เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ : ‘เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ กับหนังกระแสรองที่ไม่เป็นสองรองใคร

เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

ความสำเร็จของภาพยนตร์ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (2552) TOP SECRET วัยรุ่นพันล้าน (2554) หรือ 14 จากเรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน (2555) มาจากหนุ่มเนิร์ดคนหนึ่งที่ชื่อ ‘เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ซึ่งรับบทเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่อง ความสำเร็จของหนังที่ผ่านมาข้างต้น ไม่ได้ทำให้เต๋อนิ่งนอนใจแต่อย่างใด กลับสร้างหนังกระแสรองตามความตั้งใจของตัวเอง โดยเขียนบทและกำกับไปด้วยในตัว จนได้ออกมาเป็นหนัง 36 ในที่สุด ซึ่งผลตอบรับจากผู้ชมก็ดีเกินคาดอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ผลงานอย่าง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY. ตามมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น นั่นแสดงให้เห็นว่าเต๋อทำได้ดีทั้งคู่ทั้งหนังกระแสหลักและกระแสรอง รวมถึงการรับหน้าที่เป็นผู้กำกับในหนังของเขาเองอีกด้วย อะไรที่ทำให้นวพลมายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้ และอะไรที่ทำให้หนังกระแสรองของเต๋อเป็นที่นิยมมากถึงขนาดนี้

เริ่มเรื่อง : อาชีพเขียนบท “เราเริ่มมาจากการเป็นนักเขียนก่อน” ชายหนุ่มขยับแว่นนิดหนึ่ง ก่อนจะอธิบายต่อเรื่องการเข้ามาในวงการของคนเขียนบท “ถ้าเลือกได้จริง ๆ ก็อยากจะไปทำหนัง แต่ด้วยเทคโนโลยีตอนนั้นมันแพงมาก ๆ ไม่สามารถเอากล้อง DSLR ไปถ่ายหนังได้ แค่แฮนดี้แคมไม่ต้องใหญ่มากก็หรูแล้ว เราเลยมีเรื่องที่จะเขียนก่อน เพราะง่ายและไม่มีอะไรซับซ้อน มีแค่โปรแกรม Microsoft Word ก็จบแล้ว เหมือนตัวเองเริ่มต้นมาจากฝั่งนั้นมากกว่า ซึ่งถ้าเกิดยังเด็ก แล้วไปทำหนังเลย มีสิทธิ์เอาไม่อยู่แน่ ๆ แต่ตัวเองโชคดีที่ได้ฝึกฝนเรื่องของการเขียนบทก่อน หมายถึงว่า เขาไม่ปล่อยให้เราไปทำหนังหรอก แต่เขาขอให้ทำบทก่อน โดยการเขียนบทก็เป็นสิ่งที่ตัวเองทำแล้วรู้สึกสนุกรองจากการตัดต่อและกำกับ เพราะตัวเองถูกฝึกมาให้คิดว่า ตอนที่ไม่สามารถถ่ายหนังได้ บทนี่แหละสำคัญที่สุด และพอมามองงานประกวดต่าง ๆ เราดูแล้วก็รู้สึกว่า งานของเด็กบางชิ้นไม่ได้เนี้ยบหรอก แต่บทดีถึงดีมาก เราก็จะให้อภัยเรื่องของโปรดักชั่นไป เพราะอย่างไรมันก็เป็นหนังที่ดีอยู่ดี”

การสวมบทบาทหรือหน้าที่ตรงนี้ต้องมาพร้อมกับความมั่นใจ แล้วเต๋อมั่นใจในตอนไหนว่า เราเหมาะสมแล้วกับบทบาทหรือหน้าที่ของคนเขียนบทจริง ๆ
“ไม่ถึงขั้นว่ามั่นใจนะ” รอยยิ้มของเขาปรากฏหลังจากได้ยินคำถาม “แค่ทำแล้วทำอีกได้ ทำแล้วก็ทำอีก ทำแล้วก็มีคนให้ทำอีก ถ้าไม่ได้กำกับ เราคิดว่าเขียนบทก็ได้ ไม่ได้ติดอะไรมาก แถมสนุกดีด้วยซ้ำ เพราะเอาเข้าจริง การเขียนบทก็เหมือนการกำกับนั่นแหละ แต่ไม่ต้องออกไปถ่าย ฉะนั้นการเขียนบทจึงใกล้กับการกำกับมาก โดยการกำกับไม่ใช่แค่ทำอย่างไรให้ออกมาเป็นภาพ แต่เป็นเรื่องของการจัดการและแก้ไขปัญหาว่าจะถ่ายอย่างไร เช่น ฝนตกตอนถ่ายฉากแดดสวย ต้องทำอย่างไร และที่สำคัญบทคือต้นรากของการกำกับ ดังนั้นเรารู้สึกว่า หนังจะไปอยู่ที่บทมากกว่าการออกไปถ่าย ถ้าให้เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 65 – 35 หรือ 60 - 40 แต่ถ้าให้มองแบบลึก ๆ แล้ว ทั้ง 2 ส่วนมีความสำคัญเท่า ๆ กัน อย่างถ้าบทดี แต่ออกไปถ่ายเละเทะ มันก็เละ”

การทำงานย่อมต้องคู่กับอุปสรรค ไม่มีการทำงานไหนที่ราบรื่นและโรยด้วยกลีบกุหลาบ แล้วอาชีพอย่างคนเขียนบท อุปสรรคหรือปัญหาใหญ่ที่จะต้องเจอคืออะไร เมื่อเข้าไปทำงานอย่างจริงจัง
“มันนานพอสมควร” เรายังไม่เข้าใจว่าอะไรนาน เลยขอให้เต๋อขยายความเพิ่มเติม “เหมือนการไปนั่งทำสมาธินาน ๆ คือต้องมีความอดทนมาก และพอถึงจุดหนึ่งมันก็จะจม เพราะงานเขียนบทเป็นงานแห่งจิตใจอย่างหนึ่ง โดยเรื่องแรกที่เขียนออกไปอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่พอเขียนไปสักพัก ช่วงกลางจะเริ่มมืดและคิดไม่ออกแล้ว ดังนั้นเหล่าคนเขียนบทมักจะต้องเตรียมตัวอยู่ตลอดเวลา มีอาวุธติดตัวอยู่เสมอ เพราะเราไม่รู้ว่าจะเจอเข้ากับปมอะไร ถ้าเป็นคนดูหนังน้อย ก็จะคิดทางออกยากหน่อย เพราะไม่เคยเห็นปัญหานี้มาก่อน บางชิ้นตันก็ต้องยอมรับว่าตัน แล้วรอจนกว่าจะคิดหาทางออกให้กับเรื่องนั้นได้ ฉะนั้นแล้วงานเขียนบทถือเป็นงานแห่งจิตใจจริง ๆ ไม่ใช่วันนี้ก่อกำแพงไม่เสร็จ พรุ่งนี้มาทำต่อ แต่ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อดี มันก็จบแค่นี้จริง ๆ”

เต๋อยังบอกกับเราอีกว่า การเขียนบทในทุก ๆ เรื่องที่ผ่านมา ถือเป็นการศึกษาชั้นดีสำหรับเขา “การทำงานตรงนี้คล้ายกับการศึกษาเลยก็ว่าได้ สมมติ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ คือปริญญาโท เราเรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว รถไฟฟ้ามาหานะเธอ จึงเป็นปริญญาโทที่เรียนเกือบ 2 ปี เพราะเขียนอยู่นานมาก บางอย่างที่ตัวเองไม่รู้ พี่เขาก็สอนให้ เนื่องจากเป็นการเขียนหลายคน ซึ่งมันก็คือการเรียนหนังสือดี ๆ นี่เอง แต่พอเป็น TOP SECRET วัยรุ่นพันล้าน คราวนี้ล่ะปริญญาเอกของจริง เพราะเหลือตัวคนเดียวแล้วที่จะต้องรับผิดชอบก้อนนี้ไปให้ได้ทั้งหมด ซึ่งกินเวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปีเห็นจะได้ เราเลยรู้สึกว่า สิ่งที่พี่เขาสอนมาเป็นเพียงแค่พื้นฐาน งานที่ตัวเองทำก็ยังมีข้อบกพร่องและรายละเอียดบางอย่างจะที่ต้องปรับอยู่ เพราะศาสตร์ของการเขียนบทจะมีความเป็นคนอยู่นิดหนึ่ง มีขอบเขตและรายละเอียดเยอะ ไม่ถึงขั้นว่าเขียนแบบนี้แล้ว จะได้แบบนี้เสมอไป บางทีสูตรนั้นอาจจะทำได้ แต่ผ่านไปสามปีไม่สำเร็จแล้วก็มี ดังนั้นเราต้องเปลี่ยน ดิ้นรน และฝึกฝนตัวเองอยู่ตลอดเวลา”

กลางเรื่อง : หนังกระแสรอง สมัยก่อน หนังกระแสรองอาจไม่ค่อยถูกจริตกับผู้ชมสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันนี้หนังประเภทดังกล่าวกลับมีบทบาทมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด มันเป็นเพราะอะไรแน่
“เราว่าหนังดูเป็นมิตรขึ้น” คำตอบของเขาให้เรากระจ่างกับประเด็นนี้ “มีเนื้อหาหลากหลายขึ้น รวมถึงวิธีการสื่อสารกับผู้ชมด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อทดลองหรือศิลปะเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่าง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY. ที่ทำออกมา โดยสมมติว่า มีเด็กมาดูเยอะมาก ซึ่งความเป็นจริงไม่รู้หรอกว่า เขามาดูมากแค่ไหน แต่ตัวเองจะรู้สึกว่า น้องโดนหลอกมาดูหนังทดลองแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้พูดคำคำนั้นออกมา เขาก็มาดูหนังเรื่องนี้อยู่ดี คล้ายกับเด็กที่กินยาเคลือบน้ำตาล และเผลอกลืนยาเข้าไปแบบไม่รู้ตัว ดังนั้นการสื่อสารกับผู้ชมจึงค่อนข้างเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ถ้ารู้ว่าหนังตัวเองยากอยู่แล้ว ก็อย่าไปพูดให้ยากกว่านั้น หรือถ้ารู้ว่าหนังตัวเองอินดี้ แต่อยากให้คนอื่นดู ก็ใช้วิธีการที่หนังกระแสหลักเขาพูดกันสิ เช่น ถ้าพูดว่า หนังเรื่องนี้คือการจำลองทวิตเตอร์ โดยเป็นการสื่อสารและรับ – ส่งข้อมูลรูปแบบหนึ่ง เราว่าคนดูคงจะบ๊ายบาย เพราะเข้าใจยากเกินไป ฉะนั้นตัวเองเลยเลือกที่จะเล่าอีกมุมหนึ่งว่า ชีวิตคนเราแม่งมั่วมาก ซึ่งสิ่งที่พูดออกมาก็ไม่ได้โกหกแต่อย่างใด และไม่ได้ตัดตัวอย่างหลอกผู้ชมด้วย เพราะในหนังเป็นแบบนั้นทุกประการ ถ้าไปดูจริง ๆ หนังจะเหมือนกับตัวอย่างมาก เพียงแต่ใช้วิธีการพูดที่แตกต่างกัน รวมถึงการใช้เพลงสนุก ๆ อย่างProject - H ด้วย ซึ่งเข้ากับตัวหนังได้เป็นอย่างดี”

หลาย ๆ คนมักบอกว่า นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็นคนแรกที่ทำให้หนังประเภทนี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แล้วเจ้าตัวจะรู้สึกแบบนั้นบ้างหรือเปล่า
“ไม่รู้ว่าเป็นคนแรกหรือเปล่า แต่เราเองอยากให้หนังและวิธีคิดแบบนี้ไปด้วยกันได้ ซึ่งต้องชั่ง ตวง วัด อยู่นานพอสมควร เพราะมันคือการคิด 2 ชั้น อย่างถ้าจะทำหนังอาร์ตแบบเต็มที่หรือหนังอินดี้แบบเพียว ๆ ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ปล่อยทุกอย่างไปตามที่คิดได้หมดเลย หรือถ้าเกิดอยากจะทำหนังกระแสหลักขึ้นมา ก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง และถึงแม้ว่าหนังที่ตัวเองทำตอนนี้จะยังไม่สุดก็ตาม แต่ถ้าทั้ง 2 อย่างนี้ผสมด้วยกันได้ แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว”

ด้วยความที่เต๋ออยู่กึ่งกลางระหว่างหนังกระแสหลักและรองแบบนี้ เวลาทำงานจริงจะไม่สับสนหรือตีกันหรอกหรือ
“ไม่ค่อยนะ เพราะเหมือนเราดูออกว่า เนื้อหาแบบไหนเหมาะกับการนำเสนออย่างไรมากกว่า เช่นเนื้อหาแบบนี้เหมาะสำหรับคนกลุ่มน้อย คนหมู่มากไม่น่าจะเข้าใจ ซึ่งตอนแรกยอมรับเลยว่า ตัวเองก็ดูไม่เป็นเหมือนกัน แต่พอไปร่วมงานกับ GTH บ่อย ๆ เข้า ก็เริ่มดูเป็นมากขึ้นและส่งผลดีกับตัวเรามาก ๆ เพราะแต่ก่อนคาดการณ์หรือเดาไม่ถูกเลยว่า “เอ๊ะ! นี่คือแมสหรืออินดี้” แต่พอไปอยู่ฝั่งสตูดิโอก็จะเริ่มแยกออกว่า สิ่งนี้แมสหรือไม่แมส อย่างเวลาจะทำหนังสักเรื่องหนึ่งขึ้นมา เราจะรู้โดยอัตโนมัติเลยว่า ทำเนื้อหาแบบนี้ไม่แมสชัวร์ แต่ก็ยังอยากทำอยู่ (หัวเราะ) และพอทำออกมาก็เผื่อใจไว้หน่อยว่า ผู้ชมจะไม่เยอะเท่ากับเรื่องที่แมส ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติมาก ๆ”

หนังกระแสรองทั้ง 2 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น 36 และ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY. ต่างได้รับกระแสตอบรับที่ดีทั้งคู่ เราเลยขอให้เต๋อวิเคราะห์ความสำเร็จของหนัง 2 เรื่องนี้ว่า มันไปได้ดีด้วยเหตุใด หนังดูรู้เรื่องมากขึ้น ผู้ชมเปิดใจมากขึ้น หรือเป็นเพราะความสามารถของตัวเอง

“อันนี้แล้วแต่คนจริง ๆ อย่างที่บอกไปข้างต้น มันไม่ได้เป็นหนังกระแสหลักและทำเพื่อทุกคนขนาดนั้น บางคนทนความช้าและเบาแบบ 36 ไม่ไหว หรือบางคนทนความเร็วแบบMARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY. ไม่ได้ แต่อย่างหนึ่งที่รู้สึกและเป็นความตั้งใจของตัวเองตั้งแต่แรกเลยก็คือ อยากทำให้หนังอินดี้หรือหนังศิลปะที่คนหวาดหลัวอยู่ใกล้กับเขามากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าศิลปะมันอยู่ใกล้กับทุกคนได้ ซึ่งแต่ก่อนศิลปะจะมีการแบ่งชนชั้นวรรณะที่สูงมาก เช่น ภาพนี้ตั้งอยู่ในร้านกาแฟ จะถือเป็นศิลปะหรือเปล่า ภาพที่เห็นสวยมากและมุมถ่ายก็ยากด้วย น่าจะเป็นศิลปะได้ แต่พอภาพนี้ไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ มันก็กลายเป็นภาพไก่กาไป ยิ่งอะไรก็ตามที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า ‘ศิลปะคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์’ เขาจะยิ่งตีห่างออกไป ซึ่งเอาเข้าจริงศิลปะมีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา อย่างถ้าให้ไปคิดลายผ้าปูโต๊ะก็งงเหมือนกัน เอาลายอะไรดีให้เหมาะกับบรรยากาศร้าน แค่นี้ก็เป็นโจทย์ยากแล้ว เรารู้สึกว่าตัวเองเต็มที่กับทุกอย่างที่ทำ บางอย่างคุณอาจจะไม่ชอบ แต่ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ทำ มีค่าน้อยกว่าสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ตรงนี้แหละเป็นปัญหาสำคัญ อย่างพวกหนังอาร์ตหรือหนังอินดี้ก็ถูกจัดให้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งคนทั่วไปมักคิดว่า ดูไม่รู้เรื่องและยากชัวร์ ต้องปีนบันไดดูแน่ ๆ หรือพูดว่าไม่ชอบก็ไม่ได้ เดี๋ยวดูโง่อีก ตอนที่ทำ 36 หรือ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY. ตัวเองรู้สึกว่าลุยไปเลย และผู้ชมก็ดูหนังเหมือนที่ดูทุกเรื่องนั่นแหละ ชอบหรือไม่ชอบก็บอก ไม่ไหวก็หลับ บอกอะไรก็ได้ เราแค่อยากให้ผู้ชมรู้สึกว่า มันเหมือน ๆ กัน เลิกแยกประเภทกันสักที คล้ายกับสิ่งของอย่างหนึ่งที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบเหมือนกัน”

ท้ายเรื่อง : มืออาชีพ พอภาพยนตร์จบไปในแต่ละเรื่อง มันได้ส่งผลอะไรกลับมาที่ชีวิตของตัวเองบ้าง นอกจากชื่อเสียงและรางวัลที่ได้รับ
“มันให้แค่ 2 – 3 อย่าง” เราขอให้เต๋อขยายถึง 2 – 3 อย่างที่กล่าวออกมา “อย่างน้อยคนรู้จักเรามากขึ้น อีกทั้งดีตรงที่ว่า ทำงานหน้าไม่ค่อยมากและไม่ต้องมาเริ่มใหม่ บอกว่าตัวเองคือคนทำเรื่องนั้น ถ้าชอบก็มาดูเรื่องนี้ ทำแล้วมีคนสนใจและชอบในเรื่องดังกล่าว ก็ลองให้มาดูเรื่องนี้ หรือไม่ชอบเรื่องที่แล้ว แต่ก็ลองไปดูอีกที ว่าจะไม่ชอบเรื่องนี้อีกหรือเปล่า เราว่ามันเป็นเรื่องแค่นั้นจริง ๆ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้นหรืออะไรเลย เพราะท้ายสุดรางวัลที่ได้จากหลายสถาบันก็มาอยู่ที่พื้นบ้านอยู่ดี ไม่ได้ซื้อตู้เก็บแต่อย่างใด เดี๋ยวมันก็ผ่านไปและเป็นเรื่องของปีที่แล้ว คิดแค่นั้นมากกว่า ได้รางวัลจากปูซานมาแล้วเป็นอย่างไร ตัวเองก็ตันบทตรงนี้อยู่ดี ซึ่งในแง่ของอาชีพ จะได้พวกนั้นมากกว่า โดยทำเรื่องหน้าก็มีคนมาดูเรื่อย ๆ แต่ถ้าทำเรื่องหน้าแล้วแย่ คนก็ไม่มาดู เพราะฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องต่อเรื่องไป ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ เรื่องหน้าอาจจะสนุกกว่านี้ หรือเรื่องต่อไปอาจจะไม่น่าดูเลยก็ได้ แต่เอาเข้าจริง คนจำได้ไม่กี่คนหรอกว่า ได้รางวัลอะไรมาบ้าง ซึ่งสำหรับเราถือว่าดีแล้ว เพราะอยากให้คนมาดูหนังเรื่องนั้นจริง ๆ ไม่ใช่เพราะตัวเอง ถ้าเกิดหนังเรื่องนั้นเราทำแล้วห่วย ก็บอกได้ ไม่ใช่มัวแต่ชมว่า หนังพี่เต๋อดีจังเลย ไม่เอา บอกมาเถอะ ซึ่งถ้าเราไปยึดติดตรงนั้นมาก มันก็จะไม่ไปไหน วางแล้วเริ่มต้นใหม่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด“

เต๋อพูดสวนขึ้นมาทันที หลังจากที่เรากล่าวออกไปว่า เขาคือมืออาชีพทางด้านภาพยนตร์
“เราเป็นเด็กนักเรียนที่ยังไม่กล้าพูดคำว่า ‘มืออาชีพ’ เพราะถ้าบอกว่า ตัวเองคือมืออาชีพ เราเองจะพลาดไม่ได้ มันเครียดมากนะ ถ้ารู้ว่าตัวเองทำงานงานหนึ่ง แล้วจะต้องพลาดแน่นอน และที่สำคัญ เรากลัวการพลาดไม่ได้ เรียกเราว่า ‘มือสมัครเล่น’ น่าจะดีกว่า เพราะถ้าพลาดอะไรไป จะได้ไม่รู้สึกผิดมาก และงานสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ทุกครั้ง รวมถึงทุกครั้งที่เริ่มใหม่ ก็อาจจะมีอะไรพลาดไปบ้าง แต่การพลาดในครั้งนั้น คือสิ่งที่สอนให้เราเรียนรู้ต่อไป ครั้งหน้าจะได้ผิดพลาดน้อยลง”

เด็กรุ่นใหม่หลายคนอยากจะสร้างชื่อแบบมืออาชีพให้ได้เหมือนอย่างเต๋อบ้าง ในฐานะที่เต๋อเป็นรุ่นพี่มีคำแนะนำอะไรจะบอกกับพวกเขาบ้าง “เด็กรุ่นนี้ 2 ปีก็เลิกแล้ว เพราะเบื่อและคิดว่า 3 ปีจะบรรลุผล แล้วก่อนหน้านั้นคืออะไร มันไม่ใช่เรื่อง 3 ปีในการทำงาน แต่เป็นเรื่องก่อนที่คุณจะเข้ามาทำงาน คุณสะสมข้อมูลมาแล้วกี่ปี มีข้อมูลอะไรในหัวบ้าง เรื่องของข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไปเรื่อย ๆ และที่สำคัญต้องคิดว่าตัวเองไม่ได้เก่ง เพราะถ้าคิดว่าเก่งและรู้ไปหมดทุกอย่างก็เป็นอันจบ ฉะนั้นแล้วควรหมั่นอ่านหนังสือและหาข้อมูลบ่อย ๆเพราะคุณอยู่ในแกนโลกที่หมุนและเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา รวมถึงคุณไม่ได้เป็นคนขายก๋วยเตี๋ยวที่จะสามารถทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ได้ โดยเป็นผู้เยี่ยมยุทธ์ทางด้านสูตรที่โลกต้องมาหมุนตามเรา และใคร ๆ ก็ต้องมากิน มันไม่ใช่ เพราะหนังคือการเล่นกับความรู้สึกของคนซึ่งเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา วันนี้สนใจเรื่องนี้ วันต่อไปอาจจะสนใจเรื่องอื่นก็ได้ ดังนั้นมันไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่อ่านหนังสือ เพราะการทำงานดังกล่าวต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตัวเองยังรู้สึกเลยว่ามันไม่ง่าย เพราะกว่าที่เราจะเข้าใจเรื่องการเขียนบทหนังกระแสหลักได้ ก็ใช้ระยะเวลาพอสมควร ฉะนั้นแล้วความพยายาม อดทน และอุตสาหะ จึงจำเป็นมากสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาในอาชีพนี้แบบเต็มตัว”

เคยมีคำกล่าวว่า “คนมือเย็นเท่านั้น ถึงจะปลูกต้นไม้ให้งอกงามได้” เราเลยจะบอกอีกเช่นกันว่า “คนใจเย็นและอดทนเท่านั้น ถึงจะเป็นมืออาชีพได้” / จบ.

all Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 9 มกราคม 2556
บุคคล (ไม่) ธรรมดา /
เรื่อง : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย
ภาพ : วิลาสินี เตียเจริญ

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ