อุเทน พรมแดง : นักเขียนเป็นมนุษย์จำพวกที่ต้องคำสาป

อุเทน พรมแดง

อุเทน พรมแดง เป็นนักเขียนคลื่นลูกใหม่อีกผู้หนึ่งพุ่งขึ้นมายืนแถวหน้าของแวดวงกรรมกรรมได้อย่างสง่างาม สังเกตได้จากรางวัลทางด้านวรรณกรรมมากมายที่อุเทนกวาดมาแล้วหลายๆรางวัล จนได้รับการขนานนามว่าอุเทน พรมแดง เป็นนักล่ารางวัลวรรณกรรมที่มือดีที่สุดในยุคนี้คนหนึ่งเลยทีเดียว วัยเด็กของ อุเทน พรมแดง เป็นวัยเด็กที่เบื่อการอ่านหนังสือ จนเจ้าตัวเองก็ค่อนข้างแปลกใจที่ปัจจุบันเขากลับกลายเป็นนักเขียนอาชีพ ทำงานบนสวนอักษรที่เขารัก เขาเลือกที่จะทิ้งงานประจำเพื่อที่จะมีเวลาเสพความหอมหวานของตัวอักษรได้อย่างเต็มที่ ครับวันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับนักเขียนอนาคตไกลของวงการวรรณกรรมไทย....อุเทน พรมแดง

“ก่อนหน้านี้ผมก็เป็นเด็กผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง เป็นลูกชาวนา ฐานะปานกลาง นิสัยค่อนข้างขี้เกียจ แต่สมองก็พอใช้ได้ ตอนเรียนชั้นประถมฯผมสอบได้ที่หนึ่งตลอดตั้งแต่ป.1 ยัน ป.6 เพื่อนๆและครูมองว่าฉลาด ขยันเรียน แต่ความจริงแล้วผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น ก่อนสอบหนังสือหนังหาก็ไม่ค่อยได้อ่าน ที่ได้ที่หนึ่งตลอดคงเพราะเป็นโรงเรียนวัดมีเด็กนักเรียนน้อย จำได้ว่าชั้นหนึ่งมีราวๆ 20 คนเท่านั้นเอง

พอขึ้นชั้นมัธยมฯดูผมจะยิ่งสนใจการเรียนน้อยลงไปกว่าเดิม มักจะเล่นสนุกเสียเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งก็มีเกเรออกนอกลู่นอกทางบ้างตามประสาวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ในเมื่อไม่ค่อยได้ตั้งใจเรียน เรื่องอ่านหนังสือจึงไม่ต้องพูดถึง ผมเกลียดการอ่าน อ่านแล้วชวนให้ง่วงเสียทุกทีไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะน่าสนุกสักแค่ไหนก็ตาม นี่อาจเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม รอบตัวผมไม่มีใครอ่านหนังสือ ตัวหนังสือไม่จำเป็นกับชาวนา พ่อกับแม่ไม่เคยสอนให้ขยันอ่านหนังสือ แต่สอนให้ตื่นแต่เช้า ขยันทำงานทำการ ผมเพิ่งมาเริ่มชอบอ่านหนังสือตอนเรียนมหาวิทยาลัย นับย้อนไปก็ราวๆเจ็ดแปดปีมานี่เอง เพราะฉะนั้นหากให้ย้อนมองไปในอดีต ดูไม่มีแนวโน้มว่าผมจะมาเป็นนักเขียนอย่างทุกวันนี้เลย”

-เริ่มเขียนหนังสือได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไม
จริงๆแล้วผมเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกก็ตั้งแต่เรียนมัธยมฯปลาย สาเหตุก็เพราะอยากได้ตังค์ใช้ ตอนนั้นผมอ่านหนังสือขายหัวเราะบ่อย มีประกาศรับเรื่องสั้น รู้สึกจะให้ค่าเรื่อง 1,000 บาทหากได้ลงตีพิมพ์ ผมลองเขียนสองสามเรื่อง เขียนแล้ววานเพื่อนผู้หญิงที่พิมพ์ดีดเก่งพิมพ์ให้ จากนั้นก็ส่งไป ปรากฏว่าหายเงียบ เป็นอย่างนั้นก็เลยหมดสนุก ไม่เขียนต่ออีก ผมมาจับปากกาเขียนหนังสือจริงๆจังๆอีกครั้งก็ตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีสอง คราวนี้เริ่มลองเขียนด้วยความรู้สึกใหม่ นั่นคืออยากลอง คิดกับตัวเองว่าเราก็น่าจะทำได้ เราก็มีเรื่องที่อยากเล่าเหมือนกัน มันไม่น่าจะใช่เรื่องยากเย็นอะไร ความรู้สึกทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากอ่านรวมเรื่องสั้นไปได้หลายสิบเล่มแล้วนับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ผมก็ไม่เคยหยุดเขียนหนังสืออีกเลย

- อะไรที่ทำให้อุเทนตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาเป็นนักเขียนอาชีพ
ก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกับใครอีกหลายคน คือเบื่อระบบ ไม่ชอบทำงานใต้อำนาจใคร อีกอย่างผมรู้ตัวว่าค่อนข้างเป็นคนขวานผ่าซาก พูดจาตรงๆโผงผาง อุปนิสัยทำนองนี้คงไม่เหมาะกับการทำงานในองค์กรสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะผมที่ทำงานในตำแหน่งที่ต้องเจรจาทำความตกลงกับลูกค้า ผมเชื่อว่าคนทำงานจำนวนมากเบื่องาน อยากลาออก แต่ไม่รู้จะไปทำอะไรดี ในเมื่อผมค้นพบว่าตัวเองอยากเขียนหนังสือก็ถือว่าเป็นโชคดี เรามีคำตอบให้ตัวเองว่าออกจากงานไปแล้วจะไปทำอะไร ผมก็เลยลาออก

แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าคิดปุ๊บผมจะลาออกปั๊บ ผมคิดอยู่เป็นปีถึงได้ตัดสินใจลาออกจริงๆ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะผมไม่ได้มีชีวิตลำพังตัวคนเดียว ยังมีพ่อแม่ต้องดูแล การจะละทิ้งเงินเดือนประจำแล้วมาทำงานที่หลักลอยกว่าย่อมต้องคิดแล้วคิดอีก หากออกมาเขียนหนังสือแล้วไปไม่รอดไม่ใช่ผมจะลำบากคนเดียว พ่อกับแม่คงเกิดคำถามในใจมากมาย ท่านส่งให้ผมเรียนหนังสือเพื่อจะได้มีงานทำ มีเงินทองมาจุนเจือครอบครัว ไม่ใช่ส่งให้มาเป็นนักเขียนกินแต่อุดมการณ์ อย่างไรเสียถึงที่สุดแล้วผมก็ตัดสินใจลาออก บอกกับตัวเองว่าจะลองสู้ดูสักตั้ง หากไม่ไหวจริงๆก็ค่อยหันหลังเดินกลับไปยังเส้นทางที่จากมา ...ซึ่งผมก็ภาวนาให้ไม่มีวันนั้น

-มีตั้งเป้าหรือเปล่าว่าต้องเขียนงานให้ได้ขนาดไหน
ผมเชื่อว่านักเขียนทุกคนมีมาตรฐานของตัวเอง รู้ว่างานเขียนที่ดีที่แย่เป็นอย่างไร ผมเองก็เหมือนกันผมมีมาตรฐานอยู่ในใจตัวเอง รู้ว่างานที่เขียนออกมาน่าพอใจหรือไม่ มันดีในระดับไหนผมพยายามจะเขียนงานทุกชิ้นออกมาไม่ให้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตัวเองกำหนด หากเรื่องไหนคิดว่ายังไม่ดีก็ยังไม่เขียน ให้เวลากับมัน หรือถึงที่สุดก็ทิ้งมันไปจากสมองเสียเลยหากเห็นว่าไม่น่าจะเขียนให้ดีได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมาตรฐานที่นักเขียนมีอยู่ในตัวไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของผู้เสพ หมายความว่าบางครั้งงานที่ผมคิดว่าตัวเองเขียนได้ดีมากอาจกลายเป็นขยะในสายตาของคนอ่านแต่งานที่เราฝืนเขียนออกไปแกนๆกลับได้รับการยกย่องชมเชย

-ชีวิตนักเขียนอาชีพเป็นอย่างไรบ้าง
มีความสุขครับ มีเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง สับสนบ้าง แต่โดยรวมแล้วเป็นสภาวะที่ยอดเยี่ยม ผมได้ทำในสิ่งที่อยากทำ มีอิสระในการใช้ชีวิต วันไหนขี้เกียจก็นอนพัก วันไหนเบื่อๆก็ไปหาที่เปลี่ยนบรรยากาศ แล้วก็กลับมาทำงานที่เรารักเหมือนเดิม มันมีคำพูดอยู่คำหนึ่งที่ผมชอบมาก เขาบอกว่ามันไม่มีอิสระที่แท้จริงอยู่หรอก มนุษย์ทุกคนอยู่ในกรงด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่มันมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นอิสระที่เราพูดถึงกันจริงๆแล้วก็คือการได้อยู่ในกรงใบที่เราอยากอยู่นั่นเอง ผมก็คงเป็นในทำนองเดียวกันนี้

-คิดว่างานเขียนสามารถเป็นอาชีพได้ไหม
ได้แน่นอน หลายๆคนก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว และผมก็กำลังพยายามเป็นอีกคนหนึ่งที่พิสูจน์คำพูดนี้

-ข้อแนะนำสำหรับคนที่กำลังตัดสินใจจะออกจากงานเพื่อเป็นนักเขียนอาชีพ
ผมไม่แนะนำให้ใครลาออกจากงานเพื่อเป็นนักเขียนอาชีพ มันไม่ใช่เรื่องสนุก มีอุปสรรคมากมาย ทั้งเหนื่อยทั้งหนัก บางครั้งแค่ใจรักไม่พอ ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมๆอื่น เป็นต้นว่าครอบครัวที่เราต้องดูแล ผมอาจโชคดีอยู่บ้างที่พ่อกับแม่เข้าใจ รู้ว่าผมทำอะไรอยู่ อีกอย่างผมโชคดีที่ได้เงินจากงานเขียนเป็นกอบเป็นกำอยู่บ้าง ทั้งจากงานรวมเล่มและจากรางวัลต่างๆทำให้พ่อกับแม่เห็นว่าผมมีรายได้พอประมาณจากการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ความกดดันส่วนหนึ่งจึงหมดไป แต่ใครๆก็รู้ดีว่าหากเราไม่ได้เขียนประจำที่ไหน รายได้จากการเขียนหนังสือมันเป็นสิ่งไม่แน่นอน บางปีมีงานออกหลายเล่มอาจได้เป็นแสนๆ แต่บางปีอาจไม่มีเงินตกถึงกระเป๋าแม้แต่บาทเดียว เพราะฉะนั้นถ้าไม่แน่ใจจริงๆอย่าคิดลาออกจากงานประจำแล้วมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ทำงานไปด้วยเขียนหนังสือไปด้วยดีกว่า การตัดสินใจอย่างผมบางทีต้องอาศัยความ ‘บ้า’ และคนบ้าที่เอาตัวรอดได้ตลอดรอดฝั่งอาจมีไม่มากนักในความเป็นจริง

-รางวัลแรกที่ได้คือรางวัลอะไร ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร
น่าจะเป็นรางวัลช่อปาริชาตครับ ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะไม่รู้จะเรียกเป็นรางวัลได้เต็มปากเต็มคำหรือเปล่า ผมติด 1 ใน 15 เรื่องสั้น ตีพิมพ์ในเล่มช่อปาริชาต 2002 จำได้ว่าดีใจมากๆ ถึงกับกระโดดตัวลอยเมื่อเห็นจดหมายที่พี่เรืองเดชเขียนมาบอกว่าเรื่องสั้นของผมผ่าน ผมกระโดดจริงๆ กระโดดแล้วก็นึกในใจว่าถึงตายก็ไม่เสียดายชีวิตแล้ว มันคิดแบบนั้นจริงๆ

ผมเริ่มเขียนหนังสือหลังจากช่อการะเกดปิดตัวไปแล้ว ได้แต่ตามซื้อมาอ่าน ไล่ตามเก็บอารมณ์ที่ยังเหลือตกค้างอยู่ในนั้น ผมรู้จักนักเขียนรุ่นพี่หลายๆคนจากหนังสือเล่มนี้ อ่านไปก็นึกเสียดายว่าไม่น่าปิดตัวลงเลย ไม่อย่างนั้นคงได้ลองเขียนส่งไปบ้าง แม้ช่อการะเกดจะเหลือให้จับต้องได้แค่เพียงหนังสือในร้านหนังสือมือสอง แต่ผมก็เกิดความรู้สึกว่าช่อการะเกดเป็นสถาบัน เป็นโรงเรียน เป็นครู ชื่อ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ถูกฝังอยู่ในสมองนับแต่นั้นมา

นี่คงเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไมผมดีใจนักที่ผ่านตีพิมพ์ในช่อปาริชาต โครงการนี้จัดขึ้นโดยสำนักช่างวรรณกรรม คนพิจารณารอบแรกคือพี่เรืองเดช และคนตัดสินให้เหลือ 15 เรื่องสุดท้ายคือครูใหญ่แห่งสำนักช่างวรรณกรรมของเรา ช่อการะเกดไม่อยู่แล้ว ดังนั้นการได้ตีพิมพ์ในช่อปาริชาตซึ่งจัดทำขึ้นจากกลุ่มคนคณะเดียวกันก็ทำให้ผมภูมิใจยิ่งนัก

-เคยได้รางวัลอะไรมาบ้าง
จากรางวัลช่อปาริชาตก็เป็นรางวัลพานแว่นฟ้า รางวัลศ.ดร.วิทยา นาควัชระ รางวัลจากนิตยสารสุดสัปดาห์ รางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ รางวัลอ.ไชยวรศิลป์ รางวัลเซเว่น บุ๊ค อวอร์ดส รางวัลดวงดาว รางวัล Young Thai Artist Award รางวัลวิชิต โรจนประภา รางวัลจากสมาคมภาษาและหนังสือฯ และรางวัลจากนิตยสารสกุลไทย

-ตอนที่กรรมการประกาศออกมาว่าเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์รู้สึกอย่างไร
ดีใจครับ เป็นธรรมดา ไม่นึกว่าตัวเองจะไปได้ถึงขั้นนั้น

-รางวัลจำเป็นกับนักเขียนไหม
รางวัลไม่จำเป็นกับนักเขียน แต่รางวัลมีประโยชน์กับนักเขียน

-ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยมีความกดดันหรือว่าเกร็งบ้างไหม
ไม่เลยครับ รู้สึกได้เปรียบเสียอีก การที่เราอายุยังน้อยทำให้มีเวลาพัฒนาตัวเองอีกนาน หากจะเขียนหลุดบ้าง ผิดพลาดบ้าง อ่านไม่รู้เรื่องบ้างก็คงไม่มีใครเพ่งเล็งจับผิด ที่สำคัญเวลาจะทดลองเขียนงานที่แปลกประหลาดหลุดโลกก็ไม่มีอะไรมาค้ำคอ ถือว่าเรายังอยู่ในช่วงค้นหาเรียนรู้ ไม่ใช่ตกผลึกแตกฉานทางความคิดความอ่านแล้ว

-ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง
ผมถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จอย่างสูงครับ ไม่ได้วัดกันที่ยอดขายหนังสือ ความมีชื่อเสียง หรือรางวัลที่ได้มา ผมถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จเพราะผมสามารถเขียนหนังสือได้อย่างที่มุ่งหวังตั้งใจ แล้วในเบื้องต้นนี้งานเขียนก็ตอบแทนผมในระดับที่น่าพอใจไม่น้อย

-มีหลักในการเขียนหนังสือไหม
ผมพยายามเขียนงานทุกชิ้นให้ดีขึ้นกว่าเดิม มีรสชาติใหม่ๆในงานของตัวเอง หรืออย่างแย่สุดก็ต้องไม่ด้อยคุณภาพไปกว่าที่ผ่านมา

-ถนัดเขียนเรื่องแนวไหน
น่าจะเป็นเรื่องสั้นสะท้อนสังคมครับ

-เห็นเขียนได้หลากหลายแนว ในความคิดของอุเทนงานแนวไหนเขียนยากที่สุด
ผมว่าน่าจะเป็นอิโรติก งานรักๆใคร่ๆเป็นงานที่เขียนให้ดีได้ยากในความคิดของผม ภาษาต้องสละสลวย พลิ้วไหว มีจังหวะจะโคน เพื่อจะจูงใจจูงอารมณ์ผู้อ่านให้ได้ เนื้อเรื่องก็ต้องมีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน งานเขียนอิโรติกต้องการความละเอียดอ่อนละเมียดละไมกว่างานเขียนแนวอื่น ถ้าเขียนลวกๆลนๆไม่มีวันจะออกมาเป็นงานที่งดงามได้เลย

-มีความคิดจะเขียนนิยายแนวพาฝันบ้างหรือเปล่า
ตอนนี้ไม่ ไม่รู้สึกอยากเขียน ไม่มีความสุขกับตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธมัน วันหนึ่งหากผมรู้สึกอยากเขียน มีความสุขกับมัน ผมก็อาจลองเขียนออกมาบ้างก็ได้ ผมไม่แบ่งแยกคุณค่าของงานเขียน ไม่ประเมินว่างานแนวนี้สูงส่งงานแนวนั้นต่ำต้อย แต่ที่เลือกเขียนเป็นบางแนวก็เพราะมีความสุขกับการเขียนอย่างนี้ ถ้าเมื่อไหร่งานเขียนแนวอื่นทำให้ผมรู้สึกอยากเขียน มีความสุขกับการคิดและเขียน ผมก็เขียนได้ทั้งนั้น

-ใช้เวลาเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเร็วที่สุดกี่วันถึงเสร็จครับ ต้องรอมีอารมณ์ด้วยรึเปล่า
เรื่องสั้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เคยเขียนมาผมเขียนรวดเดียวจบ คือเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์นั่งเขียนไปเรื่อยๆไม่หยุดเว้นระยะไปทำอะไรอย่างอื่น เมื่อปิดเครื่องก็หมายความว่าเขียนจบแล้ว เหลือแต่มานั่งอ่านทวนเพื่อแก้เกลาเท่านั้น ระยะเวลาในการเขียนเรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็อยู่ราวๆ 4-5 ชั่วโมง(หมายถึงเรื่องสั้นขนาดความยาวทั่วไป)ไม่รู้เหมือนกันว่าเรียกว่าเขียนเร็วไหม เพราะไม่รู้ว่านักเขียนส่วนใหญ่ใช้เวลากับเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งมากน้อยแค่ไหน

เรื่องอารมณ์ในการเขียนนั้น ตอนออกจากงานมาเขียนหนังสืออย่างเดียวแรกๆต้องรออารมณ์ ต้องอยากเขียนถึงจะเขียนได้ ฝืนไม่ได้ เคยนั่งจ้องหน้าจอว่างเปล่าเป็นชั่วโมงๆ ไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ แต่ผมก็พยายามฝึกตัวเอง รู้ดีว่าหากคิดจะยึดการเขียนหนังสือเป็นอาชีพจะมัวรออารมณ์ไม่ได้ ผมลาออกจากงานประจำ งานเขียนก็ถือเป็นงานประจำอย่างใหม่ที่เราเลือกเพราะฉะนั้นเราต้องเขียนหนังสือให้เหมือนงานประจำ ต้องมีวินัย ต้องบังคับตัวเอง จะมัวนั่งรออารมณ์หรือแรงบันดาลคงเอาตัวไม่รอด เมื่อฝึกตัวเองมากเข้ามันก็เริ่มชินกับการเขียนหนังสือโดยไม่สนใจอารมณ์หรือความอยากเขียน ตอนนี้ผมสามารถเขียนหนังสือได้ตลอด เมื่อคิดจะเขียนก็เขียนได้เกือบทุกเวลา แต่จะออกมาดีเลวแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

-มีผลงานออกมาทั้งหมดกี่เล่มแล้ว
6 เล่ม เป็นรวมเรื่องสั้น 5 เล่มคือ “ต้นไม้ประหลาด” , “นักเล่าเรื่องโกหก” , “สังหรณ์โหด” , “ไฟ ควัน ม่านหมอก” , “โลกสีเทา”

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ