ปุ๊ กรุงเกษม : กับผลงาน "เดินอย่างปุ๊"

ปุ๊ กรุงเกษม

ช่วงสายของวันที่ 12 มิถุนายน มีนัดสัมภาษณ์บรรเจิด กฤษณยุทธ หรือ "ปุ๊ กรุงเกษม" ที่บ้านย่านลาดพร้าว ใกล้เวลานัดหมายเข้ามาทุกที ความที่ไม่คุ้นกับเส้นทางก็เลยโทรเข้าไปถาม พี่เขาก็ช่างใจดีบอกให้คอยอยู่ตรงนั้นเดี๋ยวจะเอารถออกไปรับ สร้างความรู้สึกประทับใจก่อนที่จะพบหน้า ได้เป็นอย่างมาก

หลายคนอาจเคยเห็นเขาในบทบาทของ นักธุรกิจ , สจ๊วต และบทบาทใหม่ของหนุ่มใหญ่หนวดงามกับการเป็นนักเขียนที่นำประสบการณ์ชีวิตวัยรุ่นในช่วง พ.ศ.2499 ยุคที่ จิตใจเป็นเอลวิส ความคิดเป็นเจมส์ดีน "ถือเป็นคำที่สมจริงกับวัยรุ่นยุคนั้น เพราะในกลุ่มของเรามีเอลวิสกับเจมส์ดีนมากกว่าดาราคนอื่นในความคิด มีมาดของเจมส์ดีน ท่าทางของเอลวิส มีอารมณ์เพลงเยอะ แต่ก็ไม่ได้เป็นเฉพาะกลุ่มเรา คล้ายกับเป็นการตอบรับกระแสจากอเมริกา หล่อหลอมให้เป็นอย่างนั้นไปโดยธรรมชาติ"

กับผลงาน "เดินอย่างปุ๊" การทำงานครั้งแรกบนถนนสายนักเขียน พี่ปุ๊พูดถึงขั้นตอนของการทำงานนี้ว่า "ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนในชีวิต ก็เขียนไปแก้ไป ไม่ได้นึกวางโครงเรื่องมากมายหรือเป็นพิธีรีตอง แต่นึกว่าจะเริ่มยังไง ช่วงวัยไหน สมมุติว่าเริ่มตั้งแต่ ป.4 มันก็ไม่น่าสนใจ ก็คิดว่ามาเริ่มต้นจากช่วงวัยรุ่นดีกว่า เพราะเป็นช่วงที่มีพยานหลักฐานคนข้างเคียง มีเพื่อนฝูงที่จะเล่าถึงและยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริง มันก็ง่าย เพราะเขียนแต่เรื่องตัวเอง แต่เน้นว่าต้องจำแต่เรื่องจริงออกมาเขียน ไม่ได้เอามาแต่งเติมอะไรอย่างของพี่จะมีตัวตนมีรูปถ่ายมายืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ก็มีอีกหลายเรื่องมานึกได้ตอนที่หนังสือออกมาแล้ว นอกจากว่าจะเอามาเขียนใหม่ถ้าเป็นไปได้ แล้วก็ลำดับเหตุการณ์ว่าทำไมถึงมาเดินเป็นจิ๊กโก๋ก็ค่อยๆ นึก แต่ว่าจะให้แม่นยำค่อนข้างยาก มันต้องคิดนึกย้อนหลัง แล้วก็หมั่นเช็คดูกับเพื่อนฝูงบางคนที่จำแม่นกว่าเราก็ได้มาอย่างที่เห็นกว่าจะออกมาเป็นเล่ม ใช้เวลาเขียนประมาณ 4 เดือน ก็ถือว่าคงไม่นานเท่าไหร่"

แม้ว่าที่ผ่านมามีการนำเรื่องราวของ แดงไบเล่ มาเสนอทั้งหนังสือและภาพยนตร์ ซึ่งในช่วงนั้นพี่ปุ๊และเพื่อนก็ได้ออกมาท้วงส่วนของเนื้อเรื่องว่าจะทำให้คนดูเข้าใจบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้พี่ปุ๊เขียนหนังสือว่า

"เด็กรุ่นหลังจะไม่มีทางรู้ว่า พ.ศ. 2499 เป็นเรื่องของพี่ แต่ในหนังสือและในหนังบอกว่าเป็นเรื่องของ ปุ๊ ระเบิดขวด อย่างเหตุการณ์ตีกันที่ 13 ห้าง หรือตีกันในงานเจมส์ดีนรำลึก มันเป็นเรื่องของพี่ทั้งหมด ไม่ได้มีปุ๊ระเบิดขวดเข้ามายุ่ง หรืออย่างที่บอกว่าแดงไบเล่แทงคนตั้งแต่อายุ 13 ขวบนั่นก็ไม่ใช่ และที่บอกว่าแม่ของแดงไบเล่เป็นโสเภณี แต่เรื่องจริงแม่เขาทำงานบ้านในบ้านของโสเภณีเท่านั้น ในหนังเขาทำเอามัน สร้างเรื่องผิดพลาดจนมันกลายเป็นชีวิตของมาเฟียไป มีคนสนใจดูเยอะ แต่ในข้อเท็จจริงเป็นเท็จทั้งหมด ซี่งตอนนั้นพี่และเพื่อนก็ออกมาท้วงแล้ว หลายปีเข้ามีเวลาว่างมีคนกระตุ้นอยากให้พี่เขียน ก็เลยมาเขียนเรื่องนี้ก็ออกมาอย่างที่เห็น ถ้านายสุริยันได้อ่านเล่มนี้เขาจะเสียใจ ถ้าตอนนั้นเขาบอกว่าเขาเป็นเรื่องที่เขาแต่งไม่เป็นไร แต่นี่เขาบอกว่าเขาเป็นเพื่อนแดงไบเล่ หายใจรดต้นคอกัน คือคนเขียนเขาไม่รู้จักปุ๊กรุงเกษม ปุ๊ระเบิดขวด แดงไบเล่ แต่ว่าเขาอยากจะเป็น เป็นได้นะคนเราบางทีมันจินตนาการ แท้จริงเขาไม่รู้เรื่องจริงทั้งหมด พอแว่วอะไรมา เขาก็เขียนเป็นว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผลักดันให้เริ่มเขียน" ใครที่ได้อ่านเล่มนี้แล้วชื่นชอบ พี่ปุ๊ยืนยันว่าจะมีผลงานของเขาออกมาอีกอย่างแน่นอน

เมื่อถามถึง "จิตใจเป็นเอลวิส ความคิดเป็นเจมส์ดีน" ถือเป็นคำที่สมจริงกับวัยรุ่นยุคนั้น เพราะในกลุ่มของเรามีเอลวิสกับเจมส์ดีนมากกว่าดาราคนอื่นในความคิด มีมาดของเจมส์ดีน ท่าทางของเอลวิส มีอารมณ์เพลงเยอะ แต่ก็ไม่ได้เป็นเฉพาะกลุ่มเรา คล้ายกับเป็นการตอบรับกระแสจากอเมริกา หล่อหลอมให้เป็นอย่างนั้นไปโดยธรรมชาติ ถึงแม้เป็นภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นปัญหา เราสนใจแต่เพลงเรียนรู้ วัดธรรมดา แต่ว่าเราอยากจะกระดิก เราดูหนังว่าเขาพูดอะไร OK ,Alright ,Hello ก็ค่อยๆ เริ่มทีละคำสองคำ จากคำสั้นๆ แล้วมาเป็นคำยาวๆ ก็มาเปิดดิคดูว่าเป็นยังไง"

จากกระแสตอบรับที่ได้จากหนังสือเล่มแรกอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ตอนนี้พี่ปุ๊เริ่มทำเล่มสองแล้ว

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ