ร้านแพร่วิทยา หาดใหญ่ : ร้านแพร่วิทยา หาดใหญ่ : ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าคือหัวใจของร้าน

ร้านแพร่วิทยา หาดใหญ่

ร้านแพร่วิทยา หาดใหญ่

 

46 ปี แห่งการเดินทาง แพร่วิทยา …เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2497 เมื่อคุณพ่อและคุณแม่ได้เดินทางลงมาจากกรุงเทพฯ แล้วคุณแม่ก็ได้ไปซื้อแผงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ เป็นแผงลอยเล็ก ๆ เพื่อขายหนังสือ ซึ่งตอนนั้น ยังไม่มีชื่อร้าน คุณพ่อเองก็ช่วยดูแลแผง และทำร้านอาหารไปด้วยส่วนหนึ่ง 3 ปี ผ่านไป จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ. 2500 คุณพ่อกับคุณแม่ก็ได้ไปเช่าตึกแถว หนึ่งคูหา ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์การค้า และโรงภาพยนต์ อีกด้วย โดยเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงพอสมควร ในสมัยนั้น ตึกนี้เป็นตึกแถวแรก ๆ ที่มีอยู่ในหาดใหญ่สมัยนั้น จากนั้น คุณแม่จึงได้ย้ายมาขายที่ร้านนี้เพียงแห่งเดียว พอก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาทางร้านจึงได้มีการเริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายและสายส่งให้กับนิตยสารบ้างเล่ม แต่ปริมาณยังไม่มาก และเนื่องจากคุณพ่อเป็นคนที่รู้จักคนเยอะ และชอบงานเกี่ยวกับนักข่าวจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับแวดวงหนังสือพิมพ์อยู่มาก จึงเริ่มเป็นสายส่งให้กับหนังสือพิมพ์และหนังสืออื่นมากขึ้น ซึ่งคุณพ่อและคุณแม่ก็ช่วยกันบริหารจัดการร้าน เรื่อยมา ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มาก เหมือนสมัยนี้

การเปิดร้านครั้ง คุณพ่อจะเข้าไปติดต่อกับสำนักพิมพ์เพื่อนำหนังสือมาวางจำหน่าย และเริ่มมีสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ส่งเข้ามามากขึ้น และที่ต้องพูดถึงก็คือ "สำนักพิมพ์แพร่พิทยา" ที่วังบูรพา ซึ่งคุณพ่อสนิทสนมคุ้นเคยกับเจ้าของสำนักพิมพ์นี้ ทางสำนักพิมพ์จึงได้จัดส่งหนังสือมาให้จำหน่ายก่อนเป็นจำนวนมาก และยังอนุญาตให้ใช้ชื่อร้านและตราสัญลักษณ์ของร้านที่ใกล้เคียงกับ "แพร่พิทยา" ที่กรุงเทพ เลยตั้งเป็น "แพร่วิทยา" หาดใหญ่ ซึ่งคุณพ่อมีความภาคภูมิใจมาก หลังจากนั้นทางสำนักพิมพ์แพร่พิทยา ก็มีการจัดส่งหนังสือมาให้จำหน่ายอยู่เรื่อย และความสัมพันธ์ทางธุรกิจด้วยดีตลอดมา กิจการก็ดำเนินไปเรื่อย โดยคุณพ่อเองก็ยังทำร้านอาหารอยู่ แต่คุณแม่จะรับผิดชอบงานร้านหนังสือเพียงอย่างเดียว

พอลูก ๆ โตขึ้น ก็ได้เข้ามาช่วยงานทางร้านมากขึ้น โดยเฉพาะพี่ชายคนที่สาม คือ คุณสมบูรณ์ อารีวัฒนา ก็ได้เข้ามาช่วยบริหารร้าน ซึ่งร้านยังตั้งอยู่ที่เดิม โดยรูปแบบทั่วไปของร้านยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ต่อมาเมื่อพี่ชายคนที่สอง สำเร็จการศึกษาจากเชียงใหม่ จึงได้เข้ามาช่วยดูแลหน้าร้านให้อย่างเต็มที่ และพี่ชายคนที่สาม ก็ได้ดูแลระบบขายส่งอย่างเต็มที่ ทำให้ในช่วงนี้ ทางร้านมีการปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ ในลักษณะที่ทันสมัยขึ้นเรื่อย ๆ ระบบการจัดส่ง มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ประมาณ 4 ปี ผ่านไป ... พ.ศ. 2527 หลังจากคุณอรอนงค์ ผู้บริหารร้านในปัจจุบัน จบการศึกษา จึงได้มาดูแลในส่วนของหน้าร้าน การจัดวางสินค้า การจัดรูปแบบร้าน จึงได้ให้สถาปนิกตกแต่งภายในช่วยออกแบบ ส่วนพี่ชายคนที่ 2 ก็ได้แยกตัวออกไปทำกิจการของตนเอง

ประมาณเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2530 ทางร้านก็ทำการปรับปรุงร้านใหม่เสร็จหมด ซึ่งเป็นที่ประทับใจของคนที่มาพบเห็น และได้รับคำชื่นชมว่า สวยงาม ยังผลให้มีลูกค้า เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเก่า ลูกค้าทั่วไป ตลอดจนนักท่องเที่ยว กิจการก็เริ่มดีขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ 2535 ตึกแถวเดิมหมดสัญญาเช่าลง จึงได้ย้ายมาตั้ง ณ ที่อยู่ปัจจุบัน ซึ่งรวมระยะเวลาของร้านก็ 46 ปี พอดี ที่นี้ จะมี 3 คูหา โดย 1 คูหา จะเป็นที่สำหรับการจัดส่งหนังสือพิมพ์และขายส่ง ส่วนอีก 2 คูหา เป็น พื้นที่ขาย ต่อมาประมาณ 2 ปี ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ขายไม่เพียงพอ จึงแยกส่วนขายส่งออกไปยังสถานที่ใหม่ เลยเปิดเป็นพื้นที่ขายทั้ง 3 คูหา การย้ายมาที่ใหม่ ทำให้ลูกค้าเดิมส่วนหนึ่งยังไม่ตามมา ทางร้านเองต้องใช้เวลาอยู่เป็นปีกว่า จึงสามารถดึงลูกค้าเดิมมาได้ ทำให้ยอดขายจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา จนเข้าที่เข้าทาง ซึ่งก็มีการปรับปรุงร้านบ้างบางส่วนมาเรื่อย ๆ

จนกระทั่งปี 2543 ซึ่งได้มีการปรับปรุงพื้นที่หน้าร้านใหม่ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมีจุดเด่นของร้าน 3 ประการใหญ่ ๆ คือ…

1. มีความยาวนานของการทำธุรกิจ ลูกค้ามีความเชื่อถือเพราะทางร้านยึดนโยบาย "ความซื่อสัตย์ ต่อลูกค้า"มาโดยตลอด

2. ที่ร้านมีหนังสือที่ค่อนข้างหลากหลาย ชนิด (จนบางครั้งก็ดูมากเกินไป) ทำให้ถูกใจลูกค้าเพราะสามารถหาหนังสือที่ต้องการได้ง่าย อนึ่งหากไม่มีหนังสือที่ลูกค้าต้องการ

ทางร้านก็จะมีการแนะนำลูกค้าว่าจะสามารถไปหาได้จากที่ไหนซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของทางร้าน

3. สายสัมพันธ์ที่ยาวนานของลูกค้า ซึ่งบางคนซื้อหนังสือกับทางร้าน ตั้งแต่หนุ่มจนถึงแก่ ก็ยังมาซื้ออยู่

ส่วนประเภทหนังสือที่ทำรายได้ให้กับร้านมากที่สุด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ส่วนที่เป็นสายส่งหรือจัดจะเป็นพวก วารสาร นิตยสาร

2. ในส่วนของการขายหน้าร้าน จะเป็นนิตยสาร ซึ่งมีความหลากหลายและครบถ้วน ส่วนประเภทพ็อกเก็ตบุ๊คจะเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย ได้แก่ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ นวนิยายแบบผสมประยุกต์ใหม่ หนังสือบางประเภทที่ดารานักแสดงเขียน และหมวดคอมพิวเตอร์สำหรับการติดต่อรับหนังสือมาวางจำหน่ายคุณอรอนงค์กล่าวว่า "ในสมัยคุณพ่อไม่มีการวางเงินค้ำประกันเลยเนื่องจากมีความคุ้นเคยเชื่อถือกันเป็นการส่วนตัว" บางทีสำนักพิมพ์ก็ส่งมาให้เลย ซึ่งแตกต่างกับการทำร้านหนังสือในปัจจุบัน ทางร้านจะมีการจัดหนังสือออกเป็นหมวดหมู่ ส่วนเกณฑ์ในการคัดเลือกหนังสือเข้าร้านตอนนี้ จะมีสำนักพิมพ์ต่าง ๆ จะส่งเข้ามา หากมีบางเรื่องที่ไม่มีประโยชน์จริง ๆ ทางร้านก็จะบอกงด รับหนังสือเรื่องนั้น ๆ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของทางร้าน จะมีประมาณ 3 เดือนครั้ง เช่น การจัดช่วงลดราคาพิเศษ 10-30 เปอร์เซ็นต์ การมีของแถม เป็นต้น ซึ่งเป็นการคืนกำไรให้ลูกค้า ส่วนโปรโมชั่นย่อยตลอดทั้งปี ก็จะมีการจัดทำบัตรสมาชิก การสะสมยอดซื้อให้ลูกค้า การส่งการ์ดวันเกิดให้สมาชิก เป็นต้น การบริการให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและพอใจ คือ สัมพันธ์ภาพ ที่ยาว นาน และความหลากหลายของหนังสือที่มีให้เลือกในร้าน ถ้าไม่มีก็แนะนำให้ได้

มองแนวทางร้านหนังสือในบ้านเราอย่างไร… ตอนนี้ร้านหนังสือต่าง ๆ คงเหนื่อยกันหน่อย เนื่องจากมีการแข่งขันกันเยอะ และตอนนี้ร้านหนังสือจะไม่ได้เป็นร้านที่ขายเพียงหนังสืออย่างเดียว แต่จะมีสิ่งอื่น ๆ เข้ามาด้วย เช่น เครื่องเขียน ต่าง ๆ อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เทป CD บริการ Internet เป็นต้น

สำหรับคนที่อยากจะเปิดร้านในขณะนี้ ขอบอกว่าเหนื่อย แต่ถ้ามีเงินเยอะ ก็ควรไปซื้อ แฟรนไซส์ เพราะสะดวกดี หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีเงินทุนมากพอ และกว่าจะทำให้ลูกค้าจำได้ร้านได้ ต้องใช้เวลานานพอสมควร

ถามว่าความฝันของคนที่อยากมีร้านหนังสือตอนนี้ก็มีโอกาสเป็นไปได้แค่ไหน ? คุณอรอนงค์ บอกว่ามีโอกาสเป็นไปได้ ถ้ามีเงินทุนและมีใจรักการอ่าน หากฝันอยากมีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง ก็เป็นไปได้แต่ก็ต้องมีเงินทุนสำรอง มากพอ และต้องดูด้วยว่าตลาดในพื้นที่ ที่จะเปิดนั้นเต็มหรือยัง และอีกทางเลือกหนึ่งก็อาจจะไปซื้อแฟรนไซส์ ซึ่งทำได้ง่ายและสะดวก แต่ต้องดูเงื่อนไขว่าจะทำให้คล่องตัวในการบริหารงานหรือไม่

ร้านเล็ก ๆ ทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้… ปัจจุบันคงอยู่ได้ลำบาก จุดหนึ่งก็คือต้องรวมตัวกัน เวลามีอะไรก็ไปต่อรองกับบริษัทใหญ่ที่เริ่มขยายกิจการลงมา จนกระทั่งคู่แข่ง เป็นเรื่องหนึ่งที่พูดยาก ร้านเล็กก็ต้องปรับตัวในด้านการบริการ การดูแลเอาใจใส่ลูกค้า การทำโปรโมชั่น ในพื้นที่ โดยขยันทำบ่อย โดยให้มีประสิทธิภาพ และเรื่องหนึ่งที่จำเป็นในปัจจุบันก็คือการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เก็บข้อมูลในร้านเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ วางแผนข้อมูล ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งหลักการเอาใจลูกค้านั้นมีเยอะมาก เพราะปัจจุบันนี้ลูกค้าเริ่มกระจายแล้ว

ฝากข้อคิด ถึงคนที่ยากทำร้านหนังสือ ให้ถามตัวเองว่า "แน่ใจแล้วหรือที่ยากจะลงมาทำร้านหนังสือ? ไม่ใช่แค่รักการอ่านและยากทำเพียงอย่างเดียว" " มีเงินทุนมากแค่ไหน?" "คู่แข่งในพื้นที่ที่จะลงไปเปิดร้าน เป็นอย่างไร ?" ประเมินตรงนี้ให้ได้ หากพร้อมก็ทำได้ หากไม่พร้อมก็ชะลอไปก่อน

ฝากถึงสำนักพิมพ์ ต่าง ๆ สักนิดหนึ่งว่า "บางทีสำนักพิมพ์ควรผลิตหนังสือตามกระแสบ้าง เช่น หนังสือที่ดาราเขียน และ เวลามีงานสัปดาห์หนังสือ อย่านำหนังสือใหม่ไปลดราคามากเกินไป เพราะจะตัดราคากันเองกับทางร้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ และหนังสือออกใหม่ที่นำไปวางขายในงานหนังสือแห่งชาติควรส่งให้ถึงร้านก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อได้ทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องไปที่งาน"

ทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ขอขอบพระคุณทางร้านแพร่วิทยา หาดใหญ่ ที่ได้กรุณาเสียสละเวลาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ด้วยครับ...

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ