หมอกมุงเมือง : คุยเฟื่องเรื่องการเขียน

หมอกมุงเมือง

คุยเฟื่องเรื่องการเขียนกับ ‘หมอกมุงเมือง’ ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านต่าง ๆ มักจะมีคำนำหน้าสิ่งที่ทำว่า‘นัก’ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักร้อง นักออกแบบ หรือแม้กระทั่งนักแปลก็ตาม ผศ.ทนพ.ศราวุธ สุทธิรัตน์ หรือ หนุ่ม ก็มีคำนำหน้าอาชีพของตัวเองว่า ‘นัก’ เหมือนกัน โดยเขาประกอบอาชีพเป็น ‘นักเทคนิคการแพทย์’ ประจำอยู่ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งพอกล่าวมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยอยู่ดีว่า แล้วนักเทคนิคการแพทย์เกี่ยวข้องอะไรกับคอลัมน์‘นัดพบนักเขียน’ในครั้งนี้ เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เนื่องจากอีกด้านหนึ่งของเขาก็ยังเกี่ยวข้องกับคำว่า ‘นัก’ อยู่เหมือนเดิม นั่นก็คือ‘นักเขียน’ เพราะเขาเป็นนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า หมอกมุงเมือง จรดปลายปากกาเขียนผลงานมาแล้วมากมาย เช่น ทวารบถ เหรียญนิรมิต แผนพลิกฟ้า หรือศัสตราประกาศิต เป็นต้น ตึกปฏิบัติการ 5 ชั้น คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จึงเป็นสถานที่ที่เราจะพูดคุยถึงแง่มุมการเขียนและผลงานที่เขาทำออกมาอย่างตั้งใจ

 

คุยเฟื่องเรื่องการเขียนกับ หมอกมุงเมือง

 

all : นักอ่านหลายคนสงสัย ทำไมถึงใช้นามปากกาว่า ‘หมอกมุงเมือง’ ซึ่งเป็นชื่อที่ดูไม่เหมือนใคร
หมอกมุงเมือง : ผมใช้นามปากกา หมอกมุงเมือง มาตั้งแต่ตอนอยู่มัธยมแล้วครับ คือเขียนหนังสือ พวกเรื่องสั้น บทกลอน ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 ซึ่งช่วงนั้นมีวารสารของโรงเรียนอยู่ และตัวเองรู้สึกอยากใช้นามปากกาเขียนผลงานขึ้นมา ก็เลยเลือกใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่แรก เนื่องจากเคยเห็นโป่งข่ามชนิดต่าง ๆ มาก่อนแล้ว อย่าง แก้วขนเหล็ก แก้วทรายคำ หรือแก้วสลักเสี้ยน เป็นต้น และหมอกมุงเมือง ก็เป็นชื่อของโป่งข่ามชนิดหนึ่งที่เห็น โดยชื่อดังกล่าวเรียงเป็นอักษร ม.ม้า 3 ตัวเหมือนกันหมด รู้สึกว่าเป็นคำที่ไพเราะด้วยสัมผัสอักษร ความหมายดี และเป็นสิริมงคลกับตัวเรา ก็เลยเลือกใช้ชื่อนี้มาเป็นนามปากกาของตัวเอง และพอมาสมัครประกวดงานเขียนของ ‘ทมยันตี อะวอร์ด’ ก็นึกชื่อนี้ขึ้นมาได้อีกครั้ง ทำให้ หมอกมุงเมือง กลายเป็นนามปากกาในการประกวดผลงานของตัวเอง

all : ‘หมอกมุงเมือง’ เข้าสู่เส้นทางวรรณกรรมจริงจัง เมื่อตอนประกวด ‘ทมยันตี อะวอร์ด’ หรือเปล่า
หมอกมุงเมือง : ตั้งแต่เด็ก เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และเขียนเรื่องสั้นลงตามนิตยสารต่าง ๆ อย่าง ‘สตรีสาร’ ในยุคนั้น แต่ก็ได้เขียนแค่เรื่องสั้นครับ คือแรก ๆ อาจจะยังไม่คุ้นกับการเขียนเรื่องยาวด้วย รู้สึกว่าน่าจะยากก็เลยไม่กล้าลองสักที แต่พอเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่นี่ ก็ยุ่งกับการเตรียมการสอนและการวิจัยไปพักหนึ่ง ช่วงนั้นเลยพักเรื่องของการเขียนไว้ก่อน จนกระทั่งช่วงได้ ผศ. และเริ่มลงตัวกับงานที่ทำแล้ว พอดีไปเห็นข่าวการประกวดงานเขียนของ ‘ทมยันตี อะวอร์ด’ เข้า เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีเลยคิดที่จะเขียนดูอีกสักครั้ง อีกอย่างเราเองก็เคยเขียนกลอนมาก่อน แล้วค่อยขยับมาเป็นเรื่องสั้น เลยคิดว่าคราวนี้น่าจะพอเขียนเป็นเรื่องยาวออกมาได้ เพราะทางการประกวดกำหนดมาเลยว่า เป็นนิยายขนาดยาว 200 หน้า A4 ประกอบกับมีพล็อตอยู่ในหัวแล้ว ก็เลยใช้เวลาประมาณ 3 เดือนทุ่มเทกับความตั้งใจครั้งนี้ สุดท้ายก็ได้นิยายขนาดยาวเรื่องแรกคือ ทวารบถ ในที่สุด

all : การเป็นนักเทคนิคการแพทย์ มีส่วนช่วยสร้างตัวตนการเป็นนักเขียนหรือไม่
หมอกมุงเมือง : จากประสบการณ์ที่เป็นนักเทคนิคการแพทย์และอาจารย์ในคณะเทคนิคการแพทย์ นอกจากจะมีงานสอนและงานบริการวิชาการแล้ว ยังมีงานวิจัยที่จะต้องทำอีก ความจริงแล้ว ส่วนหนึ่งของการทำวิจัยคือการทบทวนวรรณกรรม ซึ่งมีส่วนคล้ายกับการเขียนนิยาย เพราะการเขียนนิยายก็ต้องศึกษาหาข้อมูลมาประกอบการเขียนเช่นกัน สำหรับผมเองมีความรู้สึกว่า เดี๋ยวนี้พล็อตอย่างเดียว มันน้อยเกินไปหรือเปล่าสำหรับผู้อ่าน เพราะงานเขียนบางอย่างควรมีความสมจริงในเรื่องที่เขียนบ้าง และต้องเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเขียนด้วย เลยรู้สึกว่า ต้องนำข้อมูลและความสมจริงส่วนหนึ่งใส่เข้าไปด้วย ซึ่งก็คล้ายกับการทำงานวิจัย แต่งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่นำวรรณศิลป์มาคลุมหรือผสมผสานไว้ ดังนั้นคิดว่า การเป็นนักเทคนิคการแพทย์จะได้ในเรื่องของการค้นหาและเรียบเรียงข้อมูลที่ดี ซึ่งการเขียนนิยายจริง ๆ ก็เหมือนกับการทำงานวิจัย เพียงแต่เป็นการทำงานวิจัยที่ไม่ใช่เป็นการทดลองทางแล็บ แต่เป็นการทดลองในเรื่องของการสร้างพล็อต ตัวละคร และเนื้อหามากกว่า เพื่อที่จะนำข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบกัน แล้วสังเคราะห์เป็นเรื่องราวขึ้นมา

all : มีใครเคยบอกไหมว่า เทคนิคการแพทย์กับวรรณกรรมดูไม่เข้ากันอย่างแรง
หมอกมุงเมือง : ผมเองอาจจะเห็นตัวอย่างจากเพื่อนนักเขียนรุ่นพี่มาก่อน อย่างเช่น คุณหมอพงศกร ซึ่งคุณหมอเองก็เป็นทั้งแพทย์และนักเขียนด้วย ฉะนั้นตัวเองเลยมองว่า อาจไม่จำเป็นต้องเรียนมาทางสายนี้โดยตรง แต่การที่จบจากสายวิทย์มา เราก็จะได้มุมมองของสายวิทย์ติดมาด้วย ซึ่งคนที่จบทางสายศิลป์ เขาก็อาจจะได้เปรียบเรื่องของภาษา แต่ถ้าหากเป็นสายวิทย์ที่เราเรียนมา ก็อาจจะได้เปรียบบ้างในเรื่องของมุมมอง ตรรกะ ความคิด หรือพล็อตต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ความไม่เข้ากันแบบนี้น่าจะเป็นการดีที่จะทำให้งานวรรณกรรมในบ้านเรามีความหลากหลายมากขึ้น

all : จัดสรรเวลาทำงานและการเขียนอย่างไรให้ลงตัว
หมอกมุงเมือง : เมื่อก่อนเคยคิดว่า เวลาเขียนหนังสือและทำงานต้องแบ่งเป็นส่วน ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น ทำงานช่วงเช้า ช่วงเย็นหรือดึกค่อยลุกขึ้นมาเขียนก็ได้ ซึ่งบางคนแบ่งช่วงเวลาเป็นแบบนั้นจริง ๆ แต่สำหรับตัวเองไม่ได้เป็นแบบนั้น เพียงแต่ปรับเปลี่ยนให้การเขียนเป็นเหมือนงานกิจวัตรประจำวันไปเลย จนเป็นความเคยชินมากกว่า ไม่ต่างกับการที่ตื่นเช้าขึ้นมา อาบน้ำ แปรงฟัน ฯลฯ โดยการเขียนจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำทุกวัน แต่จะทำช่วงไหนนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลาว่า เราว่างที่จะเขียนเมื่อไหร่ครับ

all : พอเข้ามาในวงการวรรณกรรมแล้ว ความยากและอุปสรรคของการเป็นนักเขียนอยู่ตรงจุดไหน
หมอกมุงเมือง : ความกล้าที่จะเขียนครับ เพราะเมื่อก่อนผมรู้สึกว่า งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ซึ่งนักเขียนหลาย ๆ คนอาจจะสร้างเงื่อนไขให้กับตัวเองมากไปว่า ต้องมีเวลาหรืออารมณ์ศิลปินก่อนถึงจะเขียนได้ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น เราเขียนส่งไปครั้งแรก ใช่ว่างานจะจบลงเดี๋ยวนั้นเมื่อไหร่ หมายถึงเวลาเขียนก็ต้องแก้ไขงานของตัวเองไปเรื่อย ๆ อย่างทุกวันนี้เรื่องที่ส่งให้กับทางสำนักพิมพ์ ก็ปรับแก้ไม่ต่ำกว่า 5 รอบถึงจะส่งให้บรรณาธิการดูได้ รวมถึงต้องปรับแก้ตามที่บรรณาธิการแนะนำมาด้วย อาทิ อ่านแล้วไม่สมเหตุสมผล ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ เราก็ต้องนำมาปรับแก้ตรงจุดนั้น หรืออย่างเวลาเขียนถึงตรงนี้แล้วหาทางออกไม่ได้ ก็ต้องกลับมาทบทวน ปรับแก้ และเขียนใหม่อีกครั้งเหมือนกัน ดังนั้นสำหรับการเขียนแล้วจึงไม่มีคำว่า ครั้งเดียวจบ คุยเฟื่องเรื่องการเขียนกับ ‘หมอกมุงเมือง’

all : ทำไมถึงบอกว่า ‘ความกล้า’ เป็นความยากอย่างหนึ่งในการเป็นนักเขียน
หมอกมุงเมือง : การเขียนเรื่องยาวเป็นเรื่องค่อนข้างยากและใช้เวลานานมากสำหรับตัวเอง เนื่องจากเราเริ่มต้นจากการเขียนเรื่องสั้นมาก่อน ก็จะพอรู้ว่าการเขียนเรื่องสั้นนั้น อาศัยพลังจากแรงบันดาลใจครั้งเดียวและให้มากที่สุด ก็จะเขียนออกมาจนจบ ซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นานนัก แต่เรื่องยาวนี่ต้องค่อย ๆ เก็บและปล่อยแรงฝันของเราออกมาถึงจะไปถึงบทอวสานได้อย่างสมบูรณ์ เปรียบเทียบง่าย ๆ ให้เห็นภาพก็เหมือนกับการวิ่ง เรื่องสั้นคือการวิ่ง 100 เมตร ใช้แรงพลังฮึดทุ่มให้สุดตัวเพียงครั้งเดียว แล้วพุ่งไปถึงเส้นชัย แต่เรื่องยาวอย่างนวนิยายคือการวิ่งมาราธอน ถ้าออกแรงสุดชีวิตเพียงแค่เฮือกเดียว อย่างมากคงวิ่งไปได้แค่ 100 เมตรก็น่าจะหมดแรงเสียก่อนแล้ว ฉะนั้นตอนวิ่ง ต้องค่อย ๆ เก็บแรงและผ่อนกำลังไปทีละน้อย เพื่อผลักดันตัวเองและหล่อเลี้ยงไฟฝันนั้น เพื่อพาให้ไปถึงเส้นชัยให้ได้

all : เรื่องของ ‘หมอกมุงเมือง’ มักจะออกแนวลึกลับซับซ้อนแทบทั้งสิ้น หลงเสน่ห์อะไรในแนวดังกล่าว
หมอกมุงเมือง : มันมีจุดเริ่มต้นมาจากบรมครูอย่าง จินตวีร์ วิวัธน์ เพราะผมเองชื่นชอบงานของท่านมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งโทนเรื่องส่วนใหญ่ก็จะออกไปในแนวลึกลับซับซ้อนเช่นกัน พอมาเขียนงานของตัวเองจริง ๆ ก็เริ่มจะรู้ว่า แนวดังกล่าวมีทางให้ฉีกออกไปได้หลายทางมาก ฉะนั้นเราเลยเริ่มต้นที่จะเขียนจากแนวดังกล่าว หลายคนบอกว่าตัวละครของ หมอกมุงเมือง มักจะมีความหม่นทึบหรือปมในใจ ซึ่งสิ่งที่ปรากฏออกมาจากเรื่องเหล่านั้น ไม่ว่าจากพฤติกรรมตัวละครต่าง ๆ อาจเป็นเพราะผมเองสนใจเกี่ยวกับวิชาจิตวิทยาด้วยก็ได้ครับ อย่างเวลาเขียน ทำให้เรามักจะต้องทำความเข้าใจว่า การที่ตัวละครแต่ละคนมีพฤติกรรมแบบนี้ หรือเหตุผลที่เขาทำอย่างนี้ ล้วนมาจากปมในอดีตหรือการได้รับประสบการณ์บางสิ่งบางอย่างเข้าไป ซึ่งคิดว่า น่าจะทำให้เนื้อเรื่องมีความสมเหตุสมผลมากขึ้นด้วย

all : ผลงานส่วนใหญ่ที่ออกมาก็เห็นจะเป็นนิยายแทบทั้งนั้น ติดใจอะไรในงานเขียนประเภทนี้
หมอกมุงเมือง : ณ เวลานี้ ผมรู้สึกว่า เริ่มกลับไปเขียนงานอย่างเรื่องสั้นยากขึ้น เหมือนกับคนที่วิ่งมาราธอนจนเคยชิน ให้มาวิ่ง 100 เมตร มันไม่ถนัดอีกต่อไปแล้ว เนื้อหาที่เขียนก็เริ่มมีการแตกแขนงของพล็อตมากขึ้น อย่างเวลาเขียนเรื่องสั้น จะมีพล็อตเพียงพล็อตเดียวแล้วมุ่งไปสู่การคลายปมเลย ทำให้ทักษะการเขียนเรื่องสั้นและนิยายต่างก็มีสไตล์ที่แตกต่างกัน และมีเทคนิคคนละรูปแบบ ซึ่งพอได้มาเขียนนิยายจริง ๆ ตัวเองก็อยากจะขยายเนื้อหาตรงนั้นหรือตัวละครนี้ออกไปอีก และไป ๆ มา ๆ เนื้อหานั้นก็ไม่เป็นเรื่องสั้นอีกต่อไป ฉะนั้นเราเลยเคยชินกับการเขียนแบบนี้ และเป็นทางที่ถนัดไปโดยปริยาย

all : เมื่อเข้ามาเขียนนิยายจริงจัง ‘หมอกมุงเมือง’ ต้องระมัดระวังเรื่องของการใช้ภาษามากน้อยแค่ไหน เพราะตัวเองก็ไม่ได้จบมาทางสายนี้โดยตรง
หมอกมุงเมือง : อาจเป็นเพราะเขียนมาเรื่อย ๆ เลยทำให้มีความระแวดระวังในเรื่องของการใช้ภาษามากขึ้น และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของการเขียนกลอน ซึ่งการเขียนร้อยกรองช่วยฝึกให้ภาษาของเราดีขึ้น เพราะโดยทั่วไป กาพย์ กลอนมักจะถูกบังคับด้วยฉันทลักษณ์ต่าง ๆ สัมผัสนอก สัมผัสใน รวมถึงการเลือกใช้คำอย่างเหมาะสม ฉะนั้นแล้วตัวเองโชคดีมากที่เริ่มจากการเขียนกลอนมาก่อน รวมถึงมีครูภาษาไทยที่ดีที่ปลูกฝังให้รักและสนใจในวิชานี้ ทำให้ผมมีพื้นฐานทางด้านภาษาและคลังคำอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งพอมาเขียนนิยายจริง ๆ ก็ได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้ด้วย อย่างเช่น มีการสอดแทรกบทกลอนเข้าไปในนิยายที่เขียน เป็นต้น

all : นิยายที่ ‘หมอกมุงเมือง’ เขียน มีเนื้อหาแปลกใหม่และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมาก ๆ เนื้อหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากอะไร จินตนาการของตัวเองล้วน ๆ ใช่หรือไม่
หมอกมุงเมือง : จินตนาการก็ถือเป็นส่วนหนึ่งเหมือนกันครับ แต่คิดว่ามันผสมกันมากกว่า ซึ่งนักเขียนทุกคนต้องมีอยู่แล้วในเรื่องของจินตนาการ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ควรต้องมี นั่นก็คือ เรื่องของการสังเกต แล้วนำมาสังเคราะห์ขึ้น อย่างพบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว หรือเจอประเด็นที่อ่านจากข่าวหรือหนังสือ ก็สามารถนำมารวมกันเป็นโครงเรื่องได้ ฉะนั้นแล้วผมเลยคิดว่า ต้องรวมทั้ง 2 อย่างนี้เข้าด้วยกัน หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้สำนวนภาษาของแต่ละคนไป ซึ่งสำหรับตัวผมเอง แม้เนื้อหาที่เขียนส่วนใหญ่จะออกแนวเหนือจริงก็จริง แต่ความเหนือจริงดังกล่าวต้องเหนือจริงอย่างมีเหตุผล และมีความสมจริงอยู่ภายในเนื้อหานั้น

all : นิยายถูกตีพิมพ์ไปหลายต่อหลายเรื่องแบบนี้ ถือเป็นตัวการันตีความสามารถในการเขียนของ ‘หมอกมุงเมือง’ แล้วหรือยัง
หมอกมุงเมือง : ทุกครั้งที่เขียนไม่เคยมีเป้าหมายว่า จะต้องถึงที่สุดหรือได้ตีพิมพ์หลายเล่มแน่ ๆ แต่ทุกเรื่องที่เขียนจะพยายามควบคุมคุณภาพงานของตัวเองในระดับหนึ่งอยู่ คล้ายกับมี cut off หรือเกณฑ์มากำกับงานของตัวเองเลยว่า ทุกเรื่องต้องผ่านมาตรฐานของเราตรงนี้ไป ถึงจะยอมปล่อยงานออกมาได้ เพราะเราไม่มีโอกาสรู้เลยว่า ผู้อ่านท่านอื่นที่เขาไม่เคยอ่านงานของเรามาก่อน เขาจะเลือกหยิบเล่มไหนมาอ่าน เกิดบังเอิญเขาหยิบเล่มที่ออกไปแล้วและเรื่องนั้นแย่มาก ๆ ก็จะทำให้คิดว่า ทุกเรื่องของเราเป็นแบบนั้น คืออย่างน้อยขอให้อุ่นใจก่อนว่า ผ่านมาตรฐานของตัวเองไปแล้ว หลังจากนั้นจะดีหรือไม่ ผู้อ่านจะเป็นคนตัดสินเอง

all : นอกจากความกล้าแล้ว คุณสมบัติอะไรที่นักเขียนขาดไปไม่ได้เลย
หมอกมุงเมือง : ความรักที่จะเขียนครับ เพราะถ้าเราเขียนด้วยความทุกข์ งานที่ออกมาก็น่าจะไม่สนุกไปด้วย ฉะนั้นตัวเองต้องมีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ทำก่อน ผลงานถึงจะออกมาดี เพียงแต่ว่า การประคับประคองอารมณ์สนุกและมีความสุขในการเขียนให้ได้อย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นเรื่องยาก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากงานที่ทำอยู่ โดยเป็นเรื่องธรรมดามากในแต่ละวันที่บางทีจะมีเรื่องโน้น เรื่องนั้น เรื่องนี้ เข้ามาหาอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นเวลาเขียน ต้องแยกให้ออกว่า สิ่งไหนคืองาน และสิ่งไหนคือความสุขที่เราทำอยู่ รวมถึงวางสิ่งต่าง ๆ รอบข้างลง แล้วตั้งใจเขียนงานออกมาให้ดีที่สุด เพื่อผู้อ่านที่กำลังรอความสุขจากการอ่านผลงานของเราอยู่ครับ

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ