สุทธิพงษ์ สุริยะ : นักเดินทางเพื่อสร้างศิลปะการปรุงอาหาร

สุทธิพงษ์ สุริยะ

ภาพศิลปะผืนใหญ่ที่อยู่ในความทรงจำของคุณขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ คือภาพเด็กชายตัวเล็ก ๆที่มีแววตาเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนอกสนใจใคร่รู้ในสิ่งรอบตัว มือน้อย ๆที่คอยช่วยแม่หยิบจับเครื่องปรุงต่าง ๆแล้วแต่แม่สั่งง่วนอยู่ในครัว เป็นภาพที่คุณขาบไม่เคยคิดมาก่อนว่า…เด็กชายที่แม่ชอบใช้ให้เป็นลูกมือทำกับข้าว แม้จะเบื่อบ้างตามประสาจะกลายเป็นเครื่องมือให้เขาทำมาหากินได้ถึงทุกวันนี้

"ผมไม่เคยคิดว่าจะมาสนใจทำอาหาร หรือเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหาร นำมาเป็นอาชีพของเราได้ เพราะตั้งแต่จำความได้ก็รู้แต่ว่าแม่จะเรียกใช้ให้ค่อยช่วยหยิบโน้นจับนี่ให้ บางครั้งแม่ไม่ว่างที่จะปรุง แม่ก็จะให้ปรุงรสอาหารแทน ไปตลาดสด ก็ได้เรียนรู้ได้สัมผัสถึงผักชนิดต่าง ๆ รสชาติที่ทำให้เกิดความอร่อย แต่ไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะซึมซับเข้ามาอยู่ในตัวเอง พอย้อนกลับไปทำให้รู้ตัวว่า ลึก ๆแล้วเป็นคนที่สนุกกับการทำอาหารมาก มีความสุขกับการได้ทำ อาหารให้เพื่อน ๆชิมเวลามาที่บ้าน "

ด้วยความที่เป็นคนหนองคาย เป็นคนชายขอบติดกับประเทศเวียดนาม ดังนั้นวัฒนธรรมในเรื่องอาหารการกินจึงค่อนไปในทางอาหารพื้นบ้าน "คนที่อยู่จังหวัดชายแดน บางคนเมื่อก่อนก็จะถูกล้อว่าเป็นลูกคนลาว รู้สึกไม่ชอบใจนัก แต่ปัจจุบันรู้สึกเป็นปมเด่น ภูมิใจ ในห้องเรียนจะมีเพื่อนหลายคนมีทั้งเพื่อนที่เป็นลาว ญวนคือเวียดนามนะ จีน ไทยปะปนกันหมด และสมัยเป็นเด็กผมก็ชอบที่จะไปบ้านเพื่อนก็ได้ชิมอาหารพื้น ๆของที่บ้านเขาที่เป็นทั้งอาหารเวียดนาม อาหารลาว นึกย้อนไปก็เป็นเหมือนกับการเรียนรู้อาหารของแต่ละชาติไปในตัวตั้งแต่เด็กด้วยเหมือนกัน"

เรียกว่าความคุ้นเคยที่ได้สัมผัสวัฒนธรรมอาหารการกินของท้องถิ่นในเขตชายแดนจังหวัดหนองคาย เขาจึงกลายเป็น - ผู้ที่มีความชำนาญในการทำอาหารเวียดนามคนหนึ่ง เปิดHome Cooking สอนทำอาหารเวียดนามอยู่ที่บ้าน เป็นฟู้ดสไตลีสท์ให้กับร้านอาหาร และเขียนหนังสือให้กับนิตยสารต่าง ๆหลายเล่มคอลัมน์เกี่ยวกับอาหาร ท่องเที่ยวและตกแต่ง มีเวบไซน์สอนทำอาหารที่ชื่อ www.karbstyle.com

เขาจึงเป็นชายหนุ่มที่มีสไตล์ในการปรุงอาหารที่เป็นของตัวเอง มีความอร่อยเป็นพื้นฐานที่แน่นอน หากแต่ในความอร่อยนั้นเขายังต้องรังสรรค์ให้เกิดความเป็นศิลปะในจานอีกด้วย "ในช่วงหลังได้เดินทางบ่อยขึ้น และชอบถ่ายรูปก็เลยรู้สึกว่าการเดินทางไปสถานที่แห่งไหน อย่างเช่นไปประเทศเวียดนาม ผมจะไปแบบแบกเป้ไป ซึ่งเราก็จะกินอยู่แบบง่าย ๆแต่สิ่งที่เราได้คือเราได้ไปเรียนรู้ชีวิตความเป็นท้องถิ่นได้สัมผัสเสน่ห์ของอาหารในแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง นอกจากจะได้เที่ยวแล้วก็ยังได้เรียนรู้การทำอาหารไปในตัวด้วย เมื่อก่อนเรากินเพื่อให้อิ่มอยู่ท้อง แต่ตอนนี้รสนิยมการบริโภคกำลังเปลี่ยนไป เพราะไลสไตล์ของคนในสังคมบ้านเรากำลังเปลี่ยนไปคนไม่กินเพื่อให้อิ่มอย่างเดียวแล้วคนกำลังเสพรสนิยม ดังนั้นผมก็อยากจะทำตำราอาหารที่ตอบโจทย์ตรงนี้ คือจะทำหนังสืออาหารเวียดนาม อาหารลาวโมเดิร์น และอาหารเซาร์อีสเอเชีย ฉะนั้นไม่ว่าผมจะศึกษาอาหารของท้องถิ่นใดผมต้องเดินทางไปสัมผัส เรียนรู้ให้ถึงที่ และที่สำคัญคือผมได้ความสุขกับการได้เดินทาง ได้ไปสัมผัสตลาดสด ไปดูชาวบ้านทำอาหารจริง ๆ "

การเรียนรู้ตำราอาหารแต่ละชาติแต่ละท้องถิ่นคุณขาบ ไม่เพียงศึกษาค้นคว้าจากตำรับตำราเท่านั้น หากแต่เขาจะเดินทางไปเรียนรู้ถึงรากแก่นกับผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมอาหารในประเทศนั้น ๆเลยทีเดียว ซึ่งคุณขาบบอกเสมอว่า…

"การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราเท่านั้น การออกเดินทางไปสู่โลกกว้าง ท่องเที่ยวไปในต่างแดนได้พบเห็นได้สัมผัส ความงดงามของสถานที่ต่าง ๆอาคารบ้านเรือน ทิวทัศน์ ศิลปะ ดอกไม้ ตลาดสด หรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ที่น่าประทับใจ…"

ดังนั้นอาหารในสไตล์ของคุณขาบ จึงมิใช่อาหารที่เมื่อเข้าปากที่มีรสสัมผัสของความอร่อยเท่านั้น แต่ยังเป็นอาหารที่แฝงกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไปผสมผสาน เติมเต็มรสสัมผัสทั้งห้าให้ครบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็ต้องค่อยติดตามกันต่อไปว่าตำราอาหารเล่มต่อไปของคุณขาบจะเป็นเนื้อหาของความอร่อยของท้องถิ่นใด

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ