เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์. : ผมเขียนกวีแบบอิมเพรสชั่นนิสต์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์.

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2548 ที่ผ่าน “กวีรัตนโกสินทร์” ที่ชื่อ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีอายุ 65 ปีแล้ว ท่านยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง และยังคงทำงานกับตัวอักษรอย่างมุ่งมั่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์เป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันก็ยังพักอาศัยที่จังหวัดบ้านเกิด ท่านจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์เคยทำงานหนังสือ เคยเป็นอาจารย์ ม.สงขลานครินทร์ และผู้อำนวยการศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด

เพราะคุณพ่อสมบัติ พงษ์ไพบูลย์ปลูกฝังเรื่องความรักในการเขียนบทกวีและดนตรีมาให้ตั้งแต่เด็ก สองสิ่งนี้จึงเจริญเติบโตในตัวเขาจนกระทั่งปัจจุบัน ความสามารถในการรจนาบทกวีและเสียงขลุ่ยที่ไพเราะเพราะพริ้ง ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล กระทั่งปัจจุบันเขามีผลงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองรวมแล้วหลายสิบเล่ม ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมายทั้งซีไรท์(จากหนังสือรวมบทกวีเรื่อง “เพียงความเคลื่อนไหว”),รางวัลศรีบูรพา และศิลปินแห่งชาติ แม้จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิที่มีภาระกิจมากมาย แต่ท่านก็ให้เกียรติปลีกเวลามาคุยนอกรอบกับเราในวันนี้ บรรดาคอกวีเขยิบมาใกล้ๆได้เลยครับ

รู้สึกอย่างไรกับกลอนเปล่า
เป็นเบื้องต้นของบทกวี เพราะบทกวีเป็นการหลั่งไหลของอารมณ์ ความรู้สึก เป็นสื่อของอารมณ์ความรู้สึก อะไรก็ได้ที่เป็นภาษาของอารมณ์ความรู้สึก ถ้าอ่านแล้วรู้สึกได้ก็เป็นบทกวีได้ มีรูปแบบหรือไม่มีรูปแบบก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การมีรูปแบบทำให้มีจังหวะจะโคน มีความไพเราะ นั่นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง กลอนเปล่าไม่มีจังหวะจะโคนแต่มีความรู้สึกที่เราสัมผัสได้ด้วยตัวหนังสือก็ใช้ได้ แต่เขียนยากเหมือนกัน เขียนให้ได้ความรู้สึกอย่างนั้น

คุณมีผลงานที่เป็นกลอนเปล่าไหม
เคยมีผลงานกลอนเปล่า ไปดูในเล่ม เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว ในนั้นมีกลอนเปล่าอยู่

กวีอยู่เมืองจะเขียนหนังสือไม่ออกจริงไหมครับ
ไม่จริง อยู่ที่เรื่องจะเขียนมากกว่า เขียนไปบ่อยๆทุกวัน เดี๋ยวมันก็มีเรื่องเขียนเอง

ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่
เขียนคอลัมน์ประจำต่างๆแต่โครงการที่กำลังทำคือ “เขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” เริ่มจากแผ่นดินอินโดจีน ลาว เวียดนาม เขมร เขียนบทกวี และเรื่องสั้นๆ เฉพาะที่ลาวนี่ทุกแขวง ไปมาสองช่วงแล้ว และกำลังจะไปอีก เมื่อหมดลาวแล้วก็จะไปเวียดนาม เป็นโครงการที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้สนับสนุน เป็นรายการทีวีด้วย คุณนิรมล เมธีสุวกุลตามไปถ่าย เป็นเรื่องที่ต่อนื่อง ผมเริ่มเมื่อปีที่แล้ว เมื่อจบหนึ่งประเทศก็จะพิมพ์ออกมาหนึ่งเล่ม รายการทีวีจะออกเดือนพฤษภาคม ผมทำงานนี้เหมือนการเขียนรูปเขียนเสร็จตรงนั้นเลย

เหมือนเขียนรูปอิมเพรชชั่นนิส เขียนจากความประทับใจ เขียนตรงนั้นเลย ผมก็เหมือนกัน เมื่อผมรู้สึกก็เขียนจากความรู้สึก จากภาพที่เห็นตรงนั้น เราเลือกสัก 3-4 แห่ง ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นพวกโบราณสถาน ปูชณียวัตถุที่สำคัญที่เขารักศรัทราอยู่ หรือไม่ก็ทิวทัศน์ ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตผู้คน

ทำงานกันกี่คนครับ
ผมเขียนอยู่คนเดียว บางทีก็มีศิลปินตามไป อย่างเที่ยวที่แล้วคุณเอกชัย ลวดสูงเนินเขาตามไปเขียนรูปด้วย

ทำงานอย่างนี้ดีไหม
ดี นอกจากเราได้ทำงานท่ามกลางความเป็นจริงแล้วเรายังได้ทำงานสัมพันธ์กับผู้คน เพื่อนบ้านของเรา ไม่ใช่ระดับข้าราชการ แต่ชาวบ้านด้วยกัน ได้พูดคุย ลึกซึ้งจริงๆ ความสัมพันธ์อย่างนี้เราไม่ค่อยได้มีกัน ส่วนใหญ่จะไปเน้นเรื่องธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง

วางแผนยังไง ปีละเล่มหรือเปล่า
ให้เสร็จเร็วที่สุด อย่างลาวก็จะเสร็จพฤษภาคมนี้ ลาวเป็นตัวนำร่อง แล้วก็ไปอินโดจีน แล้วเขมร เป็นไปได้ก็จะไปพม่า หรือจีนตอนใต้ แล้วเข้าอุษาคเนย์หรืออาเซียน มาเลเซีย อินโด ฟิลิปปินส์ ให้หมด

จะไปยุโรปไหม
ก็ไม่แน่ ถ้าเกิดนึกสนุกขึ้นมา ตอนผมไปยุโรปผมก็ไปเขียนมาแล้ว เมื่อปีที่แล้วไปเยอรมันก็ไปเขียน ทุกที่ที่ไปก็จะเขียน นี่เป็นเรื่องที่เราได้ไปสัมผัส แล้วมองด้วยมุมมองของเรา มองด้วยมุมมองของกวี คิดว่าเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ที่เราก็ได้ประโยชน์ด้วย

แต่ละประเทศก็ให้แรงบัลดาลใจไม่เหมือนกันใช่ไหม
ใช่ คือนอกว่าภูเขาทะเลที่เหมือนกัน วิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมมันต่างกัน ก็ทำให้ความรู้สึกของเราเปลี่ยนไปด้วย

เล่มนี้จะเป็นกลอนทั้งเล่ม
มันหลากหลายนะ แล้วแต่ว่าผมไปนั่งตรงไหน วันไหนผุดอะไรขึ้นมาก็เขียนตามแบบนั้นเลย หนีไม่พ้นกาพย์ กลอน ลำนำ

กวีบางท่านบอกว่าจะไม่เขียนกวี แต่ให้บทกวีหลั่งไหลออกมาเอง อาจารณ์เป็นอย่างนั้นด้วยไหม
ก็แล้วแต่ว่าเรื่องที่เขียนเป็นยังไง อิมเพรชชั่นนิสต์มันออกเอง เมื่อเรานั่งอยู่ต่อหน้ามัน มันก็ออกมาเอง

ไม่ได้ทำให้เป็นวินัยเช่น 9 โมงเช้าต้องเริ่มเขียนอย่างนั้นหรือ
ไม่ถึงกับอย่างนั้น พอดีมีกล้องไปถ่ายทำด้วย ต้องการแสง อย่างตักบาตรที่หลวงพระบาง ต้องตื่นแต่เช้าเพราะ ชั่วโมงเดียวก็หมดแล้ว เงื่อนไขของสถานที่กำหนดเราด้วย

อาจารย์มีงานอดิเรกอะไรบ้าง
ไม่มี เล่นดนตรีบ้าง แต่งเพลงกับเพื่อนๆบ้าง กับ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี แต่งออกมาชุดหนึ่งแล้ว ชุดเพลงแผ่นดิน มีหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เป็นคนร้อง ผมเขียนเนื้อ อ.ธนิสร์ ทำดนตรี

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ