องอาจ จิระอร : เจ้าของนามปากกา "การะเกด" นักวิจารณ์หนัง และนักเขียนสารคดี "ท่องบนถนนโลก"

องอาจ จิระอร

ที่มาของการเป็น "คนเขียนหนังสือ" หรือ "นักเขียน" สิ่งหนึ่งที่เหมือน ๆกัน คือการเริ่มต้นจากการเป็น "นักอ่าน" อ่านในทุก ๆเรื่องที่ชอบ และอยากอ่าน

เช่นเดียวกับ นักเขียนหนุ่ม "องอาจ จิระอร" เจ้าของนามปากกา "การะเกด" นักวิจารณ์หนัง และนักเขียนสารคดี "ท่องบนถนนโลก" ผู้มีอารมณ์สุนทรีย์ ในทุก ๆย่างก้าวของการดำเนินชีวิต หัวใจของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก และมีชีวิตที่ผูกพันกับการอ่านหนังสือทุกประเภท ทุกแนว มาตั้งแต่เยาวัย เขามักกล่าวเสมอว่า "มีแต่การอ่านเท่านั้น ที่คนเราจะใช้หัวใจในการรับรู้และรับฟัง" และจากรากฐานของการอ่านนี้เองที่นำพาให้เขาเข้ามาสู่ป่าแห่งอักษร…

" ผมเริ่มต้นทำงานหนังสือครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ มาสมัครเป็นพนักงานฝ่ายศิลป์โฆษณา เพราะตอนนั้นผมจบเพาะช่างเรียนศิลปะมา แต่ด้วยความที่ผมอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก พอได้มาเจอคนที่เราเคยอ่านงานของเขา อย่างเช่น คุณอัศศิริ ธรรมโชติ ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยด้วย ตรงนั้นทำให้เราอย่างเขียนหนังสือ แต่ก็แค่คิดอยากเท่านั้น จุดเริ่มที่ทำให้ผมมีโอกาสได้เขียนคือ - วันหนึ่ง มันมีปัญหาเรื่องการขึ้นภาษีหนังต่างประเทศเข้ามา ก็มีนโยบายเรื่องให้คนไทยมาช่วยอุดหนุนหนังไทย ซึ่งหนังไทยยุคนั้นมันก็ไม่น่าสนใจเท่าไร จึงเกิดประเด็นขึ้นมา ทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐก็ให้คนเขียนมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็เขียนวิจารณ์ไป 3 หน้ากระดาษ ส่งให้พี่อัศศิริอ่าน บอกพี่ผมอยากเขียน สองวันต่อมาหนังสือออก ผมก็เห็นงานที่เขียนปรากฎอยู่ประมาณท่อนหนึ่ง แค่นั้นแหละโอโห ! รู้สึกดีใจ คิดว่าจะจบตรงนั้นแล้วนะ ก็คิดว่าจะทำงานของเราต่อไป วันหนึ่งผมเดินสวนกับคุณอัศศิริตรงบันได คุณอัศศิริบอกกับผมว่า "เขียนดีนะ วันหลังเขียนมาอีก คราวที่แล้วตัดสั้นเพราะเนื้อที่ไม่พอ เราต้องการความคิดเห็นที่หลากหลาย" คำพูดประโยคเดียวแค่นั้นแหละชีวิตผมกับการทำงานหนังสือก็มาจนถึง ณ วันนี้

ผมเริ่มเขียนใหญ่เลยคราวนี้ พอเขียนมาก ๆเข้า ความคิดต่าง ๆ ในเรื่องของการจับประเด็น มุมมองเข้ามาโดยที่เราไม่รู้หรอก และช่วงนั้นผมได้ครูที่ดีด้วย คือการได้มีโอกาสได้นั่งฟังคนที่มีความรู้นั่งคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณอัศศิริ ธรรมโชติ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เหมือนเราเรียนมหาวิทยาลัยเลยนะ เราได้เรียนรู้วิถีคิดในสิ่งที่เขาพูด วันหนึ่งพี่สุจิตต์พูดกับผมว่า "เฮ้ย ! มึงใช้ชื่อนี้หรือ เขียนเรื่อง " ตอนนั้นผมใช้นามปากกาว่า "ศิริเพ็ญพงษ์" ผมก็บอก "ครับพี่" รู้สึกว่าผู้ใหญ่เขาอ่านงานเรานะ แล้วพี่จิดต์ก็พูดขึ้นมาว่า "ถ้ากูทำหนังสือพิมพ์มึงจะไปทำด้วยไหม" วันหนึ่งแก่ก็มาบอกว่าจะทำหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ผมก็ไปเลย ทำอยู่ได้พักหนึ่ง ระหว่างนั้นบริษัทอมรินทร์ฯ เปิดหนังสือแพรว เปิดมาได้ 3 ปี ผมเปิดอ่านเห็นว่ายังไม่มีเรื่องหนัง ผมจึงเขียนวิจารณ์หนังส่งไปลง ผมเขียนแปะหน้าไปด้วยว่า - เห็นว่ายังไม่มีคอลัมน์วิจารณ์หนังเลยส่งมาให้พิจารณา... ก็ได้ลง ใช้นามปากกาว่า "การะเกด" ที่แพรวเป็นที่แรก เขียนส่งได้ไม่ถึงปี ทางสำนักพิมพ์ก็โทรมาหาถามว่าจะสนใจทำงานที่นี่ไหม เพราะเขาจะเปิดนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ ผมก็มาเลย แล้วก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้ "

ปัจจุบันคุณองอาจ จิระอร ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเอนเตอร์เทน เขียนคอลัมน์ถนนสายมายา วิจารณ์หนังลงในนิตยสารแพรว ไปพร้อม ๆกับเขียนสารคดีท่องเที่ยวให้นักอ่านได้อ่านกันบ้าง ปละปลาย แม้งานเขียนรวมเล่มจะออกมาน้อยเพียงไม่กี่เล่ม แต่เขาก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่เขียนหนังสือทุกวัน " เพราะว่าเราอ่านหนังสือ อาจเป็นเพราะในยุคที่ผมเติบโตขึ้นมาสื่ออื่น ๆ น้อย สื่อหนังสือจะเยอะสุด ซึ่งมันต่างจากปัจจุบันที่มีสื่ออื่นเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากกว่าหนังสือ เช่นอินเตอร์เนท คือสื่อสมัยใหม่ต้องยอมรับว่าเร็วและไว แต่ในความไวนั้นมันขาดอะไรละ - มันก็ขาดความละเอียดอ่อน เรานั่งรถไปเร็ว ๆเราก็มองรายทางไปชัดหรอก เพราะยิ่งเร็วเท่าไร เราก็ต้องมองจุดหมายข้างหน้าอย่างเดียว แต่ถามว่าจุดหมายนั้นมันคือคำตอบของการมีชีวิตหรือเปล่า ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด เมื่อเราโตมาจาการอ่านเราก็มีรากฐานทั้งในเรื่องของภาษา วิธีการคิด เมื่อเราเข้ามาทำงานหนังสือ ยิ่งทำให้เราต้องอ่านมากขึ้น โดยเงื่อนไขของการทำงานหนังสือ คุณทำงานหนังสือ คุณไม่อ่านไม่ได้หรอก สิ่งที่เราได้จากการอ่านคือการคิด การจินตนาการ การอ่านทำให้เราเกิดจินตนาการ ซึ่งจินตนาการตัวนี้นี่แหละ ที่ทำให้เรามองอะไรต่างจากคนอื่น ๆ และไม่ว่าจะมองอะไรมันทำให้คุณต้องอ่านสิ่งนั้น ๆ คุณมองถนนสายหนึ่งคุณก็ต้องอ่านถนนสายนั้น คุณมองตึกหลังหนึ่งคุณก็ต้องอ่านตึกหลังนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจจะปฎิเสธได้เลยคือ ประสบการณ์มีส่วนสำคัญมากในการที่จะหลอมใครสักคนขึ้นมา เหมือนกับว่าการที่ผมทำงานหนังสือมาตั้ง 20-30 ปี แต่มีผลงานรวมเล่มเพียง 2 เล่มเท่านั้น การรวมเล่มมันใช่คำตอบหรือเครื่องมือที่แสดงว่าคุณเป็นนักเขียนหรือเปล่า ผมว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่สำคัญคือคุณได้เขียนหนังสือทุกวันหรือเปล่า นั้นแหละคือคุณเป็นนักเขียน คือสิ่งที่สำคัญกว่าเพราะมันทำให้คุณได้คิดทุกวัน ดีกว่าที่จะมุ่งแต่เพียงผลงานที่จะรวมเล่มออกมา ตายแล้ว! อย่างนี้นักหนังสือพิมพ์บ้านเราตั้งเยอะ คนที่เป็นคอลัมนิสบ้านเราก็ตั้งมากมาย เพราะการเขียนแต่ละครั้งคือการคิด ถ้าเราไม่คิดกับตัวงานแต่ไปคิดกับผลของมันที่จะได้ออก อย่างนั้นไม่เรียกว่าคุณเป็นนักเขียน แต่ถ้าคุณคิดว่าทำให้มันดีที่สุด คิดกับงานเขียนอยู่เรื่อย ๆ แล้วมันก็จะหลอมตัวเรา ให้มองอะไรมากกว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้า ตรงนี้ต่างหากที่ผมเรียกว่า "นักเขียน"

สำหรับวิธีคิด และมุมมองในการเขียนหนังสือที่เป็นเสน่ห์ในงานเขียนของคุณการะเกด ในการเขียนสารคดีให้เป็นเรื่องสั้น คุณการะเกดบอกเล่าให้ฟังว่า....

" สิ่งที่สำคัญก็คือราก การที่เราจะรู้เรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งไม่ใช่รู้ในสิ่งที่เห็น เพราะถ้าเราไม่รู้ราก เราก็จะได้แต่เปลือกมา มันง่ายมากเลยถ้าเราจะเขียนในสิ่งที่เห็น แล้วนำสิ่งที่เห็นถ่ายทอดออกมาให้เป็นคำ แต่มันจะดารไง แต่ถ้าเราสามารถคิดกับงานให้เบ็ดเสร็จเสียก่อน แล้วเรานำสิ่งที่ผ่านการคิด การสังเคราะห์ มาเล่า แต่วิธีการเล่ามันก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ถ้าเราเล่า เราจะเล่าอย่างไร ให้คนอ่านไม่ได้เห็นในสิ่งที่เราบอกแค่นั้น แต่เขาสามารถที่จะคิดต่อไปได้ว่าที่เราเขียนออกมาเช่นนี้ เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ซึ่งคำว่าเป็นอย่างนี้เพราะอะไรเราอาจจะไม่ต้องเขียนแต่ถ้าเราคิดกับมันได้ หรือเพียงคำไม่กี่คำจะบอกเอง ซึ่งคนอ่านไม่ควรจะจบแค่สิ่งที่เราบอก แต่เขาอ่านแล้วมันน่าจะเกิดประโยชน์ได้อีก ไม่เช่นนั้นหนังสือก็จะไม่สร้างคน

ผมคิดกับสิ่งที่ผมเห็น บางครั้งในขณะที่อยู่ ณ สถานที่นั้น ผมอาจไม่ได้คิด แต่เมื่อเรากลับมาและเรารู้ว่าเราจะต้องทำงาน ภาพความคิดมันก็ออกมา มันอาจจะเป็นลักษณะของคนทำงานด้านนี้นะ ไม่ใช่เฉพาะตัวเอง เมื่อเห็นภาพมาแล้วเราจะเล่าเรื่องอย่างไร ถ้าเราเล่าสิ่งที่เห็น แน่นอนจะต้องมีความเห็นของเราลงไปด้วยเสมอ ๆมากน้อยอันนี้ก็แล้วแต่ - แต่สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนที่เขาอ่าน เขารู้สึกไปกับเราด้วย ผมใช้คำ ๆหนึ่งเสมือว่ามีเพียงการอ่านเท่านั้น ที่เรารับรู้ได้ด้วยหัวใจ มันก็เหมือนกับการดูหนังเราก็เห็นว่ามันสวย หรือเหมือนกับการดูภาพ มันเป็นการสื่อด้านเดียว แต่ถ้าเราเปลี่ยนพื้นที่ของภาพให้เป็นพื้นที่ของคำ เราจะทำอย่างไรที่จะคงสิ่งที่เห็นนั้นไว้ให้ได้ด้วยตัวอักษร ซึ่งแต่ละคนที่อ่านเขาก็จะคิดไปในพื้นฐานของประสบการณ์ของตัวของเขาแต่ละคน แต่จะทำอย่างไรต่างหากหละที่จะให้คนอ่านพันคน หมื่นคน เห็นภาพเดียวกับที่เราเห็นตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาก็คือเขาเชื่อในตัวเราด้วยหรือเปล่า ตั้งแต่อักษรตัวแรกที่เขาเปิดอ่าน ถ้าเขาเชื่อ หรือเราทำให้เขาสนใจที่จะติดตามได้ เรากับคนอ่านก็จะเห็นภาพเดียวกัน

ส่วนวิธีคิด สิ่งแรกคือต้องมีความสนใจในสิ่งที่เราสัมผัสก่อน ซึ่งก็คือการคิดนั้นแหละ วิธีการอย่างนี่มันเป็นวิธีการทำงานของผมมานานแล้ว เราทำหนังสือพิมพ์ สิ่งนี้สอนให้คิดในเรื่องของการจับประเด็น เช่นเดียวกับการที่เราสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะสามารถแยกแยะประเด็นทางความคิดว่าเราจะนำเสนออะไร

สมมุติว่าเราไปถนนสายซองการิเซ่ คนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์อาจจะมองในแง่ของทุนกำไร คนที่เป็นนักช๊อปฯ ก็อาจมองว่ามันมีอะไรที่น่าซื้อบ้าง สำหรับผมมองว่ามีใครบ้างและคนเหล่านั้นเขามาทำอะไร ซึ่งผมมองว่าอยู่ที่พื้นฐานความคิดของแต่ละคนที่จะเป็นตัวกำหนดมุมมองว่าจะมองในสิ่งที่เห็นสิ่งเดียวกัน แต่มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แต่การมองของผม ผมจะไม่ใช่มองเห็นเพียงแค่คน แต่เราต้องสภาพแวดล้อมและวิธีคิดของเขาด้วย ว่าเขาเป็นเช่นนี้เพราะอะไร สภาพแวดล้อม จารีตประเพณี อาหารการกิน เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเขาหรือเปล่า ซึ่งทุกอย่างในโลกมันจะรวมให้เกิดพฤติกรรมของสังคม ณ เวลานั้น ๆ

มุมมองความคิดตรงนี้ผมก็ได้มาจากครูบาอาจารย์ อย่างคุณอัศศิริ ธรรมโชติ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งผู้คนเหล่านี้เราได้สัมผัสเขามานานเป็น 20 - 30 ปี ซึ่งเขาเล่า เขาคิด เขาเขียน กับงานเก่า ๆที่เราอ่าน คือเราอ่าน เราต้องเข้าใจ ไม่ใช่อ่านแล้วได้แต่เพียงว่าเขาเขียนอะไร แต่เราต้องมองให้ออกว่าเขาคิดอะไร ไม่ใช่เป็นการลอกนะ แต่เป็นการซึมซับ หรือย้ำให้เรารู้ว่าเราต้องคิดกับมันนะ คิดในความเป็นตัวเรา คือให้เราว่ารู้ว่าเราต้องคิดกับมันนะ เหมือนกับเรานำหลายสิ่ง หลายอย่างในโลกรวมเป็นตัวเราได้ มาตะแกรง ตะกอนให้เป็นเรา คงไม่มีใครคิดอะไรใหม่สุดยอดมากมาย แต่การคิดอะไรใหม่มักจะมีฐานมาจากของเก่าเสมอ ๆ ซึ่งงานของผมก็เชื่อว่าจะมีผลต่อคนรุ่นหลัง ที่จะต้องมีการพัฒนากันต่อไป

ที่สำคัญอย่าเก่งกว่าคนอ่าน ถือหลักเลยว่าอย่ารู้มากกว่าคนอ่าน เพราะผมเชื่อว่าคนอ่านรู้มากกว่าเราอีก เพียงแต่เขาไม่ได้พูดออกมาเท่านั้น เราต้องเขียนให้คนอ่านรู้สึกว่าเขาได้พูดคุยกับเรา เราต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอ่าน ไม่ว่าจะเขียนสารคดี หรือวิจารณ์หนัง สิ่งที่ผมต้องการคือการพาคนอ่านท่องไปบนโลกหนังสือด้วยกันกับเรา

นั้นจะเห็นว่าผมจะมีตัวละครเป็นตัวดำเนินเรื่องในงานเขียนของผมทุกเรื่อง คนที่เราเห็นอาจจะเห็นเพียงแค่แว๊บเดียว แต่เราประทับใจเขา เมื่อเวลาผ่านมา เรามีโอกาสได้มาที่นี่อีก อาจทำให้เราคิดถึงคนนั้นคนนี้ คงไม่มีใครหรอกที่ไม่มีความทรงจำ และผมก็เชื่อว่าความทรงจำเป็นกับดักประเภทหนึ่งของชีวิต เวลาทำให้ความจริงกลายเป็นความทรงจำ แล้วความทรงจำก็คือกับดักของชีวิต การที่เราใส่ตัวละครเข้าไปในงานเขียนก็เพื่อให้มันมีชีวิต เพื่อจะทำให้คนอ่านรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องของเราแล้วนะ เราเพียงแค่เห็นแล้วนำมาเล่า ผ่านบุคคล เราต้องทำให้มีความแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นทำ ผมไม่ได้คิดว่านี่เป็นเสน่ห์ในงานเขียนของผม แต่เป็นสิ่งที่ผมทำแล้วสนุกมากกว่า แล้วที่สำคัญมันทำให้เราได้คิดถึงใครอีกตั้งหลายคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะถ้าที่ไหนไม่มีคน มันก็แห้งแล้งนะ

อย่างที่ผมกำลังเขียนเรื่องใหม่อยู่ "เงาจันทร์บนธารเลือด" ผมพูดถึงตุรกี ไปเมือง ๆหนึ่งที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ บูตุสแทงซีซ่าร์ตาย แล้วมาหลบอยู่ พอมาถึงถนนเส้นนี้มันยังมีซากประวัติศาสตร์ให้เราได้เห็น ถนนที่ปูไปด้วยหินอ่อน ผมไปตอนกลางวัน อากาศร้อนมาก แต่ทำไมเรากลับไปคิดถึงช่วงเวลากลางคืน พระจันทร์เต็มดวง ขึ้นเหนือหลังเขาแล้วมันก็สะท้อนให้ถนนที่เป็นหินอ่อนเย็นเชียบ เห็นเสาของอาคารมากมาย ผมเห็นคนมากมาย และหนึ่งในจำคนมากมายก็จะมีคนที่หลบ ๆซ่อน ๆ อยู่ อย่างมาร์คแอนโทนี่ไปปล้นห้องสมุด เพื่อนำหนังสือสองแสนเล่มมาให้คลีโอพัตรา ถามว่า - คนที่ให้ความรักเป็นหนังสืออย่างนี้ ถึงจะเป็นทรราชก็ตามที แต่เขายังมีแง่งามของชีวิต ทำไมเราถึงเห็นมนุษย์ตั้งมากมายเพราะเรามีรากกับประวัติศาสตร์อารยธรรมโรมัน ผมเรียนศิลปะ อ่านหนังสือ ดูหนัง ผมนำสิ่งเหล่านี้มาเล่า จึงทำให้เรื่องที่ผมเขียนมี สีสัน

เพราะฉะนั้นแง่มุมของผมที่นำมาเล่า จึงมีทั้งความสุข ความเศร้า เพราะมันเป็นชีวิต ที่สุดของมนุษย์ก็ต้องจาก ต้องตาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่จะตัดสินว่างานผมเป็นอย่างไร ก็คงขึ้นอยู่ที่คนอ่าน จะอย่างไร ก็ตามในสารคดีมันต้องมีชีวิต "

ในทุก ๆช่วงชีวิตของ องอาจ จิระอร หรือ การะเกด คือการทำงานไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง อ่านหนังสือ หรือการเดินทาง เพราะถนนทุกสายที่เขาย่างเยียบ ผู้ชายคนนี้สามารถหยิบยกรายละเอียดมาบอกเล่าได้อย่างมีอารมณ์ มีเลือดเนื้อ ที่เต้นเร้าผ่านตัวอักษรได้อย่างมีชีวิต....ซึ่งก็คงต้องรอผลงานชิ้นต่อไปที่จะวางแผงให้นักอ่านได้เพลินเพลิดกับทุก ๆชีวิต ที่การะเกด จะเป็นผู้นำพาไปให้คนอ่านได้คิดกันต่อ....

ผมทำงานได้ทุกทีทุกเวลาไม่จำกัดว่าต้องเป็นที่ไหน ยิ่งถูกเร่งมาก ๆยิ่งเขียนได้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ