สัมผัสร้านหนังสือในระยองฮิ ‘ประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์’ และ ‘สุนทรภู่’ : สถานีหนังสือ : เจริญ ศรัทธาทิตย์

สัมผัสร้านหนังสือในระยองฮิ ‘ประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์’ และ ‘สุนทรภู่’

ประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์

 

เมื่อวันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา คุณจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และคุณเรืองเดช จันทรคีรี เจ้าของสำนักพิมพ์รหัสคดี ผู้ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก พร้อมนักเขียนและกวีชื่อดัง อาทิ คุณชมัยพร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 3 กวีซีไรต์ คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ,คุณไพวรินทร์ ขาวงาม และคุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ รวมทั้งคุณขจรฤทธิ์ รักษา อดีตบรรณาธิการนิตยสารไรเตอร์และนักเขียนรางวัลศิลปาธร รวมไปถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการหนังสือ เดินทางไปร่วมพิธีเปิดร้านสุนทรภู่ แห่ง อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งร้านหนังสือเล็กๆ ที่บ้านเกิด ร้านแรกของเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก โดยมีสองสาวชาวแกลงแท้ๆ เป็นเจ้าของ คุณณีรนุช เอี่ยมอารยา กับคุณรัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์

 

ประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์

 

สำหรับร้านสุนทรภู่ถือเป็น 1ใน 15 ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ ที่เข้าร่วม ‘สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ’ จัดโดย เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก ร้านสุนทรภู่ถือเป็นร้านหนังสืออินดี้หรืออิสระอย่างจริงๆ เพราะรับหนังสือจาก 2 สายส่ง คือ เคล็ดไทยและฟรีฟอร์ม ของเครือข่ายนักอ่านไทย รวมถึงเปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เล็กๆ นำหนังสือมาฝากวาง และในบางครั้งเจ้าของร้านจะเป็นผู้ไปสรรหาหนังสือที่ตัวเองชอบมาด้วยตัวเอง

‘Be Blossom Book & Tea’ คือนิยามของร้านสุนทรภู่ ที่ไว้ต้อนรับลูกค้าที่แวะเวียนไปใช้บริการ หากว่าไปแล้ว ภาคตะวันออก เป็นภูมิภาคย่อยทางตะวันออกของประเทศไทย เดิมถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคกลาง อยู่ติดชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออก นับเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ผลไม้ และอัญมณีของประเทศ ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระนอง, จันทบุรี, ปราจีนบุรี, สระแก้ว และตราด

จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุดในประเทศ และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศไทย 8 อำเภอ 58 ตำบล 388 หมู่บ้าน เมื่อก่อนจังหวัดระยองจะเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองแห่งผลไม้ดีของภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นมังคุด ทุเรียน เงาะ รวมทั้ง อาหารทะเลสด แปรรูป กะปิ น้ำปลา เนื่องจากความเหมาะสมของสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยและสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม

นอกจากนั้น ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม เนื่องจากมีชายหาดยาวสวยเลียบขนานไปกับอ่าวไทย และเกาะสวยงามระดับโลก เช่น เกาะเสม็ดก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายท่ามกลางนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดคือเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม เสน่ห์ของระยองคือ สำเนียงภาษาพูดที่ใช้เป็นภาษาชอง การพูดของชาวชองคือ การพูดธรรมดาเหมือนภาษาไทยกลาง แต่มีหางเสียงของชาวชอง พูดคำว่า ฮิ หมายถึง ค่ะหรือครับ เครือข่ายนักอ่านไทยและเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็กได้ไปร่วมบุกเบิกร้านหนังสือในอำเภอแกลง จังหวัดระยองคือ ร้านสุนทรภู่ ซึ่งเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่บ้านเกิดมีเป้าหมายให้มีร้านหนังสือเล็กๆ เกิดขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ร้าน ทั่วทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย

เมื่อมาสำรวจดูร้านหนังสืออื่นๆ ในจังหวัดระยอง โดยเฉพาะอำเภอเมือง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจและใจกลางทางเศรษฐกิจ มีร้านหนังสืออยู่ไม่น้อย อาทิ ประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์ / ร้านหนังสือบรรณาคม / หจก.ทางหนังสือ (ร้านนายอินทร์-ระยอง) / บริษัท รักษ์ปัญญาจำกัด / ร้านนิติสาส์น / ร้านประเสริฐบุ๊ค / ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ สาขาแหลมทอง ระยอง / ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ สาขาโลตัส ระยอง

 

ประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์

 

ประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์

 

ร้านหนังสือที่ถือว่า ใหญ่ที่สุดในจังหวัดระยอง ก็คือ ร้านหนังสือประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองระยอง โดยมีคุณกานดา จินันทุยา บริหารดูแลอยู่ เธอบอกว่า ร้านหนังสือแบบสแตน อโลน ที่อยู่ในจังหวัดไม่ใหญ่นัก อย่างระยอง มีแนวคิดและประวัติเริ่มต้นมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว “ร้านของเราเก่าแก่พอสมควรเปิดมากว่า 30 ปีแล้ว แต่เดิมร้านเราเริ่มมาจากเป็นเอเย่นต์หนังสือพิมพ์และนิตยสารเล็กๆ ก่อน ซึ่งใช้เวลาปรับเปลี่ยนมาเปิดร้าน ณ

ที่ปัจจุบันในเดือน พ.ค. ปี 2531 ปีนั้นเปิดร้านใหม่นี้ขนาด 3 คูหาเป็นร้านหนังสือที่มีหนังสือทุกหมวดหมู่เต็มพร้อมที่สุดในจังหวัด เปิดมาตั้งแต่ระยองยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ จวบจนปัจจุบันร้านเรามีขนาด 5 คูหา ซึ่งก็กว้างพอประมาณ มีหนังสือและเครื่องเขียนเล็กๆ น้อยๆ จำหน่ายอีกด้วย” จากพื้นฐานรักการอ่านของคุณกานดา เธอบอกว่า อยู่กันหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เด็กก็เริ่มจากอ่านการ์ตูน สมัยนั้นหนังสือสำหรับเยาวชนมีแต่การ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ได้มีมากมายเช่นในทุกวันนี้ “หาอ่านนิทาน เรื่องเด็กตามนิตยสารอย่างสตรีสาร ลลนา ขวัญเรือน ฯลฯ แค่นั้นก็สนุกแล้วค่ะ การอ่านจึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ซึ่งถือเป็นการหาความสุขและการพักผ่อน พอโตมา หนังสือที่อ่านก็เริ่มเปลี่ยนไปตามวัยด้วย เริ่มมีจุดประสงค์ในการอ่าน เพราะเวลาเราน้อยลง ส่วนมากจะเป็นการอ่านเพื่อพักผ่อน เปิดมุมมอง เปิดสมอง และการเรียนรู้ค่ะ ไม่ว่าหนังสือที่คุณอ่านจะเป็นหนังสือประเภทใด คุณจะได้สิ่งใหม่ๆ จากหนังสือเล่มนั้นๆ เสมอ จากเหตุผลเหล่านี้ประกอบกับเราขายหนังสือก็ได้รู้ว่า ลูกค้ากลุ่มไหนชอบอะไร อยากจะอ่านอะไร เวลาเข้ามาซื้อหนังสือชอบเลือกของแบบไหน เราก็เอามาแนะนำพนักงาน ให้เขาเข้าใจหัวใจลูกค้า ให้เขารู้ว่าลูกค้าอยากให้เขาแนะนำแบบไหน เอาใจใส่แบบใด” จุดเด่นหรือจุดขายของหนังสือที่มีอยู่ในร้านประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์ ซึ่งให้นักอ่านสนใจมาเยี่ยมเยือน คุณกานดา แย้มเคล็ดไม่ลับของร้านว่าคือ ‘ความครบถ้วน’

“เนื่องจากร้านเราเป็นร้านแรกที่เป็นร้านหนังสือใหญ่ในจังหวัด ลูกค้าของเราจึงมีทุกเพศทุกวัย ฉะนั้น หนังสือที่เราขายจึงต้องครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ร้านเราจึงมีหนังสือครบถ้วน คอยปรับสินค้าในร้านให้พอเหมาะพอดีอยู่เสมอเพื่อให้ตรงกับความต้องการใหม่ๆ แทรกเสริมกลุ่มหนังสือใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่จะขาย และดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาด้วย”

จากประสบการณ์ตรงที่คลุกคลีกับธุรกิจร้านหนังสือมายาวนาน คุณกานดามองวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยและคนในระยองว่า คนไทยควรได้รับการสนับสนุนให้อ่านมากๆ กว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ราคาหนังสือ

“เป็นคนขายนะคะ แต่ก็ยังคิดว่าหนังสือแพง คนที่รักการอ่านบางคนไม่สามารถซื้อได้ทุกเล่มที่อยากอ่าน ส่วนหนึ่งซึ่งคิดว่าเยอะพอสมควรจึงหาตามร้านเช่ามาอ่านกัน หากราคาหนังสือย่อมเยากว่านี้ คนคงซื้อได้มากขึ้นค่ะ สำหรับคนระยองอ่านเก่ง ยิ่งเยาวชนสมัยนี้ต้องยอมรับเลยว่า มีมากขึ้นด้วย ถึงแม้ร้านหนังสือในระยองจะเพิ่มขึ้นมากมายจริงๆ แต่การจับจ่ายหนังสือในตลาดระยองโดยรวมถือว่าดี และเนื่องจากเป็นตลาดแรงงานจังหวัดหนึ่ง ฉะนั้น หนังสือสำหรับเพิ่มเติมความรู้สำหรับคนวัยทำงานก็เป็นตลาดใหญ่ด้วย แต่ก็มีส่วนหนึ่งของคนที่ยังไม่เป็นนักอ่านตัวจริงจะเป็นการอ่านตามกระแสด้วยค่ะ คือมีเรื่องอะไรดังก็จะเลือกหยิบจับอ่านแบบนั้นก็ยังมีอยู่บ้าง”

เมื่อถามถึงการอยู่รอดในเชิงธุรกิจของร้านหนังสือในต่างจังหวัด มีกลเม็ดเคล็ดลับอย่างไร และมีการแข่งขันกันสูงหรือไม่?

“แข่งขันกันสูงมากๆ ค่ะ ร้าน Chain Store ในอำเภอเมืองมีนับ 10 ที่ ยังไม่รวมร้านพื้นที่ด้วยกันเองอีกนะคะ เรียกว่าบดกันเลือดซิบๆทีเดียว เรายึดหลักวางสินค้าต้องรวดเร็ว มีให้ครบถ้วน และปริมาณเพียงพอค่ะ หากข้อได้เปรียบใดที่เรามีมากกว่าก็ต้องชูจุดนั้นๆ ให้โดดเด่น จุดใดเราเสียเปรียบหากสามารถแก้ไขได้ให้รีบแก้ไข เพื่อไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราด้อยกว่า แล้วก็บริการแบบเป็นคนบ้านเดียวกัน คือค้าขายจนทำให้เกิดความผูกพันกับลูกค้า ค้าขายกันจนรู้จักกันเลยทีเดียว แล้วเราจะผูกลูกค้าไว้ได้ยาวนาน ระบบลูกค้าสมาชิกต้องมีเพื่อสร้าง Royalty แก่ลูกค้า สำคัญมากๆ เพื่อให้ลูกค้านึกถึงเราก่อนเสมอ เวลาสำนักพิมพ์มีกิจกรรมงานนอกสถานที่ นักเขียนพบนักอ่านโดยตรง เราก็จัดกิจกรรมให้ลูกค้าด้วย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้านิยมในร้านเรา นึกถึงร้านเรา และเป็นลูกค้าประจำกับเราเรื่อยไปค่ะ”

คุณกานดาย้ำว่า เสน่ห์ของร้านประสิทธิ์ศิลป์บุ๊คเซ็นเตอร์ คือ ความเป็นกันเอง “เราเป็นกันเอง และพูดคุยกับลูกค้าเสมอ ซื้อขายต่อรองกันง่ายๆ ผูกพันยาวนาน หาโปรโมชั่นมาสลับสับเปลี่ยนให้ลูกค้าเลือกซื้อเรื่อยๆ บ่อยๆ หาสินค้าหลากหลายให้ลูกค้าซื้อได้ง่ายๆ ครบถ้วน พื้นที่ร้านมีกว้างพอประมาณทำให้สินค้าครบถ้วนมีมาก และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกคนในครอบครัวได้ จอดรถที่เดียวซื้อได้ครบค่ะ ลูกค้าของร้านมีทุกเพศ ทุกวัยเลยค่ะ ฉะนั้น หนังสือภายในร้านจึงต้องตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้อย่างครอบคลุม แต่เราให้พื้นที่สำหรับหนังสือตำราอ้างอิงหลากหลายหมวดเยอะหน่อย อาทิ หนังสือเรียน คู่มือเรียน หนังสือภาษา ตำราสอบงานราชการ กฎหมาย เพราะถือเป็นหัวใจของเราที่มุ่งด้านนี้มากหน่อย แต่หนังสืออ่านเพื่อความบันเทิง ซึ่งเป็นที่นิยมของท้องตลาดทุกชนิดเราก็ไม่ทิ้ง เพราะเป็นตลาดใหญ่ด้วย”

การสร้างกลุ่มลูกค้าและนักอ่านที่มีคุณภาพ เป็นเรื่องหนึ่งที่คุณกานดาเผยให้เห็นว่า ทางร้านของเธอใส่ใจเป้นอย่างยิ่งไม่แพ้กับการสร้างยอดขายหนังสือขายดี

“ร้านต้องมีความใส่ใจที่จะหาหนังสือให้ตรง เร็ว มากพอให้แก่ลูกค้าของตนเองค่ะ เพราะลูกค้าหากเขาอยากหาหนังสือดีๆ อ่าน แล้วแวะมาแล้วได้สิ่งที่ถูกใจและต้องการเสมอ เขาก็จะมีความสุขต่อการหาหนังสืออ่าน ก็จะสร้างนิสัยรักการอ่านไปในตัว คือหมายความว่าร้านนอกจากจะหาหนังสือขายดีมาใส่ร้านแล้ว ยังต้องยอมให้มีหนังสือดี ซึ่งยอดขายอาจไม่เด่นอยู่ในร้านให้ลูกค้าเลือกไปอ่านได้ด้วยค่ะ อย่าจัดไว้แต่เฉพาะหนังสือตลาดทำเงิน ต้องสร้างพื้นที่ในหนังสือสำนักพิมพ์ดีๆ เอาไว้ด้วยค่ะ” แน่นอน เธอก็มองถึงการไล่ล่าของอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีมาสู่อีบุ๊ก ซึ่งจะมีผลต่อร้านและจะต้องมีการปรับตัวในธุรกิจของร้านหนังสือ

“เริ่มมีผลมากขึ้นทุกวันค่ะ จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีประชากรแฝงเยอะมาก กลุ่มลูกค้าที่ทำงานประจำตามบริษัทเอกชนเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมาก และเป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กันอย่างจริงจัง ฉะนั้น หนังสือนิตยสารกับหนังสือพิมพ์รายวันถือเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาก่อนกลุ่มแรกๆ เลยทีเดียว โดยส่วนตัวคิดว่าหากระบบอินเทอร์เน็ตพัฒนาขึ้นให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงและใช้งานได้อย่างราบรื่นเร็วเมื่อใด เราก็จะเห็นปัญหาเร็วขึ้นเมื่อนั้นค่ะ

การปรับตัวคือ เพิ่มพื้นที่สำหรับจำหน่ายหนังสือขายดีและหรือสินค้าชนิดอื่นเพิ่มขึ้น พยายามประคองธุรกิจเราให้อยู่รอดต่อ โดยการปรับตัวให้เหมาะสมกับตลาดของเรา คิดว่าร้านหนังสือส่วนใหญ่ตระหนักในจุดนี้กันมากขึ้นทุกวัน เพียงแต่ร้านใดจะขยับไปทางไหนก็ขึ้นอยู่กับโอกาส ความถนัด และตลาดในแต่ละพื้นที่ค่ะ”

การที่รัฐบาลประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และกรุงเทพฯ ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก รวมถึงมีการรณรงค์ส่งเสริมและสร้างวัฒนธรรมการอ่านทั่วประเทศ มุมมองส่วนของคุณกานดามองว่า เป็นเรื่องดีมากๆ ค่ะ

“ตอนนี้สำหรับต่างจังหวัดอยากให้มีกิจกรรมเป็นรูปธรรมบ้าง โดยให้โอกาสร้านอิสระอย่างเราได้ร่วมด้วยก็ยิ่งดี จริงๆ การอ่านเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรอย่างยิ่งต้องให้การสนับสนุนอย่างยั่งยืนและจริงจัง เพราะคนเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่ายิ่งของสังคม ประเทศเราจะพัฒนาไปอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับคนของเรา จึงควรให้ความสำคัญแก่เยาวชนให้คลุกคลีกับหนังสือและการอ่านมากๆ โดยกิจกรรมควรเป็นในลักษณะใดก็ได้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เจอได้อ่าน หนังสือบ่อยขึ้นค่ะ”

เมื่อถามว่า อยากจะให้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มีนโยบายช่วยเหลือร้านหนังสือในต่างจังหวัดอย่างไรบ้าง? เธอตอบอย่างชัดเจนว่า

“ตอนนี้ที่ยืนสำหรับร้านหนังสืออิสระชักจะน้อยลงไปทุกทีแล้วค่ะ บางสำนักพิมพ์แทบไม่เห็นความสำคัญของเราเลย ดูจากการกระจายหนังสือของบางสำนักพิมพ์ก็รู้ ร้านอิสระกว่าจะได้หนังสือเขามาขาย ร้าน Chain Store ก็ขายนำล่วงหน้าไปก่อนหลายช่วงตัวแล้ว อำนาจต่อรองกับใครก็ไม่มี ธุรกิจในปัจจุบันเป็นแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก บริษัทและเครือใหญ่ๆ ที่มีอำนาจต่อรองมากๆ ส่วนแบ่งตลาดเยอะๆ นับวันก็คุกคามเรามากขึ้นเรื่อยๆ ดูแล้วก็ท้อ แต่เราต้องสู้...”

 

ภาพประกอบ : คุณกานดา จินันทุยา นำมาจาก http://www.jamsai.com/partner/shop_15/

ภาพร้านสุนทรภู่ นำมาจาก facebook ร้านสุนทรภู่ ร้านหนังสือเล็กๆ ที่บ้านเกิด 1 อ.แกลง จ.ระยอง

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ