Multiple Intelligences : อัจฉริยะยอดนักอ่าน น้องธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี

Multiple Intelligences

การอ่านเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการอ่าน คือ การรับรู้ความหมายจากถ้อยคำที่ตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์หรือในหนังสือ การอ่านโดยหลักวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการที่แสงตกกระทบที่สื่อ และสะท้อนจากตัวหนังสือผ่านทางเลนส์นัยน์ตา และประสาทตาเข้าสู่เซลล์สมองไปเป็นความคิด (Idea) ความรับรู้ (Perception) และก่อให้เกิดความจำ (Memory) ทั้งความจำระยะสั้น และความจำระยะยาว เพราะฉะนั้น การอ่าน จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์จะไม่สามารถเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบหากปราศจากการอ่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของทักษะทางภาษาที่จำเป็นต้องฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอ และสามารถฝึกฝนได้เรื่อยๆ ตามวัย และประสบการณ์ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์ได้รับความคิด ความรู้และความบันเทิง มีผลต่อชีวิตและจิตใจของมนุษย์ให้เจริญยิ่งขึ้น

 

อัจฉริยะยอดนักอ่าน น้องธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี

 

เด็กวัย 10 ขวบ ที่มีความสามารถอยู่ในระดับที่นักวิชาการเรียกว่า ‘Multiple Intelligences’ คือ อัจฉริยะรอบด้าน น้องธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย เรื่องราวของน้องธนัชเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในฐานะแรงบันดาลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่และผู้คนทุกเพศทุกวัยมาตลอด น้องธนัชถูกค้นพบว่า มีศักยภาพทางภาษาตั้งแต่อายุไม่ถึงขวบ สามารถพูดได้ 2 ภาษาด้วยหลายๆ พยางค์ ตามด้วยดนตรีกับศิลปะ พอโตขึ้น ยังได้พบความสามารถทางการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) และวิชาการอื่น ๆ อีกโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ พออายุ 4 ขวบ น้องธนัช ก็มีผลงานวาดภาพศิลปะแนว Abstract อย่างน่าทึ่ง จนมีผู้ติดต่อขอซื้อภาพแล้วมากมายจากทั่วโลก และเป็นนักเดี่ยวไวโอลินที่สร้างสถิติที่มีผู้ชมสูงถึงกว่า 22 ล้านครั้งในยูทูบ ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดโอกาสให้น้องธนัช เด็กอัจฉริยะวัย 10 ปี ที่มีความรู้ความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์สูงเกินวัย เข้ามาร่วมทำงานวิจัยด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นงานวิจัยในขั้นนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ด้วยความกรุณาจากคุณพ่อคุณแม่ของน้องธนัช คือ คุณธนูและคุณวัชราภรณ์ เปลวเทียนยิ่งทวี ที่ช่วยหาเวลาให้สัมภาษณ์และถ่ายรูปในเรื่องที่เกี่ยวกับการอ่านของน้องธนัช เนื่องจากมีคิวที่แน่นเอี้ยดมากในแต่ละวัน บทสัมภาษณ์น้องธนัชจึงมีคุณค่าและสร้างแรงบันดาลใจที่เกี่ยวกับการอ่านให้กับคนในสังคมไทยอย่างแน่นอนว่า การอ่าน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์

+ คุณพ่อคุณแม่มีส่วนในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของน้องธนัชอย่างไรบ้าง อยากให้ช่วยเล่าตรงนี้หน่อยครับ
คุณพ่อธนู เปลวเทียนยิ่งทวี : พวกเราทั้งพ่อและแม่เป็นนักอ่านกันมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ธนัชจะชอบการอ่านหนังสือ เรียกได้ว่าอ่านยกกำลังสองเลย เพราะอ่านมากมายกว่าเราหลายเท่า เพราะเขามีทักษะในการอ่านหนังสือและจับใจความได้เร็วมาก ตอนธนัชเล็กๆ คุณแม่จะเป็นคนเลือกหนังสือให้ลูก ลูกก็อ่านไป แล้วก็ทิ้งไว้ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง ส่วนตัวผมประเภทไม่ชอบให้อะไรรกหูรกตา ก็จะตามเก็บเข้าชั้นให้เป็นระเบียบ แต่มาค้นพบว่าถ้าเราอยากให้ลูกอ่าน ต้องปล่อยให้เขาอ่านตามสบาย หนังสือที่วางอยู่ทุกจุดในบ้าน เขาจะหยิบจับอ่านหมด ก็เลยเลิกจัดระเบียบ เพราะมิฉะนั้น เขาจะไม่กล้าหยิบกลัวเก็บเข้าที่ได้ไม่เหมือนเดิม

+ จากพื้นฐานที่มีอิทธิพลจากครอบครัวช่วยซึมซาบในเรื่องรักการอ่าน แต่ในส่วนของน้องธนัชเริ่มค้นพบตัวเองว่าชอบหนังสือและรักการอ่านหนังสือในเส้นทางของตัวเองตอนไหน และเป็นอย่างไร อยากให้ช่วยขยายความในส่วนนี้ด้วย
คุณแม่วัชราภรณ์ เปลวเทียนยิ่งทวี : ดิฉันเป็นคนเลือกซื้อหนังสือให้ธนัช สิ่งที่ดิฉันให้ความสำคัญคือ เนื้อหาของหนังสือ ว่าอ่านแล้วลูกจะได้อะไรนอกเหนือจากความสนุก เราจะจูงใจให้เด็กรักการอ่าน อย่างแรกเขาต้องสนุก มิฉะนั้น เขาก็จะไม่อยากอ่าน แต่นอกเหนือจากความสนุกนั้น ดิฉันจะพิจารณาสำนวนภาษา ว่ามีความสุภาพ ใช้ศัพท์ที่เหมาะสมตามวัยของเขา อ่านแล้วเขาได้สาระอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ อีกอย่างที่ต้องพิจารณาสำหรับเด็กคือ ขนาดตัวหนังสือ ต้องมีขนาดใหญ่ให้เด็กอ่านได้สบาย รูปเล่มไม่หนักเกินกำลังของเขา รูปร่างสีสันสวยงาม ชวนให้อ่าน

 

ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี

 

+ แรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือเยอะๆ นำไปสู่การค้นพบอะไรใหม่ๆ ในชีวิต หรือค้นพบทางเดินที่ตัวเองต้องการบ้าง
น้องธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี : การที่ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือมากๆ ทำให้ผมได้รับรู้ถึงเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะทำอยากจะเป็นแบบในหนังสือ เช่น การอ่านหนังสือในแนววิทยาศาสตร์ตั้งแต่เล็กๆ ก็ทำให้ผมอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ การอ่านเรื่องดาราศาสตร์ก็ทำให้ผมใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ การอ่านหนังสือวรรณคดีทั้งของไทยและต่างประเทศ ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนทัศนคติของคนในแต่ละวัฒนธรรม เนื่องจากผมชอบอ่านหนังสือในทุกๆ แนว ทุกชนิด ขบวนการคิดของผมจึงผสมผสานกันจากแนวคิดหลายๆ แนวหลากหลายวัฒนธรรมจากหนังสือที่เคยอ่าน

+ ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเดียวกับน้องธนัช บรรดาเพื่อนๆ ที่สนิท หรือเพื่อนที่รู้จักรอบตัว มีไลฟ์สไตล์การอ่านในแบบไหนบ้าง
น้องธนัช : ผมว่าแต่ละคนก็มีรสนิยมการอ่านเป็นของตัวเองนะครับ บางคนที่ชอบแนววิชาการ ก็ยังอ่านพวกนิยาย เรื่องแต่งอื่นๆ เช่นกัน เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ผมรู้จัก บางครั้งเราก็แลกหนังสือกันอ่าน เช่น พวกวรรณกรรมสำหรับเด็ก ซึ่งเดี๋ยวนี้ คุณแม่จะซื้อเป็นภาษาอังกฤษให้ผมอ่าน เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือได้ทั้งเนื้อหาและภาษาอังกฤษไปในคราวเดียวกัน

+ น้องธนัชชอบอ่านหนังสือแนวไหน และปัจจุบันกำลังอ่านเล่มไหนอยู่
น้องธนัช : ผมอ่านหนังสือหลากหลายครับ ไม่เฉพาะเจาะจง หนังสือวิชาการสำหรับผมแล้ว ผมก็ว่าอ่านได้สนุก แน่นอน ผมชอบวิทยาศาสตร์ แต่สาขาอื่นๆ อย่าง วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ผมก็ชอบ ตอนนี้กำลังติดพัน ‘สามก๊กฉบับคนรุ่นใหม่’ ครับ ประวัติศาสตร์เมื่อก่อนชอบอ่านประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง ตอนนี้กำลังอ่านประวัติศาสตร์โลกยุคสมัยใหม่ครับ พวกเงินๆ ทองๆ ก็อ่าน อย่างเศรษฐศาสตร์ ตลาดหลักทรัพย์ แต่เขียนแบบเบสิกให้อ่านเข้าใจง่ายนะครับ ประวัติบุคคลผมก็ชอบ สรุปแล้ว อ่านไปเรื่อยๆ ครับ

+ ในฐานะที่วาดภาพและเล่นดนตรีคลาสสิกผ่านไวโอลิน ศิลปะของหนังสือกับศิลปะวาดภาพและดนตรีสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไร
น้องธนัช : ผมว่าศาสตร์ทุกศาสตร์มันมีความเชื่อมโยงกันหมดนะครับ ผมชอบวิทยาศาสตร์ แล้วผมก็นำความคิด จินตนาการทางวิทยาศาสตร์มาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะในสไตล์ของผม ดนตรี เป็นเรื่องของความสุนทรีย์ เวลาจะเล่นให้ไพเราะ ก็ต้องมีจินตนาการว่า ช่วงนี้ ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อถึงอะไร อย่างเพลง Toreado จากอุปรากร Carmen ของ Bizet ผมไปอ่านเรื่องราวของมาธาดอร์เลยว่าเป็นอย่างไร อย่างพวกเรารู้จักแต่มาธาดอร์ แต่อันที่จริงแล้ว คนที่เกี่ยวข้องกับการสู้วัวกระทิงนี้ มีกันหลายคน แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน แล้วเพลงๆ นี้ แต่ละช่วงบ่งบอกถึงคนเหล่านั้น ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ เราก็จะเพียงเล่นเพลงให้ถูกต้องตามตัวโน้ตและจังหวะเท่านั้น แต่เมื่อเข้าใจเรื่องราว เราจะเริ่มใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไป เพลงที่บรรเลง จะได้อรรถรสอีกแบบหนึ่งครับ

+ คิดว่าวัฒนธรรมการอ่านในเมืองไทยเป็นอย่างไร และควรรณรงค์ในด้านไหนบ้าง
น้องธนัช : ผมเห็นว่าตอนนี้มีหลายหน่วยงานพยายามรณรงค์เรื่องนี้นะครับ ผมไม่เคยได้เห็นกับตา แต่เคยได้ยินผู้ใหญ่บางท่านที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการบริจาคหนังสือให้กับเด็กด้อยโอกาสเล่าว่า เวลาให้หนังสือไป เจ้าหน้าที่ที่ดูแลห้องสมุด มักจะไม่ค่อยอยากให้เด็กได้หยิบจับ สัมผัส เพราะมักจะทำให้หนังสือชำรุดเสียหาย มันเลยเหมือนไก่กับไข่ ตกลงแล้ว อยากให้อ่าน แต่ไม่ให้อ่าน แล้วจะได้อ่านไหมเนี่ย ส่วนตัวผม คุณแม่สอนผมตั้งแต่เล็กให้ถนอมหนังสือ เพื่อจะได้อยู่กับเรานานๆ เพราะฉะนั้น หนังสือแต่ละเล่มของผม ถึงผมจะอ่านหลาย ๆ รอบ ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในสภาพเรียบร้อยน่าอ่าน ยกเว้นบางเล่มที่ระบบเย็บเข้าเล่มไม่ดี มันหลุดเป็นส่วนๆ เลย แต่มีน้อยครับ

+ ประสบการณ์ในต่างประเทศ เกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านของคนในเมืองนอกเป็นแบบไหน
น้องธนัช : นักอ่านแต่ละคน ก็มีวัฒนธรรมการอ่านหนังสือที่แตกต่างกันไป บางคนชอบที่จะเข้าไปอ่านในห้องสมุด บ้างก็ชอบที่จะอ่านในสวนสาธารณะ หรือบางคนชอบที่จะอ่านที่บ้านโดยเฉพาะในห้องน้ำ แต่นักอ่านตัวยงที่แท้จริงที่เป็นกันทั้งประเทศ ต้องยกให้คนญี่ปุ่นครับ เขาอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา ยืนอ่านขณะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าก็ยังอ่านได้ ประกอบกับวิธีการพิมพ์ตัวอักษรญี่ปุ่นคล้ายกับการพิมพ์ตัวอักษรจีน การม้วนหนังสืออ่านจากบนลงล่างจากขวาไปซ้าย ก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการยืนอ่านด้วยมือเดียวทำได้สะดวกมาก

+ งานบุ๊กแฟร์ของเมืองไทยในแต่ละปี ที่มีด้วยกัน 3 งานใหญ่ในกรุงเทพฯ คือ 1-งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ 2-งานหนังสือเด็กและครอบครัวหรือเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน และ3-งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ในฐานะคนรุ่นใหม่มองบุ๊กแฟร์ทั้ง 3 งานที่จัดขึ้นว่า ดีอย่างไร และควรปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง
น้องธนัช : ทั้ง 3 งานเป็นงานที่ดีนะครับ ผมเห็นเด็กและผู้ใหญ่มาซื้อหนังสือ ลากกันไปเป็นกระเป๋า ๆ แต่ผมไม่ค่อยได้ไปครับ เพราะคนเยอะมาก ไม่มีโอกาสได้ดูได้เลือก ส่วนใหญ่ผมจะซื้อจากร้านหนังสือเป็นหลัก เพราะมีโอกาสไปเลือกก่อนการตัดสินใจ และได้ซื้อสิ่งที่ต้องการจริงๆ ผมว่าเวลาไปตามบุ๊กแฟร์ บางทีเราก็ตัดสินใจซื้อตามกระแส หรือรีบซื้อเพราะเวลาจำกัด พอกลับถึงบ้านแล้ว อาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการอ่านจริงๆ ก็ขึ้นหิ้งไม่ได้อ่าน

+ ปีนี้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก ในสายตาของน้องธนัชอยากให้เป็นอย่างไร
น้องธนัช : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้การสนับสนุนการอ่านให้มากกว่านี้ ต้องว่ากันตั้งแต่นโยบายของรัฐ ที่ต้องจัดเก็บภาษีกับวัตถุดิบในการพิมพ์หนังสือในอัตราต่ำที่สุด สำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายสายส่งตลอดจนร้านหนังสือต้องไม่เอารัดเอาเปรียบคนอ่าน ร้านขายหนังสือต้องจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการอ่านภายในร้าน เช่น มีที่นั่งที่เหมาะสมไว้บริการให้ลูกค้าได้อ่านภายในร้าน เหมือนร้านหนังสือใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ประสบการณ์ของผม เวลาไปเลือกอ่านหนังสือตามร้านขายหนังสือ มีบางร้านพนักงานในร้านไม่ส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือเลย ที่นั่งสำหรับการอ่านก็ไม่จัดหาให้ พออ่านนานหน่อย กลับมาไล่เด็กไม่ยอมให้อ่าน ที่แย่มากเข้าไปอีก เดี๋ยวนี้ถึงกับทำเทปส่งเสียงไล่ไม่ให้อ่านในร้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายสำหรับร้านขายหนังสือนั้นๆ ร้านไหนไม่ต้อนรับเด็กๆ ผมก็จะไม่เข้าไปอีกเลย มันเสียความรู้สึก

+ มองกระแสอีบุ๊กที่กำลังขยายตัวในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งหันมาอ่านหนังสือดิจิตอลมากขึ้นกว่ากระดาษอย่างไรบ้าง
น้องธนัช : ผมเองตอนนี้ก็หันมาดาวน์โหลดอีบุ๊กอ่านเหมือนกันครับ ยิ่งคุณแม่นี่ เมื่อก่อนชอบซื้อตำราภาษาอังกฤษ เดี๋ยวนี้เลิกเลย ซื้ออีบุ๊กเป็นหลัก เพราะไม่เป็นภาระในการเก็บ เอาติดตัวไปอ่านที่ไหนก็สะดวก ทำไฟล์หายก็กลับขึ้นไปดาว์นโหลดมาใหม่ได้ทุกเมื่อ เพราะผู้ให้บริการเขาเก็บประวัติการซื้อไว้ให้เรา สะดวกมาก ประหยัดกระดาษ เพราะไม่ต้องตัดต้นไม้ และเดี๋ยวนี้ ราคาก็ถูกกว่าหนังสือที่ต้องพิมพ์ออกมาเป็นเล่มๆ ถ้าเราไม่ยึดติดว่าหนังสือต้องสัมผัสกระดาษ การอ่านก็คือการอ่าน จะอ่านจากวัสดุอะไร ก็ได้สาระประโยชน์ ได้ความรู้เหมือนๆ กันครับ แต่เรื่องเดียวที่ผมยังกังวลก็คือ แสงจากมอนิเตอร์นี่อาจเป็นอันตรายต่อสายตามากว่าการอ่านบนกระดาษ

+ ปิดท้าย อยากให้แนะนำทริกการอ่านหรือกลเม็ดเด็ดในการอ่านหนังสือให้เพื่อนๆ
น้องธนัช : เวลาผมได้หนังสือใหม่ ผมจะสแกนก่อนหนึ่งรอบ ถ้าเป็นพวกที่มีรูป ผมก็จะดูรูปและคำอธิบายประกอบภาพ พอหมดเล่ม ก็จะเริ่มอ่านเจาะเรื่องที่ผมสนใจใคร่รู้ก่อน แล้วจึงอ่านทั้งเล่ม ส่วนใหญ่แล้ว หนังสือแต่ละเล่ม ผมจะอ่านหลายรอบ ไม่เบื่อที่จะอ่านครับ

 

ทุกที่อ่านหนังสือได้ ........... โดย นพพร สัมมานุชีพ
ติดต่อกับน้องธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี สามารถเข้าไปที่ www,squidoo.com/dhanat หรือไปที่ Fanpage ของธนัชที่ dhanatwonderkid

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ