรีตหน้าร้านเพื่อกันแดดกันฝน คือเราก็เข้าใจนะ และอยากกันแดดกันฝนเหมือนกัน แต่ (เน้นคำ) เราไม่อยากทำเป็นเพิงหลังคาอุจาดๆ แถมเคยคิดด้วยว่าจะทำซุ้มพวงแสดให้ยาวตลอดห้าคูหาให้เลยนะและจะเป็นคนดูแลให้ด้วย แต่พอมาไม้นี้ก็ไม่เอาแล้ว พูดไปก็เท่านั้น เพราะอย่าลืมนะครับ ตอนเรามาเช่าที่นี่มีแค่หลังคาไม่มีฝาไม่มีอะไร เราทำเองหมด และคนที่มาหลังๆ ก็ได้ประโยชน์จากเราที่อย่างน้อยก็มีผนังให้แล้วหนึ่งด้าน วันดีคืนดีมีคนออกแล้วมีคนจะมาเช่าเปิดร้านอาหารข้างๆ คุณก็ให้เช่าทั้งที่เคยคุยกันแล้วว่าจะไม่ให้มีร้านอาหารเพราะมันจะสกปรกมีพวกแมลงสาบ หนู แมลงวัน น้ำเสีย และร้านอาหารก็ไม่มีที่ดูดควันก็เข้าร้านหนังสือเต็มๆ หนังสือนี่ดำเป็นมันเลย

ที่สำคัญลูกน้อยที่ผมเอามาเลี้ยงที่ร้านเขาไอจาม แพ้ควัน ร้อนด้วย ก็อยู่ไม่ได้ เราก็เลยทำกระจก ประตู และฝ้า ใช้ซุ้มดอกไม้นี่แหละพรางแสงไม่ให้เข้าร้านมากนัก วันดีคืนดีคุณอยากให้เราทำเพิงหลังคา มันไม่งามไงและที่สำคัญเราทำเองด้วย แต่มีสัญญาว่าอะไรที่สร้างแล้วนี้ ห้ามเอาออกไปตอนหมดสัญญา สัญญาก็ปีต่อปี และพักหลังก็ขึ้นค่าเช่าทุกปี แรกมาเช่า 1,800 บาท/เดือน เพิ่มเป็น 2,000 บาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นๆ อีกอย่างมีห้องหนึ่งที่เขาออก แล้วเจ้าของมาปรับปรุงเองแล้วอัพราคาเป็น 3,500 บาท/เดือน เราเลยคิดกันว่าเป็นไปได้ไหมที่เขาจะอาศัยให้เราปรับปรุงห้องให้พอสมบูรณ์ตามที่เขาต้องการ แล้วก็เพิ่มราคาไม่งั้นก็ไม่ต่อสัญญา

วูบแรกผมนึกถึงท่าทีและคำสนทนาของเจ้าของตึกที่แสดงตนว่าเป็นคนดีมีศิลปะแล้วอยู่ๆ ผมก็รู้สึกอีเดียดขึ้นมาเฉยและยิ่งไปกันใหญ่เมื่อเห็นท่าทีต่อต้นไม้ ดอกไม้ ผู้เช่าส่วนใหญ่ก็ทำตามนะครับ แม้จะขัดใจหรือฝืนรสนิยมตัวเองก็ตาม แต่เข้าใจได้เพื่อความอยู่รอด แต่ผมกับหญิงสาวคนรักเลือกที่จะ ‘ไม่’ โดยเธอแล้วยอมรับไม่ได้เลยที่เขาให้รื้อซุ้มและให้ตัดต้นไม้...

ศินีนาฏ : เอาล่ะเดี๋ยวจะไปกันใหญ่นะคะ สรุปว่าเรารับที่เขาให้ตัดต้นไม้ไม่ได้ แต่ลึกๆ ก็คิดอยู่ว่าเมื่อเป็นครอบครัว (มีลูกสาวสองคน) ก็วางแผนที่จะมีบ้านเล็กๆ สักหลังเหลือพื้นที่ปลูกต้นไม้สักหน่อย และถ้าจะให้ดีก็ทำบ้านให้เป็นร้านด้วยเลย จะได้สะดวกและมีประโยชน์สูงสุด แต่พอมีเรื่องการให้ตัดต้นไม้ขึ้นมา ก็เหมือนทำให้เราตัดสินใจได้เร็วขึ้น ก็ดีเหมือนกัน เพราะว่าอยู่ที่เดิมเราก็รู้สึกว่า พื้นที่มันไม่อำนวยให้ทำร้านได้อย่างที่อยากให้เป็น ถ้ามีที่ของตัวเองแล้วก็จะได้ทำได้เต็มที่ตัดทุกข์กังวลในเรื่องนั้นไปได้

เราอยากทำร้านหนังสือในพื้นที่ตัวเองจะได้ทำตามฝันเราได้จริงๆ คือร้านหนังสือในสวนดอกไม้ แม้เมื่อทำร้านและบ้านใหม่เสร็จแล้ว เราไม่อาจเนรมิตสวนดอกไม้ขึ้นมาได้เลย แต่การได้ลงมือปลูกเอง ค่อยๆ ดูแลต้นไม้ ดอกไม้ ให้เติบโตเพื่อเป็นสวนที่สมบูรณ์ มันก็งดงามเรียบง่ายไปอีกแบบ แม้จะยุ่งยากลำบากขึ้นอีกสักหน่อยก็คงไม่เป็นไร และโชคดีที่เรามีเพื่อนๆ ดีมากมาย ทั้งเพื่อนที่คบกันมานานและที่มาจากการเป็นคนซื้อหนังสือเรา ก็ช่วยเหลือในการสร้างและให้ต้นไม้

 

+ ที่ว่ายุ่งยากลำบากนี่อย่างไร

วิทยากร : เราต้องกู้เงินไงครับ (หัวเราะ) เพราะไม่ได้วางแผนว่าจะสร้างปีนี้ ก็หาซื้อที่เล็กๆ ได้ 51 ตารางวา ราคา 250,000 บาท แพงหน่อย เพราะมันติดถนนคอนกรีตต้นซอยและใกล้ถนนใหญ่สายวาริน-เดชอุดม แต่พอรู้ว่าผมเป็นลูกศิษย์สามีเขาที่คณะเกษตรฯ ม.อุบลฯ ก็ลดให้ทันที 40,000 บาท เราก็ถมที่ไว้ พอเข้าปีที่ห้า ก็ไม่ต่อสัญญาร้านเดิมและเริ่มสร้างบ้านและร้านใหม่ ใช้งบประมาณ 1,060,000 บาท ไม่รวมจัดสวน (จากราคาถอดแบบที่เป็นจริงที่สุด ณ ตอนนั้นที่ 960,000 บาท) ตอนทำเรื่องกู้กับธนาคาร นึกว่าจะง่ายนะเพราะทอฟฟี่ (ศินีนาฏ) ก็เป็นข้าราชการ ผมเองก็พอมีเงินจากงานเขียนเข้าบัญชีทุกเดือน แต่เอาเข้าจริงมันค่อนข้างยุ่งยาก เพราะเขาไม่รับรองอาชีพนักเขียน นั่นก็เท่ากับว่ากู้ร่วมไม่ได้แล้ว (เราต้องการกู้หนึ่งล้านเพื่อไม่ต้องผ่อนมาก)

ข้าราชการเงินเดือนก็น้อยหักนั่นนี่ก็เหลือไม่มาก บางธนาคารนี่ดูถูกเรามากว่า มีเงินแค่นี้อยากจะมีบ้าน! ถึงขั้นไล่ให้เราไปทำบัญชีครัวเรือนมาให้ดูสักปีหนึ่งและแถมด้วยเทศนานอกธรรมาสน์อีกกัณฑ์ใหญ่ บางธนาคารดูดีกับเรามากแต่ให้ครึ่งเดียว อีกครึ่งขอให้เราไปกู้กับอีกโครงการที่ดอกเบี้ยแพงบรรลัย แต่เราก็สุภาพมากนะครับ เจียมเนื้อเจียมตัวมาก แต่ในใจกึกก้องด้วยคำว่า “เราไม่ยอมจำนนหรอก เราจะทำให้ได้” จนได้ทางเลือกสุดท้ายที่ ธอส. กู้ได้ 760,000 บาท แต่เงินที่ได้มาจริงๆ 720,000 บาทที่หายไป เพราะต้องทำธุรกรรมต่างๆ ทำประกันนี่นั่นให้ธนาคาร เราต้องผ่อนเดือนละ 4,000 กว่าบาท คำนวณดูแล้วค่าผ่อนธนาคาร 30 ปีกับค่าเช่าร้านเดิมก็พอๆ กัน ขายหนังสือผ่อนบ้านตัวเองดีกว่า

ส่วนเรื่องสวนก็ยุ่งยาก เพราะเมื่อต้องทำแบบนี้ มันก็เหมือนว่าร้านไม่เสร็จสักที แต่มองในแง่ดีมันก็มีเรื่องราวในรอยมือรอยเท้าของเรา และถือเสียว่าคนที่มาร้านก็จะได้เห็นมันตั้งแต่เริ่มต้น และค่อยๆ โต

ศินีนาฏ : ตอนก่อสร้างได้เงินเป็นงวดๆ ช่วงปลายงานแต่ละงวด บางทีเงินที่ได้มามันหมดหรือคนงานจำเป็นต้องเบิกเงินด่วน...ก็ลำบาก เครียดจนผมหงอก (หัวเราะ) ดีที่มีคนช่วยนะคะ บางคนเคยซื้อหนังสือเราผ่านเฟซบุ๊กมีเลขที่บัญชีธนาคารของเราก็โอนมาให้ เรามีเพื่อนมีคนที่ช่วยเราแบบนี้เยอะมาก...จนเราแปลกใจ บางคนเสร็จแล้วแจ้งเขาไป เขาก็ไม่เอาตังค์คืนหรือบางคนก็ไม่รีบให้เราใช้ ยิ่งกว่านั้นบางคนส่งมาให้อีก ให้เราซื้อของเข้าร้านหรือเอาไปลงทุนกับสินค้าอื่นเสริมกัน

อย่างพี่ปู-จากโรงแรมระเบียงมุก ที่มุกดาหาร เป็นต้น ดูๆ ก็คล้ายว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้เป็นฝันของหลายๆ คนด้วย นี่ยังไม่นับที่สถาปนิก (น้องพลอย-ไพลิน ทองธรรมชาติ) ไม่คิดค่าออกแบบและยังช่วยออกค่าวิศวกรที่ถอดแบบให้ส่วนหนึ่งด้วย ทั้งที่เจอกันกับคุณเจี๊ยบ (วิทยากร) แค่ครั้งเดียวที่เชียงตุง เราเพิ่งมารู้ว่าจริงๆ แล้วเราต้องจ่ายให้สถาปนิก 5-10% ของราคาประเมิน ตอนนั้นค่าประเมินที่มากับแบบซึ่งเผื่อธนาคารตัดอยู่ที่ 1,300,000 บาท แต่เราอยากกู้แค่ล้านเดียวเลยบอกเขาให้ยืนราคาจริง นายช่างก็เป็นพี่ชายคนโตของเจี๊ยบ และคนงานก็เป็นหลานๆ ซึ่งเหมือนมาช่วยกันทำมากกว่ามารับเหมา ไม่รู้จะขอบคุณและตอบแทนคนเหล่านี้อย่างไร

วิทยากร : ฟิลาเดลเฟียและบ้านจึงเสร็จด้วยช่างค่อนข้างชราคนเดียวและเหล่ากรรมกรหนุ่ม (หัวเราะ) แต่แค่คิดจะตอบแทนแต่ละคน...นี่ก็ยุ่งแล้วนะครับ

 

+ ร้านเดิมดูเรียบๆ สำหรับร้านใหม่จะมีการออกแบบและตกแต่งเป็นรูปดินสอมีแนวคิดอย่างไร วิทยากร : เด็กบางคนบอกว่า เหมือนปราสาทในเทพนิยาย ก็ใช่

เพราะนี่เป็นการผสมระหว่างดินสอ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์นักเขียนของพ่อ และปราสาทเจ้าหญิงในเทพนิยายของลูกสาว ผมร่างแบบมิติเดียวคร่าวๆ ว่า อยากได้รูปทรงนี้ รายละเอียดและองค์ประกอบทั้งหมดขอให้สถาปนิกจัดการให้ทั้งหมด เราสื่อสารกันผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเท่านั้น (สถาปนิกอยู่เชียงใหม่) แต่พอเราต้องมาทำชั้นหนังสือเอง ตกแต่งภายในก็ทำได้ไม่ดีนัก เพราะไม่ใช่ช่างและไม่มีเงินพอจะจ้างด้วย ก็ได้แบบดิบๆ หลุดๆ อย่างเรานี่แหละ

ศินีนาฏ : ต้องยอมรับว่าการที่คุณเจี๊ยบเป็นนักเขียนและเคยเรียนที่นี่ มันเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง และพักหลังนี่เวยา (ลูกสาวคนโต) ที่พ่อแม่ชอบให้อ่านนิทานให้ฟังก็เป็นแม่เหล็กด้วย หนังสือที่เธอชอบให้อ่าน หลังๆ มานี่กลายมาเป็นหนังสือที่ขายได้มาก

 

+ หากย้อนกลับในอดีต ร้านหนังสืออิสระหรือร้านหนังสือเล็กๆ มีแนวคิดเริ่มต้นอย่างไร

วิทยากร : ทอฟฟี่เขาเป็นพยาบาล ถ้าเปรียบเทียบกับเพลงก็จะเป็นอารมณ์ประมาณเพลงพี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง หรือค่ายเบเกอรี่สมัยก่อนนะครับ เก็บวันลาไว้ลายาวๆ แล้วก็เดินทางกับเพื่อนพยาบาลที่เป็นเพื่อนกันมาแต่สมัยมัธยมฯ ไปนอนตามยอดดอยต่างๆ ไปตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ และระหว่างเดินทางก็ชอบแวะร้านหนังสือร้านกาแฟและก็วาดฝันไว้กับเพื่อนว่า อยากมีร้านแบบนี้เอาไว้เวลาเลิกงานมา จะได้มานอนเอกเขนกละเลียดกาแฟ เคี้ยวคุกกี้ อ่านหนังสือ และถ้ามันเจริญรุ่งเรืองก็ลาออกมาทำเต็มที่เลย แต่เมื่อเวลานานไปๆ เพื่อนก็ไม่สะดวกแล้ว แต่หญิงสาวคนรักของผมยังไม่เลิกฝัน ความฝันนั้นงดงามเสมอ ถ้าเราปล่อยให้ฝันแห้งหายสลายไปมันน่าเศร้า ยิ่งถ้าเราสามารถทำฝันนั้นให้เป็นจริงขึ้นมาได้แล้วไม่ทำนี่ ยิ่งน่าเศร้าที่สุด ผมจึงมักพูดคำเท่ๆ คำหนึ่งต่อเรื่องนี้ว่า

“ผมเป็นคนมาดูแลฝันของหญิงสาวคนรัก” แต่มีเงื่อนไขว่า ผมสามารถทำร้านให้สวยได้ด้วยความรู้ทางพืชสวนและสามารถหาหนังสือดีๆ เข้าร้านได้ด้วยความเป็นนักอ่านนักเขียน และสามารถทำให้ร้านเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น ไม่รับรองว่าร้านมันจะเลี้ยงเราได้ และมันก็พิสูจน์ตัวเองมาจะเต็ม 5 ปีแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะเลิกราด้วยสิ คงต้องแก่เฒ่าและตายไปด้วยกัน แต่ความจริงแล้วความฝันไม่เคยแก่ไม่เคยตาย มีแต่เราที่ตายไป

ศินีนาฏ : ขอให้ฝันเลี้ยงฝันได้ ไม่เข้าตัวไม่เข้าเนื้อเราก็พอนะคะ แต่ช่วงสร้างบ้านก็งบบานปลายพอสมควร มีปัญหาไม่ได้เคลียร์ค่าหนังสือกับสายส่งกับสำนักพิมพ์อยู่มากเหมือนกันค่ะ ตอนนี้ก็ทยอยเช็คยอดและจ่ายเป็นรายๆ ไป แต่ก็ถือว่าโชคดีนะคะที่หลายท่านก็เข้าใจและให้โอกาสเรา

 

+ ที่มาของการใช้ชื่อร้านว่า ‘ฟิลาเดลเฟีย’ มีแรงบันดาลใจและความเป็นมาอย่างไร

วิทยากร : มันเป็นชื่อร้านกาแฟที่มีในสกู๊ปเชิงเรื่องสั้นในนิตยสาร สานแสงอรุณ ฉบับที่ 64 กรกฎาคม-สิงหาคม 2550 โดยรากศัพท์มันมาจากภาษาลาติน PHILOS ซึ่งแปลว่า ความรัก (ที่ปราศจากเงื่อนไขทางเพศ เป็นความหมายของความรักที่บริสุทธิ์ เช่น ความรักในการแสวงหาความรู้ รักเพื่อนพี่น้อง เป็นต้น) และบังเอิญผมเป็นคนเขียนเรื่องๆ นั้น สมัยทำงานเป็นกองบรรณาธิการสานแสงอรุณ บังเอิญว่ามันเป็นเรื่องที่ผมรักมากเรื่องหนึ่งและได้รับการตอบรับและชื่นชมพอสมควรจากคนที่อ่านมัน

 

+ พื้นฐานรักการอ่านมีการปลูกฝังจากครอบครัวมาอย่างไร

วิทยากร : อย่าว่าแต่การปลูกฝังการรักการอ่านเลยครับ เราไม่มีหนังสืออ่านกันหรอก แค่หนังสือเรียนยังไม่เคยมีครบเลย เอาแค่อยากเรียนเก่งนี่ก็ผิดบาปแล้ว เราจนกันมากไม่มีเงินเรียนต่อหรอก ยิ่งถ้าเราเรียนเก่งขึ้นมาแล้วไม่ได้เรียนยิ่งเจ็บปวดไปใหญ่ ตอนเป็นเด็ก พี่สาวและแม่มักจะเตือนสติเสมอว่า “อะไรเขาก็เป็นกันหมดแล้ว” ประมาณว่าไม่มีที่ทางให้คนชั้นเราหรอก แต่พอเราเรียนดีและดึงดันที่จะเรียนแม่ก็บอกว่า “มีทางเดียวคือบวช” ผมก็โอเค ดังนั้น ผมจึงรู้สึกรังเกียจคนที่ชอบวิจารณ์วัดอย่างเสียๆ หายๆ โดยเฉพาะนักวิชาการ เพราะไม่มีใครหรือสถาบันไหนอีกแล้วที่เกื้อหนุนค้ำจุนคนยากไร้ส่วนมากเท่ากับสถาบันสงฆ์ คนเหล่านี้ไร้น้ำยาถ้าเทียบกับพระแก่ๆ รูปหนึ่งที่เกื้อกูลให้โอกาสภิกษุ-สามเณรได้เล่าได้เรียน

โลกการอ่านของผมเติบโตขึ้นจากผ้าเหลือง โดยการมีรุ่นพี่และพระอาจารย์เป็นแบบอย่างในการอ่านและการแสวงหาความรู้ที่ดี คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตามห้องสมุดเล็กๆ ที่โรงเรียนของผมนั้นมีวรรณกรรมดีๆ มากกว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสมัยที่ผมไปเป็นนักศึกษาเสียอีก ห้องพระอาจารย์ผมมีหนังสือระดับคุณภาพมากกว่าสามพันเล่ม แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ผมกลับเห็นว่าครอบครัวผมปลูกฝังความเป็นนักเขียนของผมมากกว่า ความยากจนนั้นเป็นเนื้อดินที่ดีของการเขียน พี่ชายคนกลางเป็นนักเล่านิทาน พี่ชายอีกสองคนก็มีชีวิตโลดโผน ส่วนแม่นั้นมีชีวิตที่มหัศจรรย์มาก เหล่านี้เป็นเนื้อดินที่ดีของการเขียน แล้วคุณล่ะครอบครัวปลูกฝังไหม (หันมาถามภรรยา)

ศินีนาฏ : ไม่ได้ยากไร้เท่าคนนี้หรอกค่ะ เวลามีคนมาขายหนังสือที่โรงเรียนแม่ก็ยังให้เงินไปซื้อได้บ้าง แต่ไม่มาก และก็ไม่ได้พาอ่านอะไร เราหาอ่านเองมากกว่า แต่หนังสือห้องสมุดโรงเรียนประถมฯ บ้านนอกก็มีน้อยเหลือเกิน เริ่มรู้จักการอ่านหนังสือมากก็ตอนมัธยมฯ ค่ะ ต้องนั่งรถเมล์ไปเรียนมัธยมฯ สตรีประจำจังหวัด ใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมงได้ นั่งดูสองข้างทางจนเบื่อแล้วก็เลยต้องหาอย่างอื่นทำ นั่นก็คืออ่านหนังสือ แต่ก็ไม่มีเงินซื้อหรอกนะคะ อาศัยเช่าที่ร้านหลังโรงเรียน จำได้ว่าตลอดสามปีของการเรียนมัธยมฯ ต้น อ่านจบแทบทุกเล่มในร้านเช่านั้น แต่ก็เป็นหนังสือแนวเดียวนะคะ นวนิยายไทยแท้ๆเลย

 

+ จุดเด่นหรือจุดขายของหนังสือที่มีอยู่ในร้านซึ่งให้นักอ่านสนใจมาเยี่ยมเยือนคืออะไร

วิทยากร : สำหรับผมแล้ว นี่เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะผมทำร้านโดยไม่มีแบบแผนทางธุรกิจใดๆ ดังนั้นตรรกะการค้าขายนี่ไม่มีเลย ผมแค่ทำความฝันของหญิงสาวคนรักให้เป็นจริงด้วยเส้นสายทางหนังสือ ทำให้สวยด้วยความรู้ทางพืชสวนที่เรียนมา โดยมีหมุดหมายแค่ว่าความฝันนี้จะไม่กัดกินเนื้อเรา...แต่ถ้าจะเอาคำตอบให้ได้ ผมอยากตอบว่า ก็เพราะหนังสือมันดีมันเลยขายได้ เลยมีคนพูดถึงกันและอยากมาซื้อที่นี่ คือหนังสือนี่ผมคัดระดับหนึ่ง คัดจากที่ผมเคยอ่านแล้วเห็นว่าดี ดังนั้นผมจะตามหาซื้อหนังสือที่ผมเคยอ่านมาไว้ที่ร้านหรือแม้แต่เอาของตัวเองมาไว้ก็ตาม แต่มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอ่านหนังสือที่ออกใหม่ได้ครบทุกเล่ม (ทั้งที่อยากทำก่อนเอาเข้าร้าน) แต่ก็อาศัยว่าอ่านหนังสือมามากก็พอสแกนได้ว่าเล่มไหนได้มาตรฐาน แต่ที่สังเกตมันจะมีรูปการแบบนี้ครับ คนที่มาส่วนใหญ่จะไม่ได้แค่มาซื้อแล้วก็ไป แต่มักจะคุยกับเราจนบางทีสนิทกันไปเลย (ทั้งๆ ที่ผมก็พูดจาไม่ค่อยเพราะ)

หนังสือในร้านเล่มหรือเรื่องเดียวกับที่มีอยู่ในซีเอ็ด ปรากฏว่าผมสั่งมาขายหลายเที่ยวแล้ว แต่ซีเอ็ดยังขายไม่ได้เลย บางทีมาช้าก็ไปสมัครสมาชิกซีเอ็ดแล้วซื้อลด 5% เอามาขายให้คนมาสั่งไว้ก็มี หลายคนให้เราแนะนำและบางทีก็โอนเงินมาให้เรา 1,000 บาทแล้วให้เราเลือกให้เลย บางทีนักศึกษามาหาหนังสือทำรายงานหรือวิจัยแม้ที่ร้านไม่มี แต่มีส่วนตัวผมก็ให้ยืมแต่ให้ทำที่ร้าน ถึงขั้นเปิดร้านให้นอนเลยด้วยซ้ำ

ศินีนาฏ : หนังสือเป็นเพียงกระดาษและตัวอักษรสีดำติดกันเป็นพรืด แต่มันทำให้เรายิ้ม หัวเราะ-ร้องให้แต่ก็มีความสุขกับมันค่ะ จุดขายอยู่ที่เรื่องราวในนั้นนะ

 

+ มองวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยอย่างไรบ้าง

วิทยากร : ได้เท่านี้ก็ดีแล้ว อย่างน้อยก็มีคนอ่านคุณภาพที่แน่นอนอยู่ระดับหนึ่ง สมัยก่อนที่จะมาทำร้าน ผมหงุดหงิดกับสภาพการอ่านของบ้านเราเหมือนกัน แต่พอไปค้นคว้าดูจริงๆ ก็เห็นว่ามันมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นแบบนี้ เลยเข้าใจได้ และพอรู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร เราอาจจะด่ารัฐบาลนี้ว่า ทำเรื่องการอ่านแบบจับฉ่าย ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่ที่ถูกกว่านั้นก็คือ ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน และอย่าด่าแต่รัฐบาลเลย ข้าราชการเอาเฉพาะสายการศึกษาก็ได้ก็ยิ่งจับฉ่ายไปกันใหญ่ ไม่งั้นคงไม่มีกรณีห้องสมุดมหาวิทยาลัยมีหนังสือวรรณกรรมดีๆ น้อยกว่าห้องสมุดเล็กๆ ของโรงเรียนวัดของผมหรอก (บังเอิญห้องสมุดที่ว่านั้น รุ่นพี่ที่ไปเรียน มจร.ที่กรุงเทพฯ เอามาบริจาคและมีผ้าป่าหนังสือของนักศึกษาด้วย) ไม่งั้นระหว่างปี พ.ศ. 2527-2532 ที่ผมเรียนประถมฯ แต่กลับไม่มีหนังสือดีๆ อ่านทั้งที่เป็นโรงเรียนที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของกลุ่มโรงเรียนทั้ง 7 โรง แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบ่นบ้าแบบนี้

การที่มามัวแต่เรียกร้องว่า รัฐไม่ทำนั่นให้นี่ให้หรือรอแต่รัฐส่งไม้มาให้นั่นมันก็สำนึกไพร่ชัดๆ เท่ากับว่าการคิดแบบนั้นเป็นการปฏิเสธพื้นฐานของประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ไม่ได้บนพื้นฐานที่ประชาชนมีสำนึกไพร่ มันต้องเริ่มจากตัวเราที่จะเคารพในตัวเอง เคารพในสติปัญญาความสามารถของตัวเอง พึ่งตัวเราก่อนถึงไม่พร้อมก็ต้องกล้าที่จะทำ อย่างการอ่านนี่ก็เริ่มจากตัวเรารักการอ่าน ใครไม่อ่านก็ช่าง ผมอ่านเอง อ่านมากๆ เข้าลูกเต้าเขาก็เห็นตัวอย่างก็เอาตาม ก็ส่งเสริมกันไป และถ้าหนังสือและการอ่านมันดีจริงมันก็จะอยู่ในตัวลูกเต้าไปสู่หลานไปสู่เพื่อนสู่น้องเขา

อีกอย่าง ที่ผ่านมาทุกอย่างมันรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นมาตั้งแต่ร.4 หรือร.5 แล้วที่กรุงเทพฯ เอาทุกอย่างไปจากภูมิภาค เอาทรัพยากรไป เอาแรงงานกำลังดีไป ปล่อยให้ภูมิภาคอื่นแร้นแค้น ซ้ำร้ายที่อีสานสังคมถึงขั้นง่อยเปลี้ยเสียขา พอกรุงเทพฯ อิ่มเอมก็ไม่เคยเผื่อแผ่ แม้แต่เรื่องหนังสือและการอ่านก็เหมือนกัน งานหนังสือก็มีอยู่แต่กรุงเทพฯ (ไม่กี่ปีมานี้ถึงไปถึงต่างจังหวัด แต่ก็เป็นด้วยต่างจังหวัดดำริและทำขึ้นก่อน) เมืองหนังสือก็อยู่กรุงเทพฯ แม้จะมียุคที่ว่าคนไปรออ่านที่แท่นพิมพ์มันก็เป็นเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ จนผมคุยกับเพื่อนที่ทำกิจกรรมนักศึกษาและอ่านหนังสือมาด้วยกันว่า เราจะโจรกรรมหนังสือออกจากกรุงเทพฯ ไปให้คนบ้านเรา แล้วเพื่อนผมก็ตระเวนหาแหล่งหนังสือเก่าที่ไม่แพง เขียนเป็นแผนที่เลย ก็ตระเวนซื้อส่งมาหรือไม่ผมก็ไปขนเอา แล้วก็เอามาขายต่อไม่แพง เอาไปเอามารายได้ส่วนใหญ่จากร้านผมดันมาจากหนังสือส่วนนี้นะ หนังสือจากสำนักพิมพ์ จากสายส่งผมได้แค่ 25-30% แต่หนังสือเก่าแม้ขายราคาถูกกว่าหนังสือใหม่แต่ % ที่ผมได้มันมากกว่านั้น นี่ยังคิดๆ กับเพื่อนๆ อยู่เหมือนกันว่า หนังสือดีๆ ในห้องสมุดของสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยมีคนใช้ประโยชน์นี่จะไปขโมยมากระจายแถวอีสานให้ได้ครื้นเครงกันไปเลย ถึงเวลาแล้วมั้งที่กรุงเทพฯ จะต้องคืนกำไรให้พวกเราบ้าง (หัวเราะ) สรุปว่าต่อประเด็นปัญหานี้ผมยังไม่เห็นว่ามันมีปัญหาเท่าไร ตราบเท่าที่ผมยังขายหนังสือได้อย่างนี้อยู่

ศินีนาฏ : ขอแจมสักหน่อยนะคะ ตอนนี้รู้สึกว่าพอหลายภาคส่วนโหมเรื่องการอ่าน การอ่านหนังสือก็กลายเป็นแฟชั่น อ่านตามๆ กัน เห็นในร้านใหญ่ไหมคะ หนังสือที่ขึ้นแท่นหนังสือขายดี ส่วนใหญ่เราก็จะมีคำถาม อย่างนี้ เนี่ย นะขายดี เคยไปลองอ่านดูบ้าง ไม่มีอะไรเท่าไหร่ แล้วขายให้ใคร มองว่าตอนนี้เราอ่านหนังสือตามๆ กัน ตามแฟชั่นก็ว่าได้ หนังสือเด็กก็ต้องคนนี้นะ เป็นคำกลอนอ่านสนุก เขียนออกมาหลายสิบเล่มต้องตามให้ครบชุดแต่ขอโทษใช้ภาษาไทยไม่ถูกเลยก็มี แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตามแฟชั่นแบบนี้ก็ดีที่สุดล่ะค่ะ ตามกันมาเยอะๆ เลย

 

+ การอยู่รอดในเชิงธุรกิจและต้องพยายามสร้างสมดุลในเชิงอุดมคติในแง่มุมของร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ที่มีคุณภาพมีกลเม็ดเคล็ดลับอย่างไร

วิทยากร : ผมไม่ได้คิดแบบนั้นครับ ผมคิดที่จะสร้างฝันหรืออุดมคติให้เป็นจริงเท่านั้น คล้ายๆ ที่ คาลิล ยิบราน เขียนไว้ว่า ‘การงานคือความรักปรากฏตนเป็นรูปร่าง’ (สำนวนแปลของ ระวี ภาวิไล) ผมอาจจะโชคดีที่มีเป้าแค่ว่าเอาให้ร้านมันเลี้ยงร้านได้ ส่วนผมก็หาเลี้ยงตัวเองไปตามสัมมาอาชีพของผม คือการเขียนนั่นแหละ พอเราทำจริงมาระดับหนึ่งแล้ว ก็พอเห็นรายได้ซึ่งก็ทำให้กล้าพอที่จะมาสร้างร้าน/บ้านของตัวเอง กำไรมันก็คือการที่ค่าผ่อนบ้านเราลดลงเรื่อยๆ แต่ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือมิตรภาพจากคนที่เข้ามาร้าน แต่มันก็มีบทเรียนบางอย่างเหมือนกัน

คือแรกทีเดียวร้านเรามีหนังสือไม่มาก เพราะเครดิตเราไม่มากพอ คนเข้ามาเดินดูแวบเดียวก็นั่งแล้ว ก็อาศัยเครื่องดื่มช่วย ซึ่งก็ขายดีในปีแรกๆ แต่ในปีหลังๆ ร้านกาแฟมันเยอะขึ้นบวกรวมกับที่ในใจเราต้องการให้อย่างอื่นมาเสริมหนังสือไม่ใช่หนังสือเป็นตัวเสริม ก็เลยนึกถึงตัวเองว่าอยากเข้าร้านหนังสือแบบไหน ก็นึกถึงร้านในฝันอย่าง Shakespeare and company หรือที่เคยประทับใจอย่างร้านดวงกมล นั่นจึงเป็นการเริ่มหาหนังสือเก่าเข้าร้านในสัดส่วนที่มากให้เต็มร้านไปเลย เพื่อนๆ ก็ช่วยเยอะ หรือแม้แต่หนังสือหายากนี่มีแค่ส่วนตัว เราก็เอามาไว้ที่ร้านเพื่อให้เป็นเครดิตแล้วตั้งราคาแบบไม่อยากขายเอาแบบแพงๆ ก็ตกลงกับเพื่อนว่ถ้ามีคนบ้าซื้อนี่ก็ต้องบ้าขายนะ เออ! มันมีคนบ้าซื้อจริงๆ ว่ะ เคยถามคนซื้อเหมือนกันว่าทำไมกล้าซื้อเพราะเราก็อธิบายเหตุผลของการตั้งราคาแล้ว เขาบอกว่าเราขายถูกกว่าในเว็บหรือในร้านอื่นอีก เป็นงั้นไป นั่นทำให้เราเริ่มลดทอนเครื่องเสริมต่างๆ แต่พอมาทำที่ใหม่มันเป็นสองชั้นก็เลยอยากทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด มีสวนดอกไม้ไว้จัดงานหรือทำกิจกรรมได้ด้วย ชั้นบนเป็นแกลอรี่และที่พักสองห้อง ก็ไม่ได้หวังอะไรมากกว่าที่เคยหวัง

ศินีนาฏ : มันก็มีช่วงยากลำบากเหมือนกันค่ะ ตอนอุ้มท้องลูกคนที่สอง มีภาวะครรภ์แทรกซ้อนมากมายขณะตั้งครรภ์ เบาหวาน ความดันเลือดสูง มดลูกหดรัดตัวก่อนกำหนด กระทั่งช่วงท้ายมีครรภ์เป็นพิษพูดง่ายๆ ว่า มีภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้แทบจะทุกเวลา ก็ไปหาหมอบ่อย บางช่วงนอนโรงพยาบาลต่อเนื่องเป็นเดือน ร้านไม่ค่อยได้เปิด แต่ดีที่ว่ามีพี่ชายคนหนึ่งเป็นประติมากร (พี่โสพิศ พุทธรักษ์) อ่านงานคุณเจี๊ยบแล้วชอบ และเป็นคนจิตใจดีชอบส่งเสริมคนทำงานศิลปะ ก็ให้ค่าเช่าร้านหนึ่งปี มันก็แปลกว่าเรามักจะมีมือที่มองไม่เห็นแบบนี้ยื่นมารองรับเสมอๆ ในเวลาที่ยากลำบาก กระทั่งตอนสร้างร้านและบ้านก็ยังได้รับการช่วยเหลือแบบนี้

 

+ คิดว่าเสน่ห์ของร้านหนังสือแบบนี้อยู่ที่ไหน

วิทยากร : มันมีเสน่ห์ตรงที่มันมีเรื่องราวของมัน ไม่ใช่แค่เรื่องของเจ้าของร้าน แต่รวมถึงเรื่องราวของคนที่เข้ามาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป ถ้าโชคดีว่าคนขายเป็นคนที่รู้จักเรื่องราวนั้น เป็นคนละเอียดอ่อนที่จะเก็บซับเรื่องราวของคนหรือเหตุการณ์ที่เข้ามาได้เป็นอย่างดี และเป็นนักเล่าที่ดีด้วยนี่ยิ่งวิเศษไปใหญ่

ศินีนาฏ : คงอยู่ที่บรรยากาศมั้งคะ เราวุ่นวายกับโลกภายนอกมาพอแล้ว ขอมีโลกมีพื้นที่เล็กๆ ให้ได้อยู่เงียบๆ สนทนาเรื่องราวเดียวกันกับคนพวกเดียวกัน เหมือนเป็นที่สักแห่งที่รักและมีความสุขกับมัน

อ่านต่อตอนที่ 2 http://praphansarn.com/article/detail/1234

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ