เหม่ เญง : บนถนนชีวิตนักเขียนหญิงชาวพม่านาม

เหม่ เญง

คอลัมน์สัมภาษณ์ฉบับนี้มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “เหม่ เญง” นักเขียนนิยายที่มีผลงานเขียนมากมายในรูปบทกวี เรื่องสั้น และนวนิยาย นอกจากนี้เธอยังเคยเป็นอาจารย์สอนวรรรณคดีที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในพม่ามานาน เกือบ 20 ปี นักเขียนและอาจารย์วัย 40 ปีท่านนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดีพม่ามากที่ สุดคนหนึ่ง เธอได้รับปริญญาทางด้านภาษาและวรรณคดีพม่าถึง 3 ปริญญา คือ ปี ค.ศ. 1984 ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ปี ต่อมาปี ค.ศ. 1986 ได้รับปริญญาศิลปะศาสตร์ เกียรตินิยม และปี ค.ศ. 1994 ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จนถึงปัจจุบัน อาจารย์และนักเขียนหญิงคนนี้มีผลงานเรื่องสั้นกว่า 180 กว่าเรื่อง นวนิยาย 10 เรื่อง และงานเขียนประเภทบทความและบทกวีอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ถนนชีวิตนักเขียนหญิงและอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านนี้เริ่มต้นและดำเนินไป อย่างไร ค้นหาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์ตรงหน้าคุณขณะนี้

สนใจการเขียนได้อย่างไร
ฉันเริ่มอ่านนิยายตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พ่อของฉันให้ลองอ่านนิยายแปลเรื่อง “ป่อลียานา” ฉันใช้เวลาอ่านเพียงแค่อาทิตย์เดียวโดยมีพ่อคอยอธิบายสิ่งที่ไม่เข้าใจให้ ฟัง ตั้งแต่นั้นมา ฉันก็หาหนังสือที่อยู่บนชั้นหนังสือของพ่อมาอ่านอยู่ตลอด สมัยนั้นพ่อสะสมหนังสือกลอนของอาจารย์ติ่นโม เมื่อฉันได้อ่านหนังสือกลอนที่อยู่บนชั้นหนังสือของพ่อทั้งหมด ฉันก็รู้สึกชอบเขามาก ตอนที่ยังเป็นเด็กก็ได้อ่านนิยายจนเกือบครบทุกรูปแบบ

เริ่มต้นขีด ๆ เขียน ๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่
ฉันเริ่มหัดเขียนบทกลอนตั้งแต่อยู่ชั้น 8 (ประมาณ ม. 2) และเขียนมากที่สุดตอนที่เรียนภาษาพม่าชั้นปีสุดท้าย ตอนนั้นอายุประมาณ 20 ปี ฉันเริ่มเขียนกลอนส่งไปลงตามหนังสือกลอนของมหาวิทยาลัย ด้วยความชอบกลิ่นไอของมหาวิทยาลัยย่างกุ้งทำให้บทกลอนของฉันมักเป็นเรื่อง เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็เริ่มส่งไปลงตามนิตยสาร กลอนบทแรกที่ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร “เบ่ผูละหว่า” ฉบับเดือนกรกฎาคมปี 1986 คือ บทกลอนชื่อ “ความครบครัน” หลังจากนั้นก็ลองเขียนเรื่องสั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชายคนรักกำลังจะตายจากไป ฉันได้รับแรงบันดาลใจมาจากพ่อของฉัน ซึ่งขณะนั้นกำลังจะจากโลกนี้ไป สำหรับฉันแล้วพ่อคือ บุคคลในอุดมคติ ( Ideal person) ฉันพยายามถ่ายทอดความรู้สึกของการสูญเสียพ่อ ซึ่งเป็นบุคคลที่รัก ผ่านตัวละครในเรื่องนี้ โชคดีที่ผลงานชิ้นแรกได้รับการตีพิมพ์โดยไม่ได้ถูกแก้ไขต้นฉบับมากนัก ต่อมาก็เริ่มลองเขียนนิยาย แล้วการเขียนก็เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉันมาจนถึงทุกวันนี้

งานเขียนของคุณส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
เกี่ยวกับความรัก มีหลายเรื่องมาจากชีวิตจริงของฉันเอง (พูดจบแล้วหัวเราะเขิน ๆ )

นักเขียนพม่าในดวงใจของคุณคือใคร
ชื่อ “มะจี่เอ” ตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่พม่าแล้ว ย้ายไปอยู่อเมริกา อายุประมาณ 87 ปีแล้ว เธอมักจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับอิสระ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน

ที่มาของนามปากกา “เหม่เญง”
มาจากชื่อจริงของฉันเอง คือ “เญงแคะแคะ” เอาคำว่า “เญง” มารวมกับคำว่า “เหม่” ซึ่งเป็นคำใช้เรียก “ผู้หญิง”

อยากให้ยกตัวอย่างเนื้อหาของผลงานที่เคยเขียนว่าเกี่ยวกับอะไร
ตัวอย่างบทกลอนเช่น บทกลอนที่มีชื่อว่า “ปยิ๊โส่งชีนบะวะ” (ชีวิตที่สมบูรณ์) มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนที่ปฏิเสธสังคมเมืองสมัยใหม่ ไม่ยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ต้องการโทรศัพท์ ไม่ต้องการคอมพิวเตอร์ ปลีกตัวเองไปอยู่บ้านป่าห่างไกล อาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ กินแต่ผลไม้ไม่กินเนื้อสัตว์ ทำไร่ทำนา ส่วนเรื่องสั้นที่เคยเขียนมีประมาณ 180 เรื่อง เช่นเรื่อง “อะลีงปานตะปวิ่งโต๊ะ ชิดชีน” (ส่งความรักถึงดอกไม้งาม) เป็นเรื่องเกี่ยวกับอองซานซูจี เรื่องนี้ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแล้วแต่ถูกกองเซ็นเซอร์ดึงออก หรือ เรื่อง “สู่นหนะก่อง” (เหยี่ยวสองตัว) มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตข้าราชการครู บรรยากาศในโรงเรียน และความรู้สึกต่าง ๆ ของชีวิตข้าราชการ

นิยายทั้งสิบเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง
นิยายเรื่องแรกสุดตีพิมพ์เมื่อปี 1989 คือ “ตะชีนฮนี่งสี่” (บทเพลงดอกกุหลาบ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์8-8-88 สถานศึกษาถูกสั่งปิดทำให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เรื่องที่สอง ชื่อ “ปะกะติมยา” (เป็นธรรมดา) เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่รักแฟนมากเกินไปและสุดท้ายต้องพบกับ ความไม่สบายใจ เรื่องที่สาม ชื่อ “มีโคง๊วย มีโคหมี่ง” (ควันไฟ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็ก ๆ ที่เจอกับปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน เรื่องที่สี่ ชื่อ “อะเซ๊ะผิ่ง มแย๊ะคีงมยาสี่” (หญ้าพิษ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เรื่องที่ห้า คือ “ชิดตุ๊แม๊ะหนะส่า” (มายาของคนรัก) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นความรักที่ผิดพลาด เรื่องที่หก คือ “เอ๊ะแม๊ะตะคุ๊นิ่งแม๊ะหน่าชีนส่าย” (เผชิญหน้ากับความฝัน) เนื้อหาเป็นเรื่องราวของคนสองคนที่รักกัน แต่ภายหลังตอ้งแยกทางกันเพราะความทะเยอยานและความทะนงตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรื่องที่เจ็ด คือ “ชิดตู่โด๊ะแย๊ะมะแน๊ะเผี่ยง” (พรุ่งนี้ยังมีฝัน) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กหญิงและเด็กชายสองพี่น้องที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ สมบูรณ์ทำให้ต้องออกไปผจญภัยในโลกภายนอกด้วยกัน เรื่องที่แปด คือ “โฉ่แด๊ะเต” (ความไม่ลงตัว) เป็นเรื่องนี้เกี่ยวกับคู่รักที่มีนิสัยไม่เหมือนกันและมีวิธีการใช้ชีวิต ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้การใช้ชีวิตคู่ไม่ลงรอยกันอยู่บ่อยครั้ง เรื่องที่เก้า คือ “กองกี่งนิดาน” (ความรักอยู่ไหน) เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัว เรื่องที่สิบ คือ “อะชิดจองปยอยะอ่อง” (เล่าเรื่องความรัก) เป็นเรื่องจากชีวิตจริงของตัวเองกล่าวถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่แยกทางกับสามี เรื่องนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 1998

นิยายเรื่องไหนที่คนอ่านชอบมากที่สุด
มี 3 เรื่อง คือ เรื่อง “ปะกะติมยา” (เป็นธรรมดา), เรื่อง “โฉ่แด๊ะเต” (ความไม่ลงตัว) และเรื่อง “อะชิดจองปยอยะอ่อง” (เล่าเรื่องความรัก) สองเรื่องแรกมีคนมาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์แต่ฉันไม่ขาย ให้เพราะไม่ชอบพระเอกที่จะมาแสดง

คุณได้แรงบันดาลใจและวัตถุดิบในการเขียนมาจากไหนบ้าง
เอามาจากสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว ทั้งคน สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบข้างๆ เรา เช่น เวลาเจอคนไม่มีข้าวกิน หรือคนถูกข่มเหงรังแกเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้จะเข้ามาในความคิดเราและทำให้เราคิดต่อไปว่าคนที่ไม่มีข้าวกินนั้น มันเกิดอะไรขึ้นกับเขา ทำไมเขาจึงไม่มีข้าวกิน คือไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนก็ตามถ้ามีเรื่องราวเข้ามาในความคิดและมันกระทบหรือ โดนใจเรามาก ๆ ก็จะทำให้เราเขียนความรู้สึกออกมาได้

การเขียนแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไรในความรู้สึกของคุณ
ฉันชอบเขียนเรื่องสั้นมากที่สุด สำหรับฉัน การแต่งกลอนยากที่สุด เพราะต้องใช้คำที่สวยงามมีความหมายลึกซึ้งกินใจ การเขียนเรื่องสั้นและนิยายดูจะง่ายกว่ามาก แต่ในเรื่องสั้นและนิยายก็มีบ้างที่จะแต่งกลอนแทรกเข้าไป ระยะหลังฉันไม่ค่อยได้เขียนกลอนเพราะถ้าจิตใจขุ่นมัวหรือสมองไม่ปลอดโปร่งจะ ไม่สามารถเขียนกลอนออกมาให้ดีได้

แรงบันดาลใจของการเขียนนิยายกับกลอนแตกต่างกันอย่างไร
ถ้าเป็นนิยายจะหาแรงบันดาลใจง่ายกว่า สามารถที่จะได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ จากบทเพลง จากละคร ส่วนกลอนมันไม่ใช่ ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามากระทบจิตใจเราอย่างรุนแรง ฉันถึงจะเขียนกลอนออกมาได้ มีกลอนอยู่บทหนึ่ง ได้ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ “ส่าเบ่” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1995 ชื่อกลอนว่า “โบ่งตู่” (ภาพเหมือน) เป็นกลอนที่เก็บไว้ในใจนานมากกว่าที่จะเขียนออกมาได้ สำหรับฉันแล้วกว่าจะได้กลอนสักบทหนึ่งนั้นมันยากมาก ๆ ส่วนนิยายไม่ยากเลย เช่น เห็นผู้ชายคนหนึ่งที่ท้อแท้หมดกำลังใจแล้วมาเห็นเสื้อเชิ้ตที่มีตัวหนังสือ เขียนไว้ว่า “The great depressin in 1988” ก็กลายเป็นที่มาของนิยายเรื่องแรก คือ “บทเพลงดอกกุหลาบ” อย่างนี้เป็นต้น

คุณรู้สึกอย่างไรเวลาเขียนต้องเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า
รู้สึกว่าสภาพจิตใจของประชาชนย่ำแย่ ประชาชนยังไม่มีอิสรภาพในชีวิตความเป็นอยู่ และยังมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตหลายด้าน รวมทั้งยังมีอันตรายที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ด้าน สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่

เคยมีปัญหาเวลาส่งงานไปยังกองเซ็นเซอร์บ้างไหม
มี มากด้วย บางครั้งเขาตัดทอนออกจนทำให้เนื้อหาตอนต้นกับตอนสุดท้ายไม่สอดคล้องกันและ ไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้เนื้อเรื่องไม่ปะติดปะต่อกัน จนบางครั้งทำให้เรารู้สึกโกรธมาก ถ้าเราไม่ต้องการให้ตัดออก เราต้องติดสินบนให้เจ้าหน้าที่ ถ้าหากว่างานของเราโดนเซ็นเซอร์หลายแห่ง แต่เราไม่อยากถูกตัดออกเยอะ เราก็ต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่มากหน่อย แต่ถ้าข้อความที่จะตัดออกไปมีไม่มากก็จ่ายให้เพียงนิดหน่อย

กองเซ็นเซอร์ใช้เวลานานเท่าไหร่ในการอ่านงานนิยาย 1 เล่ม
ถ้าเป็นนิตยสารจะใช้เวลาไม่นาน คือจะต้องส่งต้นฉบับให้ก่อนตีพิมพ์ล่วงหน้า 10 วัน แต่ถ้าเป็นนิยายจะใช้เวลานานมากบางครั้ง 3 เดือนหรือ 6 เดือนก็มี ถ้าเราอยากให้หนังสือออกเร็ว ๆ ขึ้นก็ต้องจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่มากขึ้นด้วย ถ้าเป็นนิยาย 1 เล่ม จะต้องจ่ายเงินประมาณ 30,000 (….บาท) จั๊ตเพื่อให้เจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์ทำงานเร็วขึ้น สำนักพิมพ์จะหักค่าใช้จ่ายนี้ออกจากค่าลิขสิทธิ์นักเขียน

นักเขียนได้ค่าต้นฉบับเท่าไหร่
ค่าต้นฉบับของนักเขียนแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ค่าต้นฉบับสำหรับพ็อกเก็ตบุ๊คหรือนิยาย 1 เล่ม สำหรับนักเขียนที่มีชื่อเสียงจะได้ประมาณ 400,000 จั๊ต (….บาท) ถ้าเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงปานกลางก็จะได้ประมาณ 100,000 จั๊ต (….บาท) ค่าต้นฉบับต่ำสุดที่เคยได้ยินคือ 30,000 จั๊ต (….บาท) ตัวเลขนี้เป็นค่าต้นฉบับหลังจากสำนักพิมพ์จ่ายให้กับกองเซ็นเซอร์ ซึ่งถ้าหนังสือเล่มนั้นไม่ต้องจ่ายให้กับกองเซ็นเซอร์มากนักนักเขียนก็จะได้ ค่าต้นฉบับเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

จำนวนพิมพ์ pocket book ครั้งละเท่าไหร่
ประมาณ 2,000-4,000 เล่ม ถ้าพิมพ์ซ้ำ นักเขียนก็จะไม่ได้ค่าลิขสิทธิ์อีก เพราะทางสำนักพิมพ์จะจ่ายให้ครั้งเดียว เวลาพิมพ์ซ้ำจะไม่แจ้งกับนักเขียน เรื่องนี้เป็นปัญหามากสำหรับนักเขียนในประเทศพม่า ทำให้นักเขียนส่วนใหญ่ยากจน สิ่งที่เห็นก็คือ คนพิมพ์หนังสือเป็นเศรษฐีแต่นักเขียนเป็นยาจก

ถ้าอย่างนั้นคนที่มีอาชีพนักเขียนจะต้องทำอย่างไรถึงจะมีรายได้พอยังชีพ
นักเขียนส่วนใหญ่ต้องประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วยอย่างตัวฉันก็ต้องเป็น อาจารย์สอนหนังสือควบคู่ไปด้วย หลายคนรับราชการ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นะ เพราะเงินเดือนข้าราชการน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือนครูอาจารย์ ถ้าเป็นระดับอาจารย์ธรรมดา 4,500 จั๊ต ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์13,000 จั๊ต ระดับศาสตราจารย์ 20,000 จั๊ต ขณะที่ค่ารถรับส่งลูกไปโรงเรียนเดือนละ 15,000 จั๊ต ค่าพี่เลี้ยงเด็กในบ้านเดือนละ 10,000 จั๊ต คิดดูซิว่ารายได้กับค่าใช้จ่ายมันไม่สมดุลกันขนาดไหน เพราะฉะนั้นนักเขียนหลายคนจึงมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก

มีนักเขียนที่ประกอบอาชีพเขียนหนังสืออย่างเดียวไหม สภาพชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร
มีหลายคน บางคนยากจนมากจนเหมือนคนเสียสติ มีอยู่คนหนึ่งแต่งกลอนเก่งมาก เขาไม่ต้องการทำงานอื่นเลย แต่งกลอนเพียงอย่างเดียว รายได้ก็ไม่พอกิน จนภรรยาและลูกสาวต้องไปเป็นขายบริการทางเพศเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัวและ สนับสนุนให้เขาสร้างสรรค์บทกวีที่เขารักต่อไป ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นกวีที่เก่งมากและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คนอื่น ๆ ก็รู้ว่าลูกสาวและภรรยาของเขาต้องเป็นหญิงขายบริการเพื่อให้เขาได้ทำงานที่ รักต่อไป

ปัจจุบันค่าต้นฉบับเป็นอย่างไร
ค่าต้นฉบับเรื่องสั้นประมาณ 4,000 จั๊ต ขณะที่ค่าข้าวแกงหนึ่งจานประมาณ 1,000 จั๊ต กินข้าวได้แค่สามสี่มื้อเท่านั้น

อยากให้เล่าถึงชีวิตของการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบ้างว่าเป็นอย่างไร
ฉันสอนนักศึกษาวิชาเอกสาขาภาษาพม่าระดับปริญญาตรีและปริญญาโท วิชาที่สอน คือ ภาษาและวรรณกรรมพม่า ไม่ได้สอนวิธีการเขียน แต่จะสอนหลักการวิจารณ์วรรณกรรม

ปัญหาและอุปสรรคของการเป็นอาจารย์มีอะไรบ้าง
ปัญหาแรก คือ ถูกควบคุมเนื้อหาการเรียนการสอน เวลาสอนหนังสือจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองมานั่งฟังเพื่อไม่ให้เนื้อหาการ กระทบกระเทือนจนเกิดผลเสียต่อการเมือง อีกปัญหาหนึ่งคือความยากลำบากในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะรายได้นอ้ยกว่าค่าใช้จ่าย อาจารย์บางคนยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องเช่าบ้านอยู่ แต่เงินเดือนน้อยจนไม่แทบไม่พอกินอยู่แล้ว บางคนมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวลำบากมาก อาจารย์บางคนต้องแอบไปขายตัวโดยที่ไม่ให้ใครรู้เพราะกลัวสังคมจะไม่ยอมรับ กลัวว่าลูกศิษย์จะไม่ยอมรับ แต่คนใกล้ชิดที่รู้ก็มีอยู่ แต่เป็นส่วนน้อยมาก ถ้าอาจารย์คนไหนมีชื่อเสียงหน่อยก็เปิดสอนพิเศษซึ่งมีรายได้ดี แต่ไม่ใช่จะทำกันทุกคน เพราะไม่มีชื่อเสียงก็ไม่มีเด็กมาเรียน

เส้นทางการทำงานเป็นครูอาจารย์เป็นอย่างไร
ฉันเริ่มเป็นอาจารย์เมื่อปี 1986 สมัยนั้นยังไม่มีการให้สินบนเพื่อเข้าเป็นอาจารย์มากเท่าไหร่ คนที่เรียนเก่งก็สามารถสมัครเป็นอาจารย์ได้ง่าย แต่หลังจากปี 1988 การคอรัปชั่นก็เพิ่มมากขึ้นมาเรื่อย ๆ บางคนเก่งแต่ไม่มีเงินจ่ายค่าสินบนก็อาจไม่ได้เป็นอาจารย์ ส่วนคนไม่เก่งแต่มีเงินจ่ายค่าสินบนก็อาจได้เป็นอาจารย์

ความสุขในชีวิตของคุณคืออะไร
ฉันเคยฝันอยากเป็นอาจารย์และนักเขียนแล้วฉันก็ได้เป็นจริง ๆ นี่คือความสุขมากที่สุดในชีวิตของฉัน

ทำไมถึงใฝ่ฝันอยากเป็นอาจารย์และนักเขียน
อยากถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ให้คนอื่นได้รับรู้

มุมองที่เกี่ยวกับชีวิตข้าราชการที่อาจารย์รู้สึกเป็นอย่างไร
ฉันคิดว่ามันเป็นการแบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่มากกว่าความหมายของคำ สำหรับฉัน ฉันได้ทำหน้าที่จริง ๆ หน้าที่ที่ฉันได้สอนหนังสือให้เด็ก สอนให้เขาเป็นคนดี สอนให้เขาได้มีความรู้ถือเป็นหน้าที่อันใหญ่ยิ่ง และมันเป็นหน้าที่ที่หนักมากทั้งเรื่องของเงินเดือนที่ได้กับเรื่องหน้าที่ ที่มีต่อลูกซึ่งมันมารวมอยู่ในชีวิตของข้าราชการ ฉันคิดว่าชีวิตของครูอาจารย์โดยส่วนใหญ่แล้วคือชีวิตข้าราชการที่เด่นชัด ที่สุด ขนาดตัวฉันเองยังรู้สึกมหัศจรรย์ใจเลยเพราะว่าเมื่อได้รับความทุกข์มันก็ เป็นความทุกข์ของงานนี้ เมื่อฉันได้รับรู้การสนองตอบที่มาจากแววตาของลูกศิษย์มันก็ทำให้ชีวิตการ เป็นอาจารย์ของฉันพอใจที่จะต้องพบกับความไม่สบายใจบ้าง

สิ่งที่คุณอยากให้คนอื่นได้รับรู้มีอะไรบ้าง
ถ้าในฐานะของอาจารย์สอนภาษาพม่าก็อยากให้เด็ก ๆ ได้รับรู้และเข้าใจเรื่องราวของภาษาพม่า ถ้าในฐานะของนักเขียนก็อยากให้คนอ่านได้รับรู้เรื่องราวของชีวิตมนุษย์ ความแตกต่างของการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งสองแบบ คือ คือ การสอนหนังสืออยากให้ความรู้ ส่วนการเขียนหนังสืออยากให้ได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกและความสนุกสนานเพลิด เพลิน.

 

ขอบคุณที่มา : http://salweennews.org

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ