เรียนยังไงให้เก่ง : คำแนะนำจาก ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

เรียนยังไงให้เก่ง

“ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนจบปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ ในเรื่อง”เรียนเก่ง” ไม่ต้องสงสัย ที่สำคัญ ป๋วยไม่ใช่คนเรียนเก่ง เป็นหัวกะทิที่มุ่ง”เอาตัวรอด” เท่านั้น แต่มีความกล้าหาญที่พิสูจน์ให้เห็น จากการเสี่ยงตายโดดร่มมาลงที่ชัยนาทในระหว่างสงครามเพื่อทำหน้าที่”เสรี ไทย” ขณะเป็นนักเรียนนอก หรือการแสดงจุดยืนท้าทายผู้มีอำนาจ อย่างใน” จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง”และอื่นๆอีกมาก

 

เรียนยังไงให้เก่ง ป๋วย

 

ระยะหนึ่ง ป๋วยรับหน้าที่คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเขียนบทความ”เรียนให้เก่ง" ลงใหนังสือ”เศรษฐศาสตร์” เมื่อปี 2510 ในภายหลังนำมารวมไว้ในหนังสือ “อัตชีวประวัติ : เหลียวหลัง แลหน้า ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ลองอ่านคำแนะนำของครูบาอาจารย์ชื่อ”ป๋วย”กันดู

ในการเขียนเรื่องสำหรับอนุสรณ์เศรษฐศาสตร์ประจำปี 2510 ผมจะขอคุยสักหน่อย คำว่าคุยในสมัยนี้หมายความว่าโอ้อวด นานๆ ทีฟังอาจารย์โอ้อวดบ้างหวังว่าคงไม่รังเกียจ มีนักศึกษามาถามผมบ่อยๆ ว่า ได้ข่าวว่าคณบดีเรียนเก่ง เรียนอย่างไรจึงเก่ง บางคนกล้าหน่อยก็ถามว่า ที่เขาลือกันว่าเรียนเก่งนั้นจริงเพียงใด

คำถามเช่นนี้จะตอบโดยไม่โอ้อวดย่อมทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามควรพิจารณาข้อเท็จจริงก่อน
ใน ชั้นประถมและมัธยม ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก สอบไล่ได้คะแนนรวมมักจะไม่ต่ำกว่า 80% บางครั้งพลาดก็ต่ำลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ถึง 75% แต่ตั้งแต่มัธยม 5 ไปถึง 8 คะแนนส่วนมากใกล้ 90% บางปีก็เกินกว่า 90% ในการศึกษาชั้นอุดมที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผมเรียนพลาง ทำงานพลาง สอบไล่ได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตภายในกำหนด 3 ปี คะแนนส่วนมากได้พอผ่านไป รับพระราชทานปริญญาลำดับปี 65 ในจำนวนรุ่นเดียวกัน 79 คน

ในการศึกษาชั้นปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนมีการสอบไล่ 2 ครั้งในระยะ 3 ปี สอบชั้น intermediate เมื่อปลายปีแรกเข้าใจว่าได้คะแนนไม่สู้ดีนัก (ถ้าก็ดีก็คงจำได้เอามาคุยได้) และสอบชั้น finals เมื่อปลายปีที่ 3 การสอบ finals มีสอยข้อเขียน 9 ลักษณะวิชา สรุปได้ว่า เกียรตินิยมอันดับ 1 ได้รับอนุญาตให้เรียนปริญญาเอกต่อได้

ในการศึกษาชั้นปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (หลังจากไปเป็นทหารเสีย 3 ปีกว่า) ไม่ต้องสอบข้อเขียนแต่ทำวิทยานิพนธ์ (เรื่องเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการควบคุมดีบุก) และการสอบปากเปล่าได้กระทำสำเร็จภายใน 3 ปี1 เอาวิทยานิพนธ์มาอ่านใหม่เร็วๆ นี้รู้สึกว่าไม่สู้จะวิเศษนัก สมมติว่าผลของการเรียนตามข้อเท็จจริงข้างต้นแสดงว่าเรียนเก่งปัญหาต่อไปคือ เรียนเก่งอย่างไร ที่จะบรรยายต่อไปนี้เป็นวิธีการที่ใช้มาแล้วเฉพาะตัวไม่อาจเอื้อมที่จะแสดง เป็นหลักการสำหรับนานาจิตตัง แต่บางข้อก็คงจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาอื่นได้บ้าง เช่น ความพากเพียร

1. ความพากเพียร ถ้าใครบอกเราว่ามีผู้นั้นผู้นี้สติปัญญาเลิศมนุษย์ ไม่ต้องเล่าเรียนอะไรนักหนาก็สอบได้ดีและเด่น อย่าเชื่อ เพราะสติปัญญานั้น จริงอยู่ บางคนอาจจะมีดีกว่าคนอื่น แต่การฝึกฝนสติปัญญานั้นไม่มีวิธีอื่น นอกจากใช้ความอุตสาหะพากเพียร เมื่อผมเรียนอยู่มัธยม 5 กำลังคลั่งพลศึกษา เพื่อนๆ เขาชวนให้ออกวิ่งเช้าๆ ก็ตื่นแต่ตี 3 หรือตี 4 วิ่งบ้างเดินบ้างจากตลาดน้อยมาสนามหลวง (เพื่อนๆ บางคนวิ่งได้หลายรอบ ผมบางทีก็ได้รอบ บางทีก็ครึ่งรอบ) แล้วก็วิ่งรอบสนามหลวงแล้วกลับบ้าน พอกลับบ้านยังไม่สว่าง จิตใจก็ปลอดโปร่ง ก็รู้สึกว่าเวลาเช้าตรู่นี้เป็นเวลาเหมาะสำหรับเล่าเรียน ต่อมาแม้จะไม่ออกวิ่งเช้ามากๆ ก็มีเวลาท่องและหาความรู้จากหนังสือเรียนได้สัก 2-3 ชั่วโมงก่อนไปโรงเรียน วันละ 2-3 ชั่วโมงนี้เป็นกำไรสุทธิ เพราะปกติมันจะทำการบ้านเสร็จตอนเย็นหรือหัวค่ำก่อนเข้านอน

เมื่อผมเรียนธรรมศาสตร์ กลางวันต้องเป็นครู และครูอัสสัมชัญต้องทำงานหนักตลอดวัน การดูหนังสือธรรมศาสตร์ใช้เวลาค่ำ และเวลาเช้ามืดส่วนมากมักจะไปค้างกับเพื่อนหลายคนที่กำลังเรียนธรรมศาสตร์ ด้วยกัน
เมื่อผมเรียนอยู่ที่อังกฤษ ยิ่งต้องพากเพียรเป็นพิเศษ เพราะรู้ตัวว่าภาษาอังกฤษเราแพ้เปรียบเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ส่วนมากผมเข้าห้องสมุดอ่านตำราตั้งแต่เช้า แล้วออกจากห้องสมุดกลับบ้าน เมื่อห้องสมุดปิด คือ ตอน 3 ทุ่มครึ่ง ถึงเวลาฟังคำบรรยายหรือเข้าห้องเรียนก็ไป ถึงเวลาอาหาร ก็รับประทานอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือในที่ใกล้เคียง (มีเพื่อนนักเรียนไทยอีกคนหนึ่งที่ช่วยบังคับใจซึ่งกันและกัน)

2. การจัดเวลาให้เหมาะ มนุษย์ เราจะเรียนตลอดเวลาไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้นอาจจะมีผลร้าย บางคนอาจจะเสียสติไปเลย ฉะนั้น จึงต้องมีเวลาพักผ่อน เฉพาะอย่างยิ่งใกล้ๆสอบไล่ เมื่อเรียนอยู่ที่อัสสัมชัญ มีวันหยุดคือวันพฤหัสและวันอาทิตย์แต่มีการบ้านให้ทำ นักเรียนก็มีวันเลือก ถ้าทำการบ้านวันพฤหัสเย็นและค่ำวันพุธก็ไม่ทำงาน ถ้าจะหยุดพักผ่อนวันอาทิตย์ ก็รีบทำการบ้านในตอนเย็นและค่ำวันเสาร์ เป็นต้น เมื่อผมเรียนธรรมศาสตร์ เพื่อนๆ กับผมที่ดูหนังสือด้วยกันมักจะหยุดทำงานค่ำวันเสาร์ และเต็มวัน วันอาทิตย์ เมื่อผมเรียนที่อังกฤษ ก็ติดนิสัยพักงานวันพุธตั้งแต่เที่ยงเป็นต้นไป และพักวันเสาร์บ่าย ตลอดถึงเย็นวันอาทิตย์ ค่ำวันอาทิตย์เริ่มทำงานเตรียมไปฟังคำบรรยายให้รู้เรื่องในวันจันทร์

ระยะก่อนสอบไล่เป็นระยะเวลาที่สำคัญ โดยทั่วไปผมจะต้องพยายามหาเวลาหยุดให้สมองโปร่งก่อนสอบไล่ มากน้อยตามความเหมาะสมและจำเป็น ฉะนั้น หมายความว่าระยะเวลาก่อนจะถึงตอนหยุดพักให้สมองโปร่งนั้น ก็ต้องมุทำงานมากเป็นพิเศษ ระยะมุนี้ต่างกันตามกาลเทศะ เมื่ออยู่อัสสัมชัญ ผมก็มุประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว หยุด สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ทั้งสัปดาห์ จากจันทร์ถึงศุกร์ วันศุกร์เป้นวันโต้รุ่ง วันเสาร์วันอาทิตย์เป้นวันนอนพักผ่อน เมื่ออยู่อังกฤษ ตอนสอบ finals ปลายปีที่ 3 (ปีหนึ่งมี 3 ภาค) ก็มุในภาคที่ 2 และพักผ่อนในภาคที่ 3 ก่อนสอบไล่

ที่เรียกว่าพักผ่อนเพื่อให้สมองโปร่งนั้นก็ทำได้หลายวิธีต่างๆ กันแล้วแต่จะชอบ ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่ออยู่ธรรมศาสตร์นั้นผมนอนพักผ่อน เมื่ออยู่อัสสัมชัญผมใช้วิธีเดินเล่น คือตอนเช้าหรือบางทีตอนค่ำ เดินจากบ้านที่ตลาดน้อยมาทางเจริญกรุง เข้าสี่พระยา ผ่านวัดเทพศิรินทร์ วงเวียนยี่สิบสองกรกฎา กลับบ้าน (เวลานั้นถนนที่เดินยังเปลี่ยวมือและสงบ) ขณะที่เดิน ก็นึกถึงสูตรคณิตศาสตร์ คิดทบทวนปีที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ฯลฯ พลางชมนกชมไม้ไปด้วย เมื่อผมเรียนอยู่อังกฤษ เวลาพักตามปกติก็คือไปดูหนัง เล่นบิลเลียด เป็นต้น แต่เมื่อพักให้สมองโปร่งก่อนสอบไล่ในภาค 3 ปีที่ 3 นั้น ผมใช้เวลาถกและอภิปรายกับเพื่อนักศึกษาด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ และดูหนังมากขึ้น แต่ไม่ดูหนังสือ

3. การถกอภิปราย สำหรับ นักเรียนชั้นมัธยม ครูผู้สอนเป็นผู้ที่แนะนำวิชาอย่างถี่ถ้วนสมบูรณ์ และเป็นผู้นำในการถามการตอบในห้องเรียน นักเรียนด้วยกันไม่จำเป็นต้องนำเรื้่องวิชาเรียมาถกหรืออภิปรายกันมากนัก แต่ถึงในชั้นมัธยมก็ตาม ถ้านักเรียนใช้ความคิดความอ่านมากเพียงพอ ย่อมจะเกิดประเด็นให้ปุจฉาวิสัชนากันได้ และจะเป็นประโยชน์แก่การเรียนมิใช่น้อย ในโรงเรียนมัธยมที่ทันสมัย ครูย่อมส่งเสริมให้มีการอภิปรายในหมู่นักเรียน เพื่อฝึกฝนให้สามารถใช้ความคิดโดยลำพังได้มากขึ้น

ใน การศึกษาขั้นอุดม การถกเถียง และอภิปรายระหว่างนักศึกษาเป็นของจำเป็น เมื่อผมเรียนธรรมศาสตร์ วิสัยของนักศึกษาที่จะอภิปรายถกเถียงประเด็นในวิชาการต่างๆ มีมาแต่เดิมแล้ว ตั้งแต่ครั้งยังเป็นโรงเรียนกฎหมาย ฉะนั้น เมื่อดูหนังสืออยู่กับเพื่อนๆ เป็นหมู่คณะ การอภิปรายโต้เถียงกันเป็นเป็นของธรรมดา เฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อพวกเราเป็นพวกที่ไม่ได้ไปฟังคำบรรยายในตอนกลางวันเป็น ส่วนใหญ่ การถกอภิปรายมีผลยั่วยุให้แต่ละคนต้องศึกษาต่อ ต้องคิดต่อแล้วกลับมาถกอภิปรายต่อ นี่แหละนักปราชญ์สมัยนี้เรียกกันเสียโก้ว่า “บรรยากาศทางวิชาการ” (academic atmosphere)

แท้จริง ก็เป็นสิ่งที่พวกเรานักศึกษาสร้างกันได้ด้วยพวกเรากันเอง แต่ถ้าอาจารย์เข้าช่วยแนะด้วยก็ยิ่งดี ที่บ่นกันว่ามหาวิทยาลัยเรามักจะไม่มีบรรยากาศทางวิชาการนั้น พวกคณาจารย์ก็ต้องรับผิดที่ไม่ได้ช่วยอำนวยให้เกิดขึ้น แต่ไม่ควรลืมว่านักศึกษาก็สามารถช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นจริง

เมื่อผมเรียนอยู่ที่อังกฤษ ได้พยายามจับกลุ่มเพื่อนๆ นักศึกษาด้วยกัน สำหรับถกเถียงอภิปรายกันนอกเวลาเรียน เท่าที่จำได้มีอังกฤษ 1 คน อินเดีย 1 คน จีน 1 คน ลังกา 1 คน และไทย 1 คน บางคนก็ถนัดในวิชานี้ เพื่อนๆ ก็ได้พึ่ง เพื่อนๆ ถนัดวิชานั้นเพื่อนคนอื่นก็ได้ฟัง แต่ถึงจะถนัดในวิชาเดียวกัน ตำราที่จะอ่านก็มีมากเหลือกำลังพวกเราแยกกันอ่านแล้วมาเล่าสู่กันฟัง ได้ประโยชน์ทั้งแตกฉาน และลึกซึ้ง ยิ่งใกล้สอบพวกเราเลิกดูหนังสือกันแล้ว แต่ดูบันทึกที่ย่อเรื่องไว้เอาข้อสอบเก่าๆ มาผลัดกันตอบคนละข้อสองข้อให้คนอื่นฟังให้คนอื่นท้วง ความกระจ่างแจ้งในวิชาก็เกิดขึ้น แต่ละคน สมองก็โปร่งเพราะไม่ต้องคร่ำเครียดอ่านตำรา ถ้าไม่เข้าใจตอนไหน ก็ซักเพื่อนเอา เวลาจะตอบตอนสอบไล่ก็สามารถตอบได้รวดเร็วชัดเจน เพราะได้ซ้อมกันมาแล้ว เคยถูกขัดคอกันมาแล้ว และเคยหัดอภิปรายซึ่งกันและกันมาแล้ว

นักศึกษาที่รัก ที่ผมอภิปรายมาข้างต้นนี้ ไม่ใช่เป็นมนต์คาถาที่จะนำไปสู่การเรียนเก่ง การเรียนย่อมต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ จากประถมไปมัธยม จากมัธยมไปอุดม ถ้าจะพากเพียรต้องพากเพียรให้ตลอดไปทุกช่วง จะเลือกพากเพียรเป็นตอนๆ มิได้ อนึ่ง สติปัญญาที่จะนำมาใช้ในชั้นอุดม ต้องอาศัยฝึกฝนมาแต่ชั้นมัธยม ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานจากมัธยม

ถ้าเผอิญว่าเราบกพร่องอะไรในเบื้องล่าง เช่น ปรากฏว่าอ่อนประวัติศาสตร์ไป ตามเขาไม่ใคร่ทัน ก็ต้องพากเพียรย้อนกลับไปหาความรู้พื้นฐานเพิ่มเติมให้เพียงพอ เมื่อผมกลับจากสงครามโลกไปเรียนใหม่ รู้สึกว่าด้อยทางคณิตศาสตร์ อ่านตำราไม่เข้าใจ กลุ่มใจนักต้องกลับไปซื้อหนังสือแคลคูลัสมาอ่านแล้วให้เพื่อนๆช่วย แม้แต่ชั้นปริญญาตรีก็เช่นเดียวกัน รำคาญใจที่เรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแต่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษพอ ก็กลับไปหาหนังสือชุดมัธยมว่าด้วยประวัติสาสตร์อังกฤษมาอ่านเสริมดู ต่อมาภายหลังจึงเกิดความพึงพอใจที่ใครเขาจะพูดอะไรกัน เราก็ตามเขาทัน

ข้อคิดเหล่านี้เขียนขึ้นให้นักศึกษาเกิดสติรำลึกได้ว่า เรามาเรียนเรียนให้เก่ง วิธีที่จะเรียนให้เก่ง ก็ได้กล่าวไว้ตามประสบการณ์ แต่ใครมีวิธีที่ดีกว่า ก็ยิ่งดี ข้อที่ควรจำต่อไปก็คือ นักศึกษามิใช่จะมีต่อตนเองที่จะเรียนให้เก่งเท่านั้น จะต้องเรียนให้เก่งกว่าครูบาอาจารย์ด้วย มิฉะนั้นโลกจะเจริญได้อย่างไร

 

ขอบคุณที่มาจาก : ประชาชาติธุรกิจ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ