วิภาดา กิตติโกวิท : ผู้แปลงานของ พอล อดิเร็กซ์ ทั้ง 4 เล่ม

วิภาดา กิตติโกวิท

ถ้าใครเคยอ่านนวนิยายขายดีของ พอล อดิเร็กซ์ ทั้ง แม่โขง, โจรสลัดแห่งตะรุเตา, ตราบจนสิ้นกรรม และ พิษหอยมรณะ คงจะรู้จักชื่อ วิภาดา กิตติโกวิท กันเป็นอย่างดี เพราะพี่วิคือผู้แปลงานทั้ง 4 เล่มนั่นเอง นอกจากนี้ยังผลงานแปลหนังสืออีกหลายเรื่อง ทั้งจากภาษาอังกฤษและภาษาจีน เรียกได้ว่าเป็นนักแปลชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว

พี่วิเล่าถึงการทำงานแปลว่าก่อนอื่นก็ต้องอ่านทั้งหมดก่อน เพื่อจะได้รู้คอนเซ็ปท์ของเรื่อง รู้ว่าผู้ประพันธ์ต้องการจะบอกอะไร มองเห็นภาพกว้าง ๆ ว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร จากนั้นก็ค่อย ๆ ถอดออกมา และหาข้อมูลไปด้วย เพราะนักแปลนั้นนอกจากจะต้องมีความรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษมากเท่า ๆ กันแล้ว ยังต้องมีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในเรื่องที่แปลด้วย

อย่างเรื่อง ตราบจนสิ้นกรรม ของคุณปองพล พี่วิบอกว่าเป็นนวนิยายมีข้อมูลเยอะมาก มีทั้งเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่า เรื่องอเมริกา เรื่องยาเสพติด จึงต้องไปหาข้อมูลเหล่านี้มาอ่านเพื่อทำความเข้าใจเรื่อง และค้นหาภาษาที่ถูกต้อง เพราะบางครั้งคำเรียกในภาษาอังกฤษกับที่ใช้ในภาษาไทยจะไม่เหมือนกัน เช่น Rangoon แต่ภาษาไทยคือ นครย่างกุ้ง เป็นต้น

พอแปลเสร็จจึงตรวจทานอีกครั้งว่าตรงกับต้นฉบับภาษาอังกฤษหรือไม่ แล้วทิ้งไว้สักพัก จากนั้นจึงเอามาอ่านทวนอีกครั้งโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อจะดูภาษา สำนวน และโครงสร้างประโยคที่แปลเป็นไทยว่าสละสลวยหรือยัง เพราะตอนแรกที่อ่านภาษาอังกฤษไปด้วยจะไม่รู้สึกแปลก แต่พอมาอ่านตอนหลังจะเห็นว่าบางประโยคบางคำดูแปลก ๆ ซึ่งต้องปรับให้เป็นภาษาไทย

"บางคำอาจแปลตรงตัวไม่ได้ ต้องตีความ ตรงนี้ถ้ารู้จักตัวผู้ประพันธ์และเนื้อเรื่องทั้งหมดจะตีความได้ง่ายว่าเขาต้องการจะบอกอะไร และเราที่เป็นคนแปลก็ต้องสื่อให้ตรง โดยยึดหลักว่า "ต้องตรงกับต้นฉบับมากที่สุดและเป็นภาษาไทยที่สุด"

ถามถึงอุปสรรคหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานแปล พี่วิยอมรับว่ามีเหมือนกัน

"บางทีเรารู้ไม่พอกับเรื่องแต่ละเรื่อง อย่างนักเขียนชาวอังกฤษมักอ้างถึงตัวละครของเชคสเปียร์ หรือของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ ถ้าเราไม่มีความรู้ตรงนี้ก็จะไม่รู้ว่าเขาต้องการสื่ออะไร มันไม่ใช่แค่รู้ภาษา แต่ต้องรู้ความเป็นมาของภาษา ของคำ ประโยค หรือสำนวนเปรียบเทียบนั้น ๆ ด้วยว่ามาจากไหน มิฉะนั้นจะตีความผิด"

อีกปัญหาคือเรื่องของพรมแดนภาษา ระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ เพราะคำภาษาอังกฤษบางคำจะไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยโดยตรง การอธิบายในบางครั้งจะทำให้ดูยืดยาวเกินไป ต้องพยายามแปลให้กระชับและได้ใจความ

นอกจากอุปสรรคในการแปลแล้ว สิ่งที่นักแปลพบอยู่เสมอคือนักอ่านบางคนมีโอกาสอ่านทั้งสำนวนต้นฉบับและสำนวนแปล แล้วพูดในทำนองว่า อ่านต้นฉบับสนุกกว่า ในฐานะคนแปลพี่วิบอกว่ายาก ยิ่งเป็นชุดเดียวกันแล้วคนแปลต่างกันก็จะถูกเปรียบเทียบระหว่างคนแปลแต่ละเล่มอีกด้วย อย่างเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตีความ ผู้แปลต้องอ่านให้รู้เรื่องแล้วตีว่าจะสื่อออกมาในแนวไหน อารมณ์ไหน "ยิ่งหนังสือดัง ๆ มันลำบากทีเดียวที่จะแปลได้ดีกว่าต้นฉบับ"

ถามถึงแนวหนังสือที่เลือกมาแปล พี่วิบอกว่าแปลได้ทุกแนว เพราะเป็นคนเบื่อที่ต้องทำอะไรซ้ำๆ แล้วการแปลหลายแนวก็จะทำให้เรามีความรู้กว้างขึ้นจากการค้นคว้าหาข้อมูล

"อย่างเรื่องที่เพิ่งแปลจบไปก็คือ ฟลีแบ็กกับไฟธำมรงค์ (Fleabag and the Ring Fire) ก็เป็นวรรณกรรมเยาวชน เรื่องมันสนุกเพราะเจ้าแมวเหมียวฟลีแบ็กมันพูดได้ มันน่ารัก เพราะมันกวน เนื้อเรื่องสะท้อนถึงการค้นหาตัวตนของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาไม่มีอะไร มีจิตใจที่บริสุทธิ์ แล้วต้องแบกรับกับสิ่งที่คาดไม่ถึง ต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ โดยมีเจ้าแมวเหมียวฟลีแบ็กเป็นเพื่อนคอยติดตามช่วยเหลือ มันมีแง่คิดแฝงไว้ด้วย ไม่ใช่สนุกสนานอย่างเดียว"

ก่อนจบการสนทนากันนั้น พี่วิกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

"งานแปลมันยากที่ว่าจะเก็บต้นฉบับให้ครบอย่างเคารพต้นฉบับได้อย่างไร เพราะเคยเห็นงานแปลบางชิ้นที่ตัดบางประโยคบางตอนที่ตีความไม่ได้ออกไป มันเป็นการไม่เคารพต้นฉบับ เพราะหากคิดกลับกันว่าถ้าเราเป็นนักเขียนเราก็อยากให้คนอื่นแปลสิ่งที่เราเขียนให้ครบถ้วน เพราะฉะนั้นนักแปลต้องเป็นนักอ่านด้วย ต้องมีความรู้ในทุกเรื่องที่อยู่ในเรื่องที่จะแปล"

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ