ศิลา โคมฉาย : นามนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากผลงานเรื่อง ครอบครัวกลางถนน

ศิลา โคมฉาย

ศิลา โคมฉาย นามนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากผลงานเรื่อง ครอบครัวกลางถนน ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนและรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2536 ด้วยความเป็นหนอนหนังสือประกอบกับมีโอกาสได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงของนักอ่านนักเขียน ทำให้เขาเริ่มมีงานเขียนตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมด้วยเรื่องสั้น ก่อนจะมีผลงานทั้ง นวนิยาย ความเรียง สารคดี รายงาน และบทความ ตามมาอีกมากมาย ในอดีตเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนอิสระ แต่ปัจจุบันอาจไม่ค่อยได้เห็นผลงานของเขามากนัก วันนี้เราจะมาคุยกันค่ะว่าเขายังคงเดินอยู่บนถนนสายวรรณกรรมนี้หรือเปล่า…

ปัจจุบันนี้ยังทำงานเขียนเป็นอาชีพหลักอยู่หรือเปล่าคะ
รายได้ยังคงมาจากการเขียนหนังสือครับ แต่อาจจะไม่ใช่จากงานวรรณกรรมหรือนิยายทั้งหมด มีงานเขียนบทหนังด้วย แต่ยังอยู่ในช่วงปรับปรุงของผู้กำกับ ส่วนใหญ่เวลาที่ใช้จะหมดไปกับการอ่านหนังสือ เพราะว่าต้องทำงานชิ้นหนึ่ง เป็นงานที่ค้างอยู่ในความคิดความรับผิดชอบสำหรับตัวเอง เพราะว่าผ่านประสบการณ์ทางนี้มาโดยตรง เป็นงานที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมประมาณช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเขียนเป็นนวนิยาย เลยต้องอ่านหนังสือค่อนข้างมาก เพื่อหาข้อเท็จจริง และต้องทำความเข้าใจกับเรื่องแต่ละเรื่อง ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เป็นปัญหาทางความคิดที่คาค้างอยู่ทั้งหลายให้กระจ่าง เลยต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ตอนนี้ก็ได้คำตอบเกือบหมดแล้ว วางโครงเรียบร้อยแล้ว รอจังหวะอยู่ พอกำลังจะเริ่มก็มีเรื่องสั้นแทรกเข้ามา เรื่องสั้นที่เขียนทุกวันนี้มักจะเป็นเรื่องที่ถูกขอให้เขียน เช่น มีเรื่องหนึ่งที่ไปรวมกับนักเขียนปักษ์ใต้ ชื่อเรื่อง "เพื่อนทะเลใต้" เป็นของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์รวมกับพวกกลุ่มนาคร

แล้วมีผลงานรวมเล่มของตัวเองออกมาบ้างมั้ย
ช่วงนี้ยังไม่มีครับ รอเรื่องนี้อยู่ อันที่จริงก็มีต้นฉบับอยู่ในมือพอสมควร เรื่องสั้นประมาณ 10 กว่าเรื่อง แต่อยากจะเขียนอีกสัก 5 เรื่องแล้วค่อยมาคัดรวมอีกที ผมยังไม่อยากไปคิดถึงตรงนั้น คืออยากจะเริ่มงานนวนิยายออกมาก่อนมากกว่า

ได้เขียนงานลงตามนิตยสารบ้างไหมคะ อย่างพวกบทความ
ไม่มีเหมือนกันครับ คือช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากทำงานประจำอยู่หลายปี แล้วก็เขียนหนังสือค่อนข้างมาก หมายความว่าเขียนไปทุกอย่างทุกเรื่อง เขียนตั้งแต่ข่าว วิเคราะห์ข่าว และคอลัมน์ต่าง ๆ อีกเยอะมาก รู้สึกเบื่อ คิดว่าน่าจะเลิกเขียนแล้วก็มาอ่าน หลังจากเขียนมาเยอะแล้วก็มาอ่านของคนอื่นดู อ่านงานที่เป็นวิชาการดูบ้าง การเขียนนวนิยาย บางทีก็ต้องอ่านงานวิทยานิพนธ์บ้าง มีอยู่บางเรื่องที่ทำเสนอมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แล้วแปลมาเป็นภาษาไทยก็ได้ข้อมูล ได้มุมมองอะไรใหม่ ๆ งานที่จะเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ต้องอ่านงานวิชาการในลักษณะนั้นเหมือนกัน

งานประจำที่สุดท้ายคือที่หนังสือพิมพ์คู่แข่งใช่ไหมคะ ออกมากี่ปีแล้ว
ออกมาตั้งแต่ปี 2540 ก็ 5ปี แล้วครับ

หลังจากนั้นก็อยู่บ้านอ่านหนังสือเขียนหนังสือหรือคะ
ครับ แต่มีนวนิยายออกมาเรื่องหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นผลจากการอ่านหนังสือนี่แหละครับ กลัวจะห่างจากคนอ่านหรือห่างจากวงการไปนานเลยเขียนออกมาเล่มหนึ่ง เรื่อง "ฝันทะลุแดด" เขียนเล่นสนุก ๆ เอาข้อมูลบางส่วนจากการอ่านหนังสือมาใช้

เป็นผลงานเล่มล่าสุดหรือคะ
ใช่ครับเป็นเล่มล่าสุด

ปัจจุบันได้ติดตามงานในแวดวงวรรณกรรมอยู่บ้างมั้ยคะ ได้อ่านงานที่ส่งประกวดซีไรท์บ้างหรือเปล่าแล้วเชียร์ใครเป็นพิเศษบ้างมั้ย
แทบไม่ได้อ่านงานวรรณกรรมเลยครับในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา จะอ่านงานเชิงวิชาการเป็นหลัก เพราะต้องค้นคว้าคิดว่ามันมีเสน่ห์เหมือนกันนะครับ จากเรื่องที่เราคิดว่ารู้แล้ว บางทีปรากฏว่ามันยังมีแง่มุมอื่นเข้ามาอีก แล้วก็ต้องเอามาเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ฉบับก่อน ทำให้ต้องใช้เวลามากในการอ่านและเปรียบเทียบ เลยไม่ได้อ่านงานวรรณกรรมมากนักจะตามได้แค่ข่าวเท่านั้นเอง ไม่ได้อ่านลึกลงไปในเนื้องานก็เลยไม่ได้เชียร์ใครเป็นพิเศษครับ

ในฐานะที่พี่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง คิดว่าในอนาคตจะส่งผลงานเข้าประกวดอีกมั้ยคะ
คือผมคิดว่าเป็นนักเขียนก็มีหน้าที่เขียน ส่วนสำนักพิมพ์เขาทำธุรกิจเพราะฉะนั้นอะไรที่ส่งเสริมการขายให้กับเขาได้ผมยอมหมดแหละ เพราะว่าหนังสือถ้าขายไม่ได้ไม่ใช่เงินจมอย่างเดียวนะ มันยังแย่งบ้านอยู่อีกด้วย กองพะเนินเทินทึกเลย แถมล่อปลวกมาอีก มันเป็นสินค้าที่ขายยากสำหรับประเทศไทย คิดว่าต้องส่งเสริมการขายทุกวิถีทาง ถ้าทางสำนักพิมพ์เขาคิดจะทำอะไรผมไม่ขัด แต่ถ้าให้ผมเสนอตัวไป ผมว่ามันเกินหน้าที่เหมือนกัน เกินหน้าที่คนเขียนหนังสือ ถ้าจะให้บอกว่าส่งผมประกวดสิ ผมมีหน้าที่คิดว่าจะทำอะไรให้มันดีหรือต้องหาข้อมูลข้อเท็จจริงหาอะไรมาเพิ่มคิดอะไรให้มากขึ้นเกี่ยวกับเนื้องาน คนละหน้าที่กันครับ

ได้อ่านงานของนักเขียนใหม่ ๆ บ้างหรือเปล่าคะ
ก็อ่าน แต่ไม่ได้ใหม่ถอดด้ามหรอกนะ อ่านงานของชาติ ของวัฒน์, กนกพงศ์, เดือนวาด, เอื้อ อัญชลี และก็อีกหลายคน อาจจะถือว่ารุ่นใหม่ได้ แต่ไม่เอี่ยม เพราะพวกนี้เขาก็มีผลงานออกมาเป็นเล่มแล้ว

แล้วใหม่เอี่ยมแบบปราบดา หยุ่น ล่ะคะ
ไม่ได้อ่านเลยครับ

มองนักเขียนรุ่นน้อง ๆ ในปัจจุบันนี้อย่างไรคะ ในด้านอุดมการณ์ และความคิด
คือสังคมมันเปลี่ยนไป มันซับซ้อนขึ้น หลากหลายขึ้น และมีแง่มุมมากขึ้น แล้วในสังคมปัจจุบันนี้มันไม่มีอุปสรรคในเรื่องสิทธิเสรีภาพ คนก็กระจัดกระจายต่างคนต่างคิดต่างคนต่างไป ค่อนข้างลำบากเหมือนกันในการที่จะพูดว่านักเขียนรุ่นใหม่ควรจะทำอะไรบ้าง แต่เอาเข้าจริง ๆ นักเขียนก็ยังต้องอยู่กับสังคมอยู่กับคนอยู่กับโลก เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีแต่ความฝันความเพ้อฝันหรือสิ่งที่มีแต่อารมณ์มีแต่การคร่ำครวญ มีแต่การเพ้อเจ้อก็ไม่น่าจะดี อาจจะทำได้แต่ว่ามันจะไม่มีน้ำหนักที่จะไปส่งผลอะไรกับคน และที่สำคัญคือที่ผมเป็นนักเขียนมาถึงวันนี้ผมเห็นว่าระหว่างคนเขียนกับคนอ่านมันห่างกันค่อนข้างมาก นักเขียนมุ่งจะเอาชนะบรรณาธิการกับนักวิจารณ์ หวังว่าให้คนพวกนั้นยอมรับ ให้คนพวกนั้นบอกว่าดีก็พอแล้ว แต่ว่าคนอ่านจริง ๆ เขาได้อะไรบ้าง บางทีเราไม่ได้คิดด้วยซ้ำไป คนอ่านบางทียังต้องไปอาศัยดูละครช่อง 7 สี

ในสังคมอาจจะซับซ้อนหลอกลวง แต่มันก็มีข้อเท็จจริงที่ว่ามันมีความจนจริง ๆ มีคนจนจริง ๆ มีการเอารัดเอาเปรียบกันจริง ๆ เพราะฉะนั้นมันมีความหลากหลาย นักเขียนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่าต้องมีความหนักแน่น ต้องหนักแน่นในสาระบ้าง

ในฐานะที่ผ่านงานเขียนมาค่อนข้างหลากหลายลองให้คำจำกัดความคำว่า "นักเขียน" ในทัศนะของพี่หน่อยค่ะ
นักเขียนก็คือคนที่เล่าเรื่อง เป็นนักเล่าเรื่องผ่านภาษา เรื่องที่เล่าคือเรื่องที่ต้องพลิกรู้และรับรู้ได้ถึงความรู้สึก ตรงนี้จะยืนยันได้ว่าเสแสร้งหรือไม่ คือบางทีคุณเขียนถึงคนที่น่าสงสารแต่คุณไม่ได้รู้สึกสงสารเลยในความเป็นจริงของคุณ คือคุณไม่รู้สึกด้วย นั่นคือลักษณะเสแสร้ง แล้วคุณจะเขียนอะไร ถ้าเขียนถึงขั้นวรรณกรรม ยกตัวอย่างคำพูดของพี่คำสิงห์ที่ว่า "วรรณกรรมคือศิลปการเล่าเรื่องมนุษย์กับชะตากรรม" เพราะฉะนั้นนักเขียนคืออะไร นักเขียนคือคนที่เข้าใจมนุษย์ คนที่รู้จักมนุษย์จริง ๆ เข้าใจและรู้จักมนุษย์ เข้าใจและรู้จักชะตากรรม ชะตากรรมเกี่ยวกับอะไรบ้าง ชะตากรรมบางทีไม่ใช่แค่กรรมทางพุทธศาสนาอย่างเดียว คือนักเขียนต้องเข้าใจในภาวะอย่างนั้นด้วย ภาวะที่รู้จักโลกรู้จักชีวิต แต่ว่าการนำเสนอก็เป็นศิลปอย่างหนึ่งที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นนักเขียนคือคนเล่าเรื่องที่ต้องเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ ต้องเข้าใจในชีวิตถึงจะนำเสนอออกมาได้สมจริง

ฟังจากที่คุยมาคิดว่างานเขียนหนังสือคืองานที่ถนัดที่สุดมากกว่าการเป็นบรรณาธิการ นักข่าวหรืองานอื่น ๆ ใช่ไหมคะ
คือมันเป็นนิสัย ผมไม่แน่ใจว่าผมทำงานเขียนได้ดีหรือว่าชอบมันมากที่สุด เพียงแต่ว่ามันเป็นนิสัยอย่างหนึ่งเท่านั้น การไปนั่งพิจารณางานของคนอื่น มันขัดกับนิสัย เลยไม่รู้สึกอยากทำ การต้องไปแนะนำคืออาจจะคุยกันได้แต่ว่าถ้าต้องไปชักนำอย่างนี้ไม่ได้ต้องอย่างนี้ ๆ บางทีเราไม่ชอบที่จะต้องเข้าไปในชีวิตใคร แต่ถ้าพูดว่ามันเป็นหน้าที่แล้วก็ทำได้นะ แต่ว่างานอย่างนี้(เขียนหนังสือ)มันไม่ต้องยุ่งกับใคร คือเราทำของเรา ทำตามใจ ตามความคิดและตามความรู้สึก เราทำได้แต่ว่าผลงานมันออกมาอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สรุปว่าเป็นนิสัยอย่างหนึ่ง แต่ถ้าถามว่ายังอยากทำอย่างอื่นอีกไหม ตอนนี้ก็ยังทำเพลงอยู่นะ เพลงที่คาราบาวเอาไปอัดก็มี เพลงลูกทุ่งที่อาภาพร นครสวรรค์ร้องก็มี ในอัลบั้ม "รักหนุ่มเมืองตรัง"ต้องไปฟังกัน ทำไปก็สนุกดีมันยังเป็นงานที่เกี่ยวพันกับการเขียนเหมือนกัน บางครั้งก็มีโอกาสไปร้องเพลงบ้าง เพราะว่าผมเป็นนักดนตรีเก่า

ค่ะ สมัยอยู่วง "โคมฉาย" พี่เล่นตำแหน่งอะไร ร้องนำหรือเปล่า
ผมเป็นคนเขียนเพลงและก็ร้องด้วย แต่เพลงที่ตัวเองเขียนคนอื่นมักจะเอาไปร้อง ส่วนตัวผมมักจะไปร้องเพลงของคนอื่นเหมือนกัน…

นามปากกา "ศิลา โคมฉาย" นี้ได้มาอย่างไรคะ ใช้มาตลอดเลยใช่ไหม
ตอนเริ่มต้นผมใช้ชื่อจริงนะ "วินัย บุญช่วย" นี่แหละ แต่ว่าพอหลัง 6 ตุลา กลับมาจากป่า ก็เขียนเรื่องสั้นมาจำนวนหนึ่ง 6-7 เรื่อง เอาไปทิ้งไว้ที่มติชน เอาไปฝากพี่เถียร (เสถียร จันทิมาธร) ไว้ พี่เถียรก็เอาไปลงหนังสือ "เฟื่องนคร" เนื่องจากไม่มีนามปากกา พี่เถียรก็ใส่ชื่อนี้เข้าไป แต่ถ้าถามว่ามีนามปากกาอื่นอีกมั้ย ก็มี แต่ไม่ได้ใช้บ่อยหรือมากนัก คือใช้ตามความจำเป็นจริง ๆ เนื่องจากว่าในช่วงที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ ต้องเขียนงานหลายรูปแบบ ตั้งแต่งานวิจารณ์กีฬา วิจารณ์เพลง วิจารณ์หนัง คราวนี้ถ้าจะใช้นามปากกาเดียวก็ตาย ทั้งเล่มกลายเป็นรวมเรื่องของคนคนเดียว บางทีนักเขียนขาดต้องเขียนแทนเขาได้ทุกส่วน เคยเขียนคอลัมน์ตกแต่งบ้านด้วยซ้ำไป จัดสวนก็เคย แต่ว่างานพวกนั้นไม่ใช่นามปากกาที่ใช้เป็นประจำ ปัจจุบันผมก็ไม่ได้เขียนงานมากแล้ว ก็เลยไม่ได้ใช้อีก

มีนักเขียนในดวงใจบ้างมั้ยคะ
ชอบเยอะแยะไปหมดเลย แต่อาจจะไม่ได้ชอบงานเขาทุกชิ้นนะชอบเป็นบางชิ้นเท่านั้น ผมจะชอบงานของทางเยอรมันกับฝรั่งเศสมากกว่า จะไม่ค่อยได้อ่านงานของฝั่งอเมริกาเสียเท่าไหร่ ตัวนักเขียนที่ชอบก็มี อัลแบรต์ กามูส์ หลู่ซิ่น ของจีน หรือ ลีโอ ตอลสตอย คาลิล ยิบรานก็ชอบ ของไทยก็มีหลายคนอย่าง ลาว คำหอม ศรีบูรพา นิคม รายยวา และก็อีกหลาย ๆ คนด้วย

ถ้ามีเวลาว่าง ส่วนใหญ่มักจะไปท่องเที่ยวที่ไหนเป็นพิเศษบ้างคะ
เนื่องจากมีแวดวงพักพวกเพื่อนฝูงที่อยู่ด้วยกันมานาน คือเล่นดนตรีกันมา ตอนนี้ก็เริ่มตั้งหลักตั้งฐานกันได้แล้วบางคนอย่างคุณพงศ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือน้าหมูของเรา เขาก็ไปมีไร่อยู่ปากช่อง ที่เขาใหญ่โน่น เราก็ไปกันเกือบทุกเดือน เพราะว่าหนึ่งอายุมากแล้วเราก็เหงาเขาก็เหงา อีกคนก็พี่ตี้ กรรมาชน เขามีบ้านอยู่สิงห์บุรี อยู่กลางทุ่ง ไปสร้างบ้านเรือนไทยไว้ ก็ออกไปเที่ยวทางนี้ค่อนข้างบ่อย ส่วนใหญ่จะเที่ยวพักผ่อนตามบ้านเพื่อนแบบนี้ไม่ได้ไปตามสถานที่ท่องเที่ยวหรอก บางทีก็ได้แวะพักคุยกับชาวบ้านละแวกที่ไปด้วย เป็นการได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดกัน จะชอบพักผ่อนในลักษณะอย่างนี้มากกว่า…

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ