เสี้ยวจันทร์ : นักปั้นซีไรต์

เสี้ยวจันทร์

"ห้องไม่มีแสงแดด" "อาณาเขตแห่งความฝัน" และ "ใบหน้าสุดท้าย" หนังสือรวมบทกวีของ เสี้ยวจันทร์ แรมไพร อาจไม่ใช่งานเบสต์เซลเลอร์ ไม่มีรางวัลใด ๆ มาเพิ่มคุณค่าให้ แต่จากปรากฏการณ์ที่หนังสือรวมบทกวี ในเวลา ของ แรคำ ประโดยคำ และ บ้านเก่า ของโชคชัย บัณฑิต' สองงานกวีรางวัลซีไรท์ มาจากบรรณาธิการคนเดียวกัน คือ กนก สงิมทอง ทำให้มีเสียงพูดกันว่า เขาคือบรรณาธิการรวมเล่มกวีนิพนธ์เพื่อประกวดรางวัลซีไรท์มือหนึ่ง เพราะสามารถเดาทางและรู้บุคลิกของรางวัลนี้ได้ว่ามีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร กรรมการมาจากกลุ่มไหนหรือมีรสนิยมอย่างไร

แล้วมันเกี่ยวอะไรกันกับหนังสือสามเล่มข้างต้นหรือเสี้ยวจันทร์?
นั่นเพราะ กนก สงิมทอง ก็คือ เสี้ยวจันทร์ แรมไพร และนี่คือบางส่วนจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเสี้ยวจันทร์ในเวลาใกล้เที่ยงวัน หลังจากกวีหนุ่มบอกว่า "ขอเวลากินกาแฟก่อนได้ไหม"

แต่ก่อนเคยเห็นงานเขียนเล่าเรื่องเชิงสารคดี แต่ช่วงหลังรู้สึกจะหายไป เป็นเพราะไม่ค่อยได้เดินทางหรือเปล่าคะ
ผมยังเดินทางตลอด ช่วงหนึ่งนิตยสารบ้านเรามีงานแบบ Photo Essay ที่หนังสือ Generation และ Hi-Class ผมเขียนบทกวีประกอบภาพบ้าง แต่ปัจจุบันมันไม่ค่อยมีใครทำแล้ว งานเขียนเชิงสารคดียังคงเขียนอยู่ แล้วก็ยังเดินทางอยู่เรื่อย ๆ ไปแก่งกระจาน ไปเกาะบูบู เคยล่องใต้ 15 วันจากสุไหงโก-ลกขึ้นมาชุมพร ที่ประทับใจมากคือเกาะมุก จังหวัดตรัง เหมือนในหนังเรื่อง The English Patient มันสงบมาก มีเสียงสวดของชาวอิสลามให้ได้ยิน ชอบมาก ก็จะเขียนเหมือนบันทึก ชีวิตชาวเลเป็นอย่างไร ท้องฟ้าเป็นอย่างไร เพียงแต่มันไม่มีสนามลงมากกว่า ถ้ามีใครมาชวนก็จะทำ นี่ก็เพิ่งกลับมาจากปาย คนกรุงเทพฯ ไปปายกลับมาก็เขียนถึงซะเลิศเลอ แต่เราเป็นคนมาจากเมืองเล็ก ๆ ไปปายเหมือนได้กลับบ้าน มีอาหารอร่อยให้กิน ไม่แพง ได้เจอมิตรภาพของคนที่ไปอยู่ที่นั่น เจอคนที่ได้ทำในสิ่งที่เขาฝัน ไปเจอเพื่อนที่ขายบ้านในกรุงเทพฯแล้วไปทำรีสอร์ทอยู่ที่นั่น ผมก็ยังเดินทางอยู่เรื่อย ๆ

ช่วงที่เขียนงาน พี่คิดถึงอะไรคะ มันเป็นความรู้สึกที่มากระทบแล้วก็มีพล็อตเกิดขึ้น บางทีมันมาเป็นภาพ อย่างนั่งดูแมวมันเดินไต่กำแพง หรือเห็นแสงยามพลบของวัน ได้คุยกับแท็กซี่ วันก่อนเขาก็เล่าเรื่องผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งให้ฟัง ก็เขียนออกมา รู้สึกว่าชีวิตคนเรานี่มันเหมือนกระจกนะ มันเปราะบาง มันแตกง่าย มีบ้าง ทำไม่จบ ทำค้าง ก็จะสเก็ตช์เอาไว้ก่อน แต่จะไม่เคยสร้างอารมณ์ จะทำค้างไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาดูวันหลัง ว่าสามารถจะขยายออกไปได้ไหม ถ้ามันเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ก็คงไม่ขยายมันออกไปกว่านั้น ไม่ได้ตีอกชกตัวหรือร้องไห้ฟูมฟายกับสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ อย่างแต่ก่อนก็จะมีบ้าง เป็นอารมณ์หงุดหงิด แม่ง! ทำไมทำไม่ได้วะ งานกวีนี่มันยากนะ มันเหมือนการเล่นกับคำในอากาศ จะเอาคำนั้นมาใช้ยังไง

ต้องการบอกอะไรกับผู้อ่านคะ ความคิด อย่างล่าสุดที่คิดไว้มันแรงนะ ขึ้นป้ายไว้เลยว่า สนทนากับองคชาติ คิดว่าปัญหาทุกวันนี้มันเกิดจากสิ่งนี้สิ่งเดียวของผู้ชายหรือเปล่า ปัญหาชีวิต สงคราม คิดในเชิงจิตวิทยา เพราะตรงนี้ไหม พูดถึงมนุษยชาติ แต่ย่อลงมาเป็นการสนทนาของคนคนหนึ่ง "คุณน่ะไม่เคยพอเลยนะ แต่ฉันน่ะหยุดแล้ว" จะทำงานเชิงด้านมืดมาตลอด สังคมมันมีด้านมืด จากข่าว ได้เจอ หรือได้ฟัง เวลาขึ้นแท็กซี่ผมจะชอบคุย แท็กซี่จะมีพล็อตแปลก ๆ ให้ฟังเยอะ อย่างมีแท็กซี่คนหนึ่งเล่าว่าแต่ก่อนเขาไม่ได้ขับแท็กซี่นะ เขามีอาชีพเอาขาคนไปทิ้ง คือเขาทำงานในโรงพยาบาล จำไม่ค่อยได้ จำได้แต่ประโยคนี้ที่ว่า เขามีหน้าที่เอาขาไปทิ้ง เราก็ว่ามันแปลกดีนะ บางทีความคิดมันไม่ได้มาเป็นบทกวี คิดแบบเรื่องสั้น แต่ยังไม่เคยเขียนเรื่องสั้นที่ได้มาจากความคิดเชิงกวีเลยนะ รู้สึกว่าอารมณ์แบบกวีมันหายไป ไม่ค่อยดื่มด่ำกับมันอีกแล้ว เพราะเราต้องดิ้นรนหรือเปล่าไม่รู้

มีคนพูดกันว่าเป็นกวีแล้วไส้แห้ง แล้วกวีอย่างเสี้ยวจันทร์อยู่ในข่ายนี้หรือเปล่าคะ
มี กวีมันเป็นอุดมคติ อะไรที่เป็นอุดมคติมันมักไม่สร้างรายได้ กวีมันสูงส่ง คนไทยมองว่ากวีเป็นเรื่องไกลตัว การยกย่องให้เกียรติมันน้อย วันก่อนไปทานข้าวกับอาจารย์เนาว์ (คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ไพวรินทร์ (คุณไพวรินทร์ ขาวงาม) แล้วก็กวีจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ณ ร้านสกายไฮ ริมถนนราชดำเนิน แล้วกวีชาวอินโดหรือฟิลิปปินส์ก็ไม่รู้เขาลุกขึ้นอ่านบทกวี มันดูตื่นเต้น มีท่าทาง กวีของเขาได้ขยายไปสู่การมีการแสดงประกอบร่วม (performance) แต่บ้านเรากวียังเขียนงานส่งตามหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ไม่ได้ขยายต่อยอดไปสู่แขนงอื่น ๆ มีแต่พี่เนาว์คนเดียวที่เอาดนตรีเข้ามา มีการอ่านร่วมกับดนตรี มีสีซอ มีเป่าขลุ่ย แล้วกวีคนนั้นเขาบอกว่าการแสดงอ่านบทกวีของเขามีคนซื้อบัตรเข้าชมเต็มหมด มันเป็นความบันเทิงชนิดหนึ่งที่มีบทกวีอยู่ในนั้น

แล้วบ้านเราล่ะคะ
เขาว่ากวีตายแล้ว พี่จี๊ด (จิระนันท์ พิตรปรีชา) ก็ให้สัมภาษณ์ไว้ มันเป็นช่วงซบเซาของกวี พัฒนาการมันน้อย ทั้งตัวกวีและเนื้อหา บางทีเราอยากอ่านอะไรที่มันใหม่กว่าเก่า อย่างดูหนังเรื่อง Total Eclipse เรื่องนี้สุดยอด เป็นเรื่องของกวีสองคน คือ อาตูร์ แรมบอง (Arthur Rimbaud) และ ปอล แบร์แลน (Paul Verlaine) เคยอ่านบทกวีของแรมบอง ชื่อ "เรือเมา" อ่านที่ห้องสมุดรามคำแหง รู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก แล้วก็บทกวีของ ที.เอส. เอเลียต เป็นเอ็กซิสฯ นิด ๆ มันมีสัญลักษณ์ กวีในบ้านเราถ้าพูดถึงสัญลักษณ์ยังเปรียบกับอะไรที่ใกล้ตัว อย่างดวงดาว ท้องฟ้า ต้นไม้ มันดาษ ๆ จริง ๆ แล้วพล็อตน่ะคนเราก็คิดได้ไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอก แต่การโชว์หรือการจะดูความสามารถของกวีน่ะต้องดูที่การอุปมาอุปไมย ที่เด่นเรื่องการอุปมาอุปไมยก็มีท่านอังคาร (อังคาร กัลยาณพงศ์) ต่อมาก็มี ประกาย ปรัชญา ส่วนกลอนเปล่าที่เขียนได้ดีก็มี สัญญาณ พรราย กลอนเขามีตรรก มีหลุมดำ มีอุกกาบาต แต่เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว คำ พอวา ก็ดี เป็นกลอนเปล่าที่เล่าเรื่องง่าย ๆ สะเทือนใจ

หลังจากหนังสือรวมบทกวีเรื่อง "บ้านเก่า" ที่พี่เป็นบก.ได้รับรางวัลซีไรท์ เช่นเดียวกับเรื่อง "ในเวลา" ทำให้มีเสียงพูดว่า เสี้ยวจันทร์ แรมไพร คือบรรณาธิการรวมเล่มกวีนิพนธ์เพื่อประกวดรางวัลซีไรท์มือหนึ่ง เพราะสามารถเดาทางและรู้บุคลิกของรางวัลนี้ได้ว่ามีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร กรรมการมาจากกลุ่มไหน รสนิยมอย่างไร พี่คิดอย่างไรคะ
ขอบคุณที่เขาให้เกียรติ แต่อย่างไรงานเริ่มต้นก็มาจากตัวกวี ถ้าเขาไม่เขียนงานดี ๆ เราก็ไม่มีงานดีๆ มาให้คัดสรร เป็นการนั่งทำงานร่วมกันกับกวี อย่างของคุณโชคชัย โชคชัย บัณฑิต' ผมบอกไว้ 3 เรื่อง คือ ผมชอบมุมมองของคุณนะ ผมชอบอารมณ์ความรู้สึกของคุณนะ ผมชอบพล็อตคุณนะ สามส่วนนี้มันทำให้งานเขาน่าสนใจ แล้วเขาทำงานเยอะ เขียนงานเยอะ ได้คัดเลือกหลายบทกวี ผมไม่ใช่มือหนึ่งหรอก ห้านิ้วธรรมดา และไม่ใช่เดาทางกรรมการออกหรอก เราทำในสิ่งที่เราชอบมากกว่า จากใจเราชอบ ถ้ามันจะถูกใจคนอื่น มันก็เป็นเรื่องรสนิยมของเขา

เป็นบรรณาธิการให้คนอื่นได้รางวัลซีไรท์มาแล้วถึง 2 เล่ม แล้วผลงานของตัวเองล่ะคะ
ทำงานที่ตัวเองคิดก่อน รักงานเราให้ดีก่อน ส่วนรางวัลเป็นเรื่องของคนอื่น ถ้าเขาเห็นว่างานของผมมีศิลปะ เขาก็ใส่พาน (หัวเราะ) แต่งานของผมมันไม่ใช่แนวซีไรท์ ได้ทำงานก็เป็นรางวัลอยู่แล้ว ได้เขียนเรื่องออก มีพล็อตให้เขียน ได้กินกาแฟ ได้ขี้อย่างสบาย ๆ ก็เป็นรางวัล เป็นโชคดีแล้ว เคยอ่านสัมภาษณ์คุณเป็นเอก (เป็นเอก รัตนเรือง) เขาบอกว่าช่วงเวลา 30 นาทีตอนเช้า ได้กินกาแฟ ได้นั่งขี้สบาย ๆ ก็เป็นสุขแล้ว มันตรงใจผมเลย กินกาแฟตอนเช้า ขับถ่ายดี ได้ฟังเพลง ตอนนี้กำลังบ้าเพลงลูกทุ่งในมนตร์รักทรานซิสเตอร์ ผมชอบนะเรื่องนี้ แต่รู้สึกหนังจะไม่ค่อยได้ตังค์ ผมว่ามันลงตัวกว่าสองเรื่องที่ผ่านมา แต่ตอนจบมันไม่น่ามีประโยคนั้นเลย "แต่พี่เห่าไม่เป็นนะ" โห… อารมณ์มันลงเลย กำลังเศร้ามาก อุ้ม (สิริยากร พุกกะเวส) น่ะร้องไห้แทบตาย น้ำตาเราก็กำลังมาแล้ว "แต่พี่เห่าไม่เป็นนะ" หมดเลย

แล้วตอนนี้ POMO เป็นอย่างไรบ้างคะ
POMO ประสบความสำเร็จมากในด้านการขาย ไปงานบก.พบคนอ่านที่ CMU BOOK มา ได้คุยกับแฟนๆ ของ POMO เขาก็บอกว่าชอบ มันต่างจากแมกกาซีนทั่ว ๆ ไป มีเอกลักษณ์ทั้งอาร์ตและเนื้อหา มันใกล้ตัวเขา ทั้งนักศึกษาและคนที่ทำงานศิลปะ ทำกันแค่ 3 คน ออกมา 2 เล่มแล้ว เล่มต่อไปมี ปฐมพร ปฐมพร เป็นปก พูดเรื่องเซ็กส์ พระเจ้า จานบิน และผู้หญิง POMO จริง ๆ แล้วมันก็คือโพสต์โมเดิร์น แต่ไม่อยากให้มันเป็นโพสต์ ใจจริงคืออยากให้มันเป็นลูกเหม็นหรือสบู่ก้อนหนึ่ง เป็นแค่ชื่อ ๆ หนึ่ง อย่าไปสนใจว่ามันเป็นอะไร ปล่อยมันไว้อย่างนั้นเถอะ เท่าที่ยืนคุยกับคนอ่าน เขาก็บอกว่ามันแตกต่าง มันโดน สนุกด้วย เหมือนเป็นเพื่อน ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นแสงไฟส่องสว่างทางความคิดหรอกนะ (หัวเราะ) แค่กระตุ้นบอกเขาว่าขบถยังมีอยู่นะ คนที่คิดอะไรแตกต่างมันยังมีอยู่นะ ส่วนมันจะเป็นโพสต์หรือเป็นอะไร ให้เนื้อหาในเล่มมันตอบดีกว่า ในหนังสือรวมบทกวี "ใบหน้าสุดท้าย" พี่เขียนไว้ในหน้าความในใจว่า "แต่อย่างไรผมก็ยังเชื่อเสมอว่า เสียงร้องไห้ดังกว่าเสียงหัวเราะ" ปัจจุบันยังเชื่อเช่นนี้อยู่หรือเปล่าคะ ร้องไห้ครั้งสุดท้ายที่นครสวรรค์เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา ร้องหนักเลย เหมือนตกนรกทั้งเป็น… ก็ยังมีเสียงหัวเราะอยู่บ้าง บางครั้งการร้องไห้ไม่จำเป็นต้องหลั่งน้ำตา บางทีมันขื่นมาก อย่างหนังเรื่อง A.I. ที่แม่เอาลูกไปทิ้ง คือเขาเอาหุ่นยนต์เด็กมาเลี้ยง พอไม่รักแล้วก็เอาไปปล่อย หุ่นยนต์เด็กก็หันรีหันขวาง ต้องไปดูเอง มันเต็มตื้นมาก รู้สึกว่าศิลปะดี ๆ มันทำให้เราสะเทือนใจได้

เขาว่าเสี้ยวจันทร์เป็นคนเหงา เศร้า?
ผมยังไม่ค่อยลงตัวทางการใช้ชีวิตกับคนอื่น แล้วมันก็ส่งผลต่อวิถีชีวิต ติดนิสัยชอบอยู่คนเดียวมาตั้งแต่เด็ก ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงแสวงหามันติดมา เวลามีคนอื่นอยู่ด้วย ก็อยากอยู่คนเดียว แต่เวลาอยู่คนเดียว ก็อยากให้มีคนอื่นอยู่ด้วย ไม่รู้ว่าจังหวะไหนจะพอดี ในสัมพันธภาพระหว่างผมกับคนอื่นและคนรัก เอ๊ะ… มันสามคนสินะ ( หัวเราะ) ก็ไม่ได้เหงา เศร้า ก็เหมือนกับคนอื่น ๆ แต่ผมอาจมีดวงตาที่สาม มีซิกส์เซนส์มากกว่าคนอื่น เวลาที่เหงามาก ๆ คือเวลาที่ไม่มีตังค์ ไม่มีตังค์ไว้ดูหนังดี ๆ ฟังเพลงดี ๆ

จริง ๆ แล้วการได้นอนตื่นขึ้นมาในตอนเช้า เห็นตัวเองลุกจากเตียง ชงกาแฟกิน ขับถ่าย ก็รู้สึกดีแล้ว รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ใช้ชีวิตอย่างนี้ เมื่อวานมีตังค์ วันนี้ไม่มี เมื่อวานมีคนรัก วันนี้ไม่มีแล้ว เมื่อวานกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป วันนี้กินหูฉลาม (หัวเราะ) เป็นเปรียบเทียบนะ จริง ๆ ไม่ได้กินหูฉลามหรอก มันสลับกันตลอด ชีวิตมันไม่เคยมาถูกกาละเทศะเลย มาแบบคู่ขนาน แบบ conflict ตลอด ชีวิตก็แค่นี้นะ ยืมเสื้อผ้าเขามาใส่ แท้จริงคนเราก็เปลือยเปล่า… (หัวเราะ)

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ