กิตติ จินศิริวานิชย์ : เจ้าสำนัก "ต้าเจียห่าว"

กิตติ จินศิริวานิชย์

เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อนกระแส "หนังสือทำมือ" เกิดขึ้นอย่างเอิกเกริกในบ้านเรา หนังสือทำมือเป็นหนังสือของคนที่อยากมีผลงานหนังสือของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ใดๆ เขียนเอง วาดภาพประกอบเอง ถ่ายเอกสารเอง เย็บเล่มเอง แล้วก็ขายเอง ด้านหนึ่งทำให้วงการหนังสือคึกคัก มีนักขียนรุ่นใหม่ออกมาวาดลวดลาย แสดงฝีไม้ลายมือให้ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย แต่อีกด้านมีการตั้งคำถามกับคุณภาพของหนังสือทำมือว่า "ดี" และมี "คุณค่า" สมควรแก่การนำเสนอต่อผู้อ่านหรือไม่ ปัจจุบันหนังสือทำมือค่อยๆหายหน้าหายตาไปจากบ้านเรา นักวิจารณ์บางท่านบอกว่าเพราะหนังสือทำมือเป็น "แฟชั่น" ไม่นานก็หมดไป แต่นี่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะปรากฏการณ์หนังสือทำมือได้สร้าง "คน" และ "หนังสือ" จำนวนหนึ่งเข้ามาสู่วงการหนังสือจนกระทั่งเดี๋ยวนี้

นิตยสาร "ต้าเจียห่าว" เป็นหนึ่งในผลิตผลของหนังสือทำมือ เพราะมีจุดกำเนิดจากการเป็นหนังสือทำมือมาก่อน โดยหนุ่มไทยเชื้อสายจีนที่ชื่อ กิตติ จินศิริวานิชย์ ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำนิตยสารที่จะสื่อสารถึงคนซึ่งเติบโตในวัฒนธรรมเดียวกัน เผลอแป๊บเดียว "ต้าเจียห่าว" ก็เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว ยังคงยืนหยัด ท้าทาย และมีบุคคลิกโดดเด่นบนแผงหนังสือ อย่างนี้แล้วไม่น่าจะไปทำความรู้จักกับเขาและหนังสือของเขากันหน่อยหรือ

แรงบันดาลใจการทำต้าเจียห่าวครั้งแรกเกิดจากอะไร
เล่มแรกๆ เล่มเล็กขาย 5 บาท ที่ไชน่าทาวน์ แรงบันดาลใจมาจาก ช่วงเรียนทำกิจกรรมเยอะ ช่วงทำงานก็ทำแต่งาน เราจริงจังกับมันมาก จนวันหนึ่งมามองแถวบ้านของเราเอง บ้านที่เราอยู่ เราไม่รู้เรื่องแถวบ้านเลย เรียนและทำงาน กลับบ้านก็ดึก ข่าวสารแถวบ้านไม่เคยรู้ว่ามีอะไร สงสัยว่าทำไมเราไม่รู้เรื่องเลย ทั้งๆที่ ตอนเด็กกว่านั้นเราสนุกกับท้องถิ่นของเรามาก เราก็เลยเดินสำรวจ เห็นสิ่งน่าสนใจเยอะ เราต้องการค้นหาว่าแถวบ้านเรามีอะไรดีบ้าง พอดีช่วงนั้นรู้เรื่องการทำหนังสือ และสนุกกับการทำหนังสือ ก็เลยเอาสิ่งที่คิดมาบวกกับกระบวนการผลิต ก็เลยเป็นเล่มนี้ขึ้นมา

ลงทุนทำหนังสือขายเองครั้งนั้นหมดไปมากไหม
ถ้าเป็นตัวเงินก็ประมาณ 3 หมื่น แต่ยังมีตัวเลขที่ยังมองไม่เห็นอีกเยอะ ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเดินทาง อื่นๆอีกจิปาถะ ซึ่งจะมีบางอย่างคิดเป็นตัวเลขได้ยาก เช่น ประสบการณ์ ได้ลองได้รู้ ได้พบปะผู้คน ได้รู้จักคนที่มีข้อมูล ได้เรียนรู้จากเขา รู้จักเขา ดีกว่าอยู่เฉยๆที่บ้าน อย่างนั้นเราจะไม่รู้จักคุณอาหรือคุณพี่ละแวกบ้านที่รู้เรื่องแถวบ้าน ณ วันนี้ผมได้รู้จักพี่ๆเหล่านี้เยอะขึ้นๆ การเดินออกไปเราได้สิ่งเหล่านี้กลับมา

บ้านที่ว่าคือเยาวราชใช่ไหม
ใช่ เราไม่ได้ทำประชาสัมพันธ์ชาวบ้าน อาจจะไม่มีประสิทธิผล อาจเพราะเราสุ่มเกินไป เช่นเอาไปแจกที่โรงเรียนก็เอาไปวางไว้อย่างนั้นโดยไม่มีการเข้าไปให้ความรู้ว่ามันคืออะไร ฝากอาจารย์ช่วยแจก เอาไปวางที่อำเภอหรือเขต ไม่มีการบอกว่ามันคืออะไร ช่วงตรุษจีนก็ชวนเพื่อนไปช่วยแจก เขาก็รับติดมือไป เพราะเห็นเป็นของฟรี แต่ไม่มีกระบวนการใดใดต่อ
จนถึงวันนี้คนที่เยาวราชรู้จักเราเยอะขึ้นหรือยัง

เรียกว่าน้อยครับ ไม่ถึง 50 คน
ผมเข้าใจว่าต้องการทำหนังสือเพื่อสื่อสารกับคนย่านนั้น แต่ทำไมกลับมีคนรู้จักน้อย
พอดีว่าช่วงนั้นสนุกกับการไปเผยแพร่หนังสือนอกย่านมากกว่ามั้งครับ วางขายในย่านก็ไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง จึงไม่มีคนรู้จัก ผมไปขายนอกย่านซะเยอะ งานหนังสือทำมือ ร้านหนังสือเดินทาง ร้านสนามหลวงที่รัชโยธิน อย่างนี้เป็นต้น

ภายหลังนิตยสารเล่มนี้เข้าสู่เครือผู้จัดการอย่างไร
เป็นที่เราต้องการเสนอเรื่องราวที่มันขยายขึ้น กับบริษัทที่เราทำงาน คิดกับกร(ธนกร แสงสินธุ์ บรรณาธิการบริหาร)แล้วว่าน่าจะให้ทางนี้ดูแลเรื่องเงินทุนให้ เราเหมือนเป็นคนทำงานด้วย คิดด้วย ถือหุ้นด้วย วางแผนด้วย โดนด่าด้วย ขึ้นมาในระดับที่โดนด่าตรงๆ ไม่มีใครมารับหน้าแทน

โดนเยอะไหม
เยอะครับ เพราะมันออกมาจากเราและทีมงานรุ่นแรกๆ ยังไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามามากนัก เช่นตลาดคนอ่าน โฆษณา ซึ่งจะเข้ามาช่วยเกลี่ยให้ไปสู่วงกว้างมากขึ้น เช่นทำไมหนังสือวัยรุ่นไม่มีสีสันเลย ตอนแรกๆมีแค่ 2 สี จึงปรับเพิ่มสีขึ้นมาเรื่อยๆ พอต้นทุนสูงก็ลดหน้าสีลง

ตอนนี้คิดว่าประสบความสำเร็จหรือยังที่ผลักดันหนังสือที่ตนเองใฝ่ฝันออกมาจนได้
ตอนนี้ไม่ได้คิดว่าทำฝันแล้ว ทำตามหน้าที่ครับ สนุก ท้าทายกว่าเดิม เรื่องความฝันเป็นระดับเริ่มต้นไปแล้ว แต่ตอนนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่ตัวเราคนเดียว เรามีผู้ร่วมงาน ลูกค้า เอเจนซี่ที่ต้องมาผสมผสานกัน เป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ถามว่าตอนต้นอยากให้มีไหม เราไม่ได้สนใจมันด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้มันต้องมี เพราะเราต้องเดินไปพร้อมกับคนอื่นด้วย ไม่ใช่เดินคนเดียวแล้ว ถ้าเราอยากทำตามความฝันก็ต้องไปเดินคนเดียว รู้สึกท้าทายขึ้น เพราะเราต้องลดตัวเองลง ได้เอาของคนอื่นมาแบ่งปันด้วย

แล้วรู้สึกดีกว่าตอนแรกที่เป็นหนังสือทำมือหรือไม่
ทำให้เรารู้สึกสนใจในสิ่งที่เราเคยไม่สนใจ เช่น บันเทิงเอเซีย F4 เจโชว์ เราไม่ได้สนใจ หวางลี่หง แต่เมื่อมีการเรียกร้องจากคนอ่านและเอเจนซี่ ที่เขาเห็นว่ามันเป็นตลาดอีกกลุ่มที่ดึงเข้ามาสนใจหนังสือได้ เราก็ทดลองเลย 3 หน้า 5 หน้า 5 เดือน ปรากฎว่าเนื้อหาก็เบาลงจริงๆ เป็นพื้นฐานที่จะนำให้เราไปรู้จัก Idol ทำให้เรารู้จักว่าเจโชว์นี่เก่งจริงๆ อยากคุยกับเขา อยากคุยกับเจโชว์ และหวางลี่หง แต่วอนบิน ยังไม่เห็นแง่มุมอื่นนอกจากการร้องเพลง แต่เจโชว์เห็นชัด เป็นการแต่งเพลงที่มีสำนึก ไม่รู้ว่าเป็นอิมเมจที่เขาถูกสร้างขึ้นมาหรือเปล่า แต่น่าสนใจที่เขาพูดอย่างนั้นออกมาต่อสาธารณะชน หวางลี่หงเองก็เหมือนกัน น่าสนในการคิดเพลง หรือการมีส่วนร่วมกับผลงานของเขา ทำให้เรารู้สึกสนใจแฟนคลับของเขามากขึ้น ว่าทำไมถึงไปสนใจเขา ทำให้เราเปิดกว้างออกไปพบกับคนอื่นมากขึ้น

ปัจจุบันต้าเจียห่าวเป็นสื่อเดียวที่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ไทยจีนหรือไม่
มีหลายหัวครับ ทั้ง "หัวซาน" เป็นเชิงธุรกิจ จะพูดถึงนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน หอการค้าไทยจีนเป็นคนทำ ทำเป็น 2 ภาษา ไทยจีน ต่อมาคือ "หมิงซิง" เป็นบันเทิง การศึกษา ท่องเที่ยว พูดถึงความสัมพันธ์ไทยจีนอยู่ในนั้นนิดหน่อย เล่มนี้มาทีหลัง ไล่ๆกับ ต้าเจียห่าว "แม่น้ำโขง" จะเป็นข่าวสารจากเมืองจีน เช่นเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศิลปวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ เยอะมาก จะแปลเป็น 2 ภาษา สามเล่มนี้วางขายในท้องตลาด

วัฒนธรรมจีนเองก็มีทั้งสองด้าน คือด้านดีและไม่ดี ต้าเจียห่างเลือกนำเสนออย่างไร
ช่วงแรกเราขอนำเสนอด้านดีก่อน แล้วค่อยนำเสนอด้านที่เราตั้งข้อสังเกตกับมัน ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี แต่รู้ว่าถ้าไม่มีสติไม่ดีแน่ แล้วค่อยเพิ่มเรื่องที่หมิ่นแหม่ ไม่ดีเยอะ เช่น ช่วงแรกเป็นพวกภูมิปัญญาจีน ภาษาจีน วัฒนธรรมจีนดีๆ เกร็ดความรู้ ความเป็นมา แล้วก็สัมภาษณ์คนที่มีความรู้ คนรุ่นใหม่ที่มีอาชีพการงานน่าสนใจ คนที่มีกิจกรรมที่เป็นที่น่าจับตา ทยอยมาเรื่อยๆ เรื่องระบบจอหงวน เป็นระบบกลั่นกรองคนเข้าสู่วัง แต่ก็มีการโกงกินกันนะ เปรียบเทียบกับกระบวนการเอ็นทรานซ์ ให้อิงกับสังคมไทย เรื่องแฟนคลับศิลปินเอเซีย ถ้าล้ำเส้นเกินไปกลายเป็นคลั่งใคล้ คนไปกระโดนตึกตายตามศิลปินที่ตาย เริ่มไม่มีสติแล้ว เลยช่วยนำเสนออีกทาง

ก่อนหน้านี้เห็นเขียนเรื่องสั้นอยู่บ้าง ยังเขียนอยู่ไหม
เขียนเล่น ไม่มีความกระตือรือล้นที่จะไปส่งที่ไหน แต่พยายามเขียนเล่นแล้วให้เพื่อนอ่าน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขำๆ กวนตีน เคยสังเกตตัวเองเหมือนกัน ถ้าไม่ใช่ต้าเจียห่าว ก็จะเป็นเรื่องเพื่อนไหว้วาน มีโจทย์มาให้ เราเอาด้วย เป็นงานที่ที่มีเจ้าภาพ ก็เอาด้วย ถ้าไม่มีเจ้าภาพก็จะไม่เสร็จ จะปั้นไปเรื่อย ให้มันขำๆแก้ไปเรื่อย ไม่เสร็จถ้าไม่มีกำหนดส่งงาน

ทัศนะเรื่องวรรณกรรมเป็นอย่างไร เพราะไม่เห็นมีงานวรรณกรรมในต้าเจียห่าว
พยายามส่งเสริมให้มีอยู่เหมือนกัน เช่นรับเรื่องสั้นจีนมาลง เรื่องที่มีฉาก มีตัวละคร มีวิธีคิด แบบจีนๆ เราต้องกลั่นกรองอีกที ทำแบบสอบถามคนอ่านก็เอาด้วย ก็หาจังหวะอยู่ พยายามไม่ให้เครียดมาก อาจจะเรื่องสั้นจีน แต่มีลูกเล่นแบบสมัยใหม่หน่อย

กลุ่มเป้าหมายของต้าเจียห่าวคือใคร
กลุ่มเป้าหมายของต้าเจียห่าวอายุ 18-25 อยู่ในช่วงวัยนักศึกษา แต่ในเล่มเราจะไม่พูดถึงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นกลุ่มคนวัยนี้ที่มีมุมมองชีวิตหรือกำลังก้าวผ่านชีวิตมหาวิทยาลัย กำลังสะสมความรู้หาทิศทางการงานของตนเอง มองชีวิตแบบใหม่ๆ ซึ่งในแง่มุมของเขาก็จะมีความเป็นเด็กและผู้ใหญ่อยู่ในตัวบ้าง บางคนทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ในมุมของความเป็นเด็กแต่ยังสนใจเรื่องบันเทิงอยู่ มุมของผู้ใหญ่ก็สนใจเรื่องความรู้ ภูมิปัญญา มาสะสมให้ตนเองก่อนที่จะไปทำงาน ก็เลยผสมๆอยู่ในนี้

ต้าเจียห่าวจะเติบโตขึ้นตามวัยของคนทำหนังสือหรือผู้อ่านไหม
ถ้านิตยสารโตขึ้นก็จะเหมือนกลายเป็นนิตยสารของคนอ่านกลุ่มเดิมไปเรื่อยๆ ก็สนุกไปอีกแบบ แต่ถ้าคงรูปแบบเดิมไว้ แล้วขยับขยายบ้างตามคนทำหนังสือก็จะดี คงมีการพัฒนาในตัวของมันเองอยู่เรื่อยๆ คนทำก็โต แต่ถึงที่สุดแล้วก็คงมีคนรุ่นใหม่ๆมาทำต่อด้วย

ถ้าอย่างนั้นเมื่อผู้อ่านโตขึ้น เขาก็ไม่อ่านต้าเจียห่าวสิ
คนที่อ่านต้าเจียห่าว เมื่อโตขึ้นอาจจะไม่อ่านต้าเจียห่าวแล้วก็ได้ เพราะรสนิยมคนเปลี่ยนไป ในแง่มุมนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ก็ยังมีส่วนผสมของความเป็นผู้ใหญ่อยู่ มีทั้งเรื่องความรู้ ปรัชญา วิธีคิด มุมมอง ซึ่งเราเชิญเหล่าซือ มาเขียน หรือเรื่องท่องเที่ยว เมืองจีน ภาษาจีน ถ้าผู้อ่านโตแล้ว เล่นนี้ไม่เพียงพอก็อ่านเล่มอื่นได้

ไม่ทำเล่มใหม่เข้ามารองรับหรือ
ต้องคนพร้อมแล้วจึงจะทำ ..

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ