แพรกานต์ นิรันดร : ปอเปี๊ยะ สาวน้อยพรสวรรค์นักเขียน

แพรกานต์ นิรันดร

ด้วยความเป็นนักอ่านที่หลงใหลตัวละครในตำนาน และสิ่งมีชีวิตในโลกเวทมนตร์มาตั้งแต่เด็ก จนอยากนำเรื่องที่เคยจินตนาการออกมาเขียนเป็นวรรณกรรมเยาวชนให้ผู้อ่านคอเดียวกันได้อ่าน ปอเปี๊ยะ-แพรกานต์ นิรันดร เติบโตในครอบครัวนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง (ทายาทของคุณปฏิยุทธ์ อุกฤษกานต์ และคุณเยาวรัตน์ นิรันดร นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของโรงเรียนนานาชาติ St. Andrews)

เธอใช้นามปากกาว่า ‘Pieretta Dawn’ เขียนนวนิยายที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับนางเงือก ตัวละครที่ชื่นชอบมาทำเป็นวรรณกรรมเยาวชนไตรภาค ซึ่งใช้เวลา 1 ปีในการวางพล็อตเรื่อง และค้นคว้าหาข้อมูล ทำให้มีหนังสือนวนิยายไตรภาคชุดจักรภพพันธุ์มหัศจรรย์ ชุด ‘ผจญภัยในแดนเงือก’ (The Mermaid Apprentices) ออกมา และถูกนำไปทำเป็นหนังสือการ์ตูนอีกเวอร์ชั่นหนึ่งด้วย นับได้ว่า เป็นนักเขียนภาษาอังกฤษที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ปอเปี๊ยะยังตระเวณออกทัวร์ตามโรงเรียน ต่างๆ กว่า 50 แห่ง เพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาอ่านหนังสือและไม่ล้มเลิกความฝันของตัวเอง เธอเล่าให้ฟังถึงที่มาของการเขียนหนังสือว่า

“เปี๊ยะรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ในที่สุดเรื่องราวที่อยู่ในหัวก็มีมากมายจนต้องเขียนเล่าออกมา มีความรักการเขียนโดยสร้างจากเรื่องที่อยู่ในหัวของเปี๊ยะ คิดค้นบุคลิกตัวละครขึ้นมาใหม่ อาจจะเป้นเพราะหนูเติบโตมาเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว บุคลิกตัวละครจึงดูเหมือนว่าต่อสู้กับความเหงาเปล่าเปลี่ยวของตัวเอง”

การเขียนหนังสือส่วนมากคนเขียนจะมีพื้นฐานและแรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือเยอะๆ ปอเปี๊ยะเล่าถึงนิสัยรักการอ่านของเธอว่า “เหมือนกับเด็กโดยทั่วไป พ่อแม่ของเปี๊ยะเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญอย่างมากในการที่ทำให้รักการอ่าน แม่อ่านหนังสือให้ฟังและอธิบายคำบรรยายใต้ภาพที่ไม่เข้าใจ และทุกๆ เวลาที่กลับมาบ้านก็จะเห็นพ่อกับแม่นั่งอ่านหนังสืออยู่ จากสิ่งนี้ทำให้หนูสามารถเข้าสู่โลกแห่งความมหัศจรรย์ของหนังสือและสามารถเข้าใจได้ถึงการอ่าน ท้ายที่สุดก็ตกหลุมรักการอ่านอย่างถอนตัวไม่ขึ้น” ภาพที่เธอมองวัยรุ่นไทยที่เป็นคนรุ่นเดียวกันว่า ปัจจุบันเขามีไลฟ์สไตล์การอ่านแบบไหน ปอเปี๊ยะก็บอกว่า

“เด็กทุกวันนี้จิตใจว้าวุ่นวอกแวกง่าย เพราะมีสิ่งเร้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีต่างๆ เกม และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย เพราะทุกสิ่งต้องทำอย่างพอเหมาะพอเจาะ ยากมากที่เด็กทุกวันนี้จะสนุกกับการอ่านหนังสือ แต่เปี๊ยะเป็นหนึ่งในเด็กวัยรุ่นที่ตื่นเต้นกับหนังสือและมีความสุขที่ได้เห็นได้อ่าน” วัฒนธรรมการอ่านในเมืองไทยที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ปอเปี๊ยะมองว่า การปลูกฝังนั้น ควรมาจากความสุขในการอ่านเสียก่อน “เปี๊ยะมองว่า บ่อยๆ ที่เด็กจะเห็นว่าหนังสือเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เพราะถูกบังคับให้อ่าน ถ้าพ่อแม่บังคับให้เด็กอ่านหนังสือ พวกเขาก็จะต่อต้าน สิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับเด็กๆ ควรมีความสุขกับการอ่านหนังสือด้วย”

ประสบการณ์ในต่างประเทศ เกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านที่เธอไปสัมผัสมา ถือว่าเป็นการเปิดโลทัศน์ใช่น้อย จึงนำมาขยายต่อให้ฟังว่า “เท่าที่เปี๊ยะเห็น การอ่านเป็นสิ่งที่เติบโตอย่างมากและเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวัฒนธรรมในประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในที่ซึ่งเดินทางไปจะพบคนอ่านหนังสืออยู่ตลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าเมืองไทยของเราเลวร้าย ซึ่งเราน่าจะเลียนแบบนิสัยรักการอ่านแบบนี้มาใช้ เพราะทุกประเทศมีทั้งสิ่งที่ดีและเลว ซึ่งเราควรนำสิ่งที่ดีมาปรับใช้กับสังคมไทย โดยเฉพาะความสนใจใคร่รู้และความศรัทธาในงานวรรณกรรมและการอ่าน ซึ่งทำคนของเขาเติบโตอย่างมีความสุขกับหนังสือ”

ปีนี้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก ในสายตาของปอเปี๊ยะ เธอรู้สึกภูมิใจและมีความหวัง “หนูคิดว่า เด็กๆ จะรักการอ่านเพิ่มขึ้นอีก เปี๊ยะภูมิใจและมีความสุขที่กรุงเทพฯ ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกในปีนี้ และคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติด้านบวกที่มีต่อการอ่านเพิ่มมากขึ้น วาดหวังที่จะเห็นหนังสือดีๆ ถูกผลิตออกมา และมีวรรณกรรมที่มีคุณค่าโดดเด่นเขียนโดยนักเขียนคนไทย หรือรวมถึงมีการแปลหนังสือดีๆ จากภาษาอังกฤษเป็นไทยและจากภาษาอื่นๆ ถูกผลิตออกมา แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ใช่ว่าเด็กๆ จะอ่านเพิ่มมากขึ้น หากพ่อแม่ไม่เป็นแบบอย่างในการอ่านเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นการอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่สนุก” ปัจจุบัน ปอเปี๊ยะมองกระแสอีบุ๊กที่กำลังขยายตัวในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งหันมาอ่านหนังสือดิจิตอลมากขึ้นกว่ากระดาษ “จริงๆ แล้ว ไม่ว่าเป็นอุปกรณ์อะไรก็ตามที่ทำให้เด็กๆ อ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ดี เปี๊ยะคิดว่ามันอยู่ที่ความชอบของแต่ละคนมากกว่า ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่สำคัญของหนังสือดิจิตอลนั้นคือการที่สามารถเข้าถึงหรือเชื่อมโยงสู่หนังสือได้ง่ายมากขึ้น แต่สำหรับเปี๊ยะยังหลงเสน่ห์หนังสือกระดาษ เพราะสามารถดมกลิ่นและพลิกหน้ากระดาษได้ ซึ่งมันเป็นประสบการณ์สัมผัสหนังสือของหนู แต่ท้ายที่สุดอะไรแล้ว สิ่งใดก็ได้ที่สามารถทำให้คนอ่านหนังสือ

การวางอนาคตนักเขียนของตัวเธอเป็นสิ่งที่มุ่งมั่นและจะขอก้าวตามทางฝันอย่างจริงจังมิยอมปล่อยวาง “เปี๊ยะตัดสินใจที่จะเขียนงานต่อไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ซึ่งตอนนี้ก็มีหนังสือที่เขียนออกมาแล้วเป็นชุดไตรภาค ซึ่งหลายๆ คนก็ถามถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะแฟนหนังสือที่ถามบ่อยๆ ว่าจะเขียนอะไรต่อไปจากนี้ ซึ่งเปี๊ยะก็มีแผนที่จะเขียนนวนิยาวแนวอาชญาวิทยาสืบสวนสอบสวน ต่อจากนั้นก็จะเป็นไตรภาคแอคชั่น/ผจญภัย หนูรักที่จะเขียนหนังสือเพราะเป็นเหมือนชีวิตของเปี๊ยะ เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีความสุขกับการอ่านหนังสือ รวมถึงบทบาทที่เป็นแบบอย่างของวัยรุ่นที่ต้องการจะเป็นนักเขียน ให้พวกเขาได้เดินตามความฝันในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น”

สุดท้าย อยากให้แนะนำทริคการอ่านหรือกลเม็ดเด็ดในการอ่านหนังสือให้เพื่อนๆ “อย่ามองข้ามความสุขและความสนุกที่จะได้จากการอ่านหนังสือ เพียงแต่ต้องหาหนังสือที่ตัวเองชอบมาอ่าน ซึ่งควรหาหนังสือที่มีสไตล์แตกต่างออกไปมาอ่านด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะรู้ว่าตัวคุณค้นหาอะไร และอย่าหยุดตามความฝันของคุณ โดยเฉพาะคนที่ต้องการจะเป็นนักเขียน ต้องอ่าน ต้องเขียน และอย่าท้อถอย เพราะสุภาษิตประจำใจของเปี๊ยะคือ Live a life worth writing about.

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ