ชัยกร หาญไฟฟ้า : เขียนด้วยใจและรับผิดชอบกับงานเหมือนลูก

ชัยกร หาญไฟฟ้า

ในงานประกาศรางวัล นายอินทร์อวอร์คประจำปี 2549 ที่ผ่านมา นอกจากจะได้นั่งจับเข้าคุยกับ สาคร พูลสุข นักเขียนรางวัลนายอินทร์อวอร์ดคนล่าสุดแล้วในงานเราได้เจอ ชัยกร หาญไฟฟ้า นักเขียนใหม่อีกคนที่กำลังมาแรงแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่โดยเฉพาะในรอบปีที่ผ่านมา และในงานประกาศผลรางวัลนายอินทร์อวอร์ด ผลงานของ ชัยกร หาญไฟฟ้า เข้าเป้าถึงสามชิ้นงาน ทั้ง ครอบครัวติดมันภาค2,บุตรฆาต(ประเภทเรื่องสั้น),ใต้เท้า(นวนิยาย) นั้นทำให้เรายิ่งต้องทำความรู้จักกับเขาเสียตั้งเนิ่นๆ ชัยกร หาญไฟฟ้า เป็นวิศวกรที่หลงใหลในกลิ่นน้ำหมึก หากความรักวัดระดับกันได้งานเขียนก็คงเป็นสิ่งที่รักอันดับรองๆจากครอบครัวของชัยกร หาญไฟฟ้า

 

ชัยกร หาญไฟฟ้า

 

“เป็นวิศวกรครับ จบวิศวกรรมศาสตร์จากเชียงใหม่ ผ่านงานโครงการสนามบินดอนเมือง ทางด่วนขั้นที่สอง รถไฟฟ้าใต้ดิน สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการอาคารหลายแห่ง ก่อนที่จะเขียนหนังสือก็เป็นคนอ่านหนังสือและเป็นคนชอบหนังสือ ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆในเมืองใหญ่ไม่โลดโผน เรียนจบก็ทำงาน แต่งงาน มีทายาท แล้วก็เตรียมแก่ครับ”

-เริ่มจับปากกา
ในงานหลายๆโครงการที่ผ่านมา ผมสนุกกับงานเอกสารประเภทจดหมายโต้ตอบและบริหารสัญญา ชอบที่จะได้ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความคิด ไม่รู้ระแคะระคายมาก่อนว่าจะเขียนอะไรยาวๆได้อย่างวันนี้ ผมแต่งงานช้า ก็เลยมีลูกค่อนข้างช้า พอภรรยาตั้งท้องลูกคนแรกก็เลยตั้งความหวังกับตำแหน่งพ่อสูงมากๆ ประคบประหงมภรรยาเต็มที่ เฝ้ารอที่จะได้อุ้มลูกคนแรกในชีวิต พอปลายปี 2543 ลูกปอห์นคลอดออกมาได้ไม่กี่นาทีเขาก็จากผมและภรรยาไป ความสูญเสียมันรุนแรงเหลือเกินเพราะเราจริงจังกับการรอคอยมาก ตอนที่รับรู้ว่าลูกไปแล้ว แม่เขายังเมายาที่บล็อกหลังอยู่ เหลือผมคนเดียวในโลกที่ได้กอดได้หอมและเจ็บปวดอยู่คนเดียว สิ่งที่อยู่ข้างในมันอัดอั้นตันใจจนผมอยากจะระบายความรู้สึกออกมาเป็นบันทึกจากพ่อถึงลูก ก็เลยลงมือเขียนคืนนั้นเลย เขียนไปร้องไห้ไป ไม่รู้ตัวว่าเขียนเอาไว้ยาวมาก เวลาผ่านไปไม่นาน เราก็พอจะตั้งสติได้บ้าง ผมเลยส่งบันทึกเล่มนั้นพร้อมกับให้ข้อมูลเชิงอรรถเกี่ยวกับสิ่งผิดปกติที่ทำให้ลูกเสียชีวิตไปลงนิตยสารบันทึกคุณแม่เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่จะเป็นพ่อเป็นแม่จะได้เฝ้าระวังในช่วงตั้งครรภ์และรู้จักดูแลจิตใจกันหากต้องพบกับความสูญเสีย ก็ปล่อยตัวเองกับงานที่ทำอยู่พักใหญ่จนมีปู๊นปู๊นลูกคนที่สองที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ก็หันกลับมาเขียนอะไรน่ารักน่ารักให้เขาบ้าง เขียนไปเขียนมาชักเลยเถิดเหมือนต่อมเขียนแตก เลยลองเขียนบทความวิพากษ์คอนเสิร์ตส่งไปลงเซ็คชั่นจุดประกายของกรุงเทพธุรกิจ ทีนี้ชักมันมือเลยลองโพสต์เรื่องสั้นลงเว็บประพันธ์สาส์นกับเว็บนิตยสารบางกอกแล้วก็ลามไปถึงถนนนักเขียนในพันทิพ จนวันหนึ่งไปเจอประกาศเชิญส่งต้นฉบับประกวดชิงรางวัลบุญธรรม – บุญพริ้ง ต.สุวรรณของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชก็คิดกำเริบเขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “วิ่งสู่ฝัน” เข้าประกวด ปรากฏว่าได้รางวัลชมเชย ไม่มีชนะเลิศ ไม่มีรองชนะเลิศ ผมว่ามันเหมือนหลุมพรางนะ มันทำให้อยากส่งประกวดอีก ทีนี้ก็เลยลองหมด รางวัลแว่นแก้ว รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด พานแว่นฟ้าก็เอา ถึงแม้ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ยังมีกำลังใจที่จะเขียน ยิ่งไม่ชนะไม่เข้ารอบก็ยิ่งรู้สึกว่าท้าทาย เหมือนกับว่าเขียนแล้วสนุก หยุดไม่ได้ก็เลยไม่หยุดตั้งแต่นั้นมาครับ สงสัยว่าลูกปอห์นคงอยากให้เราเขียน

-(นามปากกา)คนรักลูก=ชัยกร หาญไฟฟ้า
ประการแรก เพราะผมเป็นคนรักลูก ประการที่สอง เพราะลูกๆทำให้ผมรู้จักความรักที่ไม่ต้องการขอบเขตและเข้าใจนิยามของคำว่าคนรักลูก และประการที่สาม นามปากกาคนรักลูกถือว่าเป็นอนุสรณ์ในการจากไปของลูกปอห์น ลูกคนแรกที่ทำให้ผมรู้ตัวว่าเขียนงานได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้อยู่แต่ก็น้อยลงครับ

-ผลงานที่ผ่านมา
เล่มแรกเป็น “วิ่งสู่ฝัน” ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชน เล่มที่สองเป็นรวมเรื่องสั้นของคนรักลูก ท้ายเล่มมีบันทึกของผู้พ่ายแพ้ที่ผมเขียนให้ลูกปอห์นในวันที่สูญเสียเธอ ตั้งใจจะทำหนังสือเล่มนี้ให้เป็นอนุสรณ์สำหรับลูกปอห์น พอดีเป็นจังหวะที่เขาเปิดรับซีไรต์และเซเว่นบุ๊กส์อวอร์ด ผมก็เลยกะว่าจะส่งเข้าประกวดทั้งสองงาน แรกๆก็เสนอต้นฉบับไปหลายสำนักพิมพ์ ไม่มีใครตอบรับ ผมเลยควักกระเป๋าพิมพ์เอง 300 เล่ม พิมพ์เสร็จมีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งตอบรับว่าจะต่อยอดให้ ผมฝันหวานได้ไม่กี่เดือนเขาก็ปฏิเสธดื้อๆว่าไม่พิมพ์ ก็ไม่เป็นไรครับพิมพ์เองแล้วนี่ เลยขายให้เพื่อนบ้าง แจกญาติบ้าง ไม่ยอมวางแผง ผลออกมาซีไรต์ไม่เข้ารอบ แต่เซเว่นบุ๊กส์ได้รับการแนะนำจากกรรมการว่าเป็นหนังสือน่าอ่าน แค่นี้ก็พอใจแล้วครับ ลูกปอห์นคงดีใจ เล่มที่สามเป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “จอมขโมยลาซานญ่า” เรื่องนี้ส่งต้นฉบับเข้าประกวดนายอินทร์อะวอร์ดไม่เข้ารอบ เลยสงสัยว่างานของเรามันไปไม่ไหวจริงๆหรือเปล่า ก็เลยลองส่งไปหาสำนักพิมพ์ชบาฟอร์คิดส์ เขารับพิมพ์ให้ หนังสือคลอดออกมาเมื่อต้นปี 2549 เล่มที่สี่เป็นหนังสือทำมือประเภทรวมเรื่องสั้นชื่อ “หนังสือเล่มแรกของนัทธ์ชนัน”เล่มนี้เข้าตากรรมการรางวัล Indy Book Award ปี 2005 ผมเขียนชงเอาไว้ให้เป็นสมบัติของปู๊นปู๊น ใช้คอนเส็ปต์ว่า “ดิฉันเป็นเจ้าของหนังสือที่ดิฉันยังไม่ได้เขียนเองทั้งๆที่มันเป็นหนังสือของดิฉัน”

คือเราเปิดปลายเอาไว้ให้ลูกไปเขียนต่อถ้าอยากเขียน หรือจะไม่เขียนก็แล้วแต่เพราะสิทธิขาดอยู่ที่เขา ทำขึ้นมาหกเล่ม ส่งประกวดสี่เล่ม เหลือต้นฉบับสองเล่ม ไม่มีการวางขายอีก พอดีไปอ่านเจอว่าเดี๋ยวนี้มีการพิมพ์จำนวนน้อยๆก็ได้ ที่เรียกว่า Print on demand เลยเห็นทางสว่าง ไม่มีใครพิมพ์ให้พิมพ์เองก็ได้วุ้ย ผมเลยคัดสรรเรื่องสั้นที่โพสต์ในเว็บไซต์ เรื่องที่ส่งประกวดแล้วเข้ารอบ และเรื่องที่กรรมการไม่ชอบ มารวมเล่มอีกเล่มหนึ่ง ชื่อยาวมากครับ ย่อแล้วเหลือแค่ “อัตวินิบาตกรรมฯ” พิมพ์ออกมาปกละสี่สิบเล่มส่งเข้าประกวดเซเว่นบุ๊กส์อวอร์ด และพ่วงนวนิยายขนาดสั้นที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหญิงที่จิตใจบอบช้ำจากเหตุการณ์สึนามิเรื่อง “คลื่น” อีกเล่มหนึ่ง สรุปแล้วมีหนังสือวางแผงแค่ 2 เล่ม พิมพ์เอง 4 เล่มไม่มีวางขายครับ ล่าสุดมีเรื่องสั้นที่ได้รับการตีพิมพ์ร่วมกับท่านอื่นก็คือ “บุตรฆาต” และ “ครอบครัวติดมัน” อยู่ในรวมเรื่องสั้นที่ชนะการประกวดและเข้ารอบนายอินทร์อะวอร์ดครั้งล่าสุดปี 2549 มีเรื่องสั้น “อัตวินิบาตกรรม” “เด็กเช็ดกระจก” และ “เหรียญบาท” อยุ่ในรวม 50 เรื่องสั้นขนาดสั้นดีเด่นของสกุลไทย เล่มนี้รู้สึกว่าจะยังไม่มีวางจำหน่ายครับ ต้องช่วยกันโหวตให้สำนักพิมพ์เพื่อนดีพิมพ์ขาย มีผลงานดีๆของนักเขียนหลายคนที่น่าศึกษาครับ ที่ยังไม่วางแผงก็มีเรื่องสั้น “ผู้พิทักษ์” รวมอยู่ใน “เพราะมีแม่ในวันนั้น จึงมีฉันในวันนี้” ของบ้านหนังสือโกสินทร์ ที่กำลังจะออกเป็นนวนิยายที่สำนักพิมพ์เพื่อนดีตีพิมพ์ให้มูลนิธิสุภาว์ เทวกุลฯ ก็คือ “คนเล่นไฟ” และน่าจะได้เห็นเร็วๆนี้คือ “อนธการ” ที่จะได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ที่ยังเป็นความหวังอยากให้ตีพิมพ์มากก็มี “ใต้เท้า” ที่เข้ารอบสุดท้ายนายอินทร์อะวอร์ดครั้งล่าสุดครับ

-ปัจจุบัน
มีวรรณกรรมเยาวชนเขียนค้างเอาไว้สองเรื่อง สารคดีหนึ่งเรื่อง เรื่องสั้นสองเรื่อง ต้องจบภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นขอนั่งถอนหายใจคุยกับตัวเองสักพักครับ

-ทำงานประจำ VS การเขียนหนังสือ
เฮ้อ พูดแล้วเหนื่อยครับ จันทร์ถึงศุกร์ ผมตื่นหกโมงเช้า เจ็ดโมงออกบ้านไปทำงาน เลิกงานหกโมงเย็น ถึงบ้านทำธุระให้เสร็จและต้องเล่นกับลูกจนถึงประมาณสองทุ่ม จากนั้นต้องส่งลูกเข้าภวังค์นิทราให้เร็วที่สุดครับ ก่อนหน้านี้ทำงานวันเสาร์อีกครึ่งวันด้วย เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำแล้ว คืนวันศุกร์กับคืนวันเสาร์นี่เป็น Happy Hours วันไหนเพลียมากเผลอหลับไปแล้วไม่ยอมตื่นก็ถือว่าขาดทุน เลยต้องทำงานแบบกึ่งๆวันเวย์ ลุยไปดุ่ยๆให้จบ แล้วมาปรับแก้และเกลาอีกไม่เกินสองรอบ ทำงานแบบนี้ไม่ดีเลยครับ บรรณาธิการได้ยินคงโกรธ

-อินเตอร์เนตVSงานเขียน
ในความเห็นผมนะครับ ข้อเสียน้อยถ้าความตั้งใจชัดเจน ข้อดีคือ เขียนเสร็จอยากโพสต์ ก็โพสต์เลยได้ทันทีไม่ต้องรอบรรณาธิการมาพิจารณา ข้อเสียคือทำให้เราเห็นว่าการลวกเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเสียหาย แต่สิ่งที่อบอุ่นที่สุดก็คือความเห็นที่แบ่งปันให้กันในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เราเห็นว่าคนคิดเหมือนกันรักงานเขียนรักการอ่านเหมือนกันก็เป็นเพื่อนกันได้ ยิ่งถ้ารวมเป็นเครือข่ายกันได้ก็ยิ่งเป็นผลดีในระยะยาว เดี๋ยวนี้ผมเขียนน้อยลง เลยต้องไม่เหลือสต็อกให้โพสต์ในอินเตอร์เนต แต่ก็ยังมีความรู้สึกดีๆกับความร่วมมือแบบสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาครับ ที่ไม่สบายใจเลยก็ประเภทเอางานอ่านฟรีไปย้อมเป็นงานตัวเอง ทำอย่างนั้นไม่ได้อะไรเลยจริงๆนะครับเหมือนดูถูกตัวเองเลย

-อินเตอร์เนตVSนิตยสารVSงานประกวด
ในแง่วิธีการมันต่าง แต่ในแง่เป้าหมายผมว่าเหมือนกันครับ คือเพื่อให้ผลงานเข้าสู่สายตาและสมองของผู้อ่าน เสียงสะท้อนที่มีต่อผลงานของเราต่างหากที่มีความหมายที่สุด โพสต์ลงอินเตอร์เนตมีโอกาสจะได้รับเสียงสะท้อนโดยตรง อาจเป็นก้อนหินหรือดอกไม้ก็แล้วแต่ ส่งนิตยสารหาเสียงสะท้อนฟังยาก ส่งประกวดนี่ชัดเจน กรรมการอ่านแล้วเข้าตาก็เข้ารอบ และถ้าเข้าตาอีกชั้นก็อาจจะไปถึงขั้นหยิบรางวัล แต่ถ้าไม่เข้ารอบหรือไม่ชนะเราจะรู้ว่าอย่างน้อยงานของเราต้องมีแง่มุมที่ไม่เข้าตากรรมการซึ่งก็ถือว่าเป็นผู้อ่านที่มีคุณวุฒิ ในแง่นี้เราถึงต้องมีการปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ขอวิงวอนว่าอย่ามองผมเป็นนักล่ารางวัลอะไรทำนองนั้นเลยนะครับ ผมก็นักแสวงหาโอกาสเหมือนคนอื่นๆ วัตถุประสงค์ของผมชัดเจน อย่างที่บอกไว้ เพราะผมเขียนงานน้อยไม่มีสต็อกไว้โพสต์ลงอินเตอร์เนต ผมไม่ส่งนิตยสารหรือสำนักพิมพ์เพราะไม่อยากรอคอยการพิจารณาที่กรอบเวลาไม่ชัดเจน ผมส่งประกวดเพราะอยากฟังเสียงสะท้อนจากผู้อ่านที่เป็นกรรมการอย่างน้อยก็หนึ่งคนล่ะ ถ้าตกรอบ ผมถือเป็นบทเรียน ถ้าเข้ารอบ ผมถือว่ามาถูกทาง ต้องเสริมและปรับปรุงตัวให้งานมีพัฒนาการ และถ้าเข้าตากรรมการในรอบสุดท้าย นั่นเป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้มีคนอ่านมากกว่าหนึ่งคนหรือหนึ่งชุดกรรมการ ผมชอบสโลแกนของนายอินทร์อะวอร์ดมากๆเลยครับ เขาบอกว่า มากกว่ารางวัลคือโอกาส

-อนาคตVSเส้นทางสายนักเขียน
ไม่กล้าวางครับ เคยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทำตามใจตนเองโดยการเขียนหนังสือเลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อมองในแง่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว วิเคราะห์ยังไงก็ไม่คุ้ม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราอยากจะเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและมั่นคง ซึ่งแน่นอนว่าเงินมีส่วนช่วยได้เยอะ ถือเป็นไฟต์บังคับที่เต็มใจ ดังนั้น ตั้งใจจะเขียนให้มากที่สุดเท่าที่โอกาสอำนวย ไปได้ไกลเท่าไหร่ก็เท่านั้น

-วันที่เริ่มเขียนVSวันที่วางปากกา
หลายคนคงตอบว่าเพื่อสนองความต้องการของตนเอง แต่สำหรับผมมองมุมต่างครับ ว่ากันตามทฤษฎีความต้องการของแมสโลว์ก็ คือ เราไม่ได้เขียนเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ได้เขียนเป็นอาชีพเพื่อความมั่นคง ไม่ได้เขียนตามความชอบและโปรดปรานของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้เขียนเพื่อชื่อเสียงหรือการยกย่อง แต่เป็นความต้องการการยอมรับจากผู้อ่านที่เขาเรียกว่า Self Actuation เรื่องที่จะวางปากกาเหรอครับ ตอนนี้ยังไม่อยู่ในความคิด ขอเวลาแสวงหาจุดยืนของตัวเองอีกสักพักคงจะมองออกว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

-นักเขียนVSความสัมพันธ์ส่วนตัว
ผมอาจจะไม่ชัดเจนในแง่ของคอนเนคชั่นที่พูดถึง แต่ถ้าหมายถึงเครือข่าย ผมให้ความสำคัญกับคำว่าเพื่อนวรรณกรรมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นบรรณาธิการ คนอ่าน คนเขียนงานด้วยกัน นักแปล สำนักพิมพ์ ให้ได้ยกมือไหว้ทำความเคารพกันอย่างคนนับถือกัน ให้ได้ทักทายกันเรียกพี่เรียกน้องก็อุ่นใจแล้วครับ อย่างไรก็แล้วแต่ ท้ายที่สุดเนื้องานย่อมเหนือกว่าทุกคอนเนคชั่น ผมเชื่ออย่างนั้นครับ

-ผลงานที่ผ่านมาVSความพอใจ
เราตั้งใจเขียนทุกงาน ก็ต้องถือว่า ณ ห้วงเวลาที่ปิดเรื่องนั้นพอใจแล้ว ไม่กล้าเขี่ยๆงานเพื่อให้พ้นตัวหรือเพื่อแค่ให้ทันเวลาส่งงานเพราะมันจะกลายเป็นว่าเราไม่เคารพผู้อ่าน ยกเว้นเราเก็บเอาไว้อ่านเอง แต่ผมไม่เคยหยุดเฝ้าสังเกตพัฒนาการของงานตัวเอง ดังนั้น ความพอใจอาจจะมีปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ตามมุมมองใหม่ๆ และตามสถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ครับ มีผู้ใหญ่ที่ผมเคารพรักเตือนว่า เราขายไอเดียออกแล้ว เหลือแต่ไอคิว ท่านอยากให้ผมลงลึกกว่านี้ เพิ่มความละเอียดกับงาน พิถีพิถันให้มากขึ้น เราได้ยินแล้วก็คิดหนัก เพิ่งจะรู้ตัวว่าที่ผ่านมา เราใช้ศาสตร์นำศิลป์จริงๆ ก็ตั้งใจว่าจะลองเดินให้ช้าลงครับ

-เคล็ดลับการเขียนVSรางวัล
โอ้โห มิบังอาจแนะนำครับ เดี๋ยวนี้ผมเขียนงานโดยที่ไม่คิดว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหน ในฐานะผู้ส่งสาร ผมรับรองว่างานทุกชิ้นใส่หัวใจเต็มที่ครับ ที่เหลือเป็นเรื่องของผู้รับสาร รางวัลจากการประกวดอาจจะช่วยให้สารของเราไปสู่ผู้อ่านได้กว้างขึ้นเร็วขึ้น แต่การยอมรับของผู้อ่านจะเป็นรางวัลที่มีค่ามากที่สุดครับ จำได้ไหมครับ มากกว่ารางวัลคือโอกาส

-พูดคุยแลกเปลี่ยนVSงานเขียนของตนเอง
“วิ่งสู่ฝัน”เป็นงานทำให้ผมขยาดที่จะขอความเห็นครับ เจอคนแรกคอมเมนต์แรกแทบจะขอถอนเรื่องมานั่งดูใหม่เลยครับ แต่เขาก็บอกว่าเรื่องของเราไม่ถูกจริตเขา งานนั้นรอดตัวไปได้ จริงๆแล้วคุยกับคนอื่นน้อยมากครับ เพราะเราทำงานประจำ วันหยุดก็ให้เวลากับงานเขียนและครอบครัว ไม่เจอะเจอใครอยู่แล้ว อินเตอร์เนตก็เข้าไม่สม่ำเสมอ ก็มีผู้ใหญ่ที่ผมพูดถึงท่านนั้นที่ผมได้ไปขอเรียนหนังสือด้วยเป็นหลัก ระยะหลังนี่เห็นกรรมการประกวดเป็นกระโจนเข้าใส่ เพื่อกราบเรียนขอคำแนะนำและข้อคิดเห็นที่จะนำไปปรับปรุงงาน ถ้าเป็นไปได้จะขอให้ท่านเหล่านั้นเน้นจุดอ่อนหรือข้อด้อยเลยครับ

-วันว่าง
ยกให้ลูกครับ มีอ่านหนังสือบ้างโดยเฉพาะตอนเข้าห้องน้ำและอยู่บนรถไฟฟ้า สองอย่างนี่ก็หมดเวลาว่างแล้วครับ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ